ThaiPublica > เกาะกระแส > ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นสะดุดฉุดอาเซียน ชี้ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยกระทบแน่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นสะดุดฉุดอาเซียน ชี้ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยกระทบแน่

20 พฤษภาคม 2016


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งผลลบต่อการส่งออกของอาเซียน ขณะที่ความเสี่ยงหลักของไทยอยู่ที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยมองว่าการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเป็นคำตอบที่จะทำให้การส่งออกของไทยผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้

หากกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงจะนึกถึงประเทศที่ทันสมัย ประชากรมีมาตรฐานชีวิตที่ดี และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่อยู่ในระดับสูง แต่แท้ที่จริงนั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้านในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาเงินฝืด และหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงกว่าสองเท่าของขนาดเศรษฐกิจ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.7 ช่วยบรรเทาความกังวลในช่วงก่อนหน้าที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย (Technical Recession) แต่อัตราการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศถือว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยทั้งการนำเข้าและการส่งออกของญี่ปุ่นปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาการนำเข้าหดตัวถึง 14.9% ขณะที่การส่งออกหดตัวถึง 6.8%

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 0.5 และจะหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2560 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีนัก ถ้าเรามองในมุมของผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศหลักของอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการส่งออก ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงต่อ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจะต้องได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างแน่นอน

info-Graphic_analytic_japan 19May2016_Final

โดยหากเปรียบเทียบจากสัดส่วนการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มอาเซียนคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นถึงร้อยละ 6.22 และร้อยละ 5.51 เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจตามลำดับ โดยสินค้าที่มาเลเซียส่งออกไปญี่ปุ่นเกินกว่าครึ่งหนึ่งคือแก๊สปิโตรเลียมเหลวที่ยังมีความเสี่ยงด้านราคา ในขณะที่ชิ้นส่วนวงจรไฟฟ้าและยาซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สิงคโปร์ส่งออกไปญี่ปุ่น ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่หดตัวเช่นกัน ในทางตรงข้าม ศูนย์วิเคราะห์ฯ เชื่อว่าปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นอยู่เพียงแค่ร้อยละ 2 ของขนาดเศรษฐกิจเท่านั้น

สำหรับสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นของไทยอยู่ที่ร้อยละ 4.91 ของขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น อาหาร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ อาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน

จากการประเมินเบื้องต้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาท เนื่องจากการผลิตรถยนต์ยังมีแนวโน้มที่ไม่สดใสจากทั้งการบริโภคสินค้าคงทนในญี่ปุ่นที่อยู่ในขาลงและความต้องการนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่การส่งออกอาหาร เช่น ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง อาจจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าเนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นในการอุปโภคบริโภค

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อการค้าของกลุ่มอาเซียนไม่ช้าก็เร็ว แม้เศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านบางประเทศ แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ เชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายจะเป็นคำตอบสุดท้ายของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงคราวสะดุด