ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ ในโลกและสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผนวกกับผลตอบแทนจากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ได้ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนในหุ้นด้วยความคาดหวังถึงผลตอบแทนโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวทางการลงทุนที่ไม่ถูกหลักการ เพราะแม้หุ้นเป็นการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่หุ้นไม่ว่าหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศก็ย่อมมีความผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้
ความจริงแล้ว หุ้นไม่ใช่การลงทุนประเภทเดียวที่มีความเสี่ยง การลงทุนทุกประเภท แม้กระทั่งการถือเงินสดอยู่เฉยๆ ก็มีความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนที่จำกัดอยู่ที่สินทรัพย์ใดหรือตลาดใดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบการลงทุน มูลค่าของการลงทุนจะขยับไปในทิศทางเดียว จนในกรณีที่การลงทุนขยับในทางลบ ผลกระทบอาจรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้ ยิ่งกว่านั้น แม้กระทั่งความพยายามแก้ปัญหาโดยลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เช่น การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ โดยมากก็มักให้ผลตอบแทนที่ต่ำเกินไป จนไม่ตอบโจย์ความต้องการในยุคปัจจุบันอยู่ดี
ด้วยเหตุที่ไม่มีการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำแล้วให้ผลตอบแทนสูงอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นคำตอบของนักลงทุนก็คือการสร้างพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) กล่าวคือการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท อย่างที่เรียกว่า Asset Allocation เพื่อสร้างภาพรวมการลงทุนที่ทั้งให้ผลตอบแทนตามคาดหวัง พร้อมกันกับมีความเสี่ยงไม่เกินระดับที่รับได้ ตามหลักการดังต่อไปนี้
สำรวจตัวเอง
สินทรัพย์ลงทุนมีหลายประเภท ได้แก่ หุ้น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้เอกชน ไปจนถึงสินทรัพย์ลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) เช่น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไป นักลงทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท หากแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองใน 3 มิติ คือ
ข้อแรก ความรู้ความเข้าใจ เพราะแม้จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมาก แต่ความไม่รู้ไม่เข้าใจก็อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ การไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจถือเป็นพื้นฐานการลงทุนที่สำคัญที่สุด
ข้อสอง ระดับของอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน และผลตอบแทนที่คาดหวังของนักลงทุนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน นักลงทุนจึงต้องเลือกระดับอัตราผลตอบแทนให้ตรงกับเป้าหมายการวางแผนการเงินการลงทุนของตัวเอง
ข้อสาม ความเสี่ยงที่รับได้ นักลงทุนต้องพิจารณาว่าตัวเองมีความสามารถและความต้องการในการรับความเสี่ยงได้ระดับไหน ซึ่งไม่ควรทำด้วยความคิดหรือความรู้สึกอย่างเดียว แต่ควรทำแบบประเมินความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานเพื่อแปลงคะแนนออกมาเป็นค่าความเสี่ยงที่รับได้ ก่อนที่จะเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้น
เข้าใจความเสี่ยง
โดยทั่วไป สามารถแบ่งสินทรัพย์ได้ตามลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็น 4 ประเภท ซึ่งเรียงตามลำดับจากผลตอบแทนต่ำและความเสี่ยงต่ำขึ้นไปได้ดังนี้ 1. เงินสด (Cash/Near cash) 2. พันธบัตรหรือตราสารหนี้ (Bond/Debenture) 3. หุ้น (Stock/Share) และ 4. สินทรัพย์ลงทุนทางเลือก (Alternative Investment)
1. เงินสด หมายถึงเงินฝากธนาคาร ตลอดจนการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) เพราะมีสภาพคล่องในระดับเดียวกับเงินฝากออมทรัพย์ ซื้อขายได้ตลอดเวลาทุกวันและความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่กองทุนเหล่านี้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเฉลี่ย ผลตอบแทนของสินทรัพย์กลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 1.5-2%
2. พันธบัตรหรือตราสารหนี้ กลุ่มนี้เริ่มมีความเสี่ยงและความผันผวนเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสขาดทุนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนมากขึ้นประมาณ 3-5% โดยหากเป็นตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูงในระดับ 5% ก็มักจะเป็นตราสารหนี้ความเสี่ยงสูงที่เรียกว่า High Yield Bond หรือ Junk Bond
3. หุ้น กลุ่มนี้โดยทั่วไปมีผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return) ประมาณ 10% แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีค่าความเสี่ยงมากกว่า 10% โดยความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเส้นตรง แบบ 1 ต่อ 1 แต่อาจเป็นในลักษณะที่เมื่อผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 1 หน่วย นักลงทุนก็อาจต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-4 หน่วย ดังนั้น หุ้นจึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ
4. สินทรัพย์ลงทุนทางเลือก กลุ่มนี้เป็นสินทรัพย์ที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มการลงทุนได้ไม่นาน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) แยกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ 1) Precious Metal โลหะมีค่า จำพวกทองคำ 2) Industry Metal โลหะที่ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง ดีบุก 3) Energy ทรัพยากรพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ 4) Soft Commodity สินค้าเกษตร เช่น กาแฟ ข้าว ข้าวสาลี ทั้งนี้ สินค้าโภคภัณฑ์นี้มักจะมีราคาเดียวทั่วโลก อาจจะต่างกันบ้างในแต่ละตลาด แต่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และมีราคาที่ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือราคาน้ำมันที่เป็นราคาเดียวทั่วโลก
กลุ่มที่ 2 แบ่งย่อยได้อีกหลายอย่าง อย่างแรก คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบที่ลงทุนได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มักเป็นการสร้างตึกหรือสร้างอพาร์ตเมนต์ของคนกลุ่มที่มีเงินสะสมมาก แต่ด้วยกองทุนรวมนี้ คนทั่วไปที่มีเงินไม่มากนักก็สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้
อย่างที่สอง เรียกว่า Structured Note มีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นกู้ เพียงแต่ในขณะที่หุ้นกู้ทั่วไปจ่ายเป็นดอกเบี้ย Structured Note จะจ่ายผลตอบแทนแบบมีเงื่อนไข และมักมีระยะเวลาลงทุนสั้นกว่าหุ้นกู้ทั่วไป อีกทั้ง Structured Note เป็นสินทรัพย์ที่สามารถออกแบบว่าจะให้ผลตอบแทนเท่าไร เมื่อเกิดเงื่อนไขอย่างไร บนสินทรัพย์หลักประเภทใดก็ได้ ทั้ง หุ้น น้ำมัน ทองคำ เงินสกุลต่างๆ
ยกตัวอย่าง Structured Note บนน้ำมัน อายุ 6 เดือน อาจกำหนดเงื่อนไขว่าหากราคาน้ำมันดิบปัจจุบันที่ระดับราคา 40 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับขึ้นไปสูงกว่า 65 เหรียญสหรัฐ จะจ่ายผลตอบแทน 8% ในทางตรงกันข้าม หากราคาลดลงต่ำกว่า 35 เหรียญสหรัฐ ผู้ลงทุนต้องรับมอบน้ำมันที่ต้นทุน 35 เหรียญสหรัฐ ดังนั้น เมื่อลงทุนไปได้เพียง 2 เดือน ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็วทะลุพ้นกรอบขาขึ้น การลงทุนนี้ก็จะหยุด ผู้ลงทุนก็รับผลตอบแทน 8% ต่อปีของการลงทุนระยะ 2 เดือนนั้นไป แต่ในทางกลับกัน ราคาน้ำมันร่วงพ้นกรอบขาลง ผู้ลงทุนก็รับมอบน้ำมันดิบไปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ณ วันที่มีการตกลงซื้อ Structured Note จะเห็นได้ว่า Structured Note เป็นผลิตภัณฑ์ลงทุนที่สามารถออกแบบให้มีความเสี่ยงและผลตอบแทนตามที่ต้องการได้หลากหลาย และกำลังกลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญของการลงทุนในปัจจุบัน
จัดพอร์ต
ตามที่ได้กล่าวแล้ว การสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยหลัก Asset Allocation คือ กระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ นำประเภทการลงทุนหลายๆ อย่างเอามาผสมในสัดส่วนที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการลงทุนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนแบบนี้มีข้อดีคือทำให้นักลงทุนคงเป้าหมายการลงทุนไว้ได้ เพราะสามารถปรับสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภทให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้ตลอดระยะเวลาการลงทุน ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ในขณะที่มีความเสี่ยงลดลง เพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เคลื่อนไหวสวนทางกันในพอร์ตช่วยขจัดความเสี่ยงให้กันและกัน เช่น หุ้นกับพันธบัตร ในทางสถิติมักจะเคลื่อนไหวสวนทางกัน ช่วงไหนเศรษฐกิจดีผลตอบแทนหุ้นจะดี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรมักจะไม่ค่อยดี การมีสินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้ในพอร์ตลงทุนจึงช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจได้
นอกจากนั้น ในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันยังสามารถกระจายการลงทุนไปในหลายตลาดได้ เช่น อาจมีการลงทุนทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ กองทุนรวมก็สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศและกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งในเมื่อกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศยังสามารถเลือกกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ Asset Allocation ได้ด้วย ก็จะยิ่งทำให้การลงทุนกระจายไปได้กว้าง และกระจายความเสี่ยงออกไปได้ละเอียดมากขึ้นอีก
ระดับความเสี่ยงของพอร์ต
การประเมินระดับความเสี่ยงของพอร์ต ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจสถานะและเป้าหมายของการลงทุนในแต่ละขณะ เพื่อจะได้กำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตได้อย่างสอดคล้อง โดยระดับความเสี่ยงของพอร์ต สามารถแบ่งได้ 5 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ลงทุนแบบปกป้องเงินต้น (Capital Protection) เป้าหมายหลักคือรักษาเงินต้นไว้ไม่ให้ขาดทุน แต่ผลตอบแทนอาจจะน้อยจากการรับความเสี่ยงได้น้อย
กลุ่มที่สอง ลงทุนสร้างรายได้ (Income) กลุ่มนี้รับความเสี่ยงได้มากกว่ากลุ่มแรก โดยเงินต้นอาจจะแกว่งได้บ้าง แต่เป้าหมายสำคัญคือเงินต้นนั้นต้องสร้างรายได้ออกมาให้ใช้ได้ ซึ่งเหมาะกับคนเกษียณอายุที่มีเงินก้อนแต่ไม่มีรายได้อื่น จึงต้องนำเงินก้อนที่มีมาลงทุนเพื่อสร้างรายได้ โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่สร้างรายได้
กลุ่มที่สาม Balance หรือ Income & Growth เป้าหมายต้องการทั้งรายได้และให้เงินเติบโตด้วย การลงทุนต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง
กลุ่มที่สี่ Growth ไม่เน้นการสร้างรายได้ เพราะยังมีรายได้ทางอื่นอยู่ เช่น ยังทำงานอยู่หรือทำธุรกิจอยู่มีรายได้ให้ใช้ เงินก้อนนี้เป็นเงินออมที่ต้องการให้เงินเติบโต จึงเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
กลุ่มที่ห้า High growth หรือ High Risk High Return กลุ่มนี้ยอมรับความเสี่ยงได้เต็มที่ เพราะต้องการให้ในระยะยาวเงินเติบโตได้ในอัตราสูงสุด
และทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นหลักการคร่าวๆ ของกลยุทธ์การกระจายการลงทุนด้วยหลัก Asset Allocation ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแนวทางที่ได้เปรียบและเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งโดยรอซื้อและขายเฉพาะจังหวะที่ทำกำไรสูงสุดอย่างที่เรียกกันว่าการลงทุนแบบจับจังหวะตลาด (Market Timing) เพราะในทางปฏิบัติ การพยากรณ์พฤติกรรมของตลาดเช่นนั้นทำได้ยากและไม่สามารถรับประกันความถูกต้องได้ จึงไม่อาจบริหารความเสี่ยงได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในการจัดพอร์ตจริงต้องลงลึกในรายละเอียดให้เหมาะกับลักษณะและความต้องการของแต่ละคน เพื่อให้ได้แผนการลงทุนที่มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้สูงสุด
ซี่รี่ย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร