ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > การเรียนรู้ยุคใหม่ในมุมมอง “เจ้าสัว” “ออกนอกห้องเรียน” ให้มากขึ้น

การเรียนรู้ยุคใหม่ในมุมมอง “เจ้าสัว” “ออกนอกห้องเรียน” ให้มากขึ้น

5 ตุลาคม 2017


เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อมั่นในการลงมือปฏิบัติมากกว่าท่องตำรา จนเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้านานาชาติ

ได้รับเชิญไปเป็นองค์ปาฐก ถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การทำธุรกิจให้แก่สถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับสากลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยดุ๊กคุนชานในประเทศจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สถาบันการศึกษาชั้นนำของแดนมังกร

เมื่อมีผู้ถามเจ้าสัวถึงวิสัยทัศน์ทางการศึกษา ในการอบรมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการตามโครงการ “ประชารัฐ” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์พัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจ้าสัวจึงตอบอย่างมั่นใจว่า “ผมอยากเสนอให้จัดหลักสูตรใหม่”

ห้องเรียนมีไว้ถกปัญหา

จากมุมมองเจ้าสัว ผู้เป็นนักธุรกิจ หลักสูตรการศึกษาสำคัญที่สุดของโลกยุคใหม่ซึ่งจะแข่งขันกันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ต้องเป็นหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในด้าน “เศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี” สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก

ในการสร้างคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และสังคม ต้อง “เปลี่ยนความคิด” เรื่องการศึกษาแบบเดิมๆ คือ เลิกเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากผู้เรียนนั่งฟังผู้สอนในห้องเรียนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

สำหรับเจ้าสัวนั้น “เรียนในห้องเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่สำคัญกว่าคือต้องฝึกทำงานจริง ฝึกหารายได้จริง แล้วมีผลงานจริงมานำเสนอ ส่วนห้องเรียนมีไว้สำหรับถกปัญหาและช่วยกันแก้ปัญหา”

เจ้าสัวบอกว่า การเรียนรู้แบบเดิม ไม่มีหลักประกันว่าผู้เรียนจบหลักสูตรจะมีงานทำ หรือสามารถทำงานได้ตามความต้องการของตลาด และคนจำนวนมากที่มีโอกาสน้อย ไม่ควรเหลือทางเลือกเพียงเป็นคนขายแรงงานเท่านั้น

สร้างคนเก่งที่ทำงานได้ทั่วโลก

เจ้าสัวธนินท์มีวิสัยทัศน์ว่า ในอนาคตอันใกล้ที่หุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนมนุษย์ คนทั้งสังคม ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องตั้งเป้าร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการว่า จะช่วยกันสร้างคนเก่ง คนดี มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ การบริการ และเทคโนโลยี

โดยมุ่งหวังให้คนเก่งคนดีเหล่านี้ สามารถทำงานกับคนเก่งคนดีได้ทั่วโลก ขายความสามารถของตนเองในตลาดโลกได้

การสร้างคนให้ได้มาตรฐานดังกล่าว หมายถึง เมื่อผู้เรียนผ่านเกณฑ์ความรู้พื้นฐานต่างๆ เช่น อ่านออกเขียนได้จนถึงขั้นดีแล้ว ก็ต้องพัฒนาต่อไปจนถึงขั้น “สร้างงานจากความรู้ที่มีอยู่” โดยคิดและทำให้มีรายได้จากผลงานนั้นด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ “ลงมือปฏิบัตินอกห้องเรียน”

เรียนรู้ไปด้วย สร้างรายได้ไปด้วย

เจ้าสัวธนินท์เชื่อว่า การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่นั้น ผู้เรียนควรคิดสร้างรายได้จากผลงานที่ศึกษา ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มเรียน ไม่ใช่รอไปคิดเมื่อเรียนจบหลักสูตร ซึ่งเป็นเวลาต้องพัฒนาความสามารถให้มากขึ้นไปอีกระดับแล้ว เพื่อลงสนามแข่งขันที่ใหญ่กว่าเดิม

ตัวอย่างการเรียนรู้พร้อมสร้างรายได้ ที่เจ้าสัวมักยกขึ้นมาพูดถึง เช่น นำที่ดินว่างเปล่าของโรงเรียนมาใช้เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกผลไม้ แล้วขายนำรายได้กลับมาบริหารโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนักเรียนมีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาความเป็นนักธุรกิจ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้จริงให้กับตนเองและชุมชนแทนการปล่อยที่ดินทิ้งร้าง หรือสร้างอาคารใหม่ซึ่งยังไม่จำเป็น

วิธีเรียนรู้พร้อมสร้างรายได้ไปด้วยนี้ สามารถปรับใช้ได้กับทุกวิชา เช่น เรียนวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนก็ควรต้องฝึกฝน ค้นคว้าทดลองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ เพื่อเอาผลงานนั้นไปใช้ต่อยอดประกอบสัมมาอาชีวะได้ ไม่ใช่เรียนแล้วจบในห้องเรียน ไม่เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง

เรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง

การเรียนรู้แบบที่เจ้าสัวเสนอ คือเรียนในห้องน้อยลง เรียนนอกห้องมากขึ้น โดยใช้เวลาฝึกปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง เป็นแนวโน้มการศึกษาของโลกยุคใหม่ ซึ่งทุกคนมีโอกาสค้นคว้าหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีใหม่อย่างไม่มีข้อจำกัด

อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ในหัวข้อที่สนใจได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอตาม “หลักสูตร” กำหนด

นักประสาทวิทยา นักจิตวิทยา และนักการศึกษาทั่วโลก เช่น ฮาวเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกัน ศึกษาค้นคว้ามานานกว่า 3 ทศวรรษแล้วว่า สมองของมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน แต่ในการเรียนรู้นั้น สมองของทุกคนจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อไม่ถูกบังคับให้เรียนหรือนั่งนิ่งๆ ฟังคำสอน หากได้เรียนรู้ตามความสนใจขณะนั้น โดยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีการปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ด้วย

ปัจจุบัน นักการศึกษาทั่วโลกยังคงถกเถียงกันถึงรูปแบบที่น่าจะเหมาะสมที่สุดของห้องเรียนในยุคดิจิทัล แต่ไม่มีแนวคิดใดสนับสนุนการเรียนการสอนที่ให้ผู้ฟังนั่งฟังครูพูดหน้าห้องทั้งวันอีกแล้ว

เจ้าสัวธนินท์ย้ำว่า คนรุ่นใหม่มีความรู้มากกว่าคนรุ่นปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่รุ่นพ่อแม่เมื่ออายุเท่าๆ กัน เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ขนาดมหาศาลกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ จึงต้องให้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนของวันนี้ได้เรียนและได้ทำในสิ่งที่สังคมวันนี้ต้องการ ไม่ใช่เรียนและทำเหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อแม่

ใช้เทคโนโลยีทุ่นแรง ใช้สมองคิดสร้างสรรค์

โลกอนาคต ซึ่งเวลานี้พัฒนามาไกลมากในเรื่องของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี ทั้งยังจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่โลกที่ต้องการแรงงานจากร่างกายมนุษย์อีกต่อไป

นักธุรกิจผู้ได้รับยกย่องในระดับโลกว่ามีวิสัยทัศน์แจ่มชัดอย่างเจ้าสัวธนินท์เชื่อว่า ในสังคมอนาคต ที่จะมีรถยนต์ไร้คนขับ เครื่องบินไร้คนขับ แถมยังมีไบโอเทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์อายุยืนขึ้นและเจ็บป่วยน้อยลง

มนุษย์ไม่ควรเสียเวลากับการใช้แรงงานทำงานหนัก และควรต้องเลิกวิธีเรียนรู้แบบเดิมๆ ที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ตลอดจนเลิกวิธีทำงานแบบเดิมๆ ในชั่วโมงทำงานจากแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นในห้องสี่เหลี่ยม

แล้วหันมาเน้นการใช้ “สมอง” เพื่อเรียนรู้ ตลอดจนคิดสร้างสรรค์การทำมาหากินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมี “เทคโนโลยี” ช่วยทุ่นแรงดีกว่า