กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ออกประกาศฉบับ 25/2018 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา เปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ 100% รวมทั้งกิจการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างประเทศกับนักธุรกิจท้องถิ่นสามารถประกอบธุรกิจในภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งได้
รายงานข่าวจาก Myanmartimes ระบุว่า กลุ่มธุรกิจชั้นนำขานรับนโยบายนี้เพราะเชื่อว่าจะดึงการลงทุนให้เข้าประเทศได้ และนโยบายการค้าเป็นปัจจัยหลักต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงในประกาศว่า การเปิดเสรีการค้ามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในภาคค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อทางเลือกที่มากขึ้น ทางเลือกที่มีราคาต่ำลง และทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมทั้งจะเป็นการนำเทคโนโลยีและสินค้าคุณภาพเข้าสู่ภาคธุรกิจ เปิดโอกาสการเติบโตสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ดึงการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างงาน รวมไปถึงช่วยป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้จัดจำหน่ายที่เอาเปรียบผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้สามารถค้าปลีกค้าส่งสินค้าทุกประเภททั้งผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ และเปิดกว้างทั้งบริษัทในประเทศ บริษัทต่างประเทศหรือกิจการร่วมทุน โดยที่สามารถดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขต ทุกรัฐและภาค เพียงแต่ให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ไม่อนุญาตให้เปิดตลาดขนาดเล็ก (mini-market) ร้านสะดวกซื้อ (convenience stores) และร้านค้าขนาดย่อมที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 929 ตารางเมตร รวมทั้งบริษัททุกประเภทที่ดำเนินธุรกิจการค้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีการขาย
บริษัทต่างชาติที่มีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 100% ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจค้าปลีก ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 3 ล้านดอลลาร์ และ 5 ล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจค้าส่ง ส่วนกิจการร่วมทุนที่มีนักธุรกิจในประเทศถือหุ้นในสัดส่วนอย่างน้อย 20% ต้องต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 700,000 ดอลลาร์สำหรับธุรกิจค้าปลีก และ 2 ล้านดอลลาร์สำหรับค้าส่ง มิฉะนั้นจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์เดียวกับบริษัทต่างชาติที่มีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 100% ส่วนบริษัทในประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์นี้ ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนที่กำหนดไม่รวมค่าเช่า
นอกจากนี้ บริษัทที่ต้องการประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งต้องยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ แต่ยกเว้นสำหรับบริษัทในประเทศที่ถือหุ้นโดยนักธุรกิจท้องถิ่น 100% ซึ่งมีทุนต่ำกว่า 700,000 ดอลลาร์ ไม่ต้องมาจดทะเบียน แต่บริษัทในประเทศที่มีทุนเริ่มต้น 700,000 ดอลลาร์ขึ้นไปจะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน ได้แก่ เอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการการลงทุน (Myanmar Investment Commission) ใบอนุญาตจากสำนักงานเขต หรือคณะกรรมการพัฒนาประจำภาคในพื้นที่ที่จะดำเนินธุรกิจ รวมทั้งรายการสินค้าที่จะจัดจำหน่าย แผนธุรกิจและมูลค่าเงินลงทุน
บริษัทที่จดทะเบียนแล้วหากมีการขยายสาขาจะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ล่วงหน้าภายใน 90 วัน
ดึงการลงทุนต่างชาติ
โคลเอ เทย์เลอร์ ประธานหอการค้าอังกฤษในเมียนมา กล่าวว่า นโยบายเปิดเสรีธุรกิจการค้ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกของอังกฤษที่กำลังจะขยายในเมียนมามีโอกาสมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้การลงทุนต่างชาติในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง
เมื่อเร็วนี้ๆ หอการค้าอังกฤษได้แนะนำสินค้าอังกฤษที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงให้กับบริษัทในประเทศที่ประกอบธุรกิจมานาน เพื่อชักชวนให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาแบรนด์อังกฤษในเมียนมา ดังนั้น เชื่อว่าด้วยประกาศฉบับนี้จะดึงให้แบรนด์สินค้าคุณภาพจากอังกฤษมาลงทุนในเมียนมามากขึ้น
ก่อนหน้า อะคาเดียกรุ๊ป กลุ่มทุนธุรกิจท้องถิ่นนำเข้าแบรนด์ดังอังกฤษมาแล้ว เช่น Topshop, Miss Selfridges, Marks and Spencer, John Lewis และ H&M
ทางด้าน ฟิลิป เลาเวรีสัน กรรมการจากหอการค้ายุโรปในเมียนมา ให้ความเห็นว่า การเปิดเสรีครั้งนี้เป็นการส่งสัญญานไปยังนักลงทุนยุโรปว่ามีโอกาสมหาศาล และจะก่อให้เกิดการแข่งขัน ที่จะดึงราคาสินค้าให้ต่ำลงและช่วยสร้างงานให้มากขึ้น
อู อ่อง เต็ง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเมียนมา มองว่า การที่มีผู้เล่นต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จะทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น บริษัทในประเทศต้องเตรียมรับมือ
ก่อนการออกประกาศฉบับนี้ ได้มีการเปิดเสรีการค้าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง เครื่องมือทางการแพทย์ วัสดุก่อสร้างให้กับธุรกิจจากต่างชาติ
เตรียมเปิดเสรีรับ FDI ในหลายธุรกิจ
รายงานข่าว elevenmyanmar เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านการลงทุนและจดทะเบียนธุรกิจ หรือ Directorate of Investment and Company Administration (DICA) กำลังพิจารณาที่จะเปิดเสรีการประกอบธุรกิจในหลายภาคที่ยังสงวนไว้ (Restricted Sector)
ถั่น ซิน ลวิน รองผู้อำนวยการ DICA กล่าวในการแถลงข่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission: MIC) ได้ติดตามผลของการพัฒนาและภาวะการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาว่า จะเปิดเสรีภาคธุรกิจไหนเป็นอย่างแรก
“เราพยายามที่จะตามให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน เราอาจจะเปิดเสรีธุรกิจประกันในการเปิดเสรีครั้งต่อไป เพราะมีหลายบริษัทประกันได้เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายผลิตภัณฑ์และบริการให้กว้างขึ้นในเมียนมา แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าเรายังไม่ตัดสินใจ แม้ธุรกิจประกันเป็นภาคธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเปิดเสรี และเราต้องนำโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนมาพิจารณาร่วมด้วย”
ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยต่างชาติ 24 รายได้ตั้งสำนักงานตัวแทนในเมียนมา ซึ่งมีบริษัทประกันภัยเอกชน 12 ราย และบริษัทประกันภัยของรัฐ 1 ราย ทำธุรกิจอยู่แล้ว
ถั่น ซิน ลวิน เปิดเผยว่า อ่อง เนียง อู เลขาธิการ MIC ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ DICA ด้วย ต้องต้อนรับบริษัทประกันภัยต่างชาติที่ต้องการธุรกิจในเมียนมาบ่อยมาก โดยรายล่าสุดคือ ผู้บริหารของ China Export & Credit Insurance Corporation เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการลงทุน
ถั่น ซิน ลวิน กล่าวว่า พอใจกับผลการเปิดเสรีในธุรกิจการศึกษา และมีผู้เล่นที่เป็นบริษัทข้ามชาติหลายราย ได้เข้าพบ DICA เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะลงทุนก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติเอกชนในเมียนมา ซึ่งบางรายมีความพร้อมที่จะยื่นแผนลงทุนให้ MIC พิจารณา แต่นักลงทุนเหล่านี้จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการก่อน
นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติที่เปิดกรุงย่างกุ้งมานานแล้วก็ได้ติดต่อกับ MIC เช่นกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะถูกรวมอยู่ในกระบวนการเปิดเสรี โดยโรงเรียนเหล่านี้ได้แก่ Myanmar International School ที่เปิดสอนมา 6 ทศวรรษ
การประชุม MIC เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ได้อนุมัติบริษัทต่างชาติรายใหม่ 4 รายและบริษัทในประเทศ 10 ราย ให้ดำเนินธุรกิจในด้านการผลิต การบริการ การเกษตร อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน โรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลให้มีการจ้างงาน 12,000 ตำแหน่ง
มาร์ ลาร์ เมียว ยุ้นต์ รองผู้อำนวยการ DICA กล่าวว่า DICA กำลังพิจารณาที่จะจัดงานอินเวสเมนต์แฟร์ขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 นี้ ที่รัฐกะยา หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการจัดงานอินเวสเมนต์แฟร์ที่ย่างกุ้งในสัปดาห์ก่อน โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุนให้สนใจในภาคการเกษตร เหมืองแร่ โรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐกะยาพร้อมที่จะรับการลงทุนทั้งจากนักธุรกิจในและต่างประเทศ
อนุมัติสตาร์บัคส์เปิดร้าน
คณะกรรมการ MIC ยังได้อนุมัติให้ Coffee Concepts (Myanmar) Limitedหรือ CCM จากสิงคโปร์เปิดร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในเมียนมาได้ตามที่ยื่นขอ โดยที่มีแผนจะเปิด 20 สาขาทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดของแผนว่าจะเปิดเมื่อไรและเปิดที่ไหน
มาร์ ลาร์ เมียว ยุ้นต์ รองผู้อำนวยการ DIC กล่าวว่า บริษัทจะลงทุนมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์หลังจากการเตรียมการซึ่งจะใช้เวลา 9 เดือน
รายงานข่าวเมียนมาไทมส์ เปิดเผยว่า CCM เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ 100% ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ DICA ตั้งแต่ธันวาคม 2017
สตาร์บัคส์ร้านแรกจะเปิดที่ศูนย์การค้าซูเล (Sule Square Mall) ย่านจ๊อกทาดา กรุงย่างกุ้ง แต่สตาร์บัคส์ไม่ใช่ร้านกาแฟต่างชาติรายแรกที่เปิดในเมียนมา เพราะปัจจุบันมีร้าน Gloria Jean’s จากออสเตรเลียเปิดแล้ว และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Myanmar Investco (SMI) ซึ่งจดทะบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงกับ The Coffee Bean & Tea Leaf (CBTL) ที่จะเปิดร้านและขยายแบรนด์ CBTL ในเมียนมา โดยคาดว่าจะเปิดสาขาแรกในไตรมาสหนึ่ง แต่ SMI ก็บริหารร้านกาแฟ 2 สาขาภายในสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ขณะที่ Tealand Myanmar มีร้านกาแฟ 14 สาขาในย่างกุ้งและ 2 สาขาที่มัณฑะเลย์
การเปิดสาขาที่เมียนมาได้จะทำให้สตาร์บัคส์มีธุรกิจในอาเซียนเกือบครบทุกประเทศ ยกเว้นลาว หากไม่นับจีน สตาร์บัคส์เปิดสาขาที่อินเดียในปี 2012 ตามมาด้วยเวียดนาม บรูไน กัมพูชา ปี 2015 ปัจจุบันมี 10 สาขาและตั้งเป้าจะขยายสาขาเป็น 320 สาขาในไทยภายในปีนี้
ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2017 ในจีนมีสตาร์บัคส์ 1,540 สาขาในญี่ปุ่น 1,218 สาขาซึ่งเป็นสาขาที่บริหารเอง ขณะที่สาขาที่เป็น Licence ในเอเชียแปซิฟิกมี 4,409 สาขา โดยเป็น 1,396 สาขาในจีน, 1,108 สาขาในเกาหลี, 420 สาขาในไต้หวัน, 324 สาขาในฟิลิปปินส์, 317 สาขาในอินโดนีเซีย, 248 สาขาในมาเลเซีย และอีก 596 สาขาทั่วเอเชีย ส่งผลให้สิ้นปี 2017 สตาร์บัคส์มี 28,039 สาขาทั่วโลก