
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการที่ภาครัฐได้ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนฐานะการเงินอย่างโปร่งใส ธปท. จึงได้ออกแนวนโยบายการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเพื่อรองรับมาตรการบัญชีเล่มเดียว โดยให้การพิจารณาของสถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญกับงบการเงินที่ผู้ประกอบการใช้แสดงต่อกรมสรรพากรมากยิ่งขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อให้มีเวลาเตรียมพร้อม
ทั้งนี้ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำร่องจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว โดยการลดดอกเบี้ยเหลือ 5% คงที่เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งจะจัดทำโครงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการด้วย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณางบการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่สถาบันการเงินใช้ในการพิจารณา เพราะงบการเงินเป็นข้อมูลผลประกอบการในอดีต สถาบันการเงินจะต้องใช้ปัจจัยอื่นๆ เช่น แผนธุรกิจหรือประมาณการกระแสเงินสด ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจมหภาค มาพิจารณาประกอบศักยภาพของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้คืนของลูกค้า
“ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ต้องเข้าใจว่าหน้าที่ของธนาคารคือรับเงินฝากและต้องคืนเงินแก่ประชาชน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อไม่ระวังก็จะคืนไม่ได้ ธนาคารก็ต้องหลักเกณฑ์ว่าแบบไหน หน้าตาแบบไหนที่ให้ได้ ได้เท่าไหร่ คืนเมื่อไหร่ บัญชีก็เป็นหนึ่งในปัจจัย แนวปฏิบัตินี้จะช่วยให้คนที่มีบัญชีเดียวที่ถูกต้องตรงตามการประกอบธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องยุ่งยากหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบให้ธนาคาร ก็มีเวลาไปทำธุรกิจแทน” นายปรีดีกล่าว
อนึ่ง ในการกำหนดแนวนโยบายในเรื่องนี้ ธปท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ (ได้แก่ กรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผู้แทนสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้แทนภาคธุรกิจ (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย) เพื่อให้มั่นใจว่าแนวนโยบายจะสามารถใช้ปฏิบัติได้จริงอย่างราบรื่น รวมทั้งสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและยั่งยืนในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้กระบวนการปรับตัวเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ แนวนโยบายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าเดิมจนกว่าจะถึงรอบการทบทวนพิจารณาวงเงิน (credit reviews) หรือการต่ออายุสัญญาเดิม ในขณะที่ลูกค้าใหม่ก็มีโอกาสได้รับสินเชื่อสอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงเพิ่มขึ้น