ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics วิเคราะห์ “บาทแข็ง ค่าแรงเพิ่ม ธุรกิจไหนเจ็บ!”

TMB Analytics วิเคราะห์ “บาทแข็ง ค่าแรงเพิ่ม ธุรกิจไหนเจ็บ!”

9 กุมภาพันธ์ 2018


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ “บาทแข็ง ค่าแรงเพิ่ม ธุรกิจไหนเจ็บ” โดยมองว่าแม้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2561 แนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.8 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเฉลี่ย 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สร้างรายได้จากการส่งออกเฉลี่ย 2.1 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน แต่หลังจากเข้าสู่ปี 2561 เป็นต้นมา ธุรกิจส่งออกต้องเผชิญกับปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินงาน ทั้งเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นถึง 5% ในปีนี้ ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำจากปีก่อน 1-7% ขึ้นกับพื้นที่ตั้ง เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนนี้

จากปัจจัยทั้ง 2 ส่วนนี้ TMB Analytics ประเมินผลกระทบต่อธุรกิจผ่านโครงสร้างธุรกิจและการเงิน และคาดการณ์การส่งออกในปี 2561 เพื่อช่วยให้เห็นภาพผลกระทบและการปรับตัวของธุรกิจส่งออกในปีนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยรวมพบว่าอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากระดับปกติเฉลี่ยที่ 0.6% จากผลของเงินบาทที่แข็งทำให้กำไรลดลง 0.2% เนื่องจากรายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทลดลง ส่วนของค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรลดลง 0.4% จากภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยจัดกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์/ชิ้นส่วน เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงและมีการจ้างแรงงานสูง ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากระดับปกติ 1-3% และด้วยแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตอย่างจำกัดที่ 1-4% จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับผลกำไรที่ลดลงที่กำลังลดทอนความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก

2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเฉพาะด้าน ด้วยลักษณะผลกระทบที่แตกต่างกัน จึงแยกออกมาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ได้ผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ข้าว และอาหาร ด้วยการพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่สูง แต่การจ้างแรงงานต่ำ ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากระดับปกติ 1-2% อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มส่งออกปีนี้ที่เติบโตมากกว่า 5% ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดผลกระทบ

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค กระดาษ/สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ เนื่องจากธุรกิจถูกกระทบจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็นหลัก ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากระดับปกติ 0.1-0.5% และด้วยแนวโน้มการส่งออกอยู่ในระดับต่ำ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเรื่องขยายตลาด การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อลดต้นทุน และรักษาส่วนแบ่งตลาดและผลกำไร

3. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ผู้ผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้ และด้วยลักษณะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกต่อ จึงช่วยลดผลกระทบจากการแข็งของเงินบาท (Natural Hedging) ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเป็นในการผลิต จึงมีต้นทุนแรงงานอยู่ในระดับต่ำ กำไรขั้นต้นจึงได้รับผลกระทบน้อยเพียง 0.1% จากระดับปกติ ผู้ประกอบการที่สามารถปรับปรุงการดำเนินงาน การผลิต และบริหารความเสี่ยงได้ดีจะช่วยรักษาศักยภาพในการทำกำไรและการแข่งขันในตลาดได้ต่อไป

จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการส่งออกไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นได้ แต่ยังสามารถลดผลกระทบได้ จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาและมีข้อมูลที่บอกช่วยทิศทางแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน สถานภาพทางการเงิน การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและขยายช่องทางตลาด ข้อมูลตลาดส่งออกและข้อมูลคู่แข่ง จะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกมีขีดความสามารถในการเติบโตและพร้อมรับมือกับแข่งขันตลาดโลกได้

แนวโน้มการส่งออก ที่มา: วิเคราะห์โดย TMB Analytics จากข้อมูลของ Bloomberg MOC และ BOL