
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเพิ่มเติมแหล่งที่มาของเงินกองทุนผู้สูงอายุ และนำเงินกองทุนผู้สูงอายุไปจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสรุปมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เหตุผลและความจำเป็น
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น จึงได้มีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุนำเงินกองทุนมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าว และกำหนดให้มีการเพิ่มแหล่งที่มาของเงินกองทุนสำหรับนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์นี้ ประกอบด้วยเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุราและยาสูบ และโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ
2. แหล่งเงินของกองทุนผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
2.1 เงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ว่าด้วยภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายดังกล่าวสูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการเมื่อร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้
2.2 โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งกำหนดวันเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน (หรือเอกสารมอบอำนาจ) แจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพได้ที่หน่วยงานที่ได้แจ้งลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ ได้แก่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเมืองพัทยา และสำหรับผู้ที่มีทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัดแต่อาศัยในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งบริจาคได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานรับแจ้งการบริจาคจะจัดเตรียมแบบฟอร์มการขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับผู้สูงอายุที่มีความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพเอาไว้
ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ และสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริจาคเบี้ยยังชีพสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
3. ผู้รับเงินช่วยเหลือ จะเป็นผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2560 มีจำนวน 3.6 ล้านคน
4. การจัดสรรเงินช่วยเหลือ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ กผส. พิจารณา และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป
นายพรชัย กล่าวต่อว่า แหล่งเงินของกองทุนผู้สูงอายุที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมี 2 แหล่งคือ 1. มาจากการจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุ 2% ของภาษีสุราและยาสูบ คาดว่าว่ากองทุนจะมีรายได้จากเงินบำรุงปีละ 4,000 ล้านบาท และ 2. มาจากผู้สูงอายุที่บริจาคเบี้ยยังชีพคนชราให้กับกองทุน ปัจจุบันรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปีละ 64,000 ล้านบาท จ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีชื่ออยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 หรือ ผู้สูงอายุที่ยากจนจริงๆ จำนวน 3.6 ล้านคน กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้สูงอายุที่มีฐานะดีประมาณ 1 ล้านราย ยอมสละสิทธิ นำเบี้ยยังชีพมาบริจาคให้กับกองทุนผู้สูงอายุคิดเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท เมื่อนำมารวมกับเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุแล้ว จะทำให้กองทุนฯ มีรายได้ 12,000 ล้านบาทต่อปี และเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรเป็น “เบี้ยยังชีพ” เพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุที่ยากจนจริงๆ จำนวน 3.6 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ไม่ประสงค์จะบริจาคเงินให้กองทุนฯ ก็ยังคงได้รับเบี้ยคนชราจากรัฐบาลต่อไป
เมื่อถามว่า กระทรวงการคลังจะเริ่มเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบเมื่อใด นายพรชัย กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะเริ่มเก็บเงินบำรุงให้กับกองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2560 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ถามว่า การจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุ 2% จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกสุราและยาสูบหรือไม่? นายพรชัย กล่าวว่า “ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อราคามากนัก เพราะเก็บเพิ่มอีก 2% ของค่าภาษีสุราและยาสูบ ไม่ได้เก็บเพิ่ม 2% จากราคาขายปลีก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ หรือผลักให้ผู้บริโภครับภาระแทน”
ปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้บริโภค ต้องจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม หรือ “Earmarked Tax” ประมาณ 15.5% ของภาษีสุราและยาสูบ ประกอบด้วยภาษีเพื่อมหาดไทย 10%,เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2%,เงินบำรุงกองทุนพัฒนาการกีฬา 2% และเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) 2% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หลังจาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุมีผลบังคับใช้ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรต้องจัดเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำมาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ที่บริโภคสุรายาสูบต้องจ่าย เงินบำรุงกองทุน หรือ “Earmarked Tax” รวมทั้งสิ้นประมาณ 17.5% ของภาษีสุราและยาสูบ