ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > เทคนิคเลือกซื้อและผ่อนรถป้ายแดงอย่างชาญฉลาด

เทคนิคเลือกซื้อและผ่อนรถป้ายแดงอย่างชาญฉลาด

27 มกราคม 2018


รถยนต์นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และแม้การเป็นเจ้าของรถยนต์ป้ายแดงในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีตัวเลือกมากมายหลายยี่ห้อ หลายรุ่น หลายราคา แต่ด้วยมูลค่าที่สูงกว่าสิ่งของอื่นๆ ในชีวิต การตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยนอกเหนือจากรูปลักษณ์ที่สวยงามโดนใจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความต้องการใช้สอยที่แท้จริง ที่สำคัญ การผ่อนชำระต้องไม่สร้างภาระทางการเงินให้มากจนเกินไป โดยขอนำเสนอเทคนิคในการเลือกดังนี้

1. สำรวจรถตรวจความต้องการ

  • รถยนต์มีราคามาตรฐาน
  • ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์ใดที่มีในตลาดเมืองไทย ราคารถยนต์ที่ดีลเลอร์หรือโชว์รูมซื้อมาจากค่ายผู้ผลิตเป็นราคามาตรฐาน แต่ราคาที่โชว์รูมจะขายรถให้ผู้ซื้อแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการต่อรองและโปรโมชั่นในเวลานั้น บางโชว์รูมสามารถให้ส่วนลดเป็นเงินจากราคาขายได้มาก ขณะที่บางโชว์รูมไม่มีส่วนลดราคา แต่มอบของแถมหลายอย่างรวมมูลค่าไม่น้อย เช่น ฟรีประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ผู้ซื้อต้องสำรวจตัวเองว่าส่วนลดเป็นตัวเงินหรือของแถมจะตรงความต้องการ ณ ขณะหนึ่งๆ มากกว่า

  • ความสะดวกในการใช้บริการ
  • ผู้ซื้อรถยนต์มือหนึ่งควรพิจารณาความสะดวกในการนำรถเข้าใช้บริการหลังการขายที่ศูนย์บริการของค่ายรถที่เลือก ต่างจากการซื้อรถมือสองที่ซ่อมหรือใช้บริการได้ตามอู่รถทั่วไป โดยความสะดวกในการใช้บริการนี้ควรพิจารณาทั้งในแง่ระยะทาง ระยะเวลาในการใช้บริการ และคุณภาพในการให้บริการ

  • ราคาขายต่อ
  • รถยนต์ป้ายแดงไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใด มีสิ่งที่เหมือนกันคือราคาจะลดลงประมาณ 20-25% หลังจากใช้ไปในปีแรก แต่ที่ต่างกันคือราคาของรถยนต์แต่ละแบรนด์จะลดลงไม่เท่ากัน สะท้อนถึงความต้องการและปริมาณรถที่หมุนเวียนในท้องตลาด โดยรถยนต์ที่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่สูง ความต้องการที่จะซื้อต่อย่อมมีมากกว่ารถที่มีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสูง ราคาขายต่อก็ลดลงไม่มาก ความนิยมในแบรนด์ก็มีส่วนช่วยให้ราคาไม่ตกลงมากนัก ซึ่งองค์ประกอบของความนิยมมีหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีของรถ ความพร้อมและจำนวนศูนย์บริการ ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ

  • การรับประกัน
  • การประกันที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มีอยู่หลักๆ 3 ด้าน ด้านแรก คือ ประกันภัยรถยนต์ ด้านที่สอง คือ การรับประกันเครื่องยนต์ และด้านที่สาม คือ ประกันสินเชื่อ

    การซื้อรถรุ่นที่ต่างกันมีการรับประกันเครื่องยนต์ต่างกัน ซึ่งการรับประกันนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ อย่างแรกรับประกันตามระยะเวลาการใช้งาน เช่น รับประกันตลอดการใช้งานเป็นเวลา 5 ปี อย่างที่สองรับประกันตามระยะทาง เช่น รับประกันการใช้งานในระยะทางไม่เกิน 50,000 กิโลเมตร โดยหากเครื่องยนต์เสียหายผู้รับประกันจะซ่อมฟรีให้ในชิ้นส่วนหลัก เช่น เกียร์ ระบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ซื้อรถมือหนึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องการมีภาระเรื่องค่าบำรุงรักษารถ จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขการรับประกันของโชว์รูมหรือดีลเลอร์ให้ละเอียด เผื่อกรณีมีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต

  • หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถแต่ละรุ่น
  • รถแต่ละรุ่นมีปัญหาในการใช้งานที่ไม่เหมือนกันแม้เป็นแบรนด์เดียวกัน เพราะรถยนต์มีการผลิตออกมาเป็นลอต ในแต่ละลอตย่อมไม่เหมือนกัน อีกทั้งบางรุ่นก็จะมี sub-model ออกมาด้วย โดยมีการปรับปรุงใหม่เล็กๆ น้อยๆ หรือที่เรียกว่า minor change ผู้ซื้อควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้ซึ่งหาได้ทั่วไปตามเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่แสดงความเห็นของผู้ที่ใช้งานรถรุ่นนั้นๆ มาแล้ว

    2. สำรวจเงินตรวจกระเป๋า

    เมื่อผ่านขั้นตอนเลือกรถที่ต้องการและดีลเลอร์ที่ตอบโจทย์แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนทางการเงิน ส่วนใหญ่ผู้ซื้อรถยนต์มือหนึ่งมักใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจากสถาบันการเงิน จึงควรประเมินสถานะการเงินของตัวเองเพื่อวางแผนการผ่อนชำระ ทั้งจำนวนเงินที่ผ่อนแต่ละงวดและระยะเวลาที่จะผ่อน ให้เหมาะสมกับความสามารถทางการเงิน เนื่องจากรถยนต์มือหนึ่งมีราคาสูงไม่น้อย การกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ 1 คันนั้นย่อมสร้างภาระทางการเงินที่ผูกพันไปไม่ต่ำกว่า 4 ปี

  • อัตราดอกเบี้ย Flat Rate
  • การกู้เงินต้องมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น สินเชื่อเช่าซื้อรถมีการคิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) คือ คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากเงินต้นทั้งก้อนที่คงที่ตลอดอายุของสัญญา แม้จะได้ทยอยผ่อนชำระเงินต้นบางส่วนไปแล้วก็ตาม ต่างจากสินเชื่อบ้านที่เป็นแบบลดต้นลดดอก

    แม้ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อจะเป็นแบบเงินต้นคงที่ แต่ในกรณีที่ผู้กู้มาปิดบัญชีก่อนกำหนด ธนาคารหรือไฟแนนซ์จะเปลี่ยนไปคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และปกติเงื่อนไขของธนาคารโดยทั่วไปถ้าปิดบัญชีก่อนกำหนดจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ครึ่งหนึ่งจากยอดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกที่คำนวณได้ เช่น เมื่อผ่อนไปแล้ว 2 ปี ในทางบัญชีดอกเบี้ยเหลือไม่มาก ธนาคารจะดูเงินต้นที่เหลือและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารมีโอกาสจะได้รับหากผู้กู้ผ่อนต่อเนื่องไปจนจบสัญญา สมมติว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยจำนวน 50,000 บาทนี้ เป็นดอกเบี้ยที่คิดแบบลดต้นลดดอก ผู้กู้ก็จ่ายดอกเบี้ยเพียง 25,000 บาท

    ส่วนกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระได้จนครบอายุสัญญา ธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่ให้กู้จะดูมูลหนี้อย่างเป็นธรรมกับลูกค้า หากธนาคารหรือไฟแนนซ์นำรถไปขายต่อแล้วได้เงินมากกว่ายอดเงินต้นก็จะมอบเงินส่วนนั้นให้กับลูกค้า แต่ถ้านำรถไปขายต่อแล้วได้เงินน้อยกว่ายอดเงินต้น ลูกค้าจะต้องจ่ายสวนต่างเพิ่มเติม เช่น ยอดเงินกู้ทั้งหมด 500,000 บาท ผ่อนไปแล้วจำนวน 400,000 บาท คงเหลือยอดเงินต้นอยู่ 100,000 บาท หากธนาคารหรือไฟแนนซ์นำรถไปขายต่อได้เงิน 120,000 บาทก็จะมอบเงินให้ลูกค้า 20,000 บาท แต่ถ้านำรถไปขายต่อได้เงินเพียง 80,000 บาท ลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 20,000 บาท

  • ดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับเงินดาวน์/ระยะการผ่อน

  • โดยปกติแล้ว เงินดาวน์ ค่าผ่อนหรือค่างวด และระยะเวลาการกู้จะมีความสัมพันธ์กัน การวางเงินดาวน์และระยะเวลาการผ่อนจึงมีผลต่อค่างวดที่จะต้องชำระ

    อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่สถาบันการเงินจะคิดกับผู้กู้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย กรณีที่ซื้อรถยนต์รุ่นเดียวกัน ความแตกต่างของดอกเบี้ยจะอยู่ที่จำนวนเงินดาวน์และระยะเวลาผ่อน เพราะทั้งสองปัจจัยจะบ่งบอกความเสี่ยงที่ธนาคารหรือไฟแนนซ์ผู้ปล่อยสินเชื่อต้องรับ

    กรณีแรก เงินดาวน์สูงอัตราดอกเบี้ยมักจะถูก
    การวางเงินดาวน์สูงอัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าการวางเงินดาวน์ต่ำ เนื่องจากวงเงินกู้ไม่สูง ธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อมีความเสี่ยงไม่มาก เช่น ลูกค้าวางเงินดาวน์สูง เมื่อผ่อนไประยะหนึ่งแล้วไม่สามารถผ่อนต่อได้ต้องนำรถมาคืนธนาคารเพราะตามสัญญาเช่าซื้อธนาคารเป็นผู้ซื้อ ลูกค้าเป็นเพียงผู้เช่ารถ ดังนั้น ธนาคารจึงสามารถเอารถไปขายทอดตลาด ซึ่งโดยปกติมูลค่าที่ขายทอดตลาดจะครอบคลุมมูลหนี้ ธนาคารจึงไม่ขาดทุนเงินต้น

    โดยทั่วไปมูลค่าของรถยนต์หรือที่เรียกว่าค่าเสื่อมในช่วง 5 ปีแรกจะตกค่อนข้างเร็ว ในปีแรกมีค่าเสื่อมประมาณ 20-25% จากนั้นจะลดไปอีกปีละประมาณ 5-7% หากมีการวางเงินดาวน์สูงใกล้เคียงกับค่าเสื่อม ความเสี่ยงของโอกาสที่ธนาคารจะเสียหายมีน้อย ดอกเบี้ยที่ผู้กู้จะได้รับก็ไม่สูง

    ตัวอย่างเช่น วางเงินดาวน์ 20% มีระยะเวลาผ่อน 4 ปี ผู้กู้เป็นลูกหนี้ที่ดีผ่อนต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นในอีก 2 ปีที่เหลือ โอกาสความเสี่ยงของไฟแนนซ์มีน้อย ถึงแม้ในอีก 2 ปีที่เหลือนี้ผู้กู้ไม่สามารถผ่อนต่อได้ นำรถมาคืน ความเสียหายของไฟแนนซ์ก็ยังคงน้อย เพราะการขาดทุนจากการขายแทบจะไม่มีหรือมีน้อยมาก ฉะนั้นผู้ที่ดาวน์ 20% จะได้ดอกเบี้ยที่ถูก แต่ถ้าดาวน์ต่ำกว่า 20% เช่น ดาวน์ 10% 15%หรือ ดาวน์ 5% อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง

    กรณีที่สอง ผ่อนระยะสั้นดอกเบี้ยถูกกว่าผ่อนยาว
    ระยะเวลาการผ่อนที่ไม่เท่ากันจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่างกัน การผ่อนระยะยาวอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าการผ่อนระยะสั้น เนื่องจากธนาคารมีระยะเวลาในการรับความเสี่ยงจากการให้กู้นานกว่า ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่อนนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้กู้บ้าง แต่หากผ่อนเพียง 3-4 ปี ระยะเวลาที่ธนาคารรับความเสี่ยงจะสั้น มีความมั่นใจว่าผู้กู้น่าจะมีความสามารถในการผ่อนได้จนครบสัญญา

    ผู้กู้ที่วางเงินดาวน์สูงและผ่อนระยะสั้นจะได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่จำนวนเงินผ่อนต่องวดก็จะสูง เพราะเป็นการผ่อนในระยะสั้นเพื่อให้ชำระเงินกู้หมดตามระยะเวลาของสัญญา ในกรณีที่เงินต้นเท่ากันและจำนวนปีที่ผ่อนเท่ากัน ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าก็จะมีค่างวดที่ต่ำกว่า

  • เปรียบเทียบค่างวดกับรายได้

  • แม้ไฟแนนซ์จะคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นแบบ Flat Rate แต่ผู้กู้ไม่ต้องกังวลว่าในค่างวดแต่ละงวดมีเงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร ผู้กู้เพียงต้องพิจารณาว่าที่ตั้งใจจะผ่อนตามระยะเวลาสัญญา เช่น 4 ปี นั้นสอดคล้องกับความสามารถทางการเงินของตัวเองหรือไม่ โดยประเมินจากรายได้ ภาระหนี้สินเดิมที่มีก่อนที่จะกู้ซื้อรถ ทั้งนี้ เมื่อรวมภาระการผ่อนค่างวดรถแล้ว ผู้กู้ควรยังต้องมีเงินเหลือพอที่จะใช้ชีวิตในแต่ละเดือนและแบ่งไปออมหรือลงทุนได้

    ผู้กู้สามารถใช้วิธีเปรียบเทียบค่างวดจากหลายไฟแนนซ์ เพื่อประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองได้ โดยกรณีที่ต้องการผ่อนในค่างวดที่ถูกที่สุด ให้กำหนดจำนวนปีที่ผ่อนให้เท่ากัน กำหนดจำนวนเงินดาวน์ที่เท่ากัน แล้วตัดสินใจเลือกจากข้อเสนอที่ให้ค่างวดถูกที่สุด

    โดยทั่วไปกรณีที่ดอกเบี้ยต่างกันไม่มากประมาณ 0.25% ค่างวดจะแตกต่างกันในเพียงหลักร้อยบาท เช่น มูลค่ารถ 500,000 บาท ดาวน์ 20% ของมูลค่ารถกับดาวน์ 25% อัตราดอกเบี้ยอาจจะห่างกัน 0.25% เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ค่างวด 500,000 x 0.20% จะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 83 บาท ในขณะที่ค่างวด 500,000 x 0.25% จะอยู่ที่ 1,250 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 100 บาท

  • ถามหาทางเลือก
  • โดยปกติแล้วการใช้สินเชื่อเช่าซื้อ ผู้ที่จะกู้เพื่อซื้อรถไม่ได้ติดต่อกับธนาคารหรือไฟแนนซ์โดยตรง แต่จะได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำจากดีลเลอร์ที่ติดต่อซื้อรถ ซึ่งดีลเลอร์เองก็มักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารและไฟแนนซ์หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ซื้อรถได้รับคำแนะนำแผนเช่าซื้อที่ยังไม่ตรงกับความต้องการ ควรถามหาทางเลือกอื่นมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด เพราะบางช่วงอาจจะมีการจัดโปรโมชันดีๆ ให้กับผู้ซื้อรถก็ได้

    นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ไฟแนนซ์นำเสนอในตลาดส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกันมาก แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่การให้บริการของไฟแนนซ์ บางรายสามารถอนุมัติเงินกู้ให้ได้ภายใน 1 วัน บางรายใช้เวลานานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้กู้ด้วย หากมีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน เอกสารประกอบการยื่นขอกู้ครบ การอนุมัติก็จะเร็ว

  • ทำประกันสินเชื่อดึงดอกเบี้ยลง
  • นอกจากเงินดาวน์กับระยะเวลาผ่อนแล้ว การทำประกันสินเชื่ออาจจะช่วยให้ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ลดลงได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากไฟแนนซ์ผู้ให้กู้มีความเสี่ยงลดลงจากการที่สินเชื่อนั้นได้รับความคุ้มครอง โดยหากผู้กู้ประสบเหตุแก่ชีวิตก่อนที่จะผ่อนหมด บริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายมูลหนี้ที่เหลือคืนให้กับไฟแนนซ์ ทำให้ผู้กู้มีโอกาสต่อรองดอกเบี้ยลงได้ โดยทั่วไปเบี้ยประกันสินเชื่อก็ไม่สูง ประมาณ 1.5 ถึง 3% ของทุนประกัน ซึ่งมูลค่าทุนประกันก็จะใกล้เคียงกับมูลค่ารถยนต์

  • เตรียมเงินก้อนรับค่าใช้จ่ายอื่น
  • สุดท้ายนี้ ผู้กู้ควรเตรียมเงินอีกก้อนหนึ่งไว้เพื่อใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ที่จะตามมาหลังซื้อรถยนต์ด้วย เช่น ค่าต่อทะเบียนรถ ค่าทำประกันภัยรถ ซึ่งตกราว 15,000 บาทต่อปีสำหรับรถมือหนึ่ง

    รถมือสองเลือกอย่างไร


    เหตุผลในการซื้อรถมือสองคือ งบประมาณที่มีไม่มากและความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป เนื่องจากค่าเสื่อมของรถมือสองแตกต่างจากรถป้ายแดง โดยรถมือสองปีแรกมีค่าเสื่อม 5% ในขณะที่รถมือหนึ่งป้ายแดงค่าเสื่อม 25-30%

    การซื้อรถยนต์มือสองเน้นไปที่คุณภาพของรถเพราะเป็นรถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว รถยนต์มือสองที่มีราคาเท่ากันต้องพิจารณาจากสภาพรถที่คุณภาพดีกว่า

    การซื้อรถยนต์มือสองจากค่ายรถที่มีศูนย์รถมือสองรองรับ มีข้อดีคือมีการคัดคุณภาพระดับหนึ่ง แต่ข้อเสียคือมีต้นทุนในการซื้อเพิ่มขึ้นเพราะราคารถจะค่อนข้างสูงกว่าซื้อจากเต็นท์รถมือสองทั่วไป เปรียบเหมือนกับผู้ซื้อจ่ายเงินให้ศูนย์รถมือสองเป็นค่าคัดรถคุณภาพมาให้เลือก และอาจจะมีการรับประกันต่างๆ ที่บวกเพิ่มไปในราคารถ อีกทั้งการเลือกรถมือสองจากศูนย์ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ของการซื้อรถมือสองที่ว่าต้องการซื้อรถราคาไม่สูง

    ส่วนการซื้อรถมือสองจากเต็นท์ก็ต้องหาข้อมูลมากขึ้น โดยสอบถามจากผู้ที่เคยใช้บริการมาก่อน หรือเลือกจากเต็นท์รถที่ใช้บริการทางการเงินจากไฟแนนซ์รายเดียวกันกับที่ผู้ซื้อรถจะใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ปัจจุบันมีเต็นท์รถมือสองหลายรายให้ผู้ซื้อผ่อนตรงกับไฟแนนซ์ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ

    เต็นท์รถมือสองหลายรายสามารถให้บริการซ่อมบำรุงหรือรับประกันการใช้งานได้ แต่ไม่รับประกันเทียบเท่ารถมือหนึ่ง เช่น อาจจะรับประกัน 6 เดือน แต่เต็นท์รถมือสองที่รับประกันและรับซ่อม ราคารถจะสูงกว่าเต็นท์เล็ก

    ทางด้านอัตราดอกเบี้ย รถมือสองมีดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรถมือหนึ่งเกือบเท่าตัว หากรถมือหนึ่งมีดอกเบี้ยประมาณ 2.5-3.5% ดอกเบี้ยรถมือสองก็จะอยู่ที่ประมาณ 4-5%

    ซี่รี่ย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร