ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > วางแผนการเงิน วางแผนชีวิตบนแนวคิด MR.W (MR. Wealth)

วางแผนการเงิน วางแผนชีวิตบนแนวคิด MR.W (MR. Wealth)

13 มกราคม 2018


การเงินส่วนบุคคลของเมืองไทยส่วนใหญ่สอนกันที่บ้าน โดยแต่ละครอบครัวก็มีการออมการจัดการเงินแตกต่างกันไป และมีอีกหลายล้านครอบครัวที่ไม่ได้สอนการออมการจัดการเงินเลย ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่สินค้าและบริการที่สามารถดึงเงินออกจากกระเป๋าได้อย่างง่ายดายมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อหย่อนการจัดการทางการเงินส่วนบุคคล มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จึงมีแต่การใช้จ่าย

ยิ่งกว่านั้น ภาระของมนุษย์เงินเดือนมีทั้งภาระในปัจจุบัน และภาระในอดีต ซึ่งได้แก่สินเชื่อที่ต้องชำระคืน ไม่ว่าสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ดังนั้น โดยแนวโน้ม เงินที่หาได้จึงมักถูกนำใช้เพื่อการใช้จ่ายเฉพาะหน้าหรือเพื่อปลดภาระในอดีต มากกว่าการวางแผนเก็บออมเพื่ออนาคต ชีวิตภายหลังเกษียณของคนทำงานในเวลาอีก 10-20 ปีข้างหน้า ที่อาจมีหรือไม่มีลูกหลานดูแล ประกอบกับแนวโน้มตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มักจะเกิดวิกฤติทุกๆ 8-10 ปี จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้วางแผนทางการเงิน

ยึดหลัก MR.W วางแผนการเงิน

สิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนทางคือความเข้าใจตัวเอง โดยอาจยึดหลักการวิเคราะห์ตามแนว MR.W ซึ่งประกอบด้วย M คือ Money Management การจัดการเงิน R คือ Risk Management การจัดการกับความเสี่ยง และ W คือ Wealth Management การจัดการการลงทุน

Money Management คือการจัดการเงิน เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะหากไม่สามารถจัดการเงินที่หามาได้ ย่อมไม่มีเงินไปลงทุน โดยหลักการคือ เมื่อมีเงินเข้ามาต้องมีการแบ่งสัดส่วนตามวัตถุประสงค์ เช่น ส่วนหนึ่งเพื่อการใช้จ่าย ไม่ว่าวันนี้ วันหน้า หรือเพื่อเหตุฉุกเฉิน อีกส่วนหนึ่งเพื่อการออม ไม่ว่าออมเพื่อเกษียณ เพื่อสุขภาพ เพื่อครอบครัว หรือเพื่อการศึกษา ซึ่งการแบ่งแบบนี้จะทำให้รู้ว่ามีเงินเพื่อการใช้จ่ายจำนวนเท่าไร มีเงินเพื่อการออมเท่าไร

การรู้จักแบ่งเงินตามวัตถุประสงค์ สามารถนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของการวางแผนการเงิน ตั้งแต่การจัดการเงิน ไปจนการจัดการความเสี่ยงและการจัดการการลงทุน ตัวอย่างเช่น เมื่อได้รับเงิน 100 บาท ให้แบ่งไว้เพื่อการใช้จ่าย 70 บาท ไม่ว่าค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าซื้อประกันชีวิต ส่วนที่เหลือ 30 บาท ให้เก็บออมตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และเลือกใช้เครื่องมือการออมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

Risk Management คือการจัดการความเสี่ยง ความเสี่ยงมีหลายด้านมีทุกช่วงอายุ การจัดการกับความเสี่ยงของแต่ละคนจึงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะ เช่น สถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว สถานะคนโสด รวมไปถึงภาระทางการเงินที่มี เครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ได้แก่ ประกันชีวิต ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้กับทุกสถานะ ทุกช่วงอายุ

Wealth Management คือการจัดการการลงทุน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อผ่านขั้นตอนการแบ่งสัดส่วนเงินและจัดการความเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว โดยเหตุผลที่ต้องมีการลงทุน คือ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การออมแบบธรรมดาไม่เพียงพอ เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องลงทุน เพียงแต่ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

จะเห็นได้ว่าแนวคิด MR.W เป็นกรอบความคิดที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ทางการเงินส่วนบุคคลได้ดีขึ้น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจตัวเองว่า สิ่งใดหรือเป้าหมายใดสำคัญต่อชีวิต มีรายได้อย่างไร มีค่าใช้จ่ายตรงไหน เงินเหลือมีเท่าไหร่ เมื่อได้คำตอบสิ่งเหล่านี้แล้ว การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายจึงจะสามารถทำได้

จัดการความเสี่ยงด้วยประกัน

ประกันเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความเสี่ยง โดยการจัดการกับความเสี่ยงทางการเงินคือ ประกันชีวิต ส่วนการจัดการกับความเสี่ยงด้านสุขภาพคือประกันสุขภาพ

กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกที่คนไทยควรทำคือ whole life หรือ ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ ประกันชนิดนี้เน้นการคุ้มครองระยะยาว โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี แต่ให้การคุ้มครองตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น ข้อดีของแบบประกันประเภทนี้คือ เบี้ยไม่สูงมาก และคุ้มครองนาน เหมาะกับการใช้ดูแลผู้อยู่ข้างหลังหรือสร้างกองมรดกให้ลูกหลาน

สำหรับการนำ Money Management หรือ M การจัดการเงินเข้ามาใช้ในขั้นตอนการซื้อประกันชีวิต แนะนำให้จัดสรรรายได้ทั้งปีออกมา 5 % เพื่อซื้อประกันชีวิตสำหรับการคุ้มครองชีวิต ไม่จำเป็นต้องซื้อเต็มสิทธิลดหย่อนภาษี 100,000 บาท เช่น อายุ 30 ปี มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันที่ 5% ก็เป็นเงินประมาณ 30,000 บาทซื้อประกันชีวิตแบบ whole life ที่มีทั่วไปในตลาด ทุนประกัน 2 ล้านบาทก็ถือว่าตอบโจทย์ของการมีความคุ้มครอง แถมยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

นอกจากประกันชีวิตแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระทบแผนการเงินได้อย่างมาก การทำประกันสุขภาพจึงช่วยอุดช่องโหว่ของแผนการเงินได้ดี ทั้งนี้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากที่ทำงาน จึงควรเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกรอบสิทธิประโยชน์ว่าบริษัทให้ค่าใช้จ่ายในจำนวนเท่าไร และจำเป็นที่จะต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อเพราะบริษัทมีประกันกลุ่ม (Group Insurance) ซึ่งคุ้มค่ามากกว่าการซื้อเอง อย่างไรก็ตาม หากต้องการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม แนะนำให้ซื้อเพิ่มเติมจากประกันกลุ่มเดิมที่ได้รับจากบริษัทเพราะเบี้ยประกันมักจะถูกและผลประโยชน์คุ้มค่ากว่า

นอกจากนั้น การวางแผนทางการเงินที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือประกันสังคมเพราะจ่ายเงินสมทบเพียงเดือนละ 750 บาท แต่ได้ความคุ้มครองทุกอย่าง ตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ค่าทำคลอด ค่าสงเคราะห์บุตร ดังนั้น การวางแผนทางการเงินควรใช้ประกันสังคมซึ่งมีสิทธิประโยชน์ครบเป็นฐาน และหากไม่เพียงพอจึงค่อยซื้อประกันเพิ่มเติม

การซื้อประกันชีวิตควรสอดคล้องกับภาวะการเงินแต่ละช่วงชีวิตและสถานะของชีวิต ทั้งสถานะคนโสด หัวหน้าครอบครัว หรือคนในวัยเกษียณ

  • ประกันชีวิตสำหรับวัยทำงานสร้างครอบครัว
  • วัยนี้มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว มีภาระหนี้สินจากการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ และมีสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ประกันชีวิตจึงควรเป็นแบบที่คุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ เพราะหากเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือทุพพลภาพย่อมไม่สามารถทำงานหารายได้อีกต่อไป ประกันชีวิตจะป้องกันไม่ให้เหตุดังกล่าวกระทบต่อเป้าหมายการดูแลครอบครัว หรือการซื้อบ้าน ซื้อรถ ได้ระดับหนึ่ง
    การทำประกันชีวิตของหัวหน้าครอบครัวเริ่มต้นจากการประเมินภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวว่ามีเท่าไร แล้วเลือกทุนประกันให้เพียงพอสำหรับคุ้มครองครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยการเลือกประกันชีวิตไม่ควรกำหนดจากจำนวนเงินที่ต้องการจ่าย แต่ควรเป็นการกำหนดจากทุนประกันที่ต้องการ

    ตัวอย่างเช่น หัวหน้าครอบครัววันนี้มีอายุ 45 ปี มีลูกอายุ 5 ปี ต่อมาอีก 10 ปีหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ลูกอายุได้ 15 ปี กำลังเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาอีกมากและใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปีกว่าจะจบปริญญาตรี หรือปริญญาโท ซึ่งอาจจะใช้เงิน 3 ล้านบาท หรือ 5 ล้านบาท ดังนั้นการซื้อประกันชีวิตก็ต้องกำหนดทุนประกันให้เพียงพอ เพื่อให้ลูกได้เรียนจบปริญญาตรีหรือโทโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของครอบครัว

  • ประกันชีวิตสำหรับวัยเกษียณ
  • วัยเกษียณเป็นวัยที่ไม่มีภาระทางการเงิน ไม่มีภาระในการดูแลเลี้ยงดูครอบครัว ประกันชีวิตที่นำมาจัดการกับความเสี่ยง ควรเป็นประกันประเภทที่สร้างรายได้และคุ้มครองสุขภาพ เช่น หากมีกรมธรรม์แบบตลอดชีพแล้วแต่กังวลว่าจะไม่มีรายได้หลังเกษียณ ก็ให้ซื้อประกันบำนาญเพิ่มเติม โดยอาจเริ่มต้นซื้อเมื่ออายุประมาณ 38-40 ปี เนื่องจากในช่วงดังกล่าว การงานจัดว่าเริ่มมั่นคงและมีกระแสเงินสดเสถียรพอจะสามารถจ่ายเบี้ยได้ต่อเนื่อง โดยการซื้อประกันบำนาญจะช่วยเพิ่มความคุ้มครอง เช่น กรมธรรม์แบบตลอดชีพให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกัน 2 ล้านบาท เมื่อซื้อประกันบำนาญทุนประกัน 1 ล้านบาทเพิ่ม ก็เท่ากับมีทุนประกันมีเพิ่มอีก 1 ล้านบาทและยังได้ลดหย่อนภาษี หากเป็นอย่างนี้ หลังเกษียณจะได้เงินโดยประมาณ 15-20% ของทุนประกันต่อปี เช่น ทุนประกัน 1 ล้านบาท ก็ได้เงินปีละ 150,000 บาทหรือ 12,500 บาทต่อเดือน นับว่าเป็นรายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับเงินเลี้ยงชีพจากกองทุนประกันสังคมที่ได้สมทบไว้และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล ก็พอจะเป็นรายได้ขั้นต่ำในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
    นอกจากนี้ ในวัยเกษียณยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ คนในวัย 60 ปีบริษัทประกันมักไม่รับประกันสุขภาพ จึงต้องมีการออมเพิ่ม แต่ในเมื่อการออมแบบธรรมดาย่อมไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทางสุขภาพซึ่งมีราคาสูงขึ้นโดยตลอด จึงอาจต้องใช้วิธีแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ทางสุขภาพแทน

    แบ่งรายได้ผ่อนบ้านไม่เกิน 1 ใน 4

    นอกเหนือจากการวางเงินและการจัดการกับความเสี่ยงสำหรับชีวิตในวันนี้กับชีวิตหลังเกษียณแล้ว ก่อนที่ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการลงทุนหรือ Wealth Management อีกหนึ่งความเสี่ยงที่จำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดการให้ดี คือ ภาระหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้เงินกู้ซื้อบ้าน

    ทั้งนี้ โดยหลักการ เงินที่จัดสรรมาผ่อนหนี้บ้านไม่ควรเกิน 1 ใน 4 หรือไม่เกิน 20% ของรายได้ เพื่อให้ยังเหลือเงินส่วนหนึ่งใช้ในการดำรงชีวิต การผ่อนหนี้ในระดับที่ตึงเกินไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินในด้านอื่นๆ เช่น หากบุคคลมีเงินเดือน 50,000 บาท แต่ซื้อบ้านราคา 3 ล้าน ในแต่ละเดือนควรผ่อนไม่เกิน 15,000 บาทหรือประมาณ 25-30% แต่หากรายได้ 100,000 บาทควรจะผ่อนไม่เกิน 20% หรือ 1 ใน 4 เพื่อสำรองไว้เพื่อรายจ่ายอื่นที่ยังไม่ปรากฏ เว้นแต่มีรายได้หลายช่องทางหรือเป็นการผ่อนร่วมกันระหว่างสามีภรรยา

    การบริหารหนี้อย่างถูกต้องให้หมดก่อนสัญญาจะสิ้นสุด เป็นการจัดการเงินและการจัดการความเสี่ยงที่ดี โดยจะช่วยลดความเสี่ยงในการปิดสัญญากู้ซื้อบ้านอีกด้วย โดยอาจจะใช้วิธีการรีไฟแนนซ์ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลง หรือเพิ่มเงินผ่อนต่อเดือนให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดเงินต้นลง ทั้งนี้ภาระหนี้บ้านควรจะหมดก่อนอายุ 45 ปีสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงอายุที่สูงขึ้น เช่น บางคนอาจเจอวิกฤติชีวิตต้องออกจากงานในวัยกลางคน หากยังมีภาระหนี้บ้านก็ย่อมมีความเสี่ยงจะที่ไม่สามารถปิดสัญญาเงินกู้บ้านได้

    แผนการเงินแผนชีวิต

    Wealth Management การลงทุนเป็นเรื่องสุดท้าย หลังจากที่มีการจัดการกับเงินและการจัดการกับความเสี่ยงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระยะ 10 ปีแรกของการทำงาน โดยทั่วไปควรเป็นช่วงวางแผนอาชีพมุ่งทำงานให้เงินเดือนเพิ่ม คุมรายจ่ายเพื่อให้รายได้เพิ่มและมีเงินเหลือ แทนที่จะใช้เวลางานไปกับการศึกษาการลงทุน ซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทนไม่เท่ากับผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน ช่วงนี้จึงควรลงทุนผ่านกองทุนรวมทั้งกองทุนรวมทั่วไปกองทุนที่ได้ลดหย่อนภาษี และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีคนจำนวนไม่น้อยไม่วางแผนทางการเงิน แต่มุ่งตรงไปที่การลงทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วอาจไม่คุ้มค่าได้ เช่น หากมีเงินลงทุน 50,000 บาทได้กำไร 10% ย่อมเท่ากับ 5,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้เวลาที่ศึกษาเรื่องการลงทุนมามุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานจนได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000-2,000 หรือเท่ากับได้เงินเพิ่ม 12,000-24,000 บาทต่อปี ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าเนื่องจากไม่ต้องใช้เงินในการลงทุนเลย

    การลงทุนที่ดีที่สุดคือลงทุนในตัวเอง ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนว่างานใดที่ชอบ งานใดที่ไม่ชอบ จะพัฒนาทักษะด้านไหน รายได้แต่ละช่วงอายุจะเป็นอย่างไร โดยเป้าหมายชีวิตอาจยังไม่ใช่เป้าหมายว่าอายุ 60 ปีต้องมีเงินเท่าไร หากแต่เป็นเป้าหมายของการทำงานว่า ณ อายุในปัจจุบัน ควรมีรายได้เท่าไร และใช้คำตอบดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดในการทำงาน

    ลงทุนสม่ำเสมอสู้เงินเฟ้อ

    หลักการจัดการเงินหรือ M สามารถนำมาใช้ได้กับการลงทุน โดยอาจจะแบ่งเงินตามเป้าหมายและระยะเวลาที่ต้องการจะใช้ สำหรับเงินที่ต้องการจะใช้ในระยะสั้น ควรจำกัดความเสี่ยงในการลงทุน แต่สำหรับเงินลงทุนเพื่อได้เงินก้อนสำหรับใช้วันหน้า ก็อาจรับความเสี่ยงที่มากขึ้นได้ เพราะมีระยะเวลาลงทุนที่นานขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องลงทุนสม่ำเสมอ และต้องกระจายการลงทุน เพราะหากลงทุนกระจุกอาจจะขาดทุนได้ง่าย โดยการกระจายการลงทุนสามารถทำได้ทั้งในมิติของภูมิศาสตร์หรือประเภทของสินทรัพย์

    การลงทุนที่ดีต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อที่ต้องคำนึงถึงมีด้วยกัน 3 ตัว อย่างแรก เงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างที่สอง คือ เงินเฟ้อจากค่าเล่าเรียน ปัจจุบันสถานศึกษา โรงเรียนบางแห่งระบุไว้ชัดเจนว่าค่าบำรุงการศึกษาของเด็กจะเพิ่มในอัตราปีละเท่าไร บางที่กำหนดขึ้นปีละ 6% โดยเฉพาะโปรแกรมการสอนพิเศษ เช่น การเรียนการสอน 2 ภาษาซึ่งมีการปรับขึ้นทุกปี ขณะที่เงินเดือนของผู้ปกครองอาจขึ้นไม่ทันค่าใช้จ่ายนี้ นอกจากนี้ยังอาจมีการเฟ้อของเงินค่าเรียนด้านภาษาอีกด้วย อย่างสุดท้าย คือ เงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลที่ปรับขึ้นมากที่สุดไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ค่ารักษาพยาบาลของเมืองไทยปรับขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10-15%

    เงินเฟ้อทำให้รายจ่ายในอนาคตปรับขึ้นเร็วเงินฝากโตไม่ทันขณะเดียวกันเงินที่เรามีก็จำกัดเพราะฉะนั้นต้องลงทุนและลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอตัดเงินทยอยลงทุนรายเดือนไปใช้สิทธิภาษีให้ครบ โดยการใช้สิทธิภาษีให้ดีที่สุดควรใช้สิทธิจากการลงทุนในกองทุน RMF ให้ครบก่อน เพราะ RMF มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณ ตามเงื่อนไขซื้อแล้วต้องถือไปจนกว่าอายุ 55 ปี อย่างไรก็ตามไม่ควรลงทุนตามกรอบภาษีอย่างเดียว แต่ต้องอิงตามรายได้ เช่น แบ่งเงินมาลงทุน 20% ของรายได้และเมื่อรายได้เพิ่มก็ขยับลงทุนเพิ่ม เช่น ลงทุนเดือนนี้ 5,000 บาท เดือนหน้าลงทุนเพิ่มเป็น 5,500 บาท ถ้ารับภาระลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ก็ใช้ 5,500 บาทเป็นตัวเลขในการลงทุนต่อไป

    การวางแผนทางการเงินมีความจำเป็น เพราะเป็นการกำหนดทิศทางและวิธีการในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับเงินซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและเป้าหมายชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวการวางแผนการเงินที่ดีเป็นการสะสมความมั่งคั่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำให้สามารถปรับตัวได้ในทุกช่วงที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีแผนการเงินที่เดินหน้าตามเป้าหมาย

    ซี่รี่ย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร