ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ฟันธงเล่นการเมือง ชี้รอชัดเจนใกล้เลือกตั้ง – ย้ายปลัดคลังนั่งสภาพัฒน์ – ตั้ง “สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ”

นายกฯ ไม่ฟันธงเล่นการเมือง ชี้รอชัดเจนใกล้เลือกตั้ง – ย้ายปลัดคลังนั่งสภาพัฒน์ – ตั้ง “สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ”

10 เมษายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยก่อนการประชุมนายกฯ และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เป็นประธานในพิธีตักบาตรพระสงฆ์ บริเวณสนามหญ้าข้างตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมทั้งให้คณะรัฐมนตรี นายทหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ได้รดน้ำขอพรในโอกาสวันสงกรานต์

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอวยพรสงกรานต์ว่า สิ่งใดที่ได้ทำมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นผลสำเร็จทั้งมากและน้อย และเป็นความหวังของประชาชน ซึ่งในปีต่อไปจะต้องทำให้สำเร็จมากขึ้น ดังนั้น ในโอกาสขึ้นปีใหม่ไทย สิ่งที่คาดหวังคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะต้องดีขึ้น ต้องทำงานให้ดีขึ้น เราเป็นคณะรัฐมนตรีและข้าราชการ คงไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องทำเพื่อประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต

กำลังปรับปรุงแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า ได้รับร่างยุทธศาสตร์จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแล้ว โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการต่างๆ หลังจากนั้นจะเสนอร่างฯ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำเข้า ครม. และเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำกฎหมาย และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

เสนอแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการ ให้ใช้ทำประโยชน์ร่วมกับประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีภาคประชาชนคัดค้านการการก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ คสช. กองทัพภาคที่ 3 และกระทรวงมหาดไทย ไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประท้วงคัดค้านว่าจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไรในการทำพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการรื้อหรือทุบทิ้งทั้งหมด

“โครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาล คสช. จะเข้ามา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ต้องแก้ไขให้มีความชัดเจน ให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ แต่จะไปรื้อทั้งหมดมันก็คงลำบาก รัฐบาลจึงได้ให้ คสช. กองทัพภาคที่ 3 และกระทรวงมหาดไทย ไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประท้วงว่าจะทำยังไง”

“หลายคนเสนอว่าให้ทุบทิ้งเลย มันง่ายครับ แต่งบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วทำยังไง งบประมาณภาครัฐมันต้องมีคนรับผิดชอบ แต่มันนานแล้ว ก็ต้องดูว่าใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้มั้ย ลองไปคุยกันดู เช่น ใช้สถานที่ในการฝึกอบรม หรือทำเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ได้มั้ย เพราะศาลคงใช้ไม่ได้ เนื่องจากประชาชนไม่ยินยอม ก็ต้องไปหารือกัน ผมให้แนวทางไปอย่างนี้”

“เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใช้งบประมาณราชการ และอนุมัติโดยรัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องจะผิดจะถูกไปว่ากันอีกที ต้องมีกระบวนการสอบสวนกันต่อไป แต่ขอให้ใจเย็นๆ อย่ามาเดินขบวนกันอีกเลย คุยกันให้รู้เรื่องว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ยังไงดีกว่า”

หารือแก้ไขปมนำเข้ารถหรู ให้ผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค ได้รับความเป็นธรรม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามความคืบหน้ากรณีผู้ประกอบการรถนำเข้ารถหรูได้รับผลกระทบจากคำสั่งกรมศุลกากรเรื่องแนวทางการพิจารณาราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูป ว่ากำลังพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับกับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมไปหารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมศุลกากรถึงมาตรการที่เหมาะสมว่าทำจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม

“ผมให้ทางกระทรวงยุติธรรมหารือกับดีเอสไอและกรมศุลกากรที่เป็นผู้กำหนดภาษีและกำหนดมาตรฐานราคาในการนำเข้า แล้วพิจารณาดูว่าภาษีควรจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้อยากให้แยกแยะกับที่เป็นคดีก่อนหน้านั้นที่เขาทำผิดแล้ว รถออกจากท่าเรือหมดแล้ว และจำหน่ายไปแล้ว ซึ่งก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

“แต่เรื่องนี้ต้องหามาตรการที่เหมาะสมว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดความเป็นธรรม เพราะรถมันยังอยู่ที่ท่าเรือ ยังไม่ได้ไปขายใคร อยู่ในขั้นตอนการประเมินภาษี เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ที่ผ่านมา พอตั้งภาษีสูง แทนที่มันจะดี กลายเป็นเลี่ยงภาษีกันใหญ่โต แต่ประเด็นคือทำยังไงให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้เกิดการรั่วไหล”

ปัดต่ออายุราชการ 63 ปี แค่พิจารณาคนมีความสามารถทำงานด้านที่ขาดแคลน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่องแผนการปฏิรูปประเทศว่าด้วยแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขให้ขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ว่าไม่ใช่เรื่องการขยายอายุเกษียณ แต่เป็นการพิจารณาให้คนที่มีศักยภาพในการทำงานได้ทำงานต่อเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น หมอผ่าตัดที่มีประสบการณ์สูง เป็นต้น

“ไม่ใช่เรื่องการต่ออายุราชการ นั่นเป็นความคิดเห็นที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอมาเป็นผลการศึกษา แต่รัฐบาลต้องมาคัดกรองอีกทีหนึ่ง เราต้องคำนึงถึงคนที่เขาอยู่ในระบบด้วย ต้องไปดูผู้สูงอายุให้เขามีงานทำในสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ นักวิชาการ หรือตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องเกษียณ ก็ต้องไปดูว่าคนเหล่านี้จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร”

นำผลงานรัฐบาล 4 ปี 500 กว่าหน้าลงเว็บไซต์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับการแถลงผลงาน 4 ปีของรัฐบาล ว่าจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะแถลงหรือไม่ แต่ขณะนี้ให้ดาวน์โหลดลงเว็บไซต์รัฐบาล หากใครอ่านแล้วมีข้อสงสัยในเรื่องใด โดยเฉพาะสื่อมวลชน ก็ให้สอบถามมาได้

“ก็อยากแถลง แต่บางทีผมก็เหนื่อยนะ สัจธรรมของมนุษย์โลก ถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเองก็ไม่ค่อยอยากรู้ แต่ที่คนไทยอยากรู้คืออะไรที่จะผ่อนผัน อะไรที่จะดูแลเรื่องรัฐสวัสดิการเยอะๆ แต่เรื่องไหนที่สลับซับซ้อนไม่ค่อยอยากรู้ ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ไม่ว่ากัน แต่จะแถลงหรือไม่จะพิจารณาดูอีกที แต่ตอนนี้จะทำลงเว็บไซต์ 500 กว่าหน้า อ่านแล้วสงสัยเรื่องไหนก็ถามมา”

แต่งเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” ทำนองออเจ้า ให้ทุกคนทำประโยชน์เพื่อชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ได้แต่งเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” ว่า เขียนเพลงนี้ให้กับรัฐมนตรีทุกคนที่มีจิตใจเดียวกับตนในการทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินของเรา แต่ทุกคนต้องช่วยกัน แล้วจะเกิดผลดียิ่งขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โดยมีทำนองคล้ายละครบุพเพสันนิวาส เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“เพลงนี้ทำนองออเจ้า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คนทำทำนองก็คือคนแต่งเพลงบุพเพสันนิวาส เรียบเรียงเสียงประสานให้ เพราะผมอยากให้เข้าใจว่า สิ่งที่เราทำวันนี้เราทำเพื่อใคร เราทำเพื่อแผ่นดินของเรา เหมือนเพลงสมัยก่อน เช่น เพลงแผ่นดินของเรา ผมก็บอกในที่ประชุม ครม. ว่า ผมเขียนเพลงนี้ให้รัฐมนตรีทุกคนที่มีจิตใจเดียวกับผมในการทำเพื่อแผ่นดิน ถึงแม้ว่าจะมีคำติฉินนินทาบ้างผมก็ทนได้”

“แต่อย่าติติงกันให้มากนักเลย ผมก็อยู่มาเกือบ 4 ปีแล้ว เจอมรสุมจากลมเพลมพัดบ้าง ผมก็ทนได้อยู่แล้ว เพราะผมมีความตั้งใจ มีแรงศรัทธาของผม ในการทำงาน ดังนั้น จะเชื่อมั่นไม่เชื่อมั่นผม อย่างน้อยผมก็ขอบคุณประชาชนเชื่อมั่นผมให้อยู่มา 4 ปีแล้ว ก็ยังทำไม่สำเร็จในหลายๆ อย่าง แต่จะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า”

อนาคตทางการเมือง จะชัดเจนใกล้เลือกตั้ง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่ายังไม่มีใครมาคุยกับตน แต่ทราบว่ามีการพูดคุยกัน หากมีการทาบทามให้เข้าร่วมพรรค หรือตำแหน่งที่ปรึกษา ก็ต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

“อนาคตทางการเมืองของผมยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คาดว่าจะชัดเจนได้ในช่วงใกล้ที่จะเลือกตั้งหรือช่วงที่พูดคุยกับพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยกับนักการเมืองได้หรือไม่ เพราะหลายพรรคปฏิเสธที่จะพูดคุย รอเลือกตั้งอย่างเดียว ทั้งที่ความจริงควรพูดคุยกันก่อน เพราะต้องการรับฟังว่าแต่ละพรรคจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “ผมไม่ได้รังเกียจการเมือง ไม่ได้รังเกียจใคร แต่รังเกียจการเมืองที่ไม่สุจริต ไม่มีธรรมาภิบาล สร้างความขัดแย้ง และไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายเหมือนในอดีต หากผมลงเล่นการเมือง จะมีใครรับประกันหรือไม่ว่าจะได้รับเลือกตั้ง ยังไม่รู้อนาคตว่าจะคุ้มค่ากับตัวเองและประเทศชาติหรือไม่”

มติ ครม.

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ซ้าย)พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงถึงแผนปฏิรูปประเทศภายหลังที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 และมีกระแสความเข้าใจผิดซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 ว่า วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังกังวลว่าแม้จะชี้แจงไปบางประเด็นแล้ว แต่อนาคตอาจจะมีประเด็นความเข้าใจผิดอีก และอยากให้มาอธิบายกระบวนการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปอีกครั้ง โดยขั้นตอนภายหลังที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะต้องสอบถามรับฟังความเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าเกี่ยวข้องตรงส่วนไหนอย่างไร ส่วนไหนทำได้ทันที ส่วนไหนที่ติดขัดข้อกฎหมายหรือคาดว่าทำไม่ได้ และต้องมีการปรับแก้ให้เหมาะสมอีกในหลายๆ เรื่อง

“แผนยังไม่ใช่ต้องทำทุกเรื่องวันนี้ บางเรื่องต้องให้หน่วยราชการดูรายละเอียดด้วย เช่น เรื่องยืดอายุเกษียณ บางหน่วยงานก็เหมาะสมที่จะจ้างให้คนมีประสบการณ์ทำงานต่อ แต่บางงานอย่างตำรวจหรือทหารที่ต้องใช้พละกำลังอาจจะไม่เหมาะสมที่จะจ้างคนที่อายุมากกว่า 60 ปี หรือเรื่องงบประมาณที่หลายคนวิจารณ์ ความจริงคือในแผนก็มีแนวคิดจะตั้งส่วนราชการระดับกรมอีกเกือบ 30 กรมมาทำหน้าที่ที่ปัจจุบันไม่มี แต่อนาคตก็จะหารือหน่วยราชการว่าจะจัดสรรส่วนราชการและหน้าที่ใหม่อย่างไร ก็อาจจะไม่ต้องตั้งทั้ง 30 กรมก็ได้ งบประมาณก็จะลดลง ดังนั้น แนวทางปฏิบัติงานต่อไปคือส่วนที่ทำได้ทันทีก็คงทำเลย แต่ส่วนที่ติดขัดจะต้องหารืออีกครั้ง ต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้งระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปและหน่วยราชการด้วยเหตุผลและหาข้อยุติ ถ้าไม่ได้ก็จะส่งเรื่องต่อไปคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่อไป ถ้ายังไม่ได้ข้อยุติคือคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติมีความเห็นว่าควรทำและทำได้ ก็จะส่งเรื่องไป ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ถ้ายังไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีการลงโทษตามที่กฎหมายระบุ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

แก้ไข ม.44 ปรับบอร์ดการรถไฟ หลังกรรมการลาออก-เจ็บป่วย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า คสช. มีมติเห็นชอบแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเดิมเห็นสมควรปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ โดยปลดคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด รฟท. ชุดเดิมออกและแต่งตั้งบอร์ดใหม่ 9 คน อย่างไรก็ตาม ในภายหลังกรรมการภายใต้คำสั่งดังกล่าวบางส่วนลาออกหรือเจ็บป่วย ทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ในวันนี้ คสช. จึงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวปรับบอร์ด รฟท. ใหม่อีกครั้งและให้บอร์ดคัดเลือกบุคคลหนึ่งมาดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้ว่าการ รฟท. เสนอ ครม. ต่อไป สำหรับรายชื่อกรรมการมีดังนี้

นายกุลิศ สมบัตศิริ เป็นประธานกรรมการ,นายกวิน ทังสุพานิช เป็นกรรมการ,นาวาอากาศเอก ธนากร พีระพันธุ์ เป็นกรรมการ
,นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม เป็นกรรมการ,นายวรวุฒิ มาลา เป็นกรรมการ,นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา เป็นกรรมการ,นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นกรรมการ,นายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ เป็นกรรมการ

ตั้ง “สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” วิจัย ผลิต จำหน่ายครบวงจร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือให้จัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” หรือ สทป. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
  2. การผลิต ประกอบรวม ปรับปรุง ซ่อมสร้าง เปลี่ยนสถานะ แปรสภาพ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ ให้ยืม ให้เช่า และให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  3. การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมหน่วยงานอื่นของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
  4. การทดสอบและรับรองผลการทดสอบตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์

พร้อมทั้งกำหนดให้ สทป. ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์กฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนด้วย

“เดิมเรามีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจของพระราชกฤษฎีกา ทำให้สถาบันฯ ทำได้เพียงการวิจัยเท่านั้น แต่ไม่สามารถผลิตหรือจำหน่ายได้ เพราะติดกฎหมายโรงงานผลิตอาวุธหรือกฎหมายว่าด้วยอาวุธต่างๆ นายกฯ จึงตั้งข้อสังเกตว่าประเทศก็มีการวิจัยมาตลอด สมควรนำมาต่อยอดผลิตและจำหน่ายด้วย จึงให้จัดทำเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานใหม่ ซึ่งมีความคล่องตัวกว่าในการยกเว้นพระราชบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ ครม. ก็มีความเห็นว่าบางเรื่องอาจจะยกเลิกไม่ได้ เช่น เรื่องการแข่งขันกับเอกชนหรือความมั่นคง ส่วนนี้ให้สำนักงานกฤษฎีกาไปตรวจสอบอีกครั้งถึงความเหมาะสมในประเด็นต่างๆ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ตั้งคนกลางดูแลผลประโยชน์สัญญาทุกประเภท

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “คู่สัญญา” หมายความว่า คู่สัญญาตามสัญญาต่างตอบแทนเพื่อให้คู่สัญญาทุกประเภทสามารถทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้ จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงสัญญาบางประเภทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์และหลักเกณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อดูแลกิจการดูแลผลประโยชน์ให้เหมาะสมมากขึ้น

“เดิมกฎหมายปี 2551 มีการกำหนดที่ไม่ครอบคลุมสัญญาทุกประเภท และทำให้คนใช้งานน้อยกว่าที่ควร ครั้งนี้จึงปลดล็อกส่วนนี้ ซึ่งกฎหมายนี้จะอนุญาตให้คู่สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคู่สัญญา ทำให้คู่สัญญามีความสะดวกไม่ต้องมาดูแลเรื่องคดีความเอง หากมีการโกงหรือมีคดีความ ถ้ามีคนหันมาใช้ก็จะลดภาระเล่านี้ได้ รวมไปถึงคดีความของทั้งศาลด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

โยกปลัดคลังนั่งเลขาสภาพัฒน์ ชี้ต้องการคนเก่งขับเคลื่อน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติย้าย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และย้าย ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง มาดำรงตำแหน่งแทน

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงเหตุผลการโยกย้ายว่าเพื่อความเหมาะสมในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปของชาติ ซึ่งสภาพัฒน์จะต้องเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและต้องการคนเก่งมาขับเคลื่อนงาน จึงขอตัวมา ส่วนตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังที่ว่างลงยังไม่หารือว่าจะแต่งตั้งใครมาแทนในการประชุมครั้งนี้

เห็นชอบงบปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เน้นพัฒนาคน 18.7%

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ของสำนักงบประมาณ โดยเฉพาะตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจํา 2.261 ล้านล้านบาท งบประมาณสำหรับการลงทุน 660,000 ล้านบาท งบประมาณสำหรับคืนต้นเงินกู้ 78,000 ล้านบาท โดยประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ที่ 17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดคือกระทรวงศึกษาธิการที่ 480,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทย ที่ 370,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง ที่ 240,000 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณ 752,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 29%

หากจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณทั้ง 7 ด้าน ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ของงบประมาณทั้งหมด ยุทธศาสตร์สำหรับความสามารถในการแข่งขันของประเทศสัดส่วน 13.6% ยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาคนสัดส่วน 18.7% ยุทธศาสตร์สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนและลดการเหลื่อมล้ำ 13.2% นอกจากนี้ มีงบประมาณตามนโยบายเรื่องการพัฒนากลุ่มจังหวัด 27,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากปีก่อนหน้า

โดยหลังจากนี้ ทางสำนักงบประมาณจะทำการเปิดรับฟังความเห็นก่อนสรุปเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 โดยจะมีการพิจารณาตัวเลขและเอกสารทั้งหมดก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ต่อไป

นอกจากนี้ ครม. ยังให้สำนักงบประมาณหารือกับหน่วยราชการเรื่องการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปเพียงพอและสอดคล้องหรือไม่ และต้องปรับรายละเอียดใหม่อะไรบ้าง

เห็นชอบแผนลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 6 มาตรการ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ โดยมีหัวข้อหลักในการรณรงค์ชื่อว่า “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” กำหนดช่วงเวลาการดำเนินการระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2561 – 17 เมษายน 2561 แบ่งเป็น 6 มาตรการ

มาตรการที่ 1 คือ การลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านคน โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยเน้นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบ่อยมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และมีการตัดหน้ากันกระชั้นชิด

มาตรการที่ 2 คือ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ซึ่งจะประกอบด้วยการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน โดยเฉพาะที่เป็นจุดเสี่ยง จุดอันตราย และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย มีการกำหนดให้จัดจุดพักรถและจุดบริการต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ใช้รถ ใช้ถนน และมีการจัดเตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยง ทางลัด และจะให้มีการจัดทำป้ายเตือนและป้ายแนะนำต่าง ๆ ให้ชัดเจน

มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ มีการกำหนดมาตรการ แนวทาง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแล รถโดยสารสาธารณะและรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงพนักงานขับรถโดยสารพนักงานประจำรถ และก็ตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย โดยจะเพิ่มความเข้มงวดให้กับรถโดยสารสาธารณะและรถโดยสารไม่ประจำทางสองชั้นเป็นสำคัญ และมีการให้เข้มงวดกวดขันกับผู้ที่ใช้รถกระบะหรือรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินในห้วงเวลาดังกล่าว

มาตรการที่ 4 ดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครทำงานร่วมกัน และร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้กำหนดแนวทางการตรวจตราดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยรวมถึงความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในสถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิง พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ให้มีความปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตแล้ว

มาตรการที่ 5 คือ มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ มีการกำหนดมาตรการแนวทางทางน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยต่างๆ และให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ

มาตรการที่ 6 คือ มาตรการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ ได้สั่งการให้มีการจัดเตรียมความพร้อมของรถพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมไปถึงระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการ การประสานงานและการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่าย ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รวมไปถึงจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพและกู้ภัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ระบบการติดต่อสื่อสาร และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในห้วงเวลาเดินทางไปกลับเพื่อไปฉลองเทศกาลสงกรานต์ โดยนายกรัฐมนตรีไม่อยากให้เน้นเฉพาะแค่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือช่วงที่มีวันหยุดระยะยาวเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญความปลอดภัยทางถนนตลอดทั้งปี เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติเหตุจำนวนมากตลอดทั้งปี ทั้งนี้รวมถึงมาตรการต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ยังให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงของวันหยุดยาว โดยเฉพาะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

มติ ครม. อื่นๆ