ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร-รพี-บรรยง” คำถามและคำตอบ “การดูแลสมบัติชาติ” ตามร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับรัฐวิสาหกิจใหม่ กับ 4 ข้อกังวล – 6ปมข้อกฏหมายที่ต้องเข้าใจ

“ประสาร-รพี-บรรยง” คำถามและคำตอบ “การดูแลสมบัติชาติ” ตามร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับรัฐวิสาหกิจใหม่ กับ 4 ข้อกังวล – 6ปมข้อกฏหมายที่ต้องเข้าใจ

29 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) จัดงานสัมมนา “การพัฒนา การกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ: คำตอบของการดูแลสมบัติชาติ” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, นายรพี สุจริตกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) จัดงานสัมมนา “การพัฒนา การกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ: คำตอบของการดูแลสมบัติชาติ” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, นายรพี สุจริตกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รายละเอียดดังนี้

ดร.ประสาร เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า เรื่องรัฐวิสาหกิจคงจะอยู่ในใจหลายคนว่าพูดกันมานาน มันไปถึงไหน อะไรอย่างไรบ้าง คงต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องประเภทที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปเชิงองค์กร เพราะฉะนั้นจะเป็นเรื่องที่พูดถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันไป แล้วถ้าผสมโรงปลายประเด็นพันกันไปมาจะไปจุดประเด็นความกลัวขึ้นมา เกิดความระแวงขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศมักจะเป็นแบบนี้เหมือนกัน เขาถึงได้เตือนบ่อยๆ ว่าแบบนี้เป็นเหมือนการเดินทาง ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่เสร็จในเวลาสั้นๆ

“มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ประสบการณ์สูงให้คำแนะนำไว้ว่า การทำเรื่องพวกนี้อย่าเริ่มต้นด้วยการบอกว่าอยากจะเอา “รูปแบบ” นี้ทันทีทันใดโดยไม่ได้อธิบายวัตถุประสงค์ ความสำคัญ และการมีส่วนร่วมที่ดีของสมาชิกเข้ามา ท่านบอกว่าเวลาทำเรื่องพวกนี้ให้เรียงให้ถูก คือ P-P-P-O ตัว O คือองค์กร Organization ซึ่งท้ายที่สุดการปฏิรูปเชิงสถาบันมันต้องไปลงที่องค์กร แต่ว่าจุดอ่อนที่เรามักตกหลุมพรางคือว่าเริ่มต้นที่ตัวองค์กรก่อน โดยไม่เริ่มการอธิบายตัว P สามตัวข้างหน้า คือ “วัตถุประสงค์” (Purpose) ว่าที่เราจะทำนั้นทำไปทำไม ถ้าเราตกลงกันให้ชัดเจน หลังจากนั้นต้องวาง “หลักการ” (Principle) สำคัญๆ หลังจากนั้นคือ “การมีส่วนร่วม” (Participation) ต้องทำ 3 ตัวนี้ให้ดีแล้วไปลงที่ตัว O สังเกตหลายๆ ที่ถ้าเริ่มที่ตัว O ก่อนก็จะทะเลาะกันว่าทำไมต้องเป็น O แบบนี้ กำลังซ่อนเร้นอะไรหรือไม่”

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า แต่ตอนนี้คงต้องให้เวลาอีกหน่อย ถ้าไม่เสร็จใน 1 วันก็เป็น 1 อาทิตย์ ไม่เสร็จก็… เป็นเหมือนการเดินทาง แต่มองไปในระยะยาว ตนเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เวลาเราจะเขียนอะไรทำอะไรพวกนี้เราจะเจอเสมอกับเรื่องความไม่แน่นอนที่จะมาเผชิญเรา อย่าไปพูดถึงเรื่อง 20 ปีเลย แค่ 5 ปี 3 ปี ก็ไม่มีใครรู้แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญมากเวลาทำเรื่องพวกนี้คือการพยายามเตรียมสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็ง สถาบันเหล่านี้ในกรณีของเราอาจจะเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ ถ้าเข้มแข็งมันจะเป็นสถาบันที่มีชีวิตที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต อันนี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเผชิญกับความไม่แน่นอน เป็นที่มาของเรื่องนี้ด้วย

“วันนี้ยินดีแม้จะเป็นเรื่องที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ว่าต้องทำ ทำเรื่องวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนและวางหลักการบางอย่างไว้ จะขออนุญาตพยายามตอบคำถาม 3 คำถาม คำถามแรก คือ ทำไมเราต้องสนใจรัฐวิสาหกิจ? คำถามที่ 2 ภายในระบบรัฐวิสาหกิจมีปัญหาอะไรที่สำคัญ แน่นอนว่ามีหลากหลายแต่ตัวที่เราคิดว่าสำคัญที่ควรจะได้รับการแก้ไขคืออะไร และคำถามที่ 3 คือแนวคิดที่เรากำลังเดินอยู่ ไม่ได้หมายความว่ามีแนวคิดเดียวในโลก ก็มีแนวคิดอื่นๆ แต่ต้องให้เข้าใจ P 3 ตัวแรกก่อนแล้วมาลงที่ O ที่เราเสนอเป็นแนวทาง ไม่ได้บอกว่าถูกต้องที่สุด แต่ให้เห็นว่ามีที่มาอย่างไร”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ทำไมต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ? – ปัญหาบทบาททับซ้อน

คำถามแรก ทำไมเราต้องสนใจระบบรัฐวิสาหกิจ เริ่มต้นด้วยตัวเลขสถิติ เช่น ขนาดและปริมาณอย่างคร่าวๆ จะเห็นทันที่ว่าในเชิงปริมาณไปในทางสูงและมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจของเรา ที่สำคัญคือว่ามันมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง อีกนัยหนึ่งคือสัดส่วนที่เป็นโครงการภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจของไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้าไปในทางที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าไปในทางไม่ดีมันจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคหยุดยั้งหรือไม่ว่าจะเป็นการถ่วงการรุดหน้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายรัฐวิสหากิจที่สมัยก่อนตอนตั้งไม่ได้เห็นบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอีก 50 ปี ตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินของรัฐ ตั้งมา 50-60 ปีแล้ว คงไม่มีใครตอนนั้นคิดว่าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญเลย แต่ไม่ปรากฏในบัญชีการคลังที่ชัดเจน เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับอะไรต่างๆ ไว้มาก แล้วอะไรอยู่ข้างในบ้าง ถ้าวันหนึ่งบีบน้ำออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้บริบทมันต่างจาก 50-60 ปีที่แล้ว

ตัวเลขถ้าดูจริงๆ จากปี 2547-2559 สินทรัพย์ก็โตจาก 4.7 ล้านล้านบาท เป็น 14.4 ล้านล้านบาท  รายได้รวมจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็น 4 ล้านล้านบาท เป็น 2 เท่าของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล คือมีนัยมากในเชิงของขนาด มีแนวโน้มเติบโต

ประเด็นสำคัญคือพอเราพยายามจะวัดอะไรที่คล้ายๆ ความมีประสิทธิภาพ ก็มีการวัดแบบหยาบๆ อย่างเวลาผ่านไปหลายกิจการสำหรับประเทศไทย สมัยก่อนเอกชนทำไม่ได้ตอนนี้ทำได้มาเทียบกัน หรือบางอย่างอาจจะเทียบเคียงประเทศเพื่อนบ้านของเรา หรือวัดในเชิงของผลประกอบการ แต่ส่วนใหญ่จะชี้ออกมาเหมือนกันว่ารัฐวิสาหกิจไทยประสิทธิภาพจะหย่อน และมีข้อสังเกตว่ารัฐวิสาหกิจที่มีกำไรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะมีอำนาจผูกขาดทางธุรกิจ สำหรับอันที่มีการแข่งขันกับรายอื่นๆ ผลประกอบการจะไม่ดีหรือขาดทุน

สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่อยากจะยกขึ้นมาคือว่า ณ ขณะนี้สำหรับประเทศไทย สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญๆ ที่จะนำพาประเทศไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ คลื่นความถี่ สนามบิน ท่าเรือ อยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจคุม แปลว่าถ้าองค์กรที่ดูแลสินทรัพย์เหล่านี้หย่อนในเรื่องประสิทธิภาพมันย่อมสะท้อนอย่างมีนัยสำคัญแน่นอนในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยไปข้างหน้า

คำถามต่อมาที่เราวิเคราะห์ว่ามีปัญหาอะไร แน่นอนว่าหลากหลาย บางแห่งอาจจะไม่ค่อยชินกับการแข่งขัน สมัยที่ก่อตั้งไม่ได้คิดว่าจะต้องมีบริบทของการแข่งขัน บางแห่งตั้งขึ้นมาอาจจะไม่ได้คิดว่าจะเป็นเครื่องมือด้านนโยบายการคลังไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ดังนั้นในบรรดาองค์กรของรัฐวิสาหกิจมีความซับซ้อนในตัวของมันเอง แต่ว่าปัญหาที่เราวิเคราะห์เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญมากคือบรรดาข้อต่อต่างๆ ของคนที่เกี่ยวข้อง ระบบธรรมาภิบาลของคนที่เกี่ยวข้อง ที่ระบุความสัมพันธ์ขององค์ประกอบแบบนี้มันมีจุดอ่อนอยู่

ระบบรัฐวิสาหกิจไทยจะเริ่มตั้งแต่รัฐบาลที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายการเมือง พอลงมาเป็นกระทรวงเจ้าสังกัดและกระทรวงคลังที่ทำหน้าที่เป็นประธานบริหารด้านการเงิน (CFO) ของประเทศ ลงไปอีกจะเป็นรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ซึ่งมีหลากหลายบางคนหนักไปทางวัตถุประสงค์เชิงสังคม บางคนหนักไปทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผู้กำกับดูแลกำกับร่วมกับเอกชนอื่นๆ และลงไปล่างสุดคือประชาชนผู้ใช้บริการ

หลายข้อต่อมีปัญหา เช่น ข้อต่อแรก รัฐบาลกับกระทรวงเจ้าสังกัด หนีไม่พ้นเรื่องอำนาจการแทรกแซงของการเมืองค่อนข้างมากในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตั้งคนเข้าไปเป็นกรรมการ การเสนอโครงการ การตัดสินใจทำโครงการ เป็นข้อต่อธรรมาภิบาลระหว่างฝ่ายการเมืองลงมาทางองค์กรรัฐวิสาหกิจ

ส่วนทางกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่ประธานบริหารด้านการเงิน มันมีลักษณะที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป คือไม่มีอำนาจสูงเท่าเพราะมีผู้เกี่ยวข้องเยอะมาก หลายครั้งทำหน้าที่ได้แค่แนะนำ ตักเตือน ชี้แนะ ขอข้อมูล อันที่จริงแต่ละปีบางแห่งก็ไม่มีผลประกอบการเพียงพอเลี้ยงดูพนักงานทั้งที่เกษียณหรือทำงานอยู่ ต้องหันมาให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้บ้าง แต่กระทั่งกระทรวงการคลังขอส่งรายงานผลประกอบการก็ไม่ส่ง กระทรวงการคลังก็ไปทำอะไรไม่ได้ ข้อต่อธรรมาภิบาลกับกระทรวงการคลังก็มีปัญหา

มาที่ตัวรัฐวิสาหกิจก็มีวัตถุประสงค์หลากหลายบางแห่งผสมผสานกัน ร่างกฎหมายที่ร่างขึ้นมาตอนนี้ก็พยายามแยกแยะเรื่องพวกนี้ว่าถ้ามีวัตถุประสงค์เชิงสังคม พยายามพูดกันให้ชัดเจน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ลงบัญชีได้หรือไม่ มีข้อสังเกตขึ้นมาบ่อยๆ ว่ารัฐวิสาหกิจต้องให้บริการกับประชาชน ไม่ได้ทำธุรกิจ บางครั้งทำไปตามนโยบายรัฐหรือ Public Policy ถูกต้องว่านโยบายไปแปรรูปเป็นเอกชนไม่ได้ ต้องภาครัฐทำเท่านั้น แต่การดำเนินการหรือ Operate นโยบายเหล่านี้ มาถึงยามนี้แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นงานของรัฐแล้ว เอกชนดำเนินการก็ได้แล้วมาคิดบัญชีกับรัฐ อย่างเร็วๆ นี้ที่กรมบัญชีกลางทำเรื่องรักษาพยาบาลของข้าราชการ แต่เดิมจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ สร้างข้อจำกัดมาก คิวยาว ไกลบ้าน ที่ทำงาน ตอนนี้ให้ไปเอกชนได้ ใกล้บ้าน ที่ทำงาน แล้วมาคิดบัญชีกับกรมบัญชีกลาง เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ เพราะว่าสะดวกมากขึ้น แล้วความสัมพันธ์ก็มาขึ้นบัญชีกันแทน

เจตนารมย์กฏหมาย เปรียบกับการจัดกระดูกให้เข้าที่

ดังนั้น Public Policy ต้องเป็น Public Policy  แต่การดำเนินการไม่จำเป็น แต่ตอนนี้ที่โต้แย้งอาจจะยังปนกันอยู่ แล้วพอโต้แย้งว่ารัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการเพื่อประชาชน บางทีมันซ่อนอยู่ว่าแท้จริงราคาหรือต้นทุนควรเป็นเท่าไหร่ ความขัดแย้งในบทบาทพวกนี้ก็เห็นใจพนักงานและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ บางครั้งถ้าแยกไม่ชัดเจนจะสร้างความสับสนขึ้นได้ในการวางแผนธุรกิจ ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องการแข่งขัน บางอันแข่ง บางอันไม่แข่ง พอไม่แข่งก็ไม่รู้จะวัดอย่างไร ขาดแรงผลักดันด้านประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปอย่างย่อว่ามีหัวใจอันหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบรัฐวิสาหกิจคือเรื่องระบบธรรมภิบาลภายใน ด้วยการสรุปแบบง่ายๆ ตามแผนภาพ แล้วความพยายามของหลายคนที่พยายาม รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ เจตนารมณ์คือจะปรับปรุงปัญหานี้ ในอดีตเคยเทียบเคียงไว้คือพยายามหาทางไปจัดระเบียบให้ระบบธรรมภิบาลเป็นปกติ และเราสามารถเรียนรู้จากพัฒนาการที่เกิดขึ้นในไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจเอกชนที่ในอดีตเคยประสบปัญหาคล้ายกัน แต่ได้แก้ไขกันไป

อุปมาอุปไมยเหมือนการจัดกระดูกให้เข้าที่ เหมือนกับหมอกระดูกที่บอกว่าร่างกายมนุษย์ กระดูกแต่ละชิ้นแต่ละรูปร่างแตกต่างกัน จริงๆ ธรรมชาติได้สร้างมาให้รับน้ำหนัก ทนทาน แรงกระแทกต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ถ้ารูปทรงไม่เป็นแบบนี้ กว่าเราจะรับน้ำหนักได้เหมือนทุกวันนี้ ร่างกายแต่ละคนต้องหนักกว่า 1 ตัน แต่ที่เรารับน้ำหนักได้โดยมีน้ำหนักแค่ 50 กิโลกรัมบ้าง 70 กิโลกรัมบ้าง เพราะกระดูกมันถูกสร้างมาให้เข้าที่พอดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจัดเสร็จแล้วจะไปแข่งขันได้เหรียญทองโอลิมปิก ไม่ได้เขาจะเป็นแชมป์แบดมินตัน ไม่ได้ว่าจะเป็นนักฟุตบอลที่เก่ง อันนั้นเป็นอีกประเด็น แต่ถ้าตั้งต้นร่างกายกระดูกไม่เข้าที่ไม่แข็งแรง จะไปแข่งกีฬาอะไร กระแทกนิดเดียวก็จบ

ความคิดอันนี้คือตั้งใจจะเข้าไปจัดกระดูกให้เข้าที่ พอเข้าที่แล้วต่อไปก็ไม่ใช่ว่าง่าย อย่างการบินไทยที่ว่าง่าย ถึงแม้ข้างในจะมีปัญหาภายในเรื่องธรรมาภิบาลต่างๆ แต่ยังต้องไปแข่งกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ กับเอมิเรตส์กับคาร์ตัน มันเหมือนน้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์) น้องปอป้อ (ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย) ไปแข่งแบดมินตันกับจีนกับอินโดนีเซียอีก แต่ถ้าปอป้อข้อเท้าเคล็ดตั้งแต่แรก ไม่ดีตั้งแต่แรก อย่าเลยจะไปคิดแข่งกับอินโดนีเซียกับจีน คือทำได้ก็ต้องเริ่มจัดกระดูกข้อเท้าของปอป้อให้ดีเรียบร้อยก่อน แล้วน้องปอป้อต้องฟิตร่างกายให้เก่งไปเอาแชมป์ได้ อันนี้เป็น P-Purpose

แยกบทบาท-เน้นโปร่งใส

ทีนี้ถ้าแนววัตถุประสงค์เป็นแบบนี้ หลักการมีอะไรบ้าง ในระบบธรรมาภิบาลที่เราเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของระบบรัฐวิสาหกิจมันมีหน้าที่ที่ปะปนกันอยู่ ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เป็นเจ้าของ ผู้ดำเนินงาน เราพยายามจะแยกแยะออกมาเป็นหลักการแรก ต้องให้ชัดเจนก่อนว่าจะทะเลาะหรือไม่ทะเลาะกัน ต้องตกลงหลักการก่อนว่าจะทะเลาะอะไร หลักการนี้จะเอาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าตีกันจนกระทั่งทะเลาะกันเสร็จหันกลับมาถามว่าเราตีกันเรื่องอะไร ที่ต้องรู้หลักการแรกคืออยากจะแยกบทบาทพวกนี้เท่าที่จะทำได้

เรื่องที่ 2 ที่เราเรียนรู้จากธุรกิจเอกชนคือธุรกิจที่มีการแข่งขันจากการแสดงความเป็นเจ้าของ บางที่มันหายไปจากระบบรัฐวิสาหกิจ บางที่เพื่อนสหภาพรัฐวิสาหกิจจะบอกว่าเขาเป็นเจ้าของ แต่ก็มีตัวอย่างเยอะที่ท้ายที่สุดมันจะไม่มีองค์กรที่เด่นออกมาว่าเรื่องนี้อย่าทำนะ มันกระทบฐานะการเงินของเรา คือถ้าเป็นธุรกิจเอกชนไม่ได้เลย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเล็ก เดี๋ยวนี้เข้มมาก ประชุมกันดูตลอดระหว่างทาง จะตัดสินใจซื้อกิจการอะไรไม่ถูกต้อง เขาต้องแสดงเรื่องความเป็นเจ้าของออกมาเลย

เรื่องที่ 3 คือมีระบบกำกับกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาล มันมาตั้งแต่เรื่องของการมีแผนงาน เลือกคนที่ดีเหมาะสมเข้ามาบริหาร มีระบบรายงานประเมินผล เป็นตัวอย่างที่ของระบบธรรมาภิบาลที่ดี และเรื่องที่ 4 ถ้าใช้ประโยช์ให้เป็นจะดีมาก คือเรื่องกลไกตลาด อันไหนที่พอใช้ได้ อันไหนที่ดูผิวๆ เผินๆ อาจจะใช้ไม่ได้ ลองคิดดูใหม่ ถ้าลองไปปรับนิดปรับหน่อย เอากลไกตลาดเข้ามาได้ บางคนบอกว่าเรื่องรถเมล์ต้องช่วยประชาชนนะ ไปลดราคาบ้าง ยอมขาดทุน ไม่ได้ว่าอะไร แต่แทนที่จะติดลบ 10 ถ้าลองเอากลไกตลาดเข้ามาอาจจะได้บริการที่ดีขึ้นหรือไม่ด้อยกว่าที่เคยให้ อาจจะติดลบแค่ 2 ก็ได้ คำถามอยู่ที่จะใครจะรู้ว่าเป็นลบ 10 หรือลบ 2 ถ้าไม่มีกลไกตลาดเข้ามาดูแล

อันนี้เป็นหลักการทั้งหมดที่จะทำ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้รู้กันว่าทะเลาะกันในหลักการตรงนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าทำตามแนวคิดนี้ โดยสรุปรัฐจะมีบทบาท 3 หน้าที่ กำหนดนโยบาย, ผู้กำกับรายสาขา และเป็นเจ้าของ และต้องแยก 3 บทบาทไม่ให้ทับซ้อนกัน โดย

    1) รัฐบาลกับกระทรวงเจ้าสังกัดมีหน้าที่ให้นโยบายดำเนินการ และในทางกฎหมายต้องให้ค่าชดเชยไปกับนโยบายที่เรียกว่า
    PSA/PSO สำหรับนโยบายที่อาจจะทำให้รัฐวิสาหกิจขาดทุนขาดทุนไม่ว่า แต่ให้มาคิดบัญชีกันได้

    2) ส่วนบรรษัทที่พยายามจะสร้างขึ้นมาจะรับหน้าที่เจ้าของในบริบทใหม่นี้ จากการเรียนรู้จากประสบการณ์ของภาคธุรกิจเอกชนและจากประสบการณ์ของต่างประเทศ เรื่องที่เราคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก เป็นเรื่องที่ชาวโลกทำกันมานาน สิงคโปร์ทำมา 30-40 ปีแล้ว มาเลเซียทำมาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กลับมาองค์กรเจ้าของจะมีหน้าที่ดูแลฐานะการเงิน ความยั่งยืน ความสำเร็จขององค์กร ดูการบริหารทรัพย์สินให้เพิ่มมูลค่า สร้างประโยชน์สูงสุด การประเมินผล ดูแลเรื่องการตั้งกรรมการบริหาร คล้ายกับผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชน อย่าไปเข้าใจผิดว่าผู้ถือหุ้นทำงานแค่วันเดียวใน 1 ปีคือประชุมสามัญผู้ถือหุ้น อันนั้นจะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่มีเวลาติดตาม แต่ผู้ถือหุ้นที่ดีที่ใหญ่หน่อยที่ active เขาทำงานตลอด รับรายงาน ส่งความเห็นอะไรต่างๆ แต่หน้าที่สำคัญคือดูแลฐานะ ตั้งกรรมการบริหาร การบริหารทรัพย์สิน ประเมินผลทำงาน ถ้ามีข้อสงสัยว่าปัจจุบันเราก็มีเจ้าของแล้ว ให้ตอบคำถามว่าทำ 4 เรื่องนี้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำก็ยังไม่ได้เป็นไปตามนี้

    3) สุดท้ายคือผู้กำกับดูแลรายสาขา เพราะบางรัฐวิสาหกิจอาจจะไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์นัก เช่น พลังงาน ต้องมีคนมาดูแลราคาและคุณภาพ หรือสถาบันการเงินของรัฐเป็นธุรกิจที่พิเศษคือมีทุน 1 บาท สามารถระดมทุนได้เป็น 10 บาท ไปเอาเงินประชาชนมาได้โดยตัวเองมีแค่ 1 บาท

ต่อมาที่หน้าที่ของรัฐวิสาหกิจก็ทำภารกิจหลักที่ต้องทำ ทำอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และความสำเร็จอย่างยั่งยืน ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่รั่วไหล บริหารทรัพย์สินของชาติให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด อันนี้เป็นการสรุปก่อนที่จะไปตัว O ว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร เปรียบเสมือนกระดูกแต่ละชิ้นในระบบรัฐวิสาหกิจ ถ้าเราจัดให้เข้าที่ตามนี้ เราจะแยกบทบาทชัดเจน

ยกตัวอย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตอนที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ 2500 ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของพวกเราทุกคน ตั้งขึ้นมาด้วยเจตนาที่ดีมาก และตอนนั้นภาคเกษตรสำคัญมากและต้องได้รับความช่วยเหลือสินเชื่อ ถูกต้องเลย แต่รับประกันได้เลยตอนที่ตั้งขึ้นมาไม่ได้คิดเลยว่าการณ์ข้างหน้า 50 ปีให้หลังจะเป็นสถาบันเป็นเครื่องมือทางการคลังไปโดยปริยาย ตัวอย่างคลาสสิกมากเลยคือการจำนำข้าว ตอนที่ตั้งขึ้นมากำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ธ.ก.ส. มีผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการอยู่ด้วย ตอนนั้นมันไม่ได้ซับซ้อนอะไร รัฐมนตรีอยู่ตรงนั้นสามารถดำเนินนโยบายของรัฐได้ตามเจตนารมณ์

แต่พอมาเป็นโครงการรับจำนำข้าว รัฐมนตรีฯ ณ เวลานั้นต้องได้รับความเห็นใจสุดๆ เพราะต้องสวมหมวกหลายใบ หมวกแรก เป็นรัฐมนตรีฯ จากพรรคการเมือง ต้องรับนโยบายตามที่แถลงต่อรัฐสภา กลายเป็นคนกำหนดนโยบาย แต่ ธ.ก.ส. ก็อยู่ในการกำกับของกระทรวงการคลัง หมวกที่ 2 ภายใต้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล คล้ายๆ กับ ธปท. ดูแลธนาคารพาณิชย์ ถ้าดูใน กทม. จะเห็นสาขาเยอะมาก ถามว่าทำไมมาเปิดสาขา เกษตรอะไรมาอยู่ใน กทม. เขาต้องมาระดมเงินฝากเยอะนะ ผู้กำกับอย่าง สศค. ต้องระวังว่าทุน 1 บาทระดมไป 10 บาท ภาษาทางการเงินเรียกว่า Leverage สูงมาก ผู้กำกับก็จะมีหลักเกณฑ์ต่างๆ เรื่องเงินกองทุนสินทรัพย์เสี่ยง สภาพคล่อง ฯลฯ   หมวกที่ 3 ด้วยความที่ต้องดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเจ้าของของรัฐวิสาหกิจด้วย แล้วหมวกที่ 4 ตอนนั่งเป็นประธานกรรมการ ธ.ก.ส. ก็เป็นผู้ดำเนินการด้วย

กลับมาจำนำข้าว คนไปพบจุดอ่อนที่ว่าปกติความจริงการค้ำประกันหรือเงินกู้สาธารณะจะต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจมีความเร่งด่วนจำเป็น ต้องกู้เงินลงทุน รัฐอาจจะค้ำประกันให้ได้ เพราะความหมายจริงๆ ดูลงไปลึกๆ มันเหมือนกับเป็นโครงการที่ลงไปแล้วได้ผลตอบแทนมา สักวันหนึ่งก็จะต้องคืนได้ แต่มิได้คำนึงไปถึงว่าเงินที่กระทรวงการคลังไปค้ำเป็นการค้ำความเสียหายด้วย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย กลายเป็นจุดอ่อนที่ไม่มีใครเห็นเท่าไหร่ อย่างไรก็แล้วแต่ กระทรวงการคลังตกลงกัน 500,000 ล้านบาท หมายว่าได้ข้าวมาไม่นานก็ขายไปได้เงินมาหมุนเวียน แต่ความที่จำนำทุกเมล็ด ราคาข้าวยังไม่สูงขึ้นพอ ก็ต้องเก็บ เก็บ เก็บ เก็บ เก็บ ทุกเมล็ดทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาด้วยนะ เกิน 500,000 ล้านบาท ก็ต้องใช้แสนที่ 6 เอาจากไหน? กลายเป็นเนื้อๆ ของ ธ.ก.ส. ที่ค้ำประกันไว้

คำถามคือ คนที่นั่งเป็นประธาน ธ.ก.ส. คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้ดำเนินการ และเจ้าของ จะตัดสินใจโจทย์นี้อย่างไร ถ้าผู้กำหนดนโยบายก็ต้องทำตามนโยบาย ถ้าเป็นผู้กำกับก็ต้องไม่ยอมเพราะว่าฐานะการเงินอาจจะกระทบ ถ้าเป็นเจ้าของแล้วไปทำเสียหาย 100,000 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นจะยอมหรือไม่ แล้วตัวเองเป็นคนดำเนินการด้วยต้องเคาะว่าจะทำหรือไม่ทำ เราจะเห็นว่าระบบธรรมาภิบาลมันค่อนข้างเละ มันเละ

“เราพยายามแก้พวกนี้ออกมา ทำได้มากน้อยแค่ไหนอีกเรื่อง ทำแล้วคนบอกว่ารับประกันว่าจะรุ่งเรืองหรือไม่ ยัง คอยดูว่าข้อเท้าของน้องปอป้อหายแล้วจะกลับมาเป็นแชมป์ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดถ้าน้องปอป้อไม่รักษาข้อเท้า จะไปแข่งกับใคร จะไปหวังเหรียญเงิน ทองแดง ทอง อย่างไร ความพยายามอันนี้คือจัดกระดูกข้อเท้าให้ดี แล้วต้องไปฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันกันต่อไป”

รูปแบบการจัดแจงด้วยองค์กรใหม่

ทีนี้ตัวบรรษัทที่จะเป็นเจ้าของไม่ใช่ว่าเราคิดเอง ชาวโลกก็มาในแนวประมาณนี้ การที่พยายามสร้างองค์กรอันหนึ่งโดยไม่ไปกระทบกระทั่งบริบทที่เป็นข้อจำกัด เช่น ห้ามแปรรูป หรืออะไรต่างๆ แต่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าของ ปกปักรักษาและเพิ่มมูลค่า OECD ยังยืนยันแนวคิดนี้ว่าในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตัวที่เป็นหัวใจคือการมี Clear Ownnership Arrangement คือการจัดแจงให้มีผู้เล่นบทบาทเจ้าของให้ชัดเจน และคิดต่อไปว่าจะรวมศูนย์หรือกระจายออกไปดีก็พบว่าแบบที่รวมศูนย์อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะว่าจะช่วยลดความซ้ำซ้อน ลดการถูกแทรกแซง มีเอกภาพ มีอำนาจเพียงพอ

ของเราจึงออกมาเป็นโครงสร้างแบบนี้ในสมัยที่คุยกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คุยกันว่าให้ลองๆ ก่อน เพราะการตั้งองค์กรใหม่ยังไม่มีใครรับรองว่าจะเก่งกาจหรือไม่ คุณสมบัติที่ดีเป็นอย่างไร ก็เอาเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ส่วนเจ้าของอยู่ในรูปทุนเรือนหุ้นก่อน พอพิสูจน์ตัวเองแล้วค่อยมาว่ากันใหม่อีกครั้ง เรามี 13 แห่ง แต่พบว่าวิทยุการบินไม่ได้มีลักษณะแข่งขันก็เหลือ 12 แห่ง ในนี้ยังมีธนาคารกรุงไทยที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสมัยวิกฤติถือหุ้น จึงเหลือ 11 แห่ง พวกที่เหลือ สคร. จะดู ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เชิงสังคมเยอะหน่อย ส่วนทางด้านที่บรรษัทดูจะออกไปเชิงธุรกิจ เป็นที่มาของตัว O

ถามว่าชาวโลกทำหรือไม่ ก็มีตัวอย่างว่าทำมาดังนี้ อาจจะตั้งเป็นกระทรวงขึ้นมาก็ได้ มีอินโดนีเซีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ โปแลนด์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร ชิลี จีน ภูฏาน  ฮังการี มาเลเซีย โมซัมบิก เปรู เวียดนาม สิงคโปร์ แล้วพูดถึงมาเลเซียอย่าไปพูดถึง 1MDB อันนั้นเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา บางที่คนเอามาพัวพันและเข้าใจผิดที่พูดถึงคือคาซาน่าที่ทำเหมือนกัน ส่วนสิงคโปร์ที่ทำคือเทมาเสก ทำมา 30-40 ปีแล้ว หลายคนไปมองว่าต้องออกไปลงทุนทั่วโลก มาซื้อหุ้นอะไรเมืองไทย แต่เขามีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่เราเรียนรู้จากเขาได้ ซึ่งมีคนเก่งมากทำงานเพื่อให้คำแนะนำรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีการจัดฝึกอบรม เชิญต่างประเทศมาร่วมด้วย หลักของเขาคือข้าไปส่งเสริมธรรมาภิบาลแล้วปล่อยผู้บริหารใช้ความสามารถทางธุรกิจในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ในหน้าที่ผู้ถือหุ้นเขาเล่นเรื่องธรรมาภิบาล เหมือนกับน้องปอป้อ หน้าที่ของเทมาเสกคือรักษาข้อเท้าให้หายแผลง แต่กรรมการบริหารต้องไปแข่งต้องไปฝีกฝน แยกหน้าที่กัน

โดยสรุปถ้าทำแนวนี้ตั้งแต่ Purpose Principles สิ่งที่เรามาเสวนาวันนี้คือ Participation ถกกันไป เห็นด้วยไม่เห็นด้วยว่ากันไป แต่มองไปวันข้างหน้านี้ไม่พ้นที่ต้องทำเรื่องพวกนี้ ขอพูดถึงในฐานะที่เป็นประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ “เราพยายามทำเต็มที่โจทย์มีเยอะมาก แต่สรุปในเชิงยุทธศาสตร์ 3 ด้านที่ต้องทำ ด้านแรกคือเพิ่มการแข่งขันสั้นกลางยาว ด้านที่ 2 คือกระจายรายได้ ประชาชน กิจการขนาดเล็ก ด้านที่ 3 หนีไม่พ้นและในใจลึกๆ คิดว่าสำคัญมากคือ ตอนแรกมีคนชวนไปทำเรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมบอกบ้าหรือจะเดาได้อย่างไรว่าอนาคต 20 จะเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดถ้าดูดีๆ ประเทศต้องการเป้าหมายและทิศทาง แต่ไม่ใช่ทิศทางที่วางแข็งทื่อ มันสำคัญมากที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ตั้งแต่ 5 ปี 10 ปี 20 ปี ก็คือต้องมีสถาบันทางเศรษฐกิจให้เป็นสถาบันที่มีชีวิต มีความเข้มแข็ง มีพัฒนาการในตัวของมันเอง”

เราเลยบอกว่าเสาที่ 3 ต้องทำอีก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเกี่ยวกับนโยบาย สภาพัฒน์ สำนักงานสถิติ สภาวิจัย หมายจะให้เป็นสมองของชาติ คำถามถามคนรุ่นปัจจุบันว่าตอนนี้สิ่งเหล่านี้ยังทำหน้าที่เหล่านั้นได้หรือไม่ สำนักงานสถิติถูกโยนไปโยนมา ตอนนี้มาอยู่กระทรวงดิจิทัล ซึ่งกำลังมุ่งไป 4.0 สำนักงานสถิติก็เลยเคว้ง อาจจะต้องมาทบทวนใหม่หรือไม่ สถาบันที่ชี้เป้าชี้ทิศทาง

กลุ่มที่ 2 คือเรื่องทรัพยากร เรื่องการคลัง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง รวมทั้งหน่วยที่บริหารจัดการสินทรัพย์ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจถืออยู่ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นตอนนี้กฎหมายจะผ่านไม่ผ่าน มองไปข้างหน้าอีก 20 ปีมันหนีไม่พ้น วันหนึ่งต้องกลับมาหาคนที่บริการสินทรัพย์ภาครัฐให้แข็งแรงกว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้นประเทศไม่เดินไปไหน มันหนีไม่พ้น ต้องทำ ทำรูปแบบใดแบบหนึ่งให้มีหน่วยงานมาดูแลอย่างจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ มันเปลี่ยนไปจาก 50 ปีที่แล้วมาก แล้วถ้าทำไม่ดีนอกจากไม่ช่วยแล้วยังเป็นอุปสรรคขัดขวางของประเทศ

และกลุ่มที่ 3 คือหน่วยงานประเมินผล ซึ่งประเทศไทยยังอ่อนมาก ใช้เงินไปแล้วไม่เคยได้ยินเลยว่าได้ผลอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงโครงการใหญ่ๆ ไม่มีการรายงานให้ประชาชนทราบว่าช่วง 3-5 ปีใช้เงินไปประมาณนี้ ยังผลแบบนี้ๆ

นายรพี สุจริตกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

“รพี” แจง 6 ประเด็นข้อกฎหมาย

นายรพีกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของตัวกฎหมาย(ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ….) อยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาดู ซึ่งตัวกฎหมายอยากจะขอเล่าภาพรวมว่ามีโครงสร้างใหญ่อะไรบ้าง เรื่องแรกคือกฎหมายฉบับนี้ไม่สามรถไปขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่มีในปัจจุบัน หรือไม่สามารถไปครอบงำหรือทับกฎหมายฉบับอื่นได้ ที่เราพูดแบบนี้ให้ชัดเจนว่ามันมีการพูดกันว่ากฎหมายนี้จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ จริงๆ ไม่ใช่

“แปรรูปรัฐวิสาหกิจจะเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ อันแรกองค์กรของรัฐที่ยังไม่มีรูปแบบบริษัทเลยต้องมีกระบวนการแปลงองค์กรให้อยู่ในรูปแบบบริษัทก่อน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายร่วมทุนรัฐวิสาหกิจ มีกระบวนการว่าจะทำอย่างไร ใครมีอำนาจดำเนินการ ต้องไปขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องออกเป็นกฎหมายอย่างไร อันที่ 2 คือบอกว่ารัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทแล้ว ถามว่าถ้าภาครัฐจะเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจและให้เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ปัจจุบันมีระเบียบว่าต้องของมติ ครม. ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถไปยุ่งอะไรได้เลย ไม่ได้ไปล้มล้างระเบียบตรงนั้นเลย กลับกันกฎหมายฉบับนี้ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตามกฎหมายต้องให้ความเห็นไปยัง ครม. ใช้ร่วมตัดสินใจด้วย ทำให้มันยากขึ้นอีกระดับด้วยว่าต้องมี คนร. แนะนำไปด้วย ฉะนั้น การนำไปสู่การแปรรูปทั้งทางตรงทางอ้อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 2 กฎหมายฉบับนี้กำหนดองค์ประกอบและหน้าที่ของ คนร. ชัดเจน ปัจจุบัน คนร. ตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ถามว่ามีคนเข้าใจมากน้อยแค่ไหนว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง ต้องดูระเบียบ พูดเลยไปถึงว่าเรียกกันว่าซูเปอร์บอร์ด หรือกลายเป็นบอร์ดของซูเปอร์แมน มันไม่มีในโลกนี้ซูเปอร์แมน มันมีแต่บอร์ดทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ การกำหนดหน้าที่ชัดเจนถามว่าได้อะไรหรือมีผลอย่างไร มันจะเป็นกรอบบังคับว่าถ้า คนร. ไม่ปฏิบัติหน้าที่จะมีความผิดด้านกฎหมาย คนสามารถชี้ได้เลยว่าหน้าที่เขียนไว้แล้ว ถ้าทำผิดหรือไม่ทำ กลายเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่ข้าราชการกลัวมาก เพราะว่าไม่มีอายุความ ถูกดำเนินการได้ตลอดเวลา และมีโทษจำคุกด้วย

ประเด็นที่ 3 กฎหมายฉบับนี้ทางคณะผู้ร่างขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มาจากทางด้านตลาดทุนเยอะ ก็มีความเชื่อว่าสิ่งที่ต้องทำมากที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูล ยิ่งเอาข้อมูลเรื่องผลการดำเนินงานออกไปสู่ประชาชนมากเท่าไหร่ ประชาชนจะสามารถมาชี้และบอกว่านี่คือสิ่งที่ทำผิดหรือไม่ผิด ถ้ากลับข้างกันไม่มีเปิดเผยข้อมูลกลายเป็นไม่มีใครรู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร ต้องทำอะไร ตัวกฎหมายจะเน้นมากเรื่องเปิดเผยข้อมูล

เรื่องแผนยุทธศาสตร์ ต้องทำทุก 5 ปี ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลจะให้รัฐวิสาหกิจแต่ละอันไปทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มั่วๆ กันไป ทำนั้นทีทำนี้ที แต่ไม่เคยรู้เลยว่ารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องทำอะไร ประชาชนสามารถเห็นได้ ยกขึ้นมาได้ว่ากรรมการรัฐวิสาหกิจได้ทำตามหรือไม่ ถ้าไม่ทำก็ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รัฐบาลต้องระบุว่าต้องการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาสนับสนุนการทำงานของประเทศ ไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ของประเทศ เป็นจุดสำคัญ

แล้วการเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่แค่แผนงานหรือภารกิจ แต่ไปทุกเรื่องตั้งแต่การตั้งกรรมการคัดเลือกอย่างไร พวกนี้เขียนในตัวกฎหมาย ถ้าไปทำแล้วไม่เปิดเผยก็มีความผิดแล้ว ไปเปิดเผยแล้วไม่ทำตามก็ผิดอีก สุดท้ายรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งไม่ว่าจะอยู่ใต้ สคร. คือมีกฎหมายจัดตั้ง หรือเป็นบริษัทแล้วต้องเปิดเผยการดำเนินงานของตัวเอง เขียนในกฎหมายเลยว่ารัฐวิสาหกิจทั้งหมดจะต้องเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานเดียวกับบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ประเด็นที่ 4 บอกว่าห้ามทำอะไรที่ไม่ได้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ถ้าจะทำอะไรนอกเหนือ ทำไม่ได้ กฎหมายห้ามเลย และบอกว่าถ้าเกิดมีการแก้ไขแผน แต่ถ้าแผนนั้นไปก่อภาระทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจจะต้องมีกระบวนการให้รัฐวิสาหกิจประเมินค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายออกมา เปิดเผยให้ประชาชนรู้ แล้วรัฐบาลต้องชี้แจงว่าความเสียหายนี้จะทำอย่างไร ชดเชยอย่างไร ต้องเข้ากระบวนการงบประมาณ พิจารณากันในรัฐสภา มีการอภิปรายกัน

ประเด็นที่ 5 การกำหนดบทบาทของ สคร. ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกระทรวงเจ้าสังกัด ถ้าเราไปดูกฎหมายที่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจ อำนาจยังอยู่ที่กระทรวง ถ้าจะแก้กฎหมายมารวมศูนย์ทั้งหมด เข้าใจว่าต้องการกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจพร้อมกัน 30-40 ฉบับ เป็นอะไรที่ยากมากต่อให้มีเวลามากกว่านี้ ฉะนั้น บทบาท สคร. ในตอนนี้คือแนะนำเจ้ากระทรวงและต้องผ่าน คนร. และ คนร. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะสามารถสั่งลงไปได้ว่าต้องทำเรื่องพวกนั้นพวกนี้ เรื่องประเมินผล เรื่องเปิดเผยข้อมูล เรื่องงบประมาณการทำบัญชีและต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรู้

ประเด็นสุดท้ายคือบรรษัท ถามว่าทำไมต้องแยกออกมา มีประเด็นอยู่ 2-3 ประเด็น 1) บรรษัทต้องออกมาทำหน้าที่ผู้ถือหุ้น เวลาเราพูดถึงผู้ถือหุ้นความจริงคำที่เราเคยใช้คือ Active Shareholder แต่ว่าปัจจุบันมันกว้างข้ามไปอีกระดับแล้ว สิ่งที่พูดกันชัดคือคำว่า Stewardship หมายความว่าคนที่เข้ามาดูแลทรัพย์สินตรงนี้ ถามว่าต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง ความจริงต้นปีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกเรื่อง Investor Code มา เป็นกฎหรือข้อบังคับว่านักลงทุนสถาบันต้องทำตาม คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบริหารทั้งหมด 5 ล้านล้านบาท ตัวกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เองที่ไม่ได้อยู่ใต้การกำกับของ ก.ล.ต. แต่เห็นว่าเป็นอะไรที่เขายึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอดก็มาลงนามรับไปปฏิบัติตาม บริษัทประกันทั้งหลาย

ข้อบังคับนี้บอกว่าถ้านักลงทุนสถาบันเอาเงินของประชาชนไปลงทุนในบริษัท คุณมีหน้าที่หลายประการมาก อันดับแรกต้องคอยติดตามวิเคราะห์บริษัทเหล่านั้นว่ายั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่กำไรขาดทุนแต่ละงวด แต่ดูว่ามีการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ ต้องมีหน่วยงานวิเคราะห์เฉพาะ ใครคุ้นเคยกับการบริหารกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่คอยวิเคราะห์งบการเงิน อันนั้นเป็นฝั่ง Fund Manager แต่ข้อบังคับนี้ต้องมีหน่วยงานมาวิเคราะห์ธรรมาภิบาลด้วย ดูว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหารมีคุณสมบัติหรือไม่ ตรงกับธุรกิจหรือไม่ เปิดเผยข้อมูลถูกต้องหรือไม่ มีการบริหารจัดการตามที่เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ นี่แค่การวิเคราะห์ ต่อมาติดตามไม่ใช่แค่ไปประชุมผู้ถือหุ้นปีละครั้ง แต่ต้องมีกระบวนการไปติดตามบริษัท ไปบอกว่าสิ่งที่กำลังจะทำหรือกำลังเสนอมันไม่เป็นไปตามที่คุณเปิดเผยข้อมูล แล้วถ้ายังไม่ฟัง นักลงทุนสถาบันต้องลุกขึ้นมาสร้างพันธมิตรไปบอกว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย แต่นักลงทุนสถาบันทั้งหมด และไม้ตายสุดท้ายคือบอกว่านักลงทุนสถาบันต้องไปใช้สิทธิผู้ถือหุ้น หลายครั้งเขาต้องประกาศด้วยว่านโยบายการออกเสียงคืออะไรในแต่ละวาระ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ตั้งกรรมการ ค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยประชุม งบลงทุนมีการศึกษาหรือไม่ และอื่นๆ  สุดท้ายก็กลับมาเป็นหน้าที่ของบรรษัทที่กำลังจะตั้ง

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

“บรรยง” แจง 4 คำถามที่กังวลของผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายบรรยงกล่าวว่า จริงๆ ได้พูดหลักการทั้งหมดไปแล้ว แต่จะแยกออกมา 4 คำถามที่เป็นที่กังวล แต่ขอกลับไปเสริมความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจ เราพอจะรู้ว่าประเทศไทยมีปัญหาในด้านพัฒนาเศรษฐกิจ เราเติบโต 3% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นประเทศที่มาครึ่งทางของเป้าหมายการพัฒนา เราเป็นประเทศที่เติบโตต่ำสุดในอาเซียน ไม่รวมสิงคโปร์ที่รวยกว่า 10 เท่าไปแล้ว นอกจากเติบโตแล้วปัญหาการกระจายรายได้ก็เป็นปัญหาใหญ่ แล้วทำไมบอกว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญ 12 ปีที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจขยายตัวจาก 4.7 ล้านล้านบาทเป็นประมาณ 15 ล้านล้านบาทแล้ว ขยายตัวจาก 60% ของจีดีพี เป็น 110% ของจีดีพี ความหมายคือเราเอาทรัพยากรของประเทศไปอยู่ใต้รัฐวิสาหกิจมากขึ้น

คำถามคือถ้าทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหลก็ไม่น่ากังวล เราก็รู้ว่าปัญหาของการพัฒนาประเทศคือการเพิ่มผลิตภาพ มีตัวเลขชี้วัดมากมาย ไม่ได้โทษรัฐวิสหากิจ แต่กระบวนการเดิมที่มีอยู่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรก้อนใหญ่ของประเทศก้อนนั้น

แต่ไม่ได้มาพูดให้ลดการลงทุน มันลดไม่ได้ ลดขนาดก็ไม่ได้เพราะเศรษฐกิจจะทรุดเลย ฉะนั้น เหลือทางเลือกเดียวคือทำอย่างไรให้กลับไปปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ สิ่งที่เราพูดมันเป็นเรื่องของกระบวนการทางสถาบัน คือจัดรูปแบบสถาบันใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนและดูเผยๆ จับต้องได้ยาก จึงต้องศึกษาอธิบายค่อนข้างยาวนาน แต่ที่ทำมาทั้งหมดมีหลักการมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ซึ่ง ดร.ประสารพูดไปชัดเจน

“แต่อยากจะเพิ่มอีกข้อคือทุกอย่างของการปฏิรูป ความยากของมันคือต้องเริ่มจากสภาวะที่เป็นอยู่ คือบางคนบอกว่าง่ายนิดเดียว อะไรแย่ก็ขายทิ้งไป มันขายไม่ได้  ยุบทิ้งไป คนบอกว่าการบินไทยไม่เห็นต้องมีเลยสายการบินแห่งชาติ แต่มันมีอยู่ไง มีเครื่องบิน 100 ลำ มีคน 28,000 คน มีหนี้ 300,000 ล้านบาท มันต้องจัดการจากตรงนี้ คนบอกว่าทีโอทีไม่เห็นต้องมี เอกชนทำได้แล้ว แต่มันมีไงครับ มีคน 22,000 คน มีทรัพย์สิน 200,000 ล้านบาท ตรงนี้ถึงยกขึ้นมาว่า ไม่มีทางกระโดดทีเดียวถึงแต่ต้องไปตามขั้นตอน กฎหมายนี้เป็นขั้นต้น กฎหมายออกยังไม่จบ ออกมาต้องจัดตั้งต่อ ต้องปฏิบัติต่อ การเปิดให้มีส่วนร่วมต่อไป”

“แต่กฎหมายจะวางรากฐานไว้หลายอย่างอย่างที่คุณรพีกล่าว โดยเฉพาะความโปร่งใสเป็นเครื่องมือทางสถาบันที่สำคัญที่สุดทั้งในเรื่องปรับปรุงประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริตในระยะยาว เราจะเน้นไปทางนั้น แล้วถ้าสังเกตในรายละเอียดจะแบ่งรัฐวิสาหกิจเป็น 2 กลุ่มตามสภาวะที่เป็นจริง เราไม่สามารถแก้ได้ทีเดียว แต่เดินต่อไปจะสามารถทำได้ สามารถแม้แต่ทำไปไม่ได้ผลยังปรับได้ ถอยหลังก็ได้ ผมอยากจะพูดหน่อยว่าประเทศไทยอยากจะเขียนทีเดียวให้เป็นสวรรค์และอยู่คู่ฟ้าดินสลาย และที่แย่กว่านั้นคือเรามักจะทำให้มันอยู่คู่ฟ้าดินสลาย แต่ถามความเห็นผมกฎหมายนี้สามารถปรับได้ แต่ปรับหลังจากมีกระบวนการเรียนรู้อะไรแล้ว อยากจะเน้นเวลามีคนวิจารณ์ว่าทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ ไม่กระโดดไปเลย เราศึกษาหลาย 100 ชั่วโมง เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย มีที่ปรึกษา แต่เราไม่อาจเอื้อมบอกว่ามันดีสุด แต่มั่นใจว่าตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้และมีหลักการที่เดินไปแล้วจะดีกว่าเดิม”

กลับมาที่คำถามที่พบอยู่ในสังคม 4 คำถาม

คำถามแรกเป็นการรวมศูนย์กินรวบหรือไม่ อยากจะเรียนว่าแต่เดิมรัฐวิสาหกิจจะแยกกันอยู่ 10 กระทรวง ไม่มีมาตรฐาน จะบริหารอย่างไร มีเรื่องก็ส่งเข้า ครม. ผ่านกระทรวง กระทรวงอื่นไม่มีใครสนใจ มีแค่ สคร. ที่สนใจ แต่หน่วยงานระดับกรมก็มีอำนาจจำกัด การรวมศูนย์แบบนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการและมาตรฐาน รัฐวิสาหกิจมี 56 แห่ง กรรมการ 700 คนโดยประมาณ ต้องเรียนว่าการหากรรมการที่ดี ตั้งใจ เสียสละ ยากจริงๆ ผลตอบแทนก็ไม่ได้สูง แต่พอรวมศูนย์กระบวนการจะชัดเจนขึ้น และสิ่งที่จะช่วยไม่ให้กินรวบคือมีกลไกธรรมาภิบาลสากล คือไม่ใช่ คนร. จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เช่น รัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าบรรษัท กระทรวงยังมีอำนาจอยู่ แต่ตอนนี้จะมี คนร. มาช่วยดู แต่ถ้าเจ้ากระทรวงไม่เห็นด้วยก็เดินไม่ได้ มันเพิ่มการบูรณาการและคานอำนาจมากกว่า ที่อยู่กับบรรษัทเหมือนกัน ทำอะไรทุกอย่างไม่ได้ ต้องมอบอำนาจลงไปที่บอร์ด ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้น จะทำอะไรก็ต้องไปที่ คนร. แล้วไปที่ ครม. เหมือนเพิ่มกระบวนการแต่เป็นกระบวนการที่มีเหตุมีผล มีการรับผิดรับชอบมากขึ้น ผมคิดว่าการกินรวบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยด้วย

คำถามที่ 2 คือ รัฐวิสาหกิจไม่ได้มุ่งเน้นทำกำไร เราควรจะเน้นการให้บริการประชาชน อันนี้ไม่ได้หยุดที่จะทำ แต่จะมีการแยกแยะที่ชัดเจนผ่านระบบบัญชีที่เคยมีอยู่แต่ไม่เคยใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะหยิบมาใช้ ของเดิมเวลาเราบอกรัฐวิสาหกิจให้สวัสดิการด้วยมันทำให้ไปทั้งหมดคนจนคนรวยได้หมด แต่แบบนี้จะแยกแยะได้ ตัวอย่างเช่น เคยมีการเรียกร้องให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันไม่ต้องมีกำไรหรอก ลดค่าน้ำมันไปได้ 4 บาทต่อลิตร ถ้าทำจริงมีงานวิจัยเยอะมากเลยบอกว่าถ้าอุดหนุนไป 1 บาท 52 สตางค์จะไปที่คนรวย 10% แรก และมีเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ไปที่คนจน 10% สุดท้าย แต่ถ้าเป็นระบบนี้อยากอุดหนุนแจกไปเลย เดี๋ยวนี้เรามีบัตรคนจน เอาไป 5 บาทเลยก็ได้แล้วทำบัญชี ยังน้อยกว่าที่อุดหนุนทั้งหมด กระบวนการอันนี้ทำให้การให้สวัสดิการตรงเป้าหมาย วัดประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นได้ รัฐวิสาหกิจก็อ้างไม่ได้ว่าสนองนโยบายบริการสาธารณะราคาถูก

คำถามที่ 3 ทำแล้วทำไมไม่เอานักการเมืองออกไปให้หมด แต่ผมคิดว่านักการเมืองเป็นทางเดียวที่ทำให้ฉันทานุมัติของประชาชนมาเกี่ยวข้องได้ อย่าลืมว่านักการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเขาได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน รัฐวิสาหกิจต้องเป็นเครื่องมือนโยบายของรัฐบาล การตัดขาดเป็นองค์กรอิสระเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด มันทำนโยบายไม่ได้ แต่การทำอันนี้ทำให้การออกนโยบายสบายๆ แบบเดิม รัฐมนตรีสั่งทุกอย่างไม่ได้ มันต้องมีกระบวนการ มีแผน มียุทธศาสตร์ มีการเปิดเผย มีการคานอำนาจ แยกบทบาท ยังไงนักการเมืองต้องกำหนดนโยบาย แต่เรามีคนที่มีเจ้าของมากลั่นกรองมาต่อรองนโยบายได้

คำถามที่ 4 ประเด็นที่นำไปสู่การแปรรูป ต้องขออนุญาตเวลาพูดกันเหมือนคำว่าแปรรูปเป็นความชั่วในตัวของมันเอง นำไปสู่การแปรรูปคือเรื่องชั่วแล้ว ขออธิบายก่อนว่าใน 20 ปีที่ผ่านมามีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 25,000 แห่งใน 120 ประเทศ ถ้ามันเลวขายชาติก็คงขายกัน 120 ประเทศ แต่พูดถึงคำพูดของ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมาพูดเยอะมากว่าการแปรรูปคือการโกงที่มากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว Stiglitz เขียนหนังสือ Globalization and its Discontents ในปี 2002 หรือโลกาภิวัตน์และความบิดเบี้ยวของมัน ไม่ได้แปลว่าโลกาภิวัตน์มันบิดเบี้ยว เขาส่งเสริมโลกาภิวัตน์แต่เตือนว่ามันมีข้อบิดเบี้ยวที่ต้องดูอยู่

“เขาเขียนไว้ในหน้า 58 ว่าการแปรรูปช่วยให้ประเทศจากระบบสังคมนิยมมาสู่ระบบโลกาภิวัตน์ได้ดี แต่ถ้าทำการแปรรูปอย่างบิดเบี้ยวมันสามารถเปิดโอกาสให้นักการเมืองโกงได้ แทนที่จะกินทีละปีก็กินทีเดียวตรงหัว เอารัฐวิสาหกิจไปขายถูกๆ ยกตัวอย่างชัดเจนคือรัสเซีย คนแปรเอามาแค่ครึ่งเดียว ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายคล้ายคลึงเลย ถ้าจะถกเถียงจะยาวแต่เวทีไหนก็ได้ เพราะว่ามันไม่มี ถ้าจะมีก็จะเกิดในรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้แปรรูปมากกว่า สิ่งที่คล้ายคือการให้สัมปทานระยะยาว ทำให้เกิดอภิมหาเศรษฐีมากมาย การซื้อสินค้าและบริการระยะยาว อยากจะชี้ตรงนี้ว่ามีการอ้างอิงถึงมากเหลือเกิน”

กลับมาที่ประเทศไทย กฎหมายนี้ไม่ได้ทำเพื่อแปรรูป แต่ก็ไม่ได้ห้ามการแปรรูป เพราะไม่รู้จะห้ามทำไม การห้ามจะเป็นเรื่องที่ไปขัดขวางทางเลือกในอนาคตและทรัพยากรของรัฐจะบริหารยากขึ้นๆ แต่ถ้าจะแปรรูปกระบวนการเพิ่มขึ้น รัดกุมขึ้น และคานอำนาจกันมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะแปรรูปจะถูกส่งเรื่องโดยกระทรวงที่เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับ และเจ้าของ จุดเดียวไม่มีการคานอำนาจเลย การแปรรูปอาจจะไม่สมบูรณ์ได้ ก็ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าโครงสร้างใหม่ถ้าจะแปรรูปมันจะมีการคานอำนาจแล้วทั้ง 3 ส่วนขึ้นมา

“พอพูดถึงเรื่องการแปรรูป ขอให้ข้อมูลตลาดทุนหน่อย เพราะทุกคนพูดว่าการแปรรูปเป็นเรื่องเลวเหลือเกิน จะเล่าให้ฟังว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจมีทั้งหมด 16 แห่ง รวมบริษัทลูกด้วย ธนาคารกรุงไทยเอาเงินตลาดไป 70,000 ล้านบาท ผมยืนยันว่าช่วยรัฐเยอะมากโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ การบินไทยเอาเงินไป 51,000 ล้านบาท วันนี้มีเงินกองทุนอยู่ 29,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินตลาดไป 50,000 ล้านบาทแต่ถือหุ้นแค่ 35% ตอนนี้เหลือทุนแค่ 29,000 ล้านบาท ถ้าไม่เข้าตลาดการบินไทยจะมีสภาพเป็นอย่างไร รัฐต้องจ่ายงบประมาณไปอีกเท่าไหร่ ปตท.สผ. ระดมทุนไป 3-4 ครั้ง 100,000 กว่าล้านบาท ถ้าไม่มีตลาดหลักทรัพย์ไม่มีทางเลย เพราะไม่มีประเทศไหนจะจัดให้ไปทำกิจกรรมเสี่ยงอย่างสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน เราจะไม่มีแหล่งสำรองทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้ หรือ ปตท. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ปี 2004 ถ้าไม่เข้าตลาดไม่มีทางที่จะมีมูลค่าตลาด 1.2 ล้านล้านบาทในวันนี้ เพราะวันนั้นต้องการเงินไปแก้บริษัทลูก ไปซื้อโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งได้มาถูกไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าไม่เข้าตลาดไปของบประมาณ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะให้งบประมาณไปทำ การท่าอากาศยาน ตอนนั้นมีปัญหาระดมทุนไปจับคู่กับเงินกู้ญี่ปุ่น ถ้าไม่เข้าตลาดมีปัญหา ถ้ารวมใช้ไปแล้วทั้งหมด 380,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นที่เข้าตลาดเป็นเรื่องที่ไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้ 380,000 ล้านบาทเป็นเงินระดมจากตลาดทุนตรงๆ ตลอด”

นายบรรยงกล่าวย้ำว่า “แล้ววันนี้รัฐวิสาหกิจมีมูลค่าตลาดรวม 3.2 ล้านล้านบาทคิดเป็น 19% ของตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ยกตัวอย่างอีกเรื่องคือ ปตท. และกลุ่ม ลงทุนไป 1.8 ล้านล้านบาท ถ้าไม่เข้าตลาดจะใช้เงินที่ไหน คิดเป็น 13% จีดีพีวันนี้ ผมกล้ายืนยันได้ไม่ไปลงทุนจีดีพีเราหายไม่ใช่ 2-3% มันต่อเนื่องไปอีกมากมาย เงินลงทุนนี่เป็นจีดีพีตรงๆ เลย แล้วปันผลไปอีก 550,000 ล้านบาท 65% เป็นของรัฐบาล ที่ผมพูดอยากแก้ภาพพจน์แล้วอคติของสังคมว่ามันเป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมามันกลับตรงข้ามด้วยซ้ำ”