ThaiPublica > คอลัมน์ > การใช้ความสุขเป็นเครื่องมือในการจัดลำดับของความสำคัญในชีวิตทำงาน

การใช้ความสุขเป็นเครื่องมือในการจัดลำดับของความสำคัญในชีวิตทำงาน

29 พฤศจิกายน 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

มีคนหลายคนที่ใช้เวลาประมาณ 20 ปีในการเรียน เพื่อจบออกมาทำงานที่ตนเองไม่ชอบอีก 40 ปี

ฟังดูไม่ค่อย logical เท่าไหร่ ใช่ไหมครับ

แล้วทำไมคนเราถึงเลือกทำยังงั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเราส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกในงานที่ตัวเองอยากจะทำ เเต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกหลายคนที่มีทางเลือกแต่กลับเลือกผิด เพราะไปฟังคำสอนผิดๆมาว่าอะไรสำคัญในชีวิตของการทำงาน หรืออาจจะฟังคำสอนที่ถูกมาตัดสินใจไม่เลือกฟังเองเพราะคิดว่าคำสอนนั้นไม่เกี่ยวกับตัวเอง

ปัญหาก็คือสำหรับคนที่มีทางเลือกเเต่กลับเลือกผิด ไปเลือกงานที่ทำให้ตัวเองไม่มีความสุขไปอีก 40 ปีนั้น พวกเขาควรจะทำยังไงให้ตัวเองเลือกทางเดินชีวิตที่ถูก

คำตอบก็คือการจัดลำดับ หรือ priority ของชีวิตการทำงานใหม่โดยใช้ความสุขเป็นหลัก

ในการจัดลำดับของชีวิตการทำงานของเรานั้น เราควรที่จะพยายามบาลานซ์ปัจจัยที่สำคัญต่อความสุขเเต่ละมิติของเราดังต่อไปนี้

1. ความพึงพอใจในชีวิต: คำถามที่เราควรจะตั้งกับตัวเองก็คือ งานที่เราเลือกที่จะทำนั้นสามารถช่วยทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จในเป้าหมายชีวิตของเราหรือเปล่า — ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญในชีวิตของคนส่วนใหญ่คือ มีเงินใช้สอยพอ มีงานทำ ไม่ตกงาน มีชีวิตการเเต่งงานที่ดี มีสุขภาพที่ดี เป็นต้น เเละถ้างานเราสามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ตั้งเอาไว้ โอกาสที่เรานะมีความพึงพอใจในชีวิตก็จะสูงขึ้นไปด้วย

2. อารมณ์เเละความรู้สึกในชีวิตประจำวัน: งานที่เราเลือกที่จะทำนั้นสามารถช่วยทำให้เราใช้เวลาในการยิ้มมากขึ้นในเเต่ละวันหรือเปล่า หัวเราะมากขึ้นในเเต่ละวันหรือเปล่า ทำให้เครียดหรือกังวลน้อยลงไหม หรือทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองไหม ถ้าไม่ งานนั้นๆก็ไม่มีผลลัพธ์ที่ดีต่อความสุขในชีวิตประจำวันของเรา

3. ความหมายของชีวิต: งานที่เราเลือกที่จะทำนั้นสามารถช่วยทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายหรือเปล่า มันเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนอื่นๆนั้นดีขึ้นด้วยหรือเปล่า ปกติเเล้วงานที่ให้ความหมายกับชีวิต ของคนเรามักจะเป็นงานที่ทำให้ส่วนรวมอย่างเช่นงานอาสา งานอาจารย์ งานที่ช่วยเหลือคนอื่นที่มีคุณภาพชีวิตการเป็นอยู่น้อยกว่าคนทั่วไป

คงจะเป็นอะไรที่ยากที่เราจะสามารถหางานที่มีมิติของความสุขครบทุกสามมิติ ส่วนใหญ่งานที่มีมิติที่ 1 สูงมักจะมีมิติที่ 2 หรือที่ 3 ต่ำ (อย่างเช่นงานของนักกฎหมาย เป็นต้น) หรือมีมิติที่ 3 สูงเเต่มิติที่ 1 และ 2 ต่ำ (อย่างเช่นงานของครู เป็นต้น)

แล้วคุณล่ะ คุณมีงานที่ทำให้คุณมีความสุขครบทั้งสามมิติหรือเปล่า ถ้ามีไม่ครบ หรือไม่มีเลย อาจจะถึงเวลาที่คุณควรจะเปลี่ยนงานได้แล้วนะครับ