ThaiPublica > เกาะกระแส > “เชียงใหม่โมเดล” Northern 4.0 แกนหลักภาคเหนือเชื่อมความเจริญไปยังจังหวัดรอบข้าง

“เชียงใหม่โมเดล” Northern 4.0 แกนหลักภาคเหนือเชื่อมความเจริญไปยังจังหวัดรอบข้าง

16 มกราคม 2018


นางวรินธร ชัยวิวัธน์ รองผู้อำนวยการ ส่วนเศรษฐกิจภาค สำนักงานภาคเหนือ ธปท.และดร.ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าเชียงใหม่

ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัวกลับขึ้นมาในช่วง 2-3 ปี จากตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคต่างๆ ที่พลิกกลับมาเป็นบวกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจีดีพี การส่งออก การนำเข้า และการบริโภคของเอกชน แต่ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่กลับยังไม่รู้สึกถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นแต่อย่างใด โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงว่าเป็นสาเหตุของการฟื้นตัวที่ไม่กระจายตัวคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพราะความเจริญมักกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ และส่งผลให้การฟื้นตัวกระจุกตัวกับประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือได้จัดบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยนางวรินธร ชัยวิวัธน์ รองผู้อำนวยการ ส่วนเศรษฐกิจภาค สำนักงานภาคเหนือ ธปท. กล่าวว่า ภาคเหนือสามารถสร้างจีดีพีคิดเป็น 7.8% ของจีดีพีทั้งประเทศ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้เฉลี่ย 2.1% ต่อปี โดยเศรษฐกิจภาคเหนือพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง รองลงมาภาคบริการและท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน

ขณะที่พัฒนาการเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนที่เห็นภาพการขยายตัวเร็วกว่า โดยมีปัจจัยสำคัญจากภาคท่องเที่ยวที่คิดเป็น 43% ของเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ยกเว้นเชียงใหม่ที่ 60% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับภาคส่งออกที่ฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผลมายังภาคเหนือที่มีนิคมอุตสาหกรรมสามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เห็นการนำเข้าเครื่องจักรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาคเกษตรกรรมพบว่ารายได้เกษตรกรยังมีแรงกดดันจากภาระหนี้ที่ต้องชำระ แม้ว่าการผลิตจะดีขึ้น และส่งผลให้การบริโภคโดยรวมยังไม่ค่อยกระจายตัวมากนักและต้องติดตามต่อไป

นางวรินธรกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาภาคเหนือตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ วางไว้นั้นได้มองว่าภาคเหนือสามารถพัฒนาเป็นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูงจากทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และควรเน้นที่ภาคท่องเที่ยว เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นหลัก

นอกจากยังมองว่าเมืองอย่างเชียงใหม่หรือพิษณุโลก น่าจะมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา และด้านธุรกิจดิจิทัลที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือตั้งสำนักงานใหญ่ได้โดยมีความคล่องตัวของการทำงานสูง ขณะที่ในมุมของภูมิศาสตร์ภาคเหนือยังมีโอกาสและศักยภาพจากการค้าชายแดน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว และจีนตอนใต้

ด้าน ดร.ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าเชียงใหม่ และนักธุรกิจชั้นนำของจังหวัดเชียงใหม่ ได้บรรยายถึงเศรษฐกิจภาคเหนือที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกับสมมติฐานดังกล่าวและแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมาที่ช่วยยกระดับให้กลายเป็นเหมือนเมืองหลวงของภาคเหนือว่า เศรษฐกิจภาคเหนือปัจจุบันเติบโตต่ำสุดในรอบ 34 ปี ลดลงจากเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ในช่วงปี 2525-2530 เป็น 1.7% ในช่วงปี 2551-2558 และหากเทียบกับทุกภาคของประเทศยังถือว่าต่ำสุดจากเฉลี่ยทั้งประเทศเติบโตปีละ 5.7% ในช่วงปี 2525-2530 เป็น 2.37% ในช่วงปี 2551-2558

“ถัวเฉลี่ยทั้งหมดแล้วเราก็ครองบ๊วยนั้นเอง สลดใจไหมว่าทำไมภาคเหนือไม่เก่ง หรือไม่ค่อยจะฉลาดหรืออย่างไร เราก็ดูภาพรวมมีพื้นป่าเยอะ มีอุปสรรค มีภูเขา สภาพัฒน์ก็ประกาศมาว่าปี 2554 ถ้าเทียบทั้งประเทศปรากฏว่าภาคเหนือสร้างรายได้ 9.4% ของประเทศ ภาคใต้ 9.6% ซึ่งมีคนน้อยกว่าภาคเหนือ แล้วเทียบกับภาคตะวันออก ตะวันตก และกรุงเทพฯ สร้างรายได้ 69% เพราะ 3 ภาค (เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้) ไม่ได้ช่วยอะไรมาก รวมกันแค่ 31% เท่านั้น ผ่านไป 2558 ก็บอกว่าภาคเหนือสร้างรายได้เหลือ 7.8% บ๊วยอีกแล้ว ภาคใต้ 9.6 เหลือ 8.8% ภาคอีสาน 11.5% เหลือ 9.7% เท่ากับว่าปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังยิ่งห่างๆ เรื่อยๆ เหลื่อมกันเยอะเลย กรุงเทพฯ จาก 69% เป็น 75% ผมมานั่งทบทวนภาคเหนือจะไปโง่กว่าภาคอื่นหรือ ก็ไม่โง่ แล้วปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมสร้างรายได้น้อย” ดร.ณรงค์กล่าว

ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า เมื่อมาทบทวนพบว่าต้นทุนของภาคเหนือแพงกว่าภาคอื่น การเข้าถึงสาธารณูปโภคยากกว่าเพราะภูมิประเทศแบบภูเขา อย่างไรก็ตาม เมืองเชียงใหม่กลับโดดเด่นขึ้นมา เนื่องจาก 10 ปีที่แล้วมีการพัฒนาศูนย์กลางการบิน หรือ Aviation Hub ประกอบกับการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นจุดดึงดูดของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันยังต้องขยายต่อไปให้เป็นแกนหลักของภาคเหนือก่อนจะขยายความเจริญออกไปยังจังหวัดรอบข้าง โดยชูจุดขาย ได้แก่ บริการสุขภาพอย่างการนวดแผนไทยหรือ Care, งานฝีมือ หรือ Craft และศิลปวัฒนธรรม หรือ Culture เหมือนกับ Sea-Sand-Sun ของภาคใต้

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปเพื่อจะพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นแกนหลักของภาคเหนือจะต้องพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็น Smart City โดยมีแผนงานหลัก 6 ด้าน ได้แก่ Smart People โดยเน้นความสามารถของคนและจริยธรรม Smart Living โดยเน้นที่การบริการสุขภาพ ความปลอดภัย การคมนาคมที่จะนำโครงการขนส่งสาธารณะเข้ามา และวัฒนธรรมล้านนา, Smart Government ที่ยกระดับการบริการสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์,  Smart Environment ที่จะลดการสร้างของเสียให้เหลือศูนย์ เพิ่มพื้นที่ป่า และ Smart Economy ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ท่องเที่ยว และธุรกิจดิจิทัล

สำหรับการพัฒนาภาคเหนือ ดร.ณรงค์กล่าวว่า ภาคเหนือมียุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ หรือ Northern 4.0 ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวและการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูง, การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับอนุภูมิภาค GMS BIMSTEC และ AEC เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของภูมิภาค, ยกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง, พัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจน และอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม