ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมส่งเสริมฯพาทัวร์สหกรณ์ตัวอย่าง หนุนเกษตรกรโตอย่างยั่งยืน “กลุ่มปลูกเฮมพ์พบพระ-กล้วยหอมทอง-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

กรมส่งเสริมฯพาทัวร์สหกรณ์ตัวอย่าง หนุนเกษตรกรโตอย่างยั่งยืน “กลุ่มปลูกเฮมพ์พบพระ-กล้วยหอมทอง-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

5 ธันวาคม 2017


ปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน รายงาน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ใส่แว่นตา)ชมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ หรือ กัญชง

เฮมพ์ หรือ กัญชง เป็นพืชที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมของชาวม้ง โดยใช้เส้นใยทอเสื้อผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกพืชเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) จังหวัดตากจึงได้เป็น 1 ในพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ รวมถึงอีก 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และ เพชรบูรณ์ โดยสหกรณ์ผู้ปลูกเฮมพ์พบพระ จ.ตาก มีพื้นที่ในการปลูกเฮมพ์มากที่สุดอยู่ที่ 300 ไร่

การปลูกเฮมพ์และการส่งขายผลิตภัณฑ์ผ้าทอใยเฮมพ์ของสหกรณ์ผู้ปลูกเฮมพ์พบพระ มีองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือด้านดำเนินงานอยู่ 4 องค์กรด้วยกัน คือ มูลนิธิโครงการหลวง ได้ให้ความรู้ทางวิชาการเรื่องพืชผลไม้เมืองหนาวและพืชไร่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนปัจจัยพื้นฐาน และหาตลาดรองรับผลผลิต

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตาก สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ และให้ความรู้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตาก ให้ความรู้ด้านอุดมการณ์ หลักการ วิธีการทางสหกรณ์ ให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชี และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำแผนการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ในพื้นที่ อ.พบพระนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และช่วยลดพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดในฤดูฝน ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม โดยใช้เมล็ดพันธุ์เฮมพ์ที่มีปริมาณสารเสพติด THC ในปริมาณต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 1 ซึ่งได้เมล็ดพันธุ์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ทำให้มีรายได้ต่อไร่สูงกกว่าการปลูกข้าวโพด 5 ถึง 6 เท่า หากปลูกเฮมพ์ 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้อยู่ที่ 20,000-25,000 บาทต่อไร่ หากเกษตรกรปลูกข้าวโพดจะมีรายได้ประมาณ 3,500-5,200 บาทต่อไร่ โดยการปลูกเฮมพ์ที่เหมาะสมต่อเกษตรกร 1 คน ปลูกไม่เกิน 5 ไร่ จะมีรายได้ 100,000-125,000 บาท ซึ่งสามารถใช้แรงงานครอบครัวโดยไม่ต้องจ้างแรงงานได้

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ผู้ปลูกเฮมพ์พบพระ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่สูง ซึ่งแต่เดิมจะปลูกข้าวโพด และการเกษตรแบบที่ไม่ยั่งยืน ทางโครงการหลวงได้เข้าพัฒนาเป็นอันดับแรกและภายหลังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้เข้ามาร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรก็เป็นผู้ที่ผลิตผ้าโดยเฮมพ์อยู่แล้ว สหกรณ์จึงเข้ามาช่วยเพียงในเรื่องการจัดการเท่านั้นเอง แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ตลาด และเรื่องการแปรรูปก็ยังมีไม่มาก เชื่อว่าหลังจากผ่านข้อกฎหมายแล้ว เฮมพ์จะเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต

นางชนิษา ชื่นชมบูรณ์ นักวิชาการการเกษตรชำนาญการ ให้สัมภาษณ์ว่า หลักการในการดำเนินงานชองกลุ่มสหกรณ์ใช้หลักร่วมด้วยช่วยกัน โดยเริ่มจากผู้ที่ปลูกเฮมพ์ด้วยกันก่อน โดยปัจจัยการผลิตจะซื้อผ่านสหกรณ์ทั้งหมด เช่น เมล็ดพันธุ์ ยาบำรุง เป็นต้น เมื่อได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ สหกรณ์จะซื้อคืน เพราะฉะนั้น สมาชิกจะได้ราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งเมื่อรวมผลประกอบการสหกรณ์แล้วก็จะมีการเฉลี่ยคืนให้สมาชิก

นางสริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากต้นกัญชงเป็นที่ต้องการมากในตลาดต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น เส้นใยกัญชงถือได้ว่าเป็นเส้นใยสิ่งทอที่มีคุณภาพดีลำดับต้นๆ ของโลก ส่วนประกอบอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น เมล็ดนำมาสกัดเป็นน้ำมัน คุณสมบัติคล้ายน้ำมันปลา ที่มีโอเมก้าบำรุงสมอง ส่วนแกนลำต้น มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษ นำมาใช้เป็นตัวกรองได้ ซึ่งการปลูกเฮมพ์นำร่องมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2563 หากโครงการผ่าน ก็จะเปิดให้เกษตรกรปลูกอย่างทั่วไปได้

นายวิเชียร จังก๋า ประธานสหกรณ์การเกษตรพบพระ

เร่งหาสหกรณ์พี่เลี้ยงสร้างยอดส่งออกกล้วยหอม

นายวิเชียร จังก๋า ประธานสหกรณ์การเกษตรพบพระ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เข้ามาปลูกอยู่ 10 กว่าราย รวมพื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่ ผลิตกล้วยหอมทองสัปดาห์ละ 20 ตัน คาดหวังที่กิโลกรัมละ 12 บาท แต่ขายได้กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพราะไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ทำให้ไม่คุ้มทุนที่สูงเท่าราคาขายปัจจุบัน ตนได้ทำหนังสือผู้ว่าราชการ จ.ตาก ในฐานะประธานบริษัทประชารัฐ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และบริษัททีเค (ประชารัฐ) เข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อกระจายผลผลิต รวมทั้งปัญหากล้วยล้นตลาดทั่วประเทศ

นายพิเชษฐ์กล่าวเสริมว่า กลุ่มผู้ผลิตกล้วยหอมทอง ได้เข้าร่วมกับบริษัทประชารัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร อ.พบพระ ปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ปัจจุบันผลผลิตกล้วยหอมออกแล้ว แต่ตลาดยังไปไม่ได้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการตลาด นอกเหนือจากที่โครงการประชารัฐเข้ามารับซื้อในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงแรกพุ่งเป้าไปที่การส่งออก แต่ในวันนี้ตลาดการส่งออกก็ยังไปไม่ได้ เพราะเกรดกล้วยหอมยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ทำให้ต้องส่งตลาดภายในประเทศ ทางกรมมองว่าสหกรณ์กล้วยหอมพบพระยังมีศักยภาพพอควร จึงเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด เพื่อในอนาคตจะสามารถส่งออกได้ ซึ่งก่อนหน้านี้สหกรณ์เข้ามาดูเรื่องการผลิต เรื่องเงินทุนที่ให้สมาชิกมากู้ลงทุน ขณะนี้มีกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่ปลูกกล้วยหอมทองส่งออกปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2-3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น ท่ายาง หรือ บ้านลาด ที่ จ.เพชรบุรี และกลุ่มสหกรณ์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ทางเราตั้งใจว่าจะให้ทางกรรมการของสหกรณ์พบพระไปดูงานที่กลุ่มสหกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้สามารถส่งออกได้

ชูสหกรณ์นิคมแม่สอดเป็นต้นแบบแก้ปัญหาเกษตรกรถูกกดราคา

นายสุวัฒน์ มีผิว ผู้จัดการสหกรณ์นิคมแม่สอด (เสื้อเหลือง) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (เสื้อเขียว)

นายสุวัฒน์ มีผิว ผู้จัดการสหกรณ์นิคมแม่สอดกล่าวว่า จ.ตากเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ ในส่วนของสหกรณ์กำลังการรวบรวมข้าวโพดคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งจังหวัดและให้ราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดท้องถิ่นกิโลกรัมละ 20 สตางค์ ทำให้เอกชนมีการปรับราคาขึ้นตาม แก้ปัญหาการกดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตกร ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหกรณ์ได้ส่งไปจัดจำหน่ายให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ส่วนภาคเอกชนที่รับไป เช่น บริษัทกรุงไทยอาหารสัตว์ และบริษัทแหลมทองของซีพี เป็นต้น

นายพิเชษฐ์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สหกรณ์นิคมแม่สอดเป็นสหกรณ์ที่รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือได้ว่าเป็นระดับแนวหน้าของประเทศในการรวบรวม รวบรวมข้าวโพดจากทั้ง อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ อ.อุ้มผาง และ อ.แม่ระมาด ซึ่งรวบรวมได้ประมาณ 15,000 ตัน ในปีที่ผ่านมาทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนเครื่องอบลดความชื้นข้าวโพด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น สหกรณ์ตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ตันในปีนี้ ช่วงนี้ราคาค่อนข้างดีเพราะเป็นกลางฤดูเก็บเกี่ยว จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท ทางกรมคาดหวังว่าสหกรณ์นิคมแม่สอดจะเป็นสหกรณ์ข้าวโพดตัวอย่างของภาคเหนือ หลังจากที่มีสหกรณ์ข้าวโพดตัวอย่างในจังหวัดนครราชสีมาแล้วถึง 2 สหกรณ์ ซึ่งการดำเนินงานขั้นต่อไปทางกรมฯ จะเข้ามาช่วยเหลือการบริหารจัดการให้เป็นระบบเพื่อช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร ตั้งแต่การปลูก การดูแลให้ปุ๋ย จนถึงการทำตลาดต่อไป