ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ”ชี้เอสเอ็มอีไทยยุค 4.0 ต้องบริหารความเสี่ยง-ใช้เทคโนโลยี่ แปลง”รอยเท้าดิจิทัล”เป็นเครื่องมือให้เป็น

“วิรไท สันติประภพ”ชี้เอสเอ็มอีไทยยุค 4.0 ต้องบริหารความเสี่ยง-ใช้เทคโนโลยี่ แปลง”รอยเท้าดิจิทัล”เป็นเครื่องมือให้เป็น

17 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดงานสัมมนา “เอสเอ็มอีไทยก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0” Thai SMEs: Thriving in Thailand 4.0 โดยมี ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) ร่วมสนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (ขวา)

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดงานสัมมนา “เอสเอ็มอีไทยก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0” Thai SMEs: Thriving in Thailand 4.0 โดยในช่วงเย็น ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้สนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในหัวข้อเดียวกัน รายละเอียดดังนี้

ดร.พิพัฒน์: วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้อยู่ในช่วงเสวนากับท่านผู้ว่าการ ธปท. ในหัวข้อ “เอสเอ็มอีก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0” แต่ก่อนจะคุยเรื่องเอสเอ็มอี ท่านผู้ว่ามาทั้งที ไม่คุยเรื่องเศรษฐกิจคงไม่ได้ อยากดูภาพกว้างก่อน ในมุมมองผู้ว่า เศรษฐกิจโลกหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วข้ามกลับมาในไทยเป็นอย่างไร?

ดร.วิรไท: ถ้ามองเรื่องเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ผมคิดว่าจะต่างไปจากเวลาที่เรามองเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีที่แล้วมาก ไอเอ็มเอฟปกติจะทำประมาณการเศรษฐกิจโลกออกมาปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปีประมาณเดือนมีนาคม อีกครั้งประมาณเดือนตุลาคม ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาเวลาประกาศตัวเลขเศรษฐกิจครั้งแรกแล้ว พอไปถึงเดือนตุลาคมจะปรับลดประมาณการทุกปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ปรับขึ้นประมาณการ และไม่ใช่แค่ของไอเอ็มเอฟเท่านั้น ถ้าดูข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาจากสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็ดี บริษัทเอกชนก็ดี องค์กรระหว่างประเทศอื่นก็ดี จะมีแนวโน้มที่มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา เห็นชัดเจนว่าเขามีภาวะที่มีการจ้างงานเต็มที่ ตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวที่ดีมาก ทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกามีความมั่นใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยต่อเนื่อง แม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมายก็ตาม มองไปทางกลุ่มประเทศยุโรป คล้ายกันว่าขณะนี้อัตราการว่างงานในยุโรปต่ำสุด ถ้ามองย้อนกลับไปตอนเกิดวิกฤติในปี 2008-2009 เหลือประเมาณ 9% ก็ยังถือว่าสูงอยู่ แต่เห็นว่าตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวที่ดีมากขึ้น และที่สำคัญเป็นการฟื้นตัวที่กระจายตัวค่อนข้างกว้าง ทุกประเทศในสหภาพยุโรปมีการฟื้นตัว มีการขยายตัวของเศรษฐกิจ เมื่อก่อนอาจจะกระจุกตัวอยู่ในประเทศใหญ่ไม่กี่ประเทศ อาจจะมีประเทศหนึ่งในยุโรปที่ดูจะแผ่วลงคือสหราชอาณาจักรจากการออกจากสหภาพยุโรป ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงมาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนของครัวเรือน ซื้อบ้านที่อยู่ หรือลงทุนในกำลังการผลิต มีความไม่แน่นอนสูงมาก

ในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ขณะนี้ข้อมูลที่ผมเห็นจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างและประกาศหางานมากกว่าคนสมัคร แสดงว่าตลาดแรงงานตึงตัว มีการขยายความต้องการแรงงาน แต่ญี่ปุ่นอาจจะพูดยากเพราะว่ามีเศรษฐกิจ 2 กลุ่มอยู่ในประเทศเดียวคือเศรษฐกิจคนทำงานกับเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ทำให้โดยรวมอาจจะไม่ได้มีการฟื้นตัวเท่าไหร่ แต่เศรษฐกิจคนทำงานจะเห็นชัดเจนว่ามีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวมากขึ้น

มองมาดูใกล้ตัว สิ่งที่เราอาจจะกังวลหรือเป็นห่วงมากที่สุดคือเศรษฐกิจจีน เพราะว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับจีนจะกระทบกับพวกเราทุกคน ต้องเรียนว่าขณะนี้เทียบกับปีที่แล้วความกังวลดูจะเบาลงมาก ปีที่แล้วถ้ายังจำได้ตั้งแต่ต้นมีเรื่องตลาดหุ้นตก ต้องหยุดการซื้อขายไป 2 ครั้ง เงินไหลออกจากจีน ธนาคารกลางจีนต้องสูญเสียเงินสำรองไปมาก ด้านเศรษฐกิจจริงมีพูดถึงว่าต้องปรับโครงสร้างการผลิต ลดกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม แต่ในวันนี้จะเห็นว่าเงินหยุดไหลออก ธนาคารกลางจีนเริ่มเก็บสะสมเงินทุนสำรองได้มากขึ้น ที่กังวลเรื่องลดกำลังการผลิตส่วนเกินที่จะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมดูเหมือนไม่ได้ส่งผลกระทบแรง จีดีพียังเติบโตประมาณ 6.8-6.9% การส่งออกยังไปได้ดี ที่สำคัญการนำเข้าขยายตัวสูงมาก ทำให้ประเทศอย่างไทยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

หากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก 3 ประเทศ มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีและที่สำคัญเป็นการฟื้นตัวที่กระจายตัว ไม่ได้กระจุกอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง และเป็นการฟื้นตัวที่มาจากการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงรายได้ของคนเพิ่มมากขึ้น ทำให้สบายใจได้

ถ้าดูในภาพใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจจริงของโลกดูเหมือนว่าจะมั่นใจได้มากขึ้นกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่อย่าชะล่าใจ เพราะยังมีจุดที่เราต้องระมัดระวังอยู่บ้าง จุดแรกคือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องคาบสมุทรเกาหลี เรื่องตะวันออกกลาง เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองว่าอาจจะส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนได้ จุดที่ 2 คือปัญหาเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีโอกาสที่อาจจะสร้างผลกระทบให้กับบางประเทศ บางอุตสาหกรรมได้

จุดที่ 3 ที่ต้องระมัดระวัง คือ ช่วงที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นช่วงที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกสูงมาก เพราะว่าการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินโลก คนที่รับบทหนักที่สุดคือธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ถ้าศัพท์ที่เราจะเห็นบางคนพูดกันไปว่า central banks: the only game in town คือจะมาใช้นโยบายการเงินทำดอกเบี้ยติดลบ ทำคิวอี คิวคิวอี อัดฉีดสภาพคล่องออกมา พวกนี้ทำให้มีเงินที่ง่ายๆ อยู่ในระบบเศรษฐกิจมากและเงินเหล่านี้ทำให้ดอกเบี้ยต่ำ และทำให้เกิดภาวะที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงอย่างดีพอ เราเห็นบางประเทศที่เพิ่งผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรไปไม่นาน วันนี้กลับมาออกพันธบัตรอายุ 100 ปีได้ จ่ายดอกเบี้ย 6-7% คนแย่งกันซื้อ ประเทศที่มีประเด็นสงครามกลางเมืองยังออกพันธบัตรได้ คนแย่งกันซื้อ ในประเทศไทยเราเห็นพฤติกรรมที่แสวงหาผลตอบแทนที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงเหมือนกัน

ประเด็นพวกนี้ในภาวะที่การเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จากธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางอังกฤษเพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะเริ่มตึงตัวมากขึ้น เราจะเข้าสู่วัฏจักรที่ดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาขึ้นเทียบกับช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาที่เป็นช่วงขาลง ถ้าใครที่บริหารจัดการสภาพคล่องไม่ดี มีความไม่สมดุลของภาระหนี้ต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศจะมีปัญหา

อันนี้เป็นประเด็นที่กลับมาตอบปัญหาว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงและส่งผลไปสู่ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศด้วย ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศทั้งโลกกำลังไปในแนวโน้มที่ดีมากขึ้น แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ ยังมีความเสี่ยงหลายเรื่องต้องติดตาม

ดร.พิพัฒน์: เข้าใจว่าไอเอ็มเอฟใช้คำว่า Syncronized Recovery เป็นครั้งแรกๆ ในรอบหลายปีที่มันเติบโตพร้อมๆ กัน

ดร.วิรไท: ครับ

ดร.พิพัฒน์: อันนี้ส่งมาถึงเมืองไทยด้วย เมื่อกี้ที่พูดถึงว่าเป็นปีแรกที่ไอเอ็มเอฟปรับประมาณการขึ้น คิดว่าปีนี้ก็เป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับประมาณการขึ้นในรอบหลายปีเหมือนกัน

ดร.วิรไท: ใช่ครับ สะท้อนได้ชัดเจนว่าถ้ามองเทียบไปกับตอนต้นปีที่พัฒนาการเศรษฐกิจดีขึ้นหลายเรื่อง เรื่องแรกที่สำคัญคือเป็นเรื่องของการส่งออก เห็นได้ชัดเจนว่าการส่งออกมีการฟื้นตัวมากขึ้น เป็นการฟื้นตัวที่กระจายตัวมากขึ้น ไปแทบจะทุกประเภทสินค้าตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และตลาดที่เป็นตลาดสำคัญของเรามีการฟื้นตัวแทบจะทุกตลาด อาจจะมีบางผลิตภัณฑ์ที่ไปตะวันออกกลางจะไม่ดีเท่าไหร่ เพราะว่าได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ชัดว่าตัวเลขการส่งออกกำลังดีขึ้น เรื่องการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราเห็นตัวเลขการบริโภคที่เริ่มกระจายตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดี มีการจ้างงานมากขึ้น รายได้ของคนเริ่มดีขึ้น ทำให้ตัวเลขการบริโภคในประเทศดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัวเริ่มขยับหลังจากที่นิ่งมานาน ในภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกเห็นชัดเจนว่าเริ่มมีการลงทุน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน

ภาคเศรษฐกิจไทยที่อาจจะไม่ค่อยดีนัก คือ ภาคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและภาคเศรษฐกิจในต่างจังหวัด เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนนโยบาย เลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร ทำให้รายได้ของเกษตรกรในต่างจังหวัดถูกกระทบ ในช่วงที่ได้รับการอุดหนุน ทุกคนแน่ใจมั่นใจว่าราคาข้าวจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ก็แปลว่ามีการใช้เงินล่วงหน้า มีการออกรถใหม่ ซื้อบ้านใหม่ ก่อหนี้เพิ่ม กำลังการผลิตร้านค้าต่างๆ ร้านขายวัสดุก่อสร้าง ร้านขายเครื่องจักรกลการเกษตร ทุกคนขยายกำลังการผลิต ขยายร้านตัวเองกันทั้งหมดเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่เมื่อนโยบายพยุงราคาสินค้าเกษตรมันหายไป ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน คนเหล่านี้จะถูกกระทบ นอกจากนี้ ปีที่แล้วเรายังประสบกับปัญหาภัยแล้งที่แรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่น้อยทีเดียวที่เสียหายและโยงไปสู่หนี้สินในภาคเกษตรกร

ดังนั้น ถึงแม้รายได้ของเกษตรกรจะดีมากขึ้นจากที่ในปีนี้เป็นปีที่ฝนค่อนข้างจะดี อาจจะได้ข่าวน้ำท่วมบ้าง แต่ว่าปริมาณน้ำฝนค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ผลผลิตออกมาสูงมากจนราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำจากปีที่แล้วบ้าง แต่รายได้เกษตรกรในบางกลุ่มจึงเริ่มปรับดีขึ้น แต่เนื่องจากภาระหนี้ค่อนข้างสูง ทำให้รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ถูกแปลงไปสู่การจับจ่ายใช้สอย ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และเป็นปัญหาที่ ธปท. ให้ความสำคัญ ถ้าดูถึงตัวเลขโดยรวมของหนี้เทียบกับรายได้ประชาชาติ เมื่อประมาณปลายปี 2558 เป็นขึ้นไปแตะ 80% แล้วค่อยๆ ปรับลดลง 77-78% ถือว่ายังสูงถ้าเทียบกับประเทศที่ระดับรายได้ต่อหัวเท่ากับหรือใกล้เคียงกับไทย หนี้ครัวเรือนของเราอาจจะสูงระดับต้นๆ ของโลก

การศึกษาเชิงลึกอาจจะเรียกว่า big data ของ ธปท. ทำ เราพบชัดเจนมากว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นมาก อายุ 20 กว่าก็ก่อหนี้มาก เป็นหนี้มูลค่าต่อหัวสูงขึ้นมากเกือบเท่าตัว และเป็นหนี้นานขึ้น ใกล้เกษียณแล้ว ก็ไม่ได้ลดลง ภาระหนี้ยังสูง อันนี้เป็นความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้และต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่น่าตกใจมากคือไปดูหนี้ของน้องๆ ที่อายุ 29-30 ปี จะพบว่านอกจากจะมีหนี้มากแล้ว 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้เป็นหนี้เสีย ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก นี่คืออนาคตของประเทศไทยที่กำลังจะต้องสร้างครอบครัว จะต้องกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย หรือต้องเริ่มทำธุรกิจ แต่ต้องพะวงกับการถูกตามหนี้ทุกวัน หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล แล้วก็เป็นหนี้เสีย ไม่ต้องคำนึงถึงผลิตภาพการทำงาน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้คนถึงรู้สึกว่าไม่กระจายตัว ไม่รู้สึกว่ามันดี ไม่รู้สึกว่าคนจับจ่ายใช้สอยคล่องเหมือนเดิม เพราะอดีตมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นชนักติดหลังของเราอยู่ มันต้องใช้เวลา

ดร.พิพัฒน์: พูดง่ายๆ คือเหมือนตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่คนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เหมือนเดิม เรื่องภาระหนี้

ดร.วิรไท: ถ้าเทียบกับรอบก่อนๆ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น เราจะเห็นเงินที่อาจจะหมุนจับจ่ายมากกว่านี้ เพราะว่าไม่มีภาระหนี้มากเหมือนที่มีในวันนี้

ดร.พิพัฒน์: เป็นสาเหตุที่ ธปท. ต้องออกมาตรการมาควบคุมเรื่องหนี้ครัวเรือน

ดร.วิรไท: ใช่ครับ เป็นประเด็นอย่างที่เรียนว่ามันจะสร้างความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตด้วย ถ้าคนไทยเป็นหนี้และเป็นหนี้เสียมากจะมีผลไม่เพียงเฉพาะกับสถาบันการเงิน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือความเข้มแข็งของสังคมไทย

ดร.พิพัฒน์: มองไปปีหน้าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

ดร.วิรไท: ธปท. ประมาณการปีนี้คิดว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% ปีหน้าคิดว่าจะโตใกล้เคียงกันที่ 3.8% คิดว่าการขยายตัวของการส่งออกน่าจะอยู่ในระดับที่ดี แต่ว่าดูร้อยละของการเติบโตอาจจะไม่ดีเท่าปีนี้ เพราะว่าปีนี้โตมาจากฐานการส่งออกที่ต่ำ ปีหน้าฐานจะปรับสูงขึ้น แต่มูลค่าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะอยู่ในระดับที่ดี การลงทุนคิดว่าจะดีกว่าปีนี้ โดยเฉพาะทั้งของภาคเอกชนและทางการ เอกชนเราจะเห็นโมเมนตัมของการลงทุนที่ขยายตัวต่อเนื่องหากการส่งออกไปได้ดีและการบริโภคเริ่มขยายตัว การลงทุนส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่ขยายกำลังการผลิตเท่านั้น โครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐหลายโครงการที่ชะลอลงจะมีความชัดเจนมากขึ้นออกมาปีหน้า ทั้งรถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานในการประเมินโครงการเหล่านี้ แต่เมื่อผ่านขั้นตอนของการประมูลลงนามในสัญญาจะเดินออกมาได้ ไม่เหมือนที่ผ่านมากว่าจะประมูลได้จะดึงกันไปกันมา ทำให้ล่าช้า ส่วนนี้จะได้รับอานิสงส์ ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยเป็นเครื่องยนต์สำหรับเศรษฐกิจไทยต่อไป

ดร.พิพัฒน์: พูดได้หรือไม่ว่าเครื่องยนต์จะสมดุลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นภายนอกเสียมาก ปีหน้าเรื่องของการบริโภคลงทุนในประเทศ ภาครัฐจะกลับมา

ดร.วิรไท: ใช่ครับ และอีกเครื่องยนต์ที่สำคัญที่อาจจะดีจนเราลืมพูดถึงบ่อยๆ คือการท่องเที่ยว ยังเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเครื่องยนต์สำคัญ

ดร.พิพัฒน์: ได้พูดคุยเรื่องเศรษฐกิจพอหอมปากหอมคอ ขอปรับไปเรื่องเอสเอ็มอีหัวข้อของวันนี้ วันนี้เราคุยกันหลายรอบ คุยเรื่องความท้าทายที่เอสเอ็มอีจะเผชิญ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว เรื่องโครงสร้างประชากร ท่านผู้ว่ามีมุมอย่างไรว่าอะไรคือความท้าทายที่สำคัญของเอสเอ็มอี อะไรเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต?

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าท่านที่มาพูดก่อนหน้าผมเป็นผู้ที่รู้เรื่องดีกว่าผม หลายท่านเป็นตัวจริงเสียงจริงที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอีทุกวัน ผมอาจจะมองหรือสังเกตการณ์จากภาพที่มหภาคมากขึ้น มองในภาพใหญ่มากขึ้น สิ่งที่เห็นมีประเด็นความสำคัญ 3-4 เรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องที่เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ผลิตภาพของเอสเอ็มอี เห็นได้ชัดเจนว่าถ้าเอาข้อมูลสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลมาดู และศึกษาในเชิงลึก เราเริ่มพบว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีในบางอุตสาหกรรมที่ทิศทางเอ็นพีแอลสวนทางกับเอ็นพีแอลของบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มันน่าจะสะท้อนความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเรื่องของวัฏจักรของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเอสเอ็มอีสายป่านสั้นกว่า เวลาที่เศรษฐกิจทรงๆ ทรุดๆ มาต่อเนื่อง 2-3 ปีทำให้เป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น แต่หลายอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับทิศทาง เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเดียวกันกลับยังเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น สวนทางกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการที่ดีขึ้น เป็นโจทย์ใหญ่เรื่องความสามารถในการแข่งขัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับพาณิชยกรรม วันนี้เราเห็นการขยายตัวของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไปทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ร้านค้าในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง ร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่เคยเป็นเจ้าใหญ่ของจังหวัดเริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น พวกรับเหมาก่อสร้างเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีเรื่องการรับเหมาก่อสร้างเริ่มพัฒนาการไปมาก บ้านจัดสรรแต่ก่อนถ้าไปเราจะรู้ว่าจังหวัดนี้ใครเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำกันมา 2-3 ชั่วอายุคน แต่ตอนนี้เจอผู้ประกอบการจากส่วนกลางมา เขามีเทคโนโลยีใหม่ที่ก่อสร้างได้เร็วมาก ขณะที่เอสเอ็มอีเดิมต้องเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน หรือธุรกิจอย่างโรงสีข้าว ซึ่งรูปแบบธุรกิจจะต่างไปจาก 4-5 ปีที่แล้วมาก ช่วงนั้นก็กังวลไม่น้อย มีการขยายกำลังการผลิตส่วนเกินไป ขยายโกดัง คิดว่าจะมีข้าวเก็บนาน แต่พวกนี้ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ เรื่องความสามารถของการแข่งขันหรือ productivity เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เป็นหัวใจ

วันนี้การที่มีเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ มาเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนถูกลงด้วยหลายเรื่อง เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โลกใหม่ที่เรากำลังพูดถึง เศรษฐกิจเชิงแบ่งปันเป็นสิ่งที่จะเผชิญกับเราแน่นอน เราอาจจะคุ้นกับ Uber Airbnb ซึ่งมีมากกว่านั้นมาก co-working space เป็นรูปแบบหนึ่ง ไม่ต้องมีสำนักงานของตัวเอง แต่ไปใช้ที่อื่นเราจ่ายเงินเฉพาะเวลาจะไปใช้ หรือแม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัว เอสเอ็มอีหลายรายเริ่มใช้ cloud computing มากขึ้นอย่าง แทนที่จะต้องมาลงทุนเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองก็เก็บข้อมูลบนนั้นแทน อีกเรื่องที่สำคัญและเราไม่ค่อยพูดถึงคือโทรศัพท์มือถือของพวกเรา วันนี้ธนาคารไม่ต้องมาเปิดสาขาให้เราไปทำธุรกรรมแล้ว ทำผ่านมือถือและมือถือเราก็แบ่งปันกันหลายธนาคารมากเลย เราแค่มีแอปพลิเคชันของแต่ละที่ก็ทำได้

จะเห็นชัดว่าเทคโนโลยีสามารถมาตอบโจทย์ได้มากและช่วยทำให้ต้นทุนถูกลง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ อาจจะกลับมาคุยได้อีกเรื่อง e-Payment แต่อย่างแรกที่เอสเอ็มอีควรจะให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรกคือเรื่องเทคโนโลยี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้น แรงขึ้น รูปแบบจะเปลี่ยนไป และพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ทุกขั้นตอนของการทำงานต้องคิดว่าเราจะใช้เทคโนโลยียกระดับความสามารถในการแข่งขันของเราได้อย่างไร ทุกวันนี้มีทางเลือกเกี่ยวกับเทคโนโลยีเยอะมาก เลือกใช้ได้

ถ้าโยงกับเทคโนโลยี เรื่องที่มาพร้อมกันคือเรื่องข้อมูล กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เราทำ ยิ่งเราทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์เท่าไหร่ยิ่งมีสิ่งที่เรียกว่า “รอยเท้าดิจิทัล” ซึ่งเรานำมาประมวลผลได้ ทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น วางแผนได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูกค้า เรื่องบริหารสินค้าคงคลัง แม้กระทั่งใครที่ใช้แพลตฟอร์มที่ธนาคาร ทำให้เรื่องระบบการชำระเงิน ข้อมูลที่อยู่ในนั้นมันเป็นมากกว่าการชำระเงิน แต่ยังบอกว่าลูกค้าของคุณมาซื้อกาแฟเยอะสุดช่วงไหน แล้วซื้ออะไรไปด้วย พวกระบบใหม่ๆ จะสามารถเก็บข้อมูลพวกนี้ได้เยอะมาก เรื่องข้อมูลเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

เรื่องที่ 2 ที่ต้องให้ความสำคัญมาก คือ เรื่องการบริหารความเสี่ยง ในโลกข้างหน้าเป็นโลกที่เราต้องเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนที่เกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุนโลก เราเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์อะไรที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกย่อมส่งผลกระทบมาสู่เรา โลกมีความผันผวนสูง มีความไม่แน่นอนสูง ไม่รู้ว่าคืนนี้ประธานาธิบดีทรัมป์จะทวีตอะไรขึ้นมา มีความซับซ้อนสูงมากด้วย และก็มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราคุ้นชิน ผมคิดว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ

การบริหารความเสี่ยงมีหลายมิติ ตั้งแต่การบริหารความเสี่ยงเรื่องของกลยุทธ์ขององค์กร เพราะว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราตัดสินใจอะไรแต่ละอย่างต้องคิดถึงทางหนีทีไล่ไว้ให้ดี ไปจนถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญทุกวันอย่างความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าท่านใดเป็นผู้ส่งออกนำเข้า เรียกว่าเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เราต้องไม่ลืมว่าเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ และเป็นการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าของสกุลเงินใหญ่ๆของโลก ผมมักจะถูกถามว่าทำไมค่าเงินบาทแข็ง ผมว่าตั้งคำถามผิด ต้องถามว่าทำไมเงินดอลลาร์สหรัฐถึงอ่อนเอาๆ เมื่อเทียบกับทุกสกุลในโลก มันเป็นประเด็นที่ไม่สามารถควบคุมได้

ดร.พิพัฒน์: เรียกว่าอย่าพึ่งพา ธปท. มากเกินไปในการดูแล

ดร.วิรไท: คิดว่า เราเป็นระบบแบบลอยตัว เราต้องไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครมาดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ เพราะว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะการเงิน แต่ว่ามีเรื่องการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถทำได้มากและควรทำเป็นเรื่องปกติ เวลาเราส่งสินค้าออกก็ทำประกันการส่งออกทางเรือ ทำประกันเรื่องจะได้เงินจากผู้ซื้อหรือไม่ หรือประกันเครดิต การประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วย

เราไปศึกษาข้อมูลดูเชิงลึกพบว่ามีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือปิดความเสี่ยงเลย เขาอาจจะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือหรือไม่มีความรู้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราก็เห็นธุรกิจขนาดกลางจำนวนมากที่เลือกจะทำเฉพาะบางช่วงเวลาและเลือกทำเวลาที่ค่าเงินผันผวน คนจะแห่มาทำตอนที่ค่าเงินเปลี่ยนไปทางใดทางหนึ่ง ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น แทนที่จะทำต่อเนื่องตลอดเวลา

ดร.พิพัฒน์: ต้นทุนการบริหารความเสี่ยงจะสูงขึ้นด้วย

ดร.วิรไท: ใช่ ก็แห่กันมาทำพร้อมกันเวลาค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วๆ ขอโฆษณาสักนิดเรื่องนี้ ธปท. เราตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการ เราได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม เราตระหนักดีกว่าเครื่องมือแบบ Forward จะไปกินวงเงินของธุรกิจ ก็พยายามหาเครื่องมือที่ตอบโจทย์และพัฒนาเครื่องมือเรียกว่า FX Option ฟังดูอาจจะยาก แต่คิดง่ายคือซื้อ “สิทธิที่จะล็อกอัตราแลกเปลี่ยน” ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อถึง 3 เดือน ถ้าค่าเงินอ่อนค่าลง ก็โยนสิทธินี้ทิ้งแล้วเอาเงินต่างประเทศไปแลก แต่ถ้าค่าเงินเกินแข็งค่าขึ้นก็มาแลกตามสิทธิ ทาง สสว. ก็อนุเคราะห์ให้วงเงินค่าธรรมเนียมรายละ 30,000 บาท สำหรับทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ แต่มีเงื่อนไขว่าเอสเอ็มอีที่จะได้สิทธิต้องมาเข้าโครงการอบรมเรื่องการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะจัดตั้งแต่อาทิตย์นี้เป็นต้นไป 20 ครั้งทั่วประเทศ ถ้าสนใจสามารถติดต่อธนาคารพาณิชย์ของท่านได้เลย อันนี้เป็นหนึ่งในหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องทำ เพราะว่าโลกในอนาคตจะเป็นโลกที่มีความผันผวนสูงขึ้น การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจเอสเอ็มอีสำคัญมาก

ดร.พิพัฒน์: ไหนๆ โฆษณาแล้วถามต่อเลยว่าบทบาทของ ธปท. ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีมีอะไรบ้าง?

ดร.วิรไท: ถ้าพูดถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก่อนอันหนึ่งเราตระหนักว่าธุรกิจไทย ไม่เฉพาะเอสเอ็มอี จะต้องมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น จะต้องคล่องตัวมากขึ้นในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราคิดว่าตัว ธปท. เป็นปัญหาพอสมควร เพราะถ้าไปนั่งดูกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อายุเท่ากับ ธปท. ที่ 75 ปี ตั้งแต่ปี 2485 ตอนที่กฎหมายฉบับนี้ออกมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยไม่มีเงินสำรองระหว่างประเทศ ขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ กฎหมายจึงเขียนห้ามไปหมด ห้ามเอาเงินออก จะเอาออกต้องขออนุญาตเยอะแยะไปหมด เจตนาเพื่อจะรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศที่เรามีให้อยู่ในประเทศให้มากที่สุด เรามาเจอวิกฤติปี 2540 ก็เหมือนกัน เราออกกฎทับกฎซ้อนกฎลงไปอีก

เราจะเห็นว่ามันมีกฎเกณฑ์เยอะมากและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎเกณฑ์กฎหมายอาจจะมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และเป็นภาระกับทุกคนในการทำธุรกิจและไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน ในวันนี้เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศระดับที่สูงมาก ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วถ้าเทียบกับวิกฤติครบรอบ 20 ปี ตอนนั้นเรามีไม่พอจะจ่ายหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ต้องชำระคืนใน 1 ปี วันนี้เรามีเงินมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 3.5 เท่า และมากกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ของรัฐ ของเอกชน ระยะสั้น ระยะยาวรวมกัน ประมาณ 1.3 เท่า เจ้าหนี้ทั้งหมดขอคืนหนี้วันนี้เรามีเงินสำรองเพียงพอ

เราจึงอยากส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประชาชน เราเริ่มโครงการ FX Regulartory Reform คือการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศทั้งหมด มีหลายเรื่องที่ออกมา ถ้าท่านใดไปทำธุรกรรมกับธนาคารทุกวันนี้จะเห็นว่าธนาคารยกเลิกแบบฟอร์มที่ ธปท. เคยขอ ไม่ต้องขอเอกสารหลายอย่างที่ต้องทำมาให้และให้ผู้มีอำนาจลงนาม ประทับตราบริษัทมา หลายเรื่องของการทำธุรกรรมเปิดอิสระมากขึ้น สามารถคงเงินไว้ในบัญชีต่างๆ หลายประเภทได้ ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้นด้วย ท่านใดที่เคยไปติดต่อธนาคารแล้วคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ค่อยดี ท่านสามารถไปหาผู้ประกอบการ Money Tranfer/Changer ได้ เจ้าเล็กเจ้าน้อยได้ มีหลายเรื่อง ถ้าสนใจไปดูในเว็บไซต์ ธปท. ได้ เป็นกลุ่มแรกที่ส่งเสริมการแข่งขันและลดภาระของผู้ประกอบการ

เรื่องที่ 2 คงจะเห็นข่าวและคิดว่าจะตอบโจทย์เอสเอ็มอีมากคือเรื่องระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-Payment ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เงินสดค่อนข้างสูงและเงินสดเป็นต้นทุนของทุกคน ไม่ใช่ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น เฉพาะของธนาคารของทั้งระบบตกปีละ 10,000 ล้านบาท รับเงินจาก ธปท. ไปต้องไปนับ นับเสร็จต้องกระจาย กระจายต้องเอาไปส่งสาขา สาขามานับอีก นับเสร็จจัดใส่กล่องไปใส่ตู้เอทีเอ็ม เราไปเบิกออกมาให้ธนาคารก็นับอีก ส่งเข้าไปตรวจอีก ทิ้งไว้ก็ไม่ได้ดอกเบี้ย มีค่าประกันขนส่ง ต้องมีพนักงาน แล้วของภาคธุรกิจจะมากกว่านี้อีก โดยเฉพาะธุรกิจที่รับเงินสด รวมทั้งยังมีช่องทางรั่วไหลเต็มไปหมด เราจึงส่งเสริมให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ท่านคงเห็นและเชื่อว่าคงได้ใช้ประโยชน์ เรื่องของพร้อมเพย์ อันนี้เป็นช่องทางการโอนเงินที่ถูกและสะดวกมาก ไม่ทราบว่าในห้องมีใครใช้บ้าง

ดร.พิพัฒน์: เมื่อเช้าทำโพลมี 52% ใช้ อีกครึ่งไม่กล้าเพราะกังวลข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัย

ดร.วิรไท: ต้องถามว่าใช้ mobile banking หรือ internet banking แล้วหรือยัง วันนี้มีคนลงทะเบียนกับเราประมาณ 35 ล้านบัญชี มียอดธุรกรรมรวมกันตก 200,000 ล้านบาทตั้งแต่เริ่มโครงการเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และก็มีธุรกรรมเฉพาะวันสิ้นเดือนตกวันละเกือบ 500,000 รายการ ก็มีคนใช้มากขึ้น และระบบเสถียรมากตั้งแต่เปิดขึ้นมายังไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าใช้ mobile banking หรือ internet banking อยู่แล้ว ระบบรักษาความปลอดภัยไม่ด้อยไปกว่ากัน ส่วนระบบการรักษาข้อมูลก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน มีคนชอบบอกว่าใช้พร้อมเพย์แล้วสรรพากรจะมาเอาข้อมูลไปได้ ขอยืนยันว่าไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องระบบ switching ที่บริษัทของสมาคมธนาคารซึ่งเป็นคนทำเรื่องธุรกรรมเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตด้วย อันนี้ลดต้นทุนได้ชัดเจนมาก และภายในสิ้นเดือนนี้จะมีบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา ที่ผ่านมาอาจจะโอนกันเอง ต่อไปจะมีเรื่องจ่ายบิล เรื่องของ request to pay ที่คนขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะมีข้อมูลสินค้าแปะไปกับข้อมูลโอนเงินได้ ท่านจะตรวจสอบการชำระเงินได้ง่ายขึ้น สามารถกระทบยอดหรือ reconcile ได้ง่าย ลดการรั่วไหลลดคนที่ต้องจ้างมา นักบัญชีมาทำบัญชีให้วุ่นวาย

เรื่องที่ 3 คือเรื่องของวางเครื่องชำระเงินผ่านบัตร หรือ EDC กระทรวงการคลังและ ธปท. ร่วมกันและคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเรามีบัตรเดบิตอยู่ เชื่อว่าทุกคนในห้องนี้มี แต่อาจจะไม่รู้ว่ามี เรามีเกือบ 50 ล้านใบที่คนไทยถืออยู่แต่คิดว่าเป็นเอทีเอ็ม เราใช้แค่ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม แต่บัตรนั้นสามารถใช้ซื้อของได้โดยไม่ต้องกดเงิน เราได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยให้ลดค่าธรรมเนียมเครื่องลงถูกมาก ทำให้ทำธุรกรรมผ่านบัตรเดบิตสะดวกขึ้น ถ้าคิดถึงต้นทุนที่ต้องมีในการจ้างคนมานับเงินสด บริหารเงินสด เอาเงินไปส่งธนาคารทุกวันและไปเบิกเงิน

เรื่องที่ 4 คือ QR Code วันนี้มี 5 ธนาคารที่เราอนุญาตให้ออกจากกระบะทดลอง หรือ regulartory sandbox แล้ว เรียนว่าเป็นนโยบายของ ธปท. ว่าระบบต่างๆที่ทำ เราต้องการให้เป็นระบบที่เปิดกว้างเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ตัว QR Code อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าไปจีนจะเห็นเต็มไปหมด แต่เวลาใช้จะถามว่าจะจ่ายจะจ่ายด้วย Alipay หรือ WeChat Pay แต่ละคนจะมี QR แตกต่างกัน คนละมาตรฐาน ถ้าไปดูส่วนแบ่งตลาด Alipay กับ WeChat Pay รวมกันประมาณ 96% แล้วอีก 200 เจ้ามาแข่งกันที่ 4% ที่เหลือ มันทำให้มาตรฐานเจ้าใหญ่ล็อกลูกค้าไว้ คนใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันไม่ได้ แต่ของไทยใช้นโยบายว่าจะทำมาตรฐานกลาง เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทบัตรเครดิตใหญ่ 5 แห่งของโลก ซึ่งเป็นคู่แข่งกันให้มาทำที่ไทยเป็นที่แรก ไม่ว่าจะเป็น VISA, Master Card, American Express JCB และ China UnionPay ฉะนั้น ของเราจะรับบัตรเครดิตจากทั่วโลกได้ด้วยและเปิดกว้างให้ธนาคารพาณิชย์ไทยและพวกที่เป็น Non-Bank สามารถมาใช้ได้ เป็นเทคโนโลยีที่สะดวกมาก

ถ้าธุรกิจไหนยังไม่คิดจะใช้หรือไม่กล้า ผมเรียนว่าท่านอาจจะถูกแซงโดยวัดอาจจะสนใจใช้ก่อน เพราะจะทำให้ลดการรั่วไหลได้เยอะมาก และตอนนี้มีหลายวัดกำลังทดลองอยู่ และจะเปลี่ยนพลิกโฉมการชำระเงินที่จะไม่ใช่แค่ลดการรั่วไหล ลดต้นทุนการใช้เงินสด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะสามารถต่อยอดได้อีกเยอะมากจากข้อมูลที่จะมีผ่านมาทางนี้ และข้อมูลที่ผ่านมาที่เราทำให้ด้วยระบบกลาง ข้อมูลการรับเงินของท่านจะอยู่ที่เดียวกันรูปแบบเดียวกันและข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่ธนาคารจะมาดูและพิจารณาให้สินเชื่อได้ ไม่ต้องไปทำเรื่องกระทบยอด ไม่ต้องทำบัญชีทดลองขึ้นมา อันนั้นเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด เราหวังว่าในอนาคตถ้ามีการใช้มากขึ้น การปล่อยสินเชื่อจะเปลี่ยนจากต้องมีหลักประกันไปเป็นเรื่องของอาศัยข้อมูลและข้อมูลการชำระเงินสำคัญที่สุด เห็นกระแสเงินสดของธุรกิจชัดเจน

ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่าบางประเทศ อย่างจีนที่มีการใช้ e-Commerce กันมาก ร้านค้ามีข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และสามารถบอกได้เลยว่าลูกค้าอย่างดร.พิพัฒน์มาจากแถวไหนในเมือง เป็นลูกค้าที่ซื้อประจำหรือไม่ประจำ ถ้ามาจากแถวคนรวยและซื้อประจำ ธนาคารอาจจะยินดีให้สินเชื่อเพิ่มทันที ถ้ารู้ว่าปีที่แล้วตรุษจีนมียอดซื้อมา 2 เท่า ก่อนจะตรุษจีนธนาคารก็มาถามจะเอาเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มหรือไม่ จะได้ผลิตรองรับได้ จะเห็นชัดเจนเลยว่าโลกยุคดิจิทัล ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก สิ่งที่อยากจะแนะนำคือทำอย่างไรให้ข้อมูลของท่านมาอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องของ e-Payment เป็นเรื่องสำคัญมาก

ดร.พิพัฒน์: เรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการการเงิน เพราะบ่นกันพอสมควรว่าปัญหาใหญ่คือขาดเงินทุน

ดร.วิรไท: เรื่องนี้เราก็เป็นห่วง เราพยายามทำหลายเรื่อง เราทำกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่ ที่ไม่ใช่แค่สินทรัพย์ถาวรเพียงอย่างเดียว เป็นหลักประกันสินค้าคงคลังก็ได้เป็นเรื่องตราสินค้าก็ได้ มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลพยายามทำเยอะมากเรื่องของการยกระดับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะช่วยสนับสนุนการประกันสินเชื่อได้ ผมอยากจะชวนคุยว่าเวลาที่เราเห็นข้อมูลของเอสเอ็มอีอาการแรกที่เห็นคือเป็นเอ็นพีแอลหรือขอสินเชื่อไม่ได้ เป็นปัญหาทางด้านการเงิน และทำให้เวลาจะแก้ปัญหาเราจะคิดว่าเป็นปัญหาด้านการเงินเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกับว่าเราไม่สบายแล้วมีไข้ ก็เอาพาราเซตามอลไปรับประทาน เราอาจจะมีโรคอื่นๆ ที่รุนแรงกว่านั้นก็ได้ มาจากติดเชื้ออะไรก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะให้ความสำคัญกับว่าเอสเอ็มอีไม่สบายเป็นไข้ เอาพาราเซตามอลไป มาตรการการเงินไปช่วย แต่เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่ามาก การที่จะช่วยยกระดับเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะต้องใช้เวลาแต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของปัญหาการเงินอย่างเดียว

เหมือนกับเรื่องของค่าเงินเช่นเดียวกัน เวลาค่าเงินบาทแข็งแน่นอนเอสเอ็มอีที่นำเข้าได้ประโยชน์ ที่เป็นผู้ส่งออกจะรู้สึกว่าแลกกลับมาได้น้อย อยากจะให้ค่าเงินบาทอ่อนตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในโลกอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แน่นอนส่วนหนึ่งต้องบริหารจัดการค่าเงิน ค่าเงินเป็นส่วนหนึ่งของความสามารถในการตั้งราคา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือถ้าของของคุณเป็นของดี คุณภาพดี ขายดี เป็นของที่คนนิยม อย่างไรจะมีคนซื้อ แต่ถ้าของที่เหมือนคนอื่น แน่นอนว่าเวลาค่าเงินเปลี่ยนอำนาจในการตั้งราคาจะกระทบ เรามีตัวอย่างมากมายในประเทศไทยที่ชัดเจน อย่างท่องเที่ยว ค่าเงินบาทแข็ง ท่องเที่ยวยังไปได้ดี ร้านค้าหลายแห่งที่มีแบรนด์มีคนเข้าคิวเต็มไปหมด นารายา (NaRaYA) เป็นตัวอย่างหนึ่ง คือในระยะสั้นแน่นอนว่ากระทบ แต่ระยะยาวอย่าหลงประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้สินค้าหรือบริการเป็นสินค้าที่สามารถตั้งราคาได้ มีความแตกต่าง เหมือนสินค้าจากบางประเทศที่ค่าเงินเขาแข็งเอาๆ เราก็ยังต้องซื้อจากเขาอยู่ เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

ดร.พิพัฒน์: ประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นเรื่องของผลิตภาพ เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนต่อไป