ThaiPublica > เกาะกระแส > คลื่นการเดินทางต่างประเทศของคนจีน เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่

คลื่นการเดินทางต่างประเทศของคนจีน เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่

23 พฤษภาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-42015714

นิตยสาร The Economist ล่าสุดฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม ทำรายงานพิเศษเรื่อง “การเปิดประตู” สู่โลกภายนอกของจีน โดยการกล่าวว่า นโยบายของทางการจีน ที่ปล่อยให้คนจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศอย่างเสรี กำลังทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งเดียวกันนี้ ก็คงจะทำให้จีนเองเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ในอดีตนั้น คนจีนจะเดินทางออกนอกประเทศ ต้องเป็นคนที่วางใจได้ทางการเมือง ไม่มีประวัติอาชญากรรม ผ่านการตรวจตราของหน่วยงานราชการที่ใช้เวลาเป็นเดือน ตรวจสอบว่าซื่อสัตย์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่ ต้องระบุเป้าหมายการเดินทาง และแหล่งเงินทุนสนับสนุน ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติว่า “อนุญาตให้ไปต่างประเทศ”

นับจากต้นทศวรรษ 1990 ทางการจีนเริ่มจะผ่อนคลายการออกนอกประเทศของคนจีน ก่อนหน้านี้ จีนหวาดกลัวแบบเดียวกับเกาหลีเหนือ จึงควบคุมประชาชนให้อยู่แต่พรมแดนภายในประเทศ แต่ช่วงระยะ 25 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในทศวรรษ 1980 แต่ละปี คนจีนออกนอกประเทศมีจำนวนไม่กี่หมื่นคน ตัวเลขปัจจุบันคือ 130 ล้านคน ในปี 2020 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านคน หรือ 1 ใน 7 ของประชากรจีน

เปิดประตูสู่โลกภายนอก

นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา คนทั่วโลกที่เดินทางไปต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุต่างๆ เช่น การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเปิดพรมแดนระหว่างกัน คนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และผู้คนอพยพหนีความความขัดแย้งและความยากจน แต่จำนวนคนจีนที่ออกนอกประเทศบดบังการเดินทางของคนในประเทศอื่นๆ แทบทั้งหมด

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มนโยบายเปิดประเทศ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้คนต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาจีน สิ่งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์จีนกับกับชาติตะวันตกเข้าสู่ภาวะปกติ แต่จีนคงไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า การเปิดประเทศจะทำให้คนจีนเดินทางไปทุกแห่งในโลก เช่น เป็นนักศึกษาในออสเตรเลีย เป็นนักคอมพิวเตอร์ที่ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแบรนด์เนมในปารีส เป็นคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในอิตาลี และเป็นพ่อค้าย่อยในประเทศแอฟริกา

แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนพร้อมที่จะเสี่ยงดำเนินการ เติ้ง เสี่ยวผิง บอกว่า การเปิดหน้าต่างทำให้ได้อากาศบริสุทธิ์ แต่ก็อาจจะมีแมลงบินเข้ามา ประการแรก คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น ปิดโรงงานของรัฐ เปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ ทำให้จีนก้าวตามขึ้นมาจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก

ประการที่ 2 คือการยอมรับอินเทอร์เน็ต ทำให้ทางการจีนควบคุมข้อมูลข่าวสารได้น้อยลง แต่จีนก็กลายเป็นผู้นำด้านสารสนเทศ และประการที่ 3 คือการเปิดประเทศ ให้ประชาชนสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้เสรี ทำให้นับจากปี 2007 คนจีนที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

เสาหลักการท่องเที่ยวโลก

นักท่องเที่ยวจีนในอังกฤษที่มาช้อปปิ้งในเมืองไบเซสเตอร์ (Bicester)ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-42015714

The Economist รายงานว่า รองจากพระราชวังบักกิงแฮมแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวจีนในอังกฤษคือแหล่งช้อปปิ้งในเมืองไบเซสเตอร์ (Bicester) อยู่ห่างจากลอนดอน 62 ไมล์ ถนนคนเดินของเมืองนี้เป็นแหล่งขายสินค้าลดราคาจากโรงงานของแบรนด์เนมต่างๆ เช่น Boss, Gucci, Versace เป็นต้น เมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวจีนมาช้อปปิ้งที่นี่ 6.6 ล้านคน เท่ากับจำนวนคนที่เข้าไปดูพิพิธภัณฑ์อังกฤษ รถไฟเมื่อวิ่งไปถึงเมืองไบเซสเตอร์จะมีการแจ้งผู้โดยสารที่รู้เป็นภาษาจีน

จากข้อมูลของร้านค้าปลอดภาษีชื่อ Global Blue เมื่อปีที่แล้ว 1 ใน 4 ของสินค้าปลอดภาษีในอังกฤษ ซื้อโดยนักท่องเที่ยวจีน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 ของปีก่อนหน้านี้ แหล่งช้อปปิ้งในไบเซสเตอร์จึงอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีน ให้สามารถชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มชื่อ WeChat นักท่องเที่ยวจีนมักจะวิจารณ์ว่า ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศล้าหลัง เมืองใหญ่ๆ ของจีนแทบไม่ใช้เงินสดกันแล้ว

The Economist กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่พุ่งขึ้นทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง บริษัทที่ปรึกษา McKinsey กล่าวว่า 1 ใน 3 ของการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมาจากคนจีน การเติบโตของยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยก็มาจากคนจีน ส่วนใหญ่เป็นการซื้อจากนอกประเทศจีน องค์กรการท่องเที่ยวโลก (WTO) ก็เปิดเผยว่า ในปี 2016 นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินทั้งหมด 260 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 5 การใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่วนนักท่องเที่ยวอเมริกันใช้เงิน 130 พันล้านดอลลาร์

ไม่เพียงแต่นิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย นักท่องเที่ยวจีนยังสนใจการท่องเที่ยวแบบผจญภัย ปี 2016 นักท่องเที่ยวจีนไปเยือนทวีปแอนตาร์กติกาถึง 5,100 คน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศอาจเป็นแค่การเริ่มต้น ทุกวันนี้ คนจีนไม่ถึง 10% ของประชากรมีหนังสือเดินทาง คนอเมริกันถือหนังสือเดินทางมีจำนวน 40% ประชากร สิ้นทศวรรษนี้ คนจีนที่มีหนังสือเดินทางจะเพิ่มเป็น 240 ล้านคน

นักศึกษาจีนมุ่งตะวันตก

นับจากที่จีนเปิดประเทศในปี 1978 มีคนจีนไปศึกษาในต่างประเทศแล้ว 5.2 ล้านคน ในปี 2017 นักศึกษาจีนออกไปศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 6 แสนคน ประเทศที่นักศึกษาจีนนิยมไปศึกษาคือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ อันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา ในปี 2016 มีจำนวน 320,000 คน ทำให้นักศึกษาจีนมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า นักศึกษาจีนใช้จ่ายเงินปีหนึ่ง 12 พันล้านดอลลาร์ ประเทศรองลงมาที่นักศึกษาจีนไปศึกษาคือ ออสเตรเลีย จำนวน 120,000 คน

ความต้องการที่จะศึกษาในต่างประเทศ และการที่ครอบครัวคนจีนมีฐานะมั่งคั่งมากขึ้น กลายเป็นคุณูปการแก่สถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ในอเมริกา การลดเงินอุดหนุนแก่มหาวิทยาลัยรัฐ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพานักศึกษาต่างชาติที่เสียค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ปีหนึ่งเป็นเงิน 45,000 ดอลลาร์ ปีที่แล้วนักศึกษาจีนที่กำลังเรียนที่เบิร์กลีย์ มีถึง 2,300 คน

สหรัฐฯ คาดหวังว่า คนจีนที่มาศึกษาในสหรัฐฯ จะซึมซับแนวคิดประชาธิปไตย และนำติดตัวกลับประเทศ นับจากเปิดประเทศเป็นต้นมา คนจีนมาศึกษาในสหรัฐฯ แล้วถึง 2 ล้านคน รวมทั้งบรรดาลูกหลานของผู้นำจีนเอง เช่น บุตรชายของเติ้ง เสี่ยวผิง บุตรชายของเจียง เจ๋อหมิน บุตรสาวของหู จิ่นเทา และบุตรสาวของสี จิ้นผิง ที่สำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2014 แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมาก นักศึกษาจีนกลับมีความคิดชาตินิยม และก็ไม่ได้ชื่นชมประชาธิปไตย หรือเศรษฐกิจกลไกตลาด

คนงานและพ่อค้า

ที่มาภาพ :https://qz.com/1081203/china-in-africa-guangzhou-is-a-global-city-for-african-entrepreneurs/

The Economist รายงานว่า ทั่วทวีปแอฟริกา จีนขยายอาณาจักรเศรษฐกิจผ่านบริษัทวิศวกรรมท่าเรือของรัฐบาลที่ชื่อ China Harbor Engineering Company (CHEC) ที่กำลังก่อสร้างท่าเรืออยู่ที่นามิเบีย รวมทั้งทำเหมืองแร่ยูเรเนียมในประเทศนี้ องค์กร UNCTAD ของสหประชาชาติระบุว่า ช่วงปี 2010-2015 จีนลงทุนในแอฟริกาแล้วเป็นเงิน 35 พันล้านดอลลาร์

สิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนคนจีนในแอฟริกา มีการคาดหมายว่า ในปี 2011 มีจำนวน 181,000 คน ในปี 2015 เพิ่มเป็น 264,000 คน ในจำนวนนี้ คนจีนบางส่วนอพยพไปแอฟริกาเพื่อทำธุรกิจ เช่น เปิดร้านค้า ร้านอาหาร และค้าขาย แม้แต่เมืองที่อยู่ห่างไกลในนามิเบียก็มีร้านค้าที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ร้านจีน” มีคนจีนเป็นเจ้าของ ขายของถูก ที่นำเข้ามาจากจีน

ในหนังสือชื่อ China’s Second Continent ผู้เขียนคือ Howard W. French กล่าวว่า การขยายธุรกิจจีนในแอฟริกาอาศัยระบบการค้าต่างตอบแทนสมัยใหม่ (barter system) ประเทศกำลังพัฒนาชำระหนี้จากโครงการก่อสร้างท่าเรือ รางรถไฟ หรือสนามบิน ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ วิธีการนี้ทำให้บริษัทจีนได้งานโครงการก่อสร้าง ส่วน China Development Bank (CDB) และ Export-Import Bank of China (CEXIM) เป็นฝ่ายให้เงินกู้โครงการ ที่จะผูกมัดกับการใช้บริษัทจีน วัตถุดิบจีน และคนงานจีน

คนงานอพยพอยู่ยาว

ที่มาภาพ : https://www.ecnmy.org/engage/prato-chinese-stuff-look-around/

พราโต (Prato) เป็นเมืองขนาดกลางของอิตาลี อยู่ห่างจากเมืองฟลอเรนซ์ 20 กิโลเมตร แต่เมืองขนาดกลางของอิตาลีอย่างเช่นพราโตเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกที่สำคัญ เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง การกระจุกตัวเป็นคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ถือเป็นจุดเด่นการพัฒนาเศรษฐกิจของอีตาลี Michael E. Porter เคยกล่าวว่า ความได้เปรียบของอุตสาหกรรมอิตาลีคือการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ การสร้างความแตกต่าง และนวัตกรรมการผลิต

นอกจากจะเป็นศูนย์กลางโลกการตัดเย็บเสื้อผ้า พราโตยังมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและการออกแบบ เพราะเหตุนี้ จึงกลายเป็นจุดที่แรงงานต่างชาติต้องการอพยพเข้าไปทำงาน โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพราโตเป็นแหล่งตัดเย็บเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่มีเครื่องหมาย Made in Italy เช่น Gucci หรือ Armani แต่นับจากทศวรรษ 1990 คนงานจีนเริ่มอพยพเข้ามาทำงานในเมืองนี้ ปัจจุบัน พราโตเป็นเมืองในยุโรปที่มีคนจีนอาศัยอยู่รวมกันมากสุด ตัวเลขทางการมีอยู่ 20,700 คน

คนจีนในพราโตกว่า 80% มาจากเมืองชายทะเลชื่อเหวินโจ (Wenzhou) หนังสือชื่อ Chinese Migration to Europe บอกว่า เหวินโจและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งสำคัญของคนจีนที่อพยพไปยุโรป ทำให้เกิดเครือข่ายที่สามารถสนับสนุนคนจีนที่จะอพยพไปอยู่ที่พราโต

The Economist กล่าวว่า การอพยพของแรงงานจีน และการที่นักธุรกิจจีนกลายเป็นเจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้พราโตเกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา มีการนำเข้าผ้ามาจากจีน ทำให้โรงงานสิ่งทอลดจาก 9,400 เหลือ 3,000 แห่ง แต่โรงงานตัดเย็บเสื้อเพิ่มเป็น 4,400 โรงงาน 3 ใน 4 ของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพราโตมีคนจีนเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดกลุ่มคนจีนที่มีฐานะชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในอิตาลี

The New York Times เคยรายงานว่า กรณีของพราโตเหมือนกับมีจีนมาตั้งอยู่หลังบ้านอิตาลี โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและแรงงานของจีนทำให้เส้นแบ่งพร่ามัวลงไประหว่างคำว่า “ผลิตในอิตาลี” กับ “ผลิตในจีน” ทำให้อิตาลีประสบปัญหายากลำบากที่จะกำหนดจุดยืนการผลิตสินค้าสำหรับตลาดระดับสูง

ที่มาภาพ : https://www.reuters.com/news/picture/made-in-italy-by-chinese-workers-idUSRTX16XEA

เอกสารประกอบ
Special Report: China in the World – Opening the Gates, the Economist, May 19, 2018.
Chinese Migration to Europe, Loretta Baldassar, Graeme Johanson, Narelle McAuliffe and Massimo Bressan, Palgrave McMillan, 2015.