ThaiPublica > คนในข่าว > องค์ความรู้จากครูสู่ครู : งาน “แทงหยวกราชสำนัก” ศิลปะที่เกือบสาบสูญ สู่ “เครื่องสดประดับพระจิตกาธาน” ความงามสื่อสัจธรรม

องค์ความรู้จากครูสู่ครู : งาน “แทงหยวกราชสำนัก” ศิลปะที่เกือบสาบสูญ สู่ “เครื่องสดประดับพระจิตกาธาน” ความงามสื่อสัจธรรม

28 พฤศจิกายน 2017


“…ชาติไทยเรานั้นได้มีเอกราช มีภาษา ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองมาช้านานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษของเราได้เสียสละอุทิศชีวิต กำลังทั้งกายและใจ สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เพื่อพวกเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงทนถาวร เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมบำรุงรักษาอย่าให้สูญสลายไป…”
– พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย วันที่ 25 มกราคม 2507

“พระจิตกาธาน” หรือก็คือ “เชิงตะกอน” เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่สืบทอดตามโบราณราชประเพณีเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ เป็นอีกหนึ่งความงดงามที่ประกอบอยู่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิง

งานแทงหยวกราชสำนัก ศิลปะที่เกือบสาบสูญ

การทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการประดับตกแต่งพระเมรุมาศ และถูกสรรสร้างในระยะเวลาที่อาจจะสั้นที่สุดในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ของงานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะการแทงหยวกที่ต้องทำในชั่วข้ามคืนก่อนพิธีถวายพระเพลิง เพื่อให้หยวกกล้วยคงความสด และเป็นประโยชน์ในการป้องกันเพลิงลุกลามไปยังส่วนอื่น แต่ก็เป็นความงามที่สูญสลายไปเร็วกว่าส่วนอื่นๆ เช่นกัน

การประกอบร่างพระจิตกาธานแล้วเสร็จในรุ่งสาง เวลา 04.45 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ความคิด การออกแบบ การเตรียมตัวภายในระยะเวลา 1 ปี ศิลปะการกรองดอกไม้ของฝ่ายใน งานดอกไม้สด ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ช่างฝีมือบรรจงสร้าง ศิลปะงานแทงหยวก ศิลปะการแกะของอ่อนประกอบพระจิตกาธาน ผ่านการประพรม อบร่ำน้ำปรุงกว่า 300 ลิตรจนมีกลิ่นหอม ประกอบเข้าเป็นพระจิตกาธาน ตั้งแต่ส่วนฐานไปจนถึงเรือนยอดสูง 13.5 เมตร ในเวลา 1 วัน 1 คืน ก่อนเพลิงฟ้าโหม สูญสลายไปพร้อมกับการส่งเสด็จกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทยในค่ำวันที่ 26 ตุลาคม 2560

แต่ใครบ้างจะรู้ว่าศิลปะการแทงหยวกประกอบพระจิตกาธาน ที่เคยถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมีอยู่ในทุกพื้นถิ่น แต่ในราชสำนักเองเกือบเคยสูญสลายไป ไร้ผู้สืบทอด บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เล่าย้อนไปถึงช่วงวิกฤติที่ราชสำนักขาดช่างแทงหยวกเมื่อครั้งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี 2539

“ในปี 2534 ผมเริ่มเข้ารับราชการ อายุประมาณ 20 ปี ในตำแหน่งเจ้าพนักงานอนุรักษ์ราชภัณฑ์ เกี่ยวกับงานแกะสลัก และซ่อมบำรุงรถม้าพระที่นั่ง  ตอนนั้นแผนกสนมพลเรือนก็เหลือคนเก่าคนแก่ที่เป็นในเรื่องงานแทงหยวกอยู่แค่คนเดียว ก็ไปยืนดูเขาปาดกาบกล้วยทำพระจิตกาธานสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็เริ่มเห็นจุดเปลี่ยนว่า ในวังเริ่มไม่มีแล้ว เริ่มสูญหายหมดแล้ว แล้วก็คนที่เป็นงานพวกนี้เริ่มน้อยลง จากนั้นผมก็เริ่มศึกษาในเรื่องดอกไม้ งานช่างประดิษฐ์ดอกไม้ต่างๆ

ต่อมาในปี 2534 ที่สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่ประมาณ 1 ปี ก็เตรียมงานกันตอนนั้น ได้เห็นพระเมรุใหญ่โตมโหฬาร เห็นพระจิตกาธานก็จิตตกว่าตอนนั้นเราจะทำอย่างไรในเรื่องช่าง มันไม่มีช่างจริงๆ ต้องมาเป็นคนดูแลงานตอนนั้นยังเด็กๆ เลย หากไม่ได้ครูประสม สุสุทธิ และช่างพื้นบ้านจากเพชรบุรี รวม 24 คน มาช่วย คงไม่สำเร็จ ผมยังจำติดตาเลยว่าไม่ได้หลับได้นอน เป็นงานแรกในชีวิตที่เห็น เห็นทุกอย่างที่มันกระท่อนกระแท่น ในเรื่องจุดเปลี่ยนของงานช่างเครื่องสดพระราชสำนัก

จนกระทั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จทอดพระเนตร แล้วก็บอกว่า เสร็จงานแล้วนี่ขอให้หาคนมาช่วยสอนสืบสานไว้นะ ไม้อย่างนั้นมันจะสูญ แล้วต่อไปในภายภาคหน้าจะไม่มีช่าง

หลังจากเสร็จงานสมเด็จย่า คนก็เริ่มรู้จักช่างแทงหยวกเมืองเพชรมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตอนนั้นเราก็รู้จักแค่เมืองเพชรเมืองเดียว แต่ทั้งๆ ที่ในชุมชนต่างๆ ทั่วทุกๆ ภูมิภาค มีช่างแทงหยวกอยู่ แม้กระทั่งฝั่งธนบุรี ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเลย

หลังจากปี 2539 ก็คุณครูวิเชียร เปรมจันทร์ ท่านได้แจ้งความจำนงเข้ามา เพราะว่าท่านเป็นครูช่างสุดท้ายที่ได้รับสืบทอดวิชานี้มาจากช่างราชสำนัก คือท่านพระครูธรรมราช ซึ่งพระอาจารย์สถิตอยู่ที่วัดระฆัง ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์นาค ซึ่งมีฝีไม้ลายมือในเรื่องแทงหยวก แกะสลัก จิตรกรรมไทย

“จากครูพักลักจำ ก็เริ่มได้วิชาจากท่าน โดยไปเรียนทุกวันศุกร์ ซื้อต้นกล้วยต้นละ 50 บาท เรียนกับท่าน 2 คน ท่านก็ถ่ายทอดให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนเลย ทั้งที่ตอนนั้นท่านอายุ 76 ปี มือไม้ก็สั่นหมดแล้ว ท่านอธิบายหมดว่าลายตรงนี้ต้องแบบนี้ แบบนี้ ผมบันทึกไว้ทั้งหมดทั้งภาพถ่ายและวิดีโอ ซึ่งท่านเก่งมาก สกุลช่างวัดอัปสรสวรรค์ ก็เป็นลูกศิษย์ท่านทั้งหมด”

จากนั้นในปี 2540 โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย เริ่มสอนนักเรียนเป็นวิชาเลือก รุ่นละ 20 คน ผมก็เป็นอาจารย์แทงหยวก ก็สอนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผมรับหน้าที่ครูวิชาช่างประดับมุก เป็นครูวิชาเอก จึงให้ลูกศิษย์รุ่นแรกเป็นครูประจำวิชาแทงหยวกไป ผมก็มอบวิชานี้ให้เขาดูแลไป มันก็กลายเป็นว่า จากเป็นผมกลุ่มเดียวคนเดียว ก็แตกเป็นเหมือนสายน้ำ เป็นแขนงไป

ในปัจจุบันในราชสำนักมีช่างหลวงเกือบ 200 คน เป็นช่างแทงหยวกทั้งหมด 38 คน และเครือข่ายของเรา เป็นศิษย์เก่า ซึ่งก็ไปทำงานอยู่ตามที่ต่างๆ ก็ถือเป็นช่างแทงหยวกของเรา เป็นสายตรง เมื่อถึงงานสำคัญ อย่างงานพระราชพิธีครั้งนี้เราก็เรียกกลับคืนมา แล้วเขาก็ยินดีพร้อมใจกันมาช่วยถวายงาน ต่อไม่นี้ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดสายอีกแล้ว”

เครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ความงามสื่อสัจธรรม

บุญชัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการจัดทำพระจิตกาธานในครั้งนี้ กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับพระกระแสรับสั่งลงมาในเดือนพฤษภาคม 2560 ในเดือนมิถุนายนก็เริ่มเตรียมตัวในการร่างแบบ การหาวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ การทดลองย้อมสีดอกบานไม่รู้โรยหลายสิบรอบ จนกระทั่งลงตัว เป็นสีเหลืองที่บ่งบอกถึงวันพระราชสมภพ สีชมพูอมแดงที่เป็นสีของกำลังวัน และสีเขียว ตลอดจนถึงคัดเลือกวัตถุดิบที่ได้รับ เช่น ถั่วแดงกว่า 10 กิโลกรัม คัดเอาเมล็ดที่งามที่สุด เลือกเล็ดที่มีสีสัน ขนาดเท่ากัน จนเหลือ 2 กิโลกรัม ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงสร้างพระจิตกาธานที่ต้องทำการตกแต่งเป็นเช่นไร

“เราได้แบบโครงสร้างจริงในวันที่ 12 กันยายน 2560 และครั้งนี้โครงสร้างต้องเป๊ะ ผมเข้าออกสนามหลวงจนแทบผุเพื่อประสานงานกับวิศวกรให้ชัดเจนในรูปแบบ ปัญหาเรื่องโครงสร้างพระจิตกาธานไม่รับกับเครื่องสดที่นำขึ้นประดับเมื่อครั้งงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” บุญชัยกล่าว

การทำงานเริ่มจากการประชุมช่างฝีมือต่างๆ เพื่อคิดแบบจากแบบร่างเพียง 4 แผ่น กลายมาเป็น 37 แผ่น เพื่อเฟ้นหาสิ่งที่จะส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย จึงได้เป็นตำนานดอกปาริชาติ อันเป็นดอกไม้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เกิดอยู่ในสวนปุณฑริกวัน คราใดที่ดอกปาริชาติเบ่งบานจะส่งกลิ่นหอมได้ถึง 5,000 โยชน์ เหล่ามนุษย์ เทวดา นางฟ้า คนธรรพ์ โอปปาติกะ ทั้งหลายเมื่อสูดกลิ่นจะระลึกชาติได้

อย่างไรก็ตาม “ปาริชาติ” เป็นดอกไม้ในตำนาน แต่ไม่เคยมีผู้ใดได้พบเห็น ดังนั้น ช่างฝีมือจึงต้องคิดรูปแบบของดอกปาริชาติประดิษฐ์ที่จะสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยช่างฝีมือได้บรรจงสร้างดอกปาริชาติ 70 ดอก ตามจำนวนปีที่ทรงครองราชย์ ใช้สีของดอกบานไม่รู้โรยย้อม 3 สีข้างต้น  มีเมล็ดธัญพืชพันธุ์พระราชทานแก่เกษตรทั่วประเทศเป็นเกสร โดยจัดเรียงทีละกลีบดอกทีละเมล็ดจนออกมาเป็นดอกปาริชาติ และจุดกึ่งกลางประดับอัญมณีที่มีค่าที่สุดคือ แก้วนพรัตน์ 9 ดวง อัญมณีในตำนานที่ร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์มาสู่พื้นมนุษย์

เถาดอกปาริชาติสด
ดอกปาริชาติประดิษฐ์ เป็นดอกไม้ไหวประดับชั้นรัดเกล้า
เถาดอกปาริชาติสด ประดับบริเวณชั้นรัดเอว

บุญชัยกล่าวด้วยความปลื้มปิติว่า พิธีบวงสรวงสังเวยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นองค์ประธาน ในวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ทรงเจิมโองการบวงสรวงสังเวยช่างเครื่องสดราชสำนักที่ประดับด้วยปีกแมลงทับ ก่อนที่เขานั้นจะเป็นผู้อ่านโองการดังกล่าว แล้วทรงเจิมเครื่องมือช่าง เครื่องสดต่างๆ ก่อนเสด็จเยี่ยมชมทุกอาคารที่ช่างฝีมือทำงาน พร้อมตรัสขอบคุณบรรดาช่างฝีมือ โดยตรัสออกมาถึง 2 ครั้ง ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้บรรดาช่างทั้งหลายที่มาถวายงานในครั้งนี้

โดยกระบวนการแทงหยวกเริ่มในวันที่ 23-24 ตุลาคม 2560 เพื่อให้คงความสดของชิ้นงาน  ก่อนนำขึ้นประดับบนพระจิตกาธานในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 และเมื่อสิ้นสุดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม เวลา 07.00 น. ช่างราชสำนักได้ประกอบพีธีจำเริญน้ำตามจารีต โดยนำเครื่องประดับพระจิตกาธานส่วนที่เหลือจากการไหม้ไฟ ได้แก่  ตาข่ายดอกไม้สด มีทั้งภู่กลิ่น มีทั้งเครื่องแขวน มีทั้งม่านดอกไม้สด มีทั้งหยวก กาบกล้วย มีทั้งดอกไม้ประดิษฐ์ มีทั้งดอกปาริชาติประดิษฐ์ มีทั้งดอกไม้เฟื่องดอกไม้ไหว ทั้งหมด 4 พานใหญ่ ลงเรือที่สโมสรกองทัพเรือฝั่งธนบุรี นำล่องไปปากคลองบางกอกใหญ่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์

“ขอให้เพลิงฟ้าที่จุดขึ้นนั้นได้มอดดับลง ขอให้ความร่มเย็นนั้นกลับคืนมาสู่ในมวลหมู่คณะช่างฝีมือ และประเทศไทย  ด้วยพระคงคาอันชุ่มฉ่ำอันร่มเย็นตรงนี้” เมื่อจบพิธีจำเริญน้ำ จึงจบหน้าที่ช่างเครื่องสดราชสำนัก

“มันเป็นสัจธรรม ทำสวยวิจิตรพิสดารเพียงใด เมื่อโดนเพลิงโหม กาวย้อย เมล็ดข้าวโพดย้อยแตกเป็นปอปคอร์น พลอยสูญไปกับเพลิง บางอันเปื้อนฝุ่นเถ้า เขม่าควัน มีกลิ่นเผาไหม้ เป็นสัจธรรมว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เหลือเพียงความงามทางประวัติศาสตร์” บุญชัยกล่าวทิ้งท้าย

ร้อยช่าง รวมใจ ถวายงาน

บุญชัยกล่าวถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า เขาไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ทำงานด้วยเครือข่าย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มีจิตใจที่อยากจะถวายงานในให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการบูรณาการทั้งช่างฝีมือฝ่ายใน ช่างฝีมือจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาค ช่างอาสา ช่างชาวบ้าน ช่างหลวง สถาปนิก และศิษย์เก่าโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย-หญิงทำงานร่วมกัน ทั้งหมด 323 ชีวิต เพื่อให้งานเครื่องสดออกมาสมพระเกียรติมากที่สุด โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าร่วมถวายงาน

โดยเฉพาะในส่วนของช่างแทงหยวกที่ทรงเล็งเห็นว่า ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยมีช่างแทงหยวกอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ในชุมชน เป็นวิถีชีวิต ซึ่งล้วนเป็นพสกนิกรของพระองค์เช่นกัน จึงเปิดโอกาสให้ราชสำนักคัดสรรสกุลช่างเข้ามาร่วมถวายงานถึง 4 ภูมิภาค สกุลช่างภาคใต้จากสงขลา 4 ช่าง สกุลช่างวัดอัปสรสวรรค์ 4 ช่าง สลุลช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากมหาสารคามและอุบลราชธานี 2 ช่าง และสกลุช่างเพชรบุรี 15 ช่าง เข้ามาถวายงานร่วมกับช่างราชสำนัก

“เป็นสิ่งที่ดีในการเปิดใจให้ทุกคนได้มาร่วมงาน เพราะในพื้นที่ประเทศไทยมีช่าง มีพสกนิกรจำนวนมาก ที่รักและพร้อมจะทำเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9  แต่เราไม่สามารถรองรับคนทั้ง 70 ล้านคนได้ จึงขอเป็นตัวแทนช่างเข้ามา รวมกว่า 300 ชีวิต มาถวายงาน กินนอนกันตรงนี้ ตั้งแต่วันที่ 19-27 ตุลาคม 2560 โดยช่างทำงานต่อเนื่องได้ก็มาจากน้ำใจของผู้ที่เสนอชื่อเข้ามาช่วยเรื่องอาหารให้กับบรรดาช่าง รวมไปจนถึงการสนับสนุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการประดับพระจิตกาธาน จนออกมาเป็นแพลนงาน เป็นการน้อมนำของจากเกษตรกร และพสกนิกรต่างๆ” บุญชัยกล่าว

บุญชัยบอกเล่าไปถึงที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ที่ประชาชนต่างน้อมถวายเข้ามาสนับสนุนการทำงานของบรรดาช่างฝีมือ ในงานแทงหยวกนั้นได้รับกล้วยจากชาวจันทบุรีจำนวน 90 ต้น จากชาวเพชรบุรีอีก 60 ต้น และจากนนทบุรีอีก 9 ต้น รวม 159 ต้น เพื่อให้ช่างแทงหยวกใช้แกะลายประกอบพระอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี

ผ้ากำมะหยี่สีแดงสำหรับทำดอกเข็มประดิษฐ์ ติดบริเวณม่านดอกรัก ด้านหลังคือดอกบานไม้รู้โรยย้อมสีสำหรับทำงานดอกไม้ประดิษฐ์
องค์ประกอบดอกปาริชาติ
: ดอกบานไม่รู้โรยย้อมสีเรียงเป็นกลีบดอก, ก้านไม้ไผ่สีสก, ไม้ระกำ, ปีกแมลงทับล้อมดิ้นเงิน ทองคำเปลว, เกสรจากธัญพืช
องค์ประกอบดอกปาริชาติประดิษฐ์
ส่วนกลีบของดอกปาริชาติประดิษฐ์ ทำด้วยผ้าย้อมสี แล้วนำมาเย็บติดทีละขิ้น

สำหรับดอกปาริชาติประดิษฐ์ 70 ดอก ความหมายตามจำนวนปีที่ทรงครองราชย์ ซึ่งในส่วนของเกสรชั้นในที่เป็นมณีนพรัตน์ทั้งหมด 70 ดวง ได้รับอัญมณีจากชาวจันทบุรี ทำตัวเรือน ฝังเพชรกึ่งกลาง ล้อมด้วยพลอย 8 ชนิด (ทับทิม บุษราคัม มรกต มุกดา นิล โกเมน เพทาย และไพฑูรย์)

ส่วนเมล็ดธัญพืชคัดจากพันธุ์พืชพระราชทาน โดยเมล็ดข้าวเปลือกจากทุ่งกุลาร้องไห้ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เมล็ดข้าวโพดจาก 3 แหล่ง พะเยา เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เป็นพันธุ์พระราชทานและพันธุ์พื้นเมือง ถั่วแดงและถั่วเขียวจากเกษตรกร ส่วนถั่วทอง หรือถั่วเขียวกระเทาะเปลือก มีขายบริเวณสำเพ็ง หรือพาหุรัด ร้านขายส่วนใหญ่เป็นของชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ไปคัดสรรมาจากตรงนั้น

“เราไปขอซื้อเขาก็ถามว่าเอาไปทำไม ก็บอกเขา เขารีบบอกว่าบังไม่คิดตังค์ บังขอถวายทั้งกระสอบเลย ไม่พอมาเอาใหม่ เป็นสิ่งที่แสดงว่าทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ล้วนรักและเทิดทูลพระองค์ ไม้ระกำที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของดอกปาริชาติ ได้จากคุณยายที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อคุณยายทราบว่าจะเอาไปทำอะไร แกโยนเลื่อยให้เลย บอกว่าเอาไปทั้งสวนได้เลย ป้าอยากทำเพื่อพระองค์ พูดแล้วแกก็ร้องไห้ออกมา ทำเอาผมร้องตามไปด้วย” บุญชัยกล่าว

ทั้งนี้ก้านของดอกปาริชาติต้องไม้ใช้ไม้ไผ่สีสุก ลำไม้ไผ่สีเหลืองทอง ที่ปัจจุบันหายากในเมืองไทย ได้จากคุณยายและชาวบ้านที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ตัดไม้ไผ่หัวหมู่บ้าน เหลาให้ได้ขนาด 60 นิ้ว จำนวน 70 ก้าน พร้อมอบแล้วส่งมาให้ จากนั้นช่างราชสำนักได้ทำการลงรักปิดทองก้านไม้ไผ่ทั้งหมด โดยทองคำที่นำมาใช้ครั้งนี้ บรรดาร้านค้าจากปากคลองตลาดแต่ละร้านได้รวบรวมและน้อมถวายทองคำเปลวจำนวน 2,500 แผ่น

นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม

บุญชัยกล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ได้กลิ่นหอมของดอกปาริชาติตามตำนาน คุณยายช่วง สุเดชะ ที่ประจำอยู่แผนกพระสุคนธ์ ในพระบรมมหาราชวัง ได้ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการสกัดดอกไม้สดให้เป็นน้ำปรุงสูตรเฉพาะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สมเด็จพระพี่นางในล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เป็นจำนวนถึง 300 ลิตร ซึ่งกลิ่นหอมนี้หากเปรียบกับตำนานแล้ว จะเป็นกลิ่นที่มนุษย์ ประชาชนทุกพื้นถิ่นเมื่อได้กลิ่นจะรำลึกถึงพระองค์ทุกภพทุกชาติไป

งานเครื่องสด และองค์ประกอบพระจิตกาธาน

บุญชัยกล่าวว่า เมื่อยามไม่มีพระราชพระศพของเจ้านาย เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน การแทงหยวกเพื่อประดับพระจิตกาธานของช่างราชสำนักจะทำให้กับพิธีพระราชทานเพลิงศพข้าราชการชั้นสูงเพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ

สำหรับพระจิตกาธานทั้งองค์ ก็คือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของพระราชพิธี เป็นหัวใจสำคัญของพระเมรุมาศ โดยเครื่องสดราชสำนักที่จะใช้ในพระราชพิธีคือ งานแทงหยวก งานประดิษฐ์ดอกไม้สด และงานแกะของอ่อน หรือหยวกถม (ใช้พิมพ์ทองเหลืองกดลงไปบนเปลือกมะละกอดิบแบบจารีตดั้งเดิมของราชสำนัก) ซึ่งพระจิตกธานนั้นเริ่มต้นจาก

  • ยอดบนสุดเป็นรูปพรหมพักตร์ หรือหน้าพระพรหมสี่หน้า แกะจากไม้จันทน์หอมแล้วปิดทองทึบ ชั้นเรือนยอดฉัตร 9 ชั้น ประกอบด้วยงานแทงหยวก ลายลูกฟักช่องกระจก ประกอบด้วย ลายฟันปลา และลายฟันสาม ประดับด้วยหยวกถมลายดอกจอก ประกอบงานกรองดอกไม้สดจากราชสำนัก
ด้านบน : ฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงถักตาข่ายดอกรักชั้นที่ 9 ด้านล่าง : ดอกไม้เฟื่องสำหรับประดับงานแทงหยวกชั้นรัดเกล้า

องค์ประกอบดอกไม้เฟื่อง
  • ชั้นรัดเกล้า แบ่งเป็นลายแทงหยวกกระจังและลายเฟื่อง ซึ่งอ้างอิงจากรูปแบบดั้งเดิมของพระจิตกาธานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใช้เฉพาะในงานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และผนวกลวดลายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประดับด้วยหยวกถมลายใบเทศ และดอกไม้ประดิษฐ์ ได้แก่ “ดอกไม้ไหว” คือดอกปาริชาติประดิษฐ์ปักเรียงด้านบน 70 ดอก และมี “ดอกไม้เฟื่อง”  ลักษณะคล้ายๆ เฟื่องที่ร้อยประดับบริเวณปากพระโกศ หรือพู่บริเวณพระที่นั่งราเชนทรยาน เฟื่องหนึ่งชุดจะประกอบได้ด้วย ตัวเฟื่อง ตัวพู่ และดอกทัดหู ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการใช้ระยะเวลาในการทำงาน ใช้ประดับบริเวณใต้แผงหยวกชั้นรัดเกล้า
เครื่องมือทองเหลืองสำหรับทำลายหยวกถม
  • ชั้นรัดเอว (ที่ประดิษฐานพระโกศจันทน์) เป็นบริเวณที่ประดิษฐานพระหีบจันทน์ เป็นบริเวณที่ใกล้พระองค์ที่สุด จึงบรรจงสร้างให้วิจิตรพิสดารและประณีตที่สุด เป็นลายแทงหยวกเป็นลายกลีบบัวจงกล บริเวณชั้นรองพระหีบ ปกติทำเป็นลายกลีบบัวคว่ำบัวหงาย แต่เพื่อแสดงถึงพระอิสริยยศจึงประดับกลีบเป็นชั้นซ้อนกาบลาย 5 ชั้น ประดับด้วยดอกปาริชาติสด มีปาริชาติแย้ม บาน และตูม 16 ดอก สื่อความหมายถึงดอกไม้จากสวรรค์ทั้ง 16 ชั้นที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อสักการะพระองค์ สีสันของดอกไม้เป็นสีเหลือง สีชมพู ใบจะต้องไม่เหมือนกับใบไม้ใดๆ บนพื้นโลก โดยประดิษฐ์ขึ้นจากปีกแมลงทับ เกสรเป็นการเรียงเมล็ดงาขาวและเพนท์สี ส่วนเถาปาริชาติเป็นการเย็บแบบจากใบแก้ว ใช้ช่างที่เป็นงานเครื่องสดราชสำนัก มีการประดิษฐ์ตัวแมลงภู่ หรือตัวผึ้ง จากดอกหญ้า และเมล็ดงาดำ เพื่อเสริมให้ดอกปาริชาติมีชีวิตชีวา มีเสน่ห์
ปติมากรรมเทวดาชันพรหม ประดับหน้าเสาชั้นเรือนไฟ
  • ชั้นเรือนไฟ ประดับเสาเล็ก 8 เสา ระหว่างชั้นเรือนฟืนสำหรับวางฟืนไม้จันทน์ และดอกไม้จันทน์ มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร จากเดิมประดับด้วยลายแทงหยวกกระหนกไทยอย่าง ลายฟันปลา ลายแข้งสิงห์ ลายเครือเถา แต่ครั้งนี้ทางช่างราชสำนักโดย อ.กฤษณะ เฟื่องฟู ออกแบบลวดลายใหม่เพื่อสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “ลายเถาไขว้เลขเก้าไทย ในแนวตั้ง” แกนกลางของลายหยวกที่ประดับทุกชั้นประดับด้วยกระดาษทองอังกฤษก่อนนำหยวกถมมาประดับด้านบนและในชั้นนี้จะมีรูปปั้นหล่อเทวดาชั้นพรหมพระวรกายสีขาว พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ประดับหน้าเสาเรือนไฟ 8 องค์
  • ฐานเขียง (ล่างสุดที่ติดกับพื้น) มีขนาดยาว 6.50 เมตร กว้าง 3.85 เมตร สูงถึงยอดพรหมพักตร์กว่า 13 เมตร โดยแบบโครงสร้างมาจากฝ่ายสถาปนิก กรมศิลปากร ก่อนนำมาขยายแบบ เพื่อให้เข้ากับพระจิตกาธาน และคงความถูกต้องตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี