ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ยึด 6 หลักการสร้างกลไกดูแลระบบสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายใหม่ รับมือกรณีเกิดวิกฤติการเงิน

ธปท. ยึด 6 หลักการสร้างกลไกดูแลระบบสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายใหม่ รับมือกรณีเกิดวิกฤติการเงิน

21 มีนาคม 2018


นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาและยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ การดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) เช่น กำหนดมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อดูแลหนี้ภาคครัวเรือน การดูแลสถาบันการเงินแต่ละแห่งให้มีความมั่นคง มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Micro Prudential) เช่น กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง แนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIBs) การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. ธปท. เพื่อสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะยกระดับความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันการเงินไทย โดยการเตรียมความพร้อมให้มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินไว้ล่วงหน้าในช่วงที่ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ การปรับปรุง พ.ร.บ. ธปท. นี้เป็นการสร้างกลไกทดแทนกฎหมายเดิม [บทเฉพาะกาล มาตรา 19 พ.ร.บ. ธปท. (ฉบับที่ 4)] ที่หมดอายุลง

“ช่วงนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องการที่จะทำความเข้าใจว่า การแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. นี้ เพื่อให้มีกลไกการดูแลระบบสถาบันการเงิน เวลาที่แบงก์มีปัญหาแล้วแบงก์นั้นอาจจะกระทบต่อระบบสถาบันหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมเราจะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ปัญหาแบงก์นั้น เพื่อดูแลระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม”

นายสมบูรณ์กล่าวว่า การสร้างกลไกเป็นการเตรียมไว้ หากมีปัญหาในอนาคตจะได้นำมาใช้ เป็นการเตรียมไว้ก่อน และวิกฤติเศรษฐกิจในตะวันตกเป็นบทเรียนให้เห็นแล้วว่าการมีกลไกในการแก้ไขปัญหาได้โดยเร็วเพื่อไม่ให้มีผลกระทบเป็นเครื่องมือสำคัญ

ทั้งนี้ จากวิกฤติการณ์การเงินโลก (Global Financial Crisis) ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีกลไกแก้ไขปัญหาที่สามารถดำเนินการได้ทันการณ์และเป็นระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งการดำเนินการนี้สอดคล้องกับแนวทางสากล โดยปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้เตรียมการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ การดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการกำกับพร้อมรับการประเมินภาคการเงินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก (Financial Sector Assessment Program: FSAP) ซึ่งเป็นการประเมินด้านเสถียรภาพและการกำกับดูแลภาคการเงินโดยเทียบกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเงินให้มีความมั่นคงและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะมีการเจรจาเพื่อกำหนดขอบเขตการประเมินในเดือนมิถุนายน และเข้ารับการประเมินในไตรมาส 4 ปี 2561 นี้

เหตุผลการสร้างกลไก

การมีกลไกจะช่วยสร้างความมั่นใจในการประเมินว่าไทยมีเครื่องมือในการรับสถานะการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศต้องมี พอทำแล้วเหมือนกับมี safety net รองรับ ซึ่งนักลงทุนผู้ใช้บริการจะได้ความมั่นใจว่า การดูแลสถาบันการเงินดีขึ้นจะส่งผลที่ดีต่อระบบสถาบันการเงินเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้ มีการกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบความเสียหายและผู้ดำเนินการที่ชัดเจน เป็นการลดภาระภาครัฐและประชาชนได้

นายสมบูรณ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การมีกลไกในการแก้ปัญหาให้พร้อมไว้จะช่วยลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหากเกิดปัญหา ซึ่งกลไกดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือช่วยสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ แต่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจว่าจะได้รับบริการทางการเงินที่สำคัญจากระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก รวมถึงลดภาระที่อาจเกิดกับภาครัฐและประชาชนจากการเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

การผลักดันให้มีกลไกดูแลระบบสถาบันการเงินผ่านการแก้ไขกฎหมายได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว โดยผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559 แล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ควบคู่กับการรับฟังความเห็นจากธนาคาร กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และล่าสุดวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาได้เข้าสู่ สนช. ซึ่งมีมติรับหลักการเพื่อการแก้ไข ขั้นตอนต่อไปจะมีการพิจารณาในรายละเอียด

ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีเพราะระบบสถาบันการมีการกำกับตามมาตรฐานสากลที่ดีแล้ว สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมั่นคง โดยมีการดูแลให้มีการดำรงเงินกองทุนตามมมาตรฐานสากล การดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องตามมาตรฐานสากล การดูแลด้านธรรมาภิบาล และมีการดูแลด้าน Macro Prudential ประชาชนมีความเชื่อมั่น ภาคสถาบันการเงินก็มีความพร้อมที่จะทำให้เกิดกลไกเรื่องนี้ขึ้นมา

“ภาคสถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคงแข็งแรงมาก ดังจะเห็นจากการดำรงเงินกองทุนที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ 8.5% แต่ในปีที่แล้วทั้งระบบความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรฐาน BIS สูงประมาณ 18% ส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งราว 15% เป็นส่วนของหุ้น ส่วนของเจ้าของ ขณะที่อัตราส่วนสภาพคล่องก็สูงเกินกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้”

กรอบหลักการของกลไกการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินที่กำหนดไว้ในการปรับปรุง พ.ร.บ. ธปท. ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 หมวดใหญ่

กรอบหลักกาาร

1. เงื่อนไขในการเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งจำกัดเฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินประสบวิกฤติแล้วกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

2. กระบวนการตัดสินใจมีความรวดเร็ว ชัดเจน และมีการถ่วงดุลอำนาจ โดย ธปท. ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เสนอแผนการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

“กระบวนการแก้ไขปัญหาต้องรวดเร็วกระชับฉับไว เพื่อไม่ให้ปัญหานั้นลุกลามแพร่กระจายออกไป แต่ต้องมีความรอบคอบ ผ่านการพิจารณาที่สมดุลมีการถ่วงดุลอำนาจ มีการตัดสินใจที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินของแบงก์ชาติ ที่ดูแลผลกระทบทั้งตลาดทุน ตลาดเงิน ประกัน และภาคธุรกิจ จากนั้นส่งไปภาครัฐบาล คือ กระทรวงการคลัง แล้วนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป จะเห็นว่ามีการพิจารณารอบด้าน”

3. กำหนดผู้ดำเนินการตามแผนการไว้ชัดเจน คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เพราะมีความพร้อมและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา

“ข้อนี้เป็นการกำหนดบทบาทของผู้ดำเนินการตามแผน ซึ่งจากการพิจารณาหลายด้านแล้วเห็นว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกออกจากแบงก์ชาติเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามแผนที่ ครม. เห็นชอบ เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ มีประสบการณ์และความพร้อมของบุคลากรจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายไม่ต้องสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับ และเพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ กฎหมายเขียนกำหนดให้กองทุนฟื้นฟูฯ แยกบัญชีการดำเนินงานเป็นครั้งๆ ไป หากในอนาคตต้องเข้าไปดำเนินการตามแผน”

4. มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เพียงพอ พร้อมใช้ เช่น ให้กู้ยืม ซื้อหุ้นเพิ่มทุน และดำเนินการตาม วิธีอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในแผนการแก้ไขปัญหา

“กฎหมายให้ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เช่น การให้กู้ยืม การแยกทรัพย์สิน แล้วแต่ความเหมาะสมของการแก้ปัญหา ภายใต้กฎหมายเปิดช่องทางช่วยเหลือดูแลหลายรูปแบบ”

5. แหล่งเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา ที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว โดยให้กองทุนฯ สามารถกู้ยืมจาก ธปท. หรือแหล่งอื่นโดยรัฐบาลค้ำประกัน

6. การชดเชยภาระ มีการกำหนดผู้ร่วมรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เป็นภาระภาครัฐ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินในระบบร่วมชดเชยในภายหลัง อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็น ก็อาจขอให้รัฐบาลร่วมชดเชยผลเสียหายด้วยก็ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม

“เมื่อมีการแก้ไขปัญหาเสร็จแล้วก็ต้องมาคิดกันว่า ผลของความเสียหายเกิดขึ้นเท่าไร ใครจะเป็นคนรับภาระในส่วนนั้น กฎหมายเขียนไว้ว่า เพื่อความเหมาะสมและความเป็นธรรม ให้สถาบันการเงินที่มีในระบบเป็นคนรับภาระความเสียหายในส่วนนั้น คือต้องช่วยกัน และดูว่าใครต้องรับภาระเท่าไร ในกฎหมายจึงกำหนดให้มีการเก็บเงินจากสถาบันการเงิน”

นายสมบูรณ์กล่าวว่า การชดเชยความเสียหายในร่างแก้ไขกฎหมายใหม่มีความแตกต่างจากของเดิม โดยของเดิมเขียนไว้ว่าความเสียหายทุกอย่างให้เป็นภาระรัฐบาล แต่ของใหม่นั้นมีวัตถุประสงค์ว่าการแก้ไขดูแลเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาในระบบสถาบันการเงิน ผู้ที่ได้ประโยชน์คือสถาบันการเงิน ดังนั้น ในหลักการจึงให้สถาบันการเงินที่เหลืออยู่เป็นผู้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับหลักการสากลที่เกิดวิกฤติปี 2008

“แต่กฎหมายก็มีความยืดหยุ่น หากความเสียหายเยอะมาก หรือใหญ่เกินกว่าที่ระบบโดยรวมจะรับได้ ก็เปิดช่องให้ภาครัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมได้ รับผิดชอบความเสียหายได้ด้วย”

ปัจจุบันมีการเก็บเงินจากสถาบันการเงินอยู่แล้วจากความเสียหายในอดีตที่อัตรา 0.47% ของยอดเงินฝาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง 0.46% ชดเชยความเสียหาย แต่อีก 0.01% ส่งไปยังสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในกฎหมายใหม่กำหนดว่าเก็บไม่เกินร้อยละ 1

อนึ่ง ความเสียหายเดิม (วิกฤติปี 2540) ที่คงค้างมีมูลค่าประมาณ 8.9 แสนล้านบาทซึ่งประมาณการณ์ไว้ว่าจะชดเชยหมดภายใน 12-14 ปี