ThaiPublica > เกาะกระแส > “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ขับเคลื่อนแผนปฏิรูปนัดแรก – ชูไอเดีย “ตอบโจทย์ประชาชน” 5 ด้าน

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ขับเคลื่อนแผนปฏิรูปนัดแรก – ชูไอเดีย “ตอบโจทย์ประชาชน” 5 ด้าน

4 พฤษภาคม 2018


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที 4 พฤษภาคม 2561 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ว่าในช่วงแรกของการประชุมจะเป็นการอธิบายภาพรวมของแผนการปฏิรูป 11 ด้าน เนื่องจากกรรมการหลายคนอาจจะไม่ได้ติดตามประเด็นการปฏิรูปทุกด้านอย่างละเอียด โดยมีประเด็นปฏิรูปทั้งสิ้น 133 ประเด็น 482 กิจกรรม และสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ 4 กลุ่ม ได้แก่

1) ประเด็นที่ดำเนินการได้ทันทีอย่างเป็นรูปธรรมใน 2-3 เดือน หรือ Quick-win โดยให้แต่ละคณะกรรมการปฏิรูปเสนอมาคณะละ 2-3 เรื่อง รวมประมาณ 30 เรื่อง

2) ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย แบ่งเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายเดิม 100 ฉบับ และยกร่างใหม่อีก 80 ฉบับ

3) ประเด็นที่เกี่ยวข้องการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปเสนอมา 60 หน่วยงาน แต่เบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือหน่วยงานเดิม ก่อนจะส่งแผนขั้นสุดท้ายในเดือนมิถุนายน 2561 เนื่องจากที่ผ่านมามักมีปัญหาการตั้งหน่วยงานราชการเพิ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆและมีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ แต่ในครั้งนี้มีความตั้งใจจะปฏิรูปให้มีความกระชับเหมาะสมที่สุด

4) ประเด็นเรือธงที่มีความสำคัญ (Flagship) หรือเรียกว่าเป็น Game Changer ของประเทศ โดยแต่ละคณะกรรมการปฏิรูปได้คัดเลือกไว้ประมาณคณะละ 10 กิจกรรม รวมทั้งสิ้นประมาณ 110 กิจกรรม

“ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำแผนปฏิรูปมาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอมาประมาณ 40 ประเด็น ต่อมาก็มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งทำข้อเสนอของสปช.มาปฏิบัติ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาหลายเรื่อง ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้ข้อสรุปออกมาหลัก 2000 วาระ เป็นเรื่องใหญ่ๆประมาณ 200 เรื่อง เรื่องรองๆอีก 400-500 เรื่อง และด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ คณะกรรมการนี้จึงมีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการประสานงาน ติดตามงาน ปลดล็อกประเด็นต่างๆ เพราะที่ผ่านมาเวลาขับเคลื่อนจริงก็จะเจอปัญหาหลายประเด็น เช่น การแก้ไขกฎหมาย การตกลงความเห็นข้ามกระทรวง ซึ่งพอไม่มีตัวกลางประสานงานก็ทำให้ใช้เวลาขับเคลื่อนนานมาก อย่างกฎหมายบางเรื่องแค่ฉบับเดียวต้องผ่าน 5-6 กอง ใช้เวลากว่าจะผ่านขึ้นมาเป็นเดือนกว่า” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ปฏิรูป “ตอบโจทย์ประชาชน” 5 ด้าน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางในการจัดกลุ่มสร้างการรับรู้ หรือกำหนด Theme เพื่อจัดกลุ่มประเด็น Quick-win และ Flagship ให้เป็นประเด็นสอดคล้องกับการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและยกระดับคุณภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน เพื่อใช้ในการสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ก่อนที่การประชุมครั้งหน้าจะต้องส่งรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมอีกครั้ง ได้แก่

1) ปฏิรูปราชการเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับบริการจากรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการให้ข้อมูลและความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน โดยไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินความจำเป็น กระบวนการขออนุมัติ/อนุญาตจะได้รับการปรับปรุงเข้าสู่การจัดบริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านช่องทางดิจิทัลและศูนย์บริการร่วม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการประชาชน

“ตัวอย่างหนึ่งคือจะเสนอเรื่องการแจ้งความ ต่อจะต้องแจ้งได้ทุกพื้นที่ อย่างจะจ่ายใบสั่งทำไมต้องไปจ่ายเฉพาะท้องที่ นอกจากนี้ ก็จะมีกระทรวงที่จะเริ่มต้นงานก่อน เช่นกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา ที่กำลังหารืออยู่ว่าจะตั้งหรือไม่ สภาพัฒน์เอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงเหล่านี้จะมีเรื่องที่คิดว่าเป็นไปได้ทำได้ทันที เกี่ยวข้องกันประชาชนก่อน เหมือนการจุดไฟการปฏิรูปให้เห็นเป็นรูปธรรม หลังจากนั้นกระทรวงต่างๆจะทยอยปฏิรูปต่อไปในอีกระยะ” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

2) สร้างอนาคตคนไทย เพื่อปากท้องและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การมีอาชีพแหล่งทำกินที่เหมาะสม พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้ง การเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นการต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสุขภาพ เป็นต้น

3) แก้ทุจริต สร้างความโปร่งใส เพื่อเป็นรากฐานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยการป้องกันและเฝ้าระวังการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งการป้องปรามการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ และเร่งรัดการดำเนินคดีการทุจริตมิชอบ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ โครงการ Watch Dog สำหรับให้ประชาชนรายงานพฤติกรรมทุจริตแบบออนไลน์, การแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นตรวจสอบได้ดีขึ้น, การทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, การเชื่อมโยงระบบสวัสดิการของรัฐ

“ต่อไปพอระบบเกิดขึ้นอย่างสวัสดิการ 44 อย่างของรัฐ จะบอกเลยว่าใครได้สวัสดิการอะไรจากรัฐบ้าง เท่าไหร่ สมมติว่าได้ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ความเป็นจริงได้แค่ 1,000 บาทต่อเดือน ก็ฟ้อง ร้องเรียนได้เลยจากแอพลิเคชั่น Watchdog นอกจากนี้ จะมีการประสานงานกับป.ป.ช.เรื่องดูแลคดีต่างๆกว่า 10,000 คดีที่มีจะจัดการอย่างไร เพราะบางคดีกว่าจะทำเสร็จ คนทำผิดก็เกษียณไปแล้ว” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

4) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อสร้างสวัสดิการที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในช่วงวัยต่าง ๆ และส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีการช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษี และการถือครองทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจน ประชาชนจะได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

5) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียนที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนประชาธิปไตย รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยยอมรับในกฎ กติกา เสรีภาพส่วนบุคคลที่ต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคม และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดในสังคมโดยสันติวิธี รวมถึงการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับ

สำหรับกลไกการทำงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะทำงานพิเศษระดับกระทรวง และหน่วยงานรับผิดชอบกิจกรรมการ/โครงการที่ได้จัดลำดับความสำคัญไว้ เพื่อขับเคลื่อน ประสาน ขจัดอุปสรรคในการดำเนินการ ให้กิจกรรม/โครงการสำเร็จ เห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนในการแก้จน แก้โกง แก้เหลื่อมล้ำ และเพิ่มศักยภาพของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป