การลงทุน เป็นการนำเงินที่สะสมไว้ไปบริหารจัดการเพื่อสร้างผลตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จะช่วยชดเชยผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ สร้างความมั่งคั่ง และทำให้นักลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ แต่การลงทุนบางประเภทที่ให้ผลตอบแทนดีอาจต้องแลกกับการยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
การลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ (เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ หุ้นกู้ พันธบัตรระยะสั้น) นั้น ผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะบริหารจัดการด้วยตัวเอง หรือลงทุนผ่านกองทุน
การบริหารจัดการด้วยตัวเอง สามารถทำได้ด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจมีข้อจำกัด เนื่องจากต้องทำการศึกษาข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมากได้ การกระจายความเสี่ยงจึงทำได้อย่างจำกัด นอกจากนี้ ยังต้องมีเวลาในการติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคของคนทั่วไป
อีกทางเลือกการลงทุน คือการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งเป็นการมอบหมายให้มืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาช่วยจัดการลงทุนแทน การลงทุนแนวทางนี้จะทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี กองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ตั้งแต่ผู้ที่ต้องการลงทุนแต่ไม่มีเวลาศึกษาสินทรัพย์แต่ละประเภท ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการลงทุน ผู้ลงทุนที่มีเงินสะสมจำนวนไม่มาก ไปจนถึงผู้ที่มีเงินสะสมจำนวนมาก
รู้จักกองทุนรวม
กองทุนรวม หรือ mutual fund คือ การระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมากและนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามนโยบายของแต่ละกองทุน ให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุน
การลงทุนในกองทุนรวม คือ การมอบการตัดสินใจในการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนให้กับผู้จัดการกองทุน การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเป็นการช่วยให้นักลงทุนสามารถให้ความสำคัญกับการตัดสินใจการกระจายสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในการลงทุน (เช่น จะมีหุ้น หรือหุ้นกู้ เป็นสัดส่วนเท่าไรดี) และควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนรวม มากกว่าการเลือกสินทรัพย์เป็นชิ้นๆ (เช่น จะซื้อหุ้นของบริษัทอะไรดี)
ประเภทของกองทุน
กองทุนรวมมีหลายประเภท แบ่งออกได้ทั้งตามสินทรัพย์หรือตลาดที่เข้าไปลงทุน แบ่งตามกลยุทธ์การลงทุน หรือแบ่งตามสิทธิประโยชน์ทางภาษี
กองทุนรวมสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งพันธบัตร หุ้น ทองคำ หรืออิงตามธุรกิจ ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวเป็นหลัก หรือลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์พร้อมกัน สินทรัพย์แต่ละประเภทย่อมให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละเวลาตามภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป
กองทุนรวมประเภทนี้มี 2 แบบ คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศอย่างเดียวและกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ที่เรียกว่า foreign investment fund (FIF)
กองทุนรวม FIF มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย กองทุนประเภทนี้จึงช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และมีทางเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นไทยนั้นมีขนาดเล็กและคิดเป็นเพียงสัดส่วนเพียง 0.5% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกเท่านั้น การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุนรวม จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนโดยไม่จำกัดการลงทุนเฉพาะในประเทศอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุน FIF จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่กองทุนนั้นไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
กองทุนรวมตามกลยุทธ์การลงทุนมี 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ passive fund กับ active fund ซึ่งผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้ว่ากองทุนรวมที่เลือกมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบใดตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนหรือ fund fact sheet
กองทุนรวมแบบ passive fund เป็นกองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงหรือมาตรฐาน (benchmark) ที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ เช่น กรณีที่ลงทุนในกองทุนแบบ passive fund ที่อ้างอิงดัชนี SET 100 ผู้ลงทุนก็ควรคาดหวังผลตอบแทนจากกองทุนที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET 100 โดยหากดัชนี SET 100 ปรับตัวขึ้น 1% ผู้ลงทุนก็ควรจะได้ผลตอบแทนราว 1% ตามไปด้วย
ข้อดีของการลงทุนแบบ passive fund คือ เป็นการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงตามจำนวนหลักทรัพย์ของดัชนีอ้างอิง ผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างตรงไปตรงมา และมีต้นทุนที่ต่ำกว่ากองทุนแบบ active fund เพราะค่าธรรมเนียมต่ำกว่า เนื่องจากผู้จัดการกองทุนไม่ต้องบริหารการลงทุนมาก เพียงรักษาการลงทุนให้เป็นไปตามดัชนีอ้างอิงเท่านั้น
นักลงทุนหลายคนที่เชื่อว่า ผู้จัดการกองทุนไม่ได้สามารถเอาชนะตลาดได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้ แต่ข้อเสียของกองทุนประเภท passive fund คืออาจเป็นการปิดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิง
กองทุนรวมแบบ active fund เป็นกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลและคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน บนวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง
ข้อดีของการลงทุนในกองทุนแบบ active fund คือ มีผู้จัดการกองทุนดูแลและคัดเลือกหุ้นให้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่หุ้นที่เลือกจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง แต่ข้อเสียก็คือมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าการลงทุนใน passive fund
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการลงทุนในกองทุนรวม passive fund หรือ active fund ล้วนมีข้อดีที่เหมือนกันคือ
หนึ่ง ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลลงทุนด้วยตัวเองและไม่ต้องเลือกลงทุนเอง
สอง การลงทุนในกองทุนรวมยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าเนื่องจากต้นทุนการใช้บริการกองทุนรวมบางประเภทถูกเฉลี่ยกับผู้ถือหน่วยรายอื่น
สาม การลงทุนในกองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยงภายในตัว
และสี่ กองทุนรวมมีการกำกับดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุน ที่ต้องมีใบอนุญาตด้วยความเห็นชอบของ ก.ล.ต. จึงสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
กองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนมี 2 แบบ คือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (long-term equity fund: LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (retirement mutual fund: RMF)
กองทุนรวม LTF เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นในประเทศเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ที่รัฐสนับสนุนให้ตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันซึ่งก็คือกองทุนรวมนั่นเอง โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีการเสนอเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้บุคคลธรรมดาหันมาลงทุนในกองทุนรวม LTF
กองทุนรวม RMF เป็นกองทุนรวมที่มุ่งส่งเสริมการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ และเช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุน LTF บุคคลธรรมดาจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหากปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยกองทุน RMF จะมีความหลากหลายในสินทรัพย์ที่สามารถเข้าไปลงทุน เช่น ทองคำ พันธบัตร หรือหุ้นต่างประเทศ ซึ่งสามารถเลือกลงทุนแบบอิงตามธุรกิจได้ เช่น ลงทุนในธุรกิจ healthcare เป็นต้น
ลงทุนแบบผสมบนหลัก asset allocation
กองทุนอีกประเภทคือกองทุนผสม ที่ลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนหลายประเภทไปพร้อมๆ กัน โดยใช้หลักการกระจายสินทรัพย์ในการลงทุน หรือ asset allocation ที่มีอยู่ว่าการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทย่อมให้ผลตอบแทนต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น หากผสมผสานสินทรัพย์หลายประเภทไว้ในพอร์ต ก็สามารถช่วยลดความผันผวนของการลงทุนได้ โดยเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ผู้จัดการกองทุนอาจจะทำการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ด้วย
นอกจากนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมแบบผสม อาจช่วยให้เราได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทั้งภายในประเภทสินทรัพย์ และระหว่างประเภทสินทรัพย์ โดยกองทุนแบบผสมมีหลายระดับความเสี่ยงให้นักลงทุนสามารถเลือกให้ตรงกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองได้
เข้าใจก่อนลงทุน
กองทุนรวมเหมาะสำหรับผู้ลงทุนทุกคน ทั้งผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น ต้องการลงทุนในต่างประเทศ เพราะไม่ต้องใช้เวลาไปศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต้องรู้และเข้าใจว่ากองทุนรวมที่ตนเองสนใจนั้นมีวัตถุประสงค์การลงทุนแบบไหน นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน ผู้จัดการกองทุนเป็นอย่างไร มีแนวทางบริหารกองทุนแบบไหน มีกระบวนการคัดเลือกหุ้นอย่างไร มีผลตอบแทนในอดีตเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนจะต่างจากดัชนีอ้างอิงมากน้อยแค่ไหน คิดค่าธรรมเนียมอย่างไร จ่ายเงินปันผลหรือไม่
สำหรับกองทุน FIF ที่ลงทุนในต่างประเทศนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วกองทุน FIF จะเป็น feeder fund (กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลักเพียงกองเดียว คือไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV) ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในประเทศที่นำเสนอกองทุนให้กับผู้ลงทุนนั้นมีการดำเนินการอย่างไรกับกองทุนบ้าง เช่น มีการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ และหากมีการปิดความเสี่ยงแล้ว ต้นทุนในการปิดความเสี่ยงเป็นเช่นใด
กองทุนรวมมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร แต่ไม่ว่าจะเลือกลงทุนแบบไหน ผู้ลงทุนต้องรู้จักและเข้าใจกองทุนนั้นๆ เป็นอย่างดี และควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการและความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการลงทุนตามที่ตั้งใจไว้
ซี่รี่ย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร