ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน Euromonitor: Top 100 City Destinations 2017กรุงเทพฯติดอันดับ 2 ปลายทางท่องเที่ยวชั้นนำของโลก

รายงาน Euromonitor: Top 100 City Destinations 2017กรุงเทพฯติดอันดับ 2 ปลายทางท่องเที่ยวชั้นนำของโลก

14 พฤศจิกายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : file:///E:/PDF%20Un/Euromonitor%20International_WTM%20London%202017_Top%20100%20City%20Destinations.pdf

บริษัทวิจัยตลาดของอังกฤษ Euromonitor International เปิดเผยรายงานล่าสุด ผลการจัดอันดับ 100 เมืองปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกปี 2017 โดยกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ เป็น 4 เมืองของไทยที่ติดอันดับ โดยกรุงเทพฯ ติดอันดับ 2 ของโลกที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดรองจากฮ่องกง ส่วนภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ อยู่อันดับ 11, 24 และ 73 ตามลำดับ

Euromonitor กล่าวว่า เมืองกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ แม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดปัจจัยที่เป็นตัวขัดขวางการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น การห้ามเข้าประเทศ การก่อการร้าย หรือการปิดพรมแดน แต่คนทั่วโลกก็ยังคงเดินทาง

ในปี 2016 จำนวนคนเดินทางระหว่างประเทศมีทั้งหมด 1.2 พันล้านคน แต่คนที่เดินทางไปยังปลายทาง 100 เมืองชั้นนำของโลกมี 558 ล้านคน เท่ากับว่า 100 เมืองยอดนิยมการเดินทางของโลกมีสัดส่วน 46% ของคนเดินทางระหว่างประเทศ ในอนาคต แนวโน้มการเดินทางไปเมืองยอดนิยม 100 เมืองดังกล่าวจะมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวมของการเดินทางระหว่างประเทศ

เมืองท่องเที่ยวในเอเชียเป็นดาวรุ่ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บรรดาเมืองในเอเชียแปซิฟิกเป็นตัวขับเคลื่อนโฉมหน้าของการท่องเที่ยว และจะยังมีบทบาทดังกล่าวในอนาคต เมื่อ Euromonitor จัดอันดับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลกในปี 2010 มี 34 เมืองในเอเชียที่ติดอันดับ ในปี 2017 จำนวนเพิ่มเป็น 41 เมือง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 47 เมืองในปี 2025 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองในเอเชียเป็นปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำมากขึ้นคือการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน

เมือง 2 เมืองที่เป็นปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของโลก อยู่ในเอเชีย ฮ่องกงยังคงเป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 1 ในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 26.6 ล้านคน ปี 2017 จำนวนจะลดลงเป็น 25.6 ล้านคน แต่การเติบโต -3.2% ฮ่องกงได้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์กับจีน แต่การเติบโตที่ติดลบในปี 2017 เพราะความสัมพันธ์กับจีนเกิดปัญหาตึงเครียด

กรุงเทพฯ เป็นเมืองการท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกอันดับ 2 ในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 21.2 ล้านคน ในปี 2017 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 23.2 ล้านคน อัตราเติบโต 9.5% แม้จะมีการห้ามทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนก็ส่งผลกระทบไม่มาก ขณะที่อัตราเติบโตของการท่องเที่ยวของฮ่องกงลดต่ำลง แต่กรุงเทพฯ กลับมีอัตราการเติบโตที่แรงในระยะที่ผ่านๆ มา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ขยับเข้าใกล้ฮ่องกง

กรุงโซลของเกาหลีใต้หลุดจากอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองในเอเชีย ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2017 จะลดลง 14.9% เพราะปัญหาความตึงเครียดระหว่างเกาหลีใต้กับจีน เมื่อเกาหลีใต้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาติดตั้งจรวดต่อต้านขีปนาวุธ THAAD เพื่อรับมือภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ

รายงานของ Euromonitor กล่าวว่า 10 เมืองในเอเชีย ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดได้ในปี 2017 ได้แก่ ฮ่องกง 25.6 ล้านคน (-3.2%) กรุงเทพฯ 23.2 ล้านคน (9.5%) สิงคโปร์ 17.6 ล้านคน (6.1%) มาเก้า 16.2 ล้านคน (5.9%) เซินเจิ้น 12.9 ล้านคน (3.1%) กัวลาลัมเปอร์ 12.8 ล้านคน (4.5%) ภูเก็ต 12 ล้านคน (14%) โตเกียว 9.7 ล้านคน (4.8%) ไทเป 9.3 ล้านคน (1.0%) และโซล 7.6 ล้านคน (-14.9%)

ที่มาภาพ: file:///E:/PDF%20Un/Euromonitor%20International_WTM%20London%202017_Top%20100%20City%20Destinations.pdf
ที่มาภาพ : file:///E:/PDF%20Un/Euromonitor%20International_WTM%20London%202017_Top%20100%20City%20Destinations.pdf

ส่วนเมืองในเอเชียที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากสุดในปี 2017 คือ เดนพาซาร์ของอินโดนีเซีย ที่เป็นประตูสู่บาหลี โดยเติบโต 52.9% การยกเว้นวีซ่า ทำให้นักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้ามาอินโดนีเซีย อันดับ 2 คือจาการ์ตา เพิ่มขึ้น 48.5% ส่วนอีก 3 เมืองของเอเชียคือเดลี เพิ่ม 37.7% อัครา เมืองที่ตั้งของทัชมาฮาล เพิ่ม 26.3% และมุมไบ เพิ่มขึ้น 23.5% การใช้ระบบ e-visa ของอินเดียช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น กลายเป็นเหยื่อจากความสำเร็จของตัวเอง การทะลักของนักท่องเที่ยวจีนมายังญี่ปุ่นในระยะที่ผ่านมา ทำให้ค่าพ้องพักโรงแรมในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นมาก เช่น โตเกียว ทำให้นักท่องเที่ยวหันเหไปเที่ยวที่อื่นแทน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมายังโตเกียวเพิ่มในอัตราต่ำลง คือ 4.8% ในปี 2017

การมุ่งเป็นสมาร์ทซิตี้

เพื่อรักษาการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว หลายเมืองในเอเชียกำลังดำเนินการที่จะเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ บัตร Octopus Card ของฮ่องกงเป็นตัวอย่างการให้บริการท่องเที่ยวโดยการใช้สมาร์ทการ์ด นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรนี้แล้วนำไปใช้กับการขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ ส่วนสิงคโปร์กำลังดำเนินการที่จะทำให้เป็นเมืองมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

Euromonitor กล่าวว่า ก้าวใหญ่สุดที่จะนำไปสู่สมาร์ทซิตี้คือ การเติบโตของระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล ในอดีต จีนและอินเดียอาศัยการชำระเงินด้วยเงินสดเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนจำนวนมากไม่มีบัญชีเงินในธนาคาร การที่เมืองต่างๆ กำลังมุ่งสู่การปฏิวัติแบบไม่ใช้เงินสด เพราะการผลักดันของรัฐบาล บริษัทธุรกิจ และผู้บริโภคเอง ปี 2017 ธุรกรรมของเกาหลีใต้กว่า 90% ชำระด้วยบัตร สิงคโปร์และฮ่องกงมากกว่า 70% จีนเกือบ 50% เพราะคนจีนในเมืองจำนวนมากไม่ได้ชำระด้วยเงินสด ส่วนอินเดียไม่ถึง 10%

หากจะมีประเทศในเอเชีย ที่เรียกว่า “มือถือมาก่อน” ประเทศนั้นคือจีน ที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นศูนย์กลางของธุรกรรม จีนมีคนใช้โทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 1.1 พันล้านคน จำนวนมากกว่า 2.5 เท่าของคนอเมริกัน ปี 2015 เป็นครั้งแรกที่คนจีนซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าซื้อผ่านการใช้คอมพิวเตอร์ ในปี 2017 การซื้อทัวร์แบบดิจิทัล 64% ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

การพุ่งขึ้นมามีบทบาทสำคัญของโทรศัพย์มือถือ ทำให้เกิดแอพพลิเคชันต่างๆ มากมาย เช่น แอปพลิเคชันสำหรับโซเชียลมีเดีย สำหรับการชำระเงิน หรือสำหรับการท่องเที่ยว เป็นต้น คนใช้โทรศัพท์มือถือจึงมีแอปพลิเคชันหลายอย่างในเครื่อง ทำให้คนใช้โทรศัพท์มือถือเกิดความรู้สึกท้อใจ เรียกว่า App Fatigue เพราะเหตุนี้ การมีแอปพลิเคชันเดียวที่สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่างจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญ

แอปพลิเคชันของจีนชื่อ WeChat ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้โดยรวมอยู่ในแอปพลิเคชันเดียวจึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกรรมต่างๆ ในจีนอาศัยเงินสดน้อยลง WeChat ทำให้คนใช้สามารถค้นหาและจองทัวร์ ค้นหาเที่ยวบินและโรงแรม หรือจองร้านอาหาร เป็นต้น

เอกสารประกอบ
Top 100 City Destination s ranking, WTM London 2017 Edition, Euromonitor International