ThaiPublica > คอลัมน์ > Jose Socrates “รอยด่าง” ทางการเมือง กับ คอร์รัปชันในโปรตุเกส

Jose Socrates “รอยด่าง” ทางการเมือง กับ คอร์รัปชันในโปรตุเกส

16 ตุลาคม 2017


Hesse004

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าศาลยุติธรรมจะแสดงบทบาทมากขึ้นในการพิพากษาลงโทษเหล่าผู้นำประเทศที่ถูก “ชนักปักหลัง” เกี่ยวกับคดีทุจริต

ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2015 ที่นายพลโอโต เปเรซ โมลีนา (Otto Perez Molina) อดีตประธานาธิบดีกัวเตมาลา ถูก “สอย” ลงจากตำหน่ง เรื่อยมาถึงปี 2016 กรณีนางสาวปาร์ค แก ฮึน อดีตผู้นำหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ต้อง “ร่วง” จากเก้าอี้เพราะโดนข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะที่สถานการณ์ของบราซิล เหล่าผู้นำในอดีตโดนคดีทุจริตกันยกแผง ตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดีรับสินบนและฟอกเงิน นางดิลมา รุสเซลฟ์ (Dilma Vana Rousseff) ถูกถอดถอนจากประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงประธานาธิบดีมิเชล เตเมร์ (Michel Temer) ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหารับสินบน

เช่นเดียวกับกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นับเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจว่า ศาลสถิตยุติธรรมในหลายประเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตของผู้นำสูงสุด

ที่สำคัญ การลงโทษทางอาญด้วยการพิพากษา “จำคุก” เปรียบเสมือนการประหารชีวิตอนาคตทางการเมืองผู้นำเหล่านนั้น ไม่ให้ย้อนกลับมาในเวทีการเมืองได้

ล่าสุด ที่โปรตุเกส ศาลโปรตุกีสเพิ่งตัดสินลงโทษจำคุกนายโชเซ่ โซเครติส (José Sócrates) อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส ( ค.ศ. 2005-2011) ด้วยข้อหาทุจริต รับสินบน และฟอกเงิน

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน …โซเครติสนับเป็นนักการเมืองหนุ่มที่มีอนาคตน่าจับตา เขาเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายสังกัดพรรค Portuguese Socialist Party หรือพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคที่ยึดแนวทางสังคมนิยมในโปรตุเกส

เขาเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.ด้วยวัยเพียง 30 ปี ผ่านงานทางการเมืองมาหลายกระทรวงตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณูปโภคทางสังคม (Ministry of Social Infrastructure) รัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬา (Ministry of Youth and Sport) ก่อนจะขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคแรงงานในปี 2004

นายโชเซ่ โซเครติส อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยของโปรตุเกส กำลังเผชิญมรสุมชีวิตครั้งสำคัญ
ที่มาภาพ : http://umhomemzangado.com/uhz/wp-content/uploads/2015/03/livro-socrates1.jpg

นอกจากนี้โซเครติสยังเคยร่วมคณะรัฐมนตรีของของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน

ในปี 2005 พรรคฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งและโซเครติสก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี จังหวะที่โซเครติสเข้ามาบริหารประเทศนั้น ยุโรปกำลังเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และลุกลามมาถึงโปรตุเกสทำให้รัฐบาลโซเครติสต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูในปี 2010

ระหว่างที่อยู่ในอำนาจ แม้โซเครติสพยายามบริหารงานประคับประคองให้รอดพ้นจากวิกฤตต่าง ๆ แต่จนแล้วจนรอด ข่าวลือเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับทุจริตรับสินบนก็โผล่ออกมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่มีใครทำอะไรเขาได้ถนัดนัก…จนกระทั่งปี 2011 เมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งหลังจากแพ้โหวตในการเสนอกฎหมายปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและขึ้นภาษีเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ…มรสุมชีวิต “ลูกใหญ่” จึงได้เริ่มต้นขึ้น

การแพ้โหวตครั้งนั้น ทำให้ชะตาชีวิตของโซเครติสอยู่ในช่วง “ขาลง”…จนกระทั่งปี 2014 เขาถูกจับกุมด้วยข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเริ่มขุดคุ้ยพฤติกรรมการรับสินบน การปลอมแปลงเอกสาร การหนีภาษี การฟอกเงิน การช่วยเหลือพวกพ้อง ซึ่งนับเป็นการคอร์รัปชันครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโปรตุเกส หรือที่รู้จักกันในชื่อ Operation Marquis

นับตั้งแต่หลุดจากอำนาจ ชะตากรรมของโซเครติสต้องไปนอนในคุกยาวถึง 9 เดือน และถูกกักบริเวณอีกเกือบปี

หลักถูกปล่อยตัวออกมา เขาถูกห้ามติดต่อผู้ใด เนื่องจากเกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน

จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลโปรตุกีสพิพากษาลงโทษจำคุกเขาด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ฟอกเงิน ปลอมแปลงเอกสาร และโกงภาษี…โดยอัยการสั่งฟ้องเขาเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 31 กระทง

…นับว่า “อ่วมอรทัย” เลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว เคสของโซเครติส นับเป็นเคส “เชือดไก่ให้ลิงดู” ที่กระบวนการยุติธรรมของโปรตุเกสเล่นบทบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะกรณีนี้นับเป็น “รอยด่าง” ทางประวัติศาสตร์การเมืองโปรตุเกส หลังจากที่ในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนโปรตุเกสต่างพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยและคาดหวังให้ทุกสถาบันในระบอบประชาธิปไตยทำงานด้วยการ “ถ่วงดุล” กันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

เมื่อกลไกเดินไปในทางที่มันควรจะเดิน การบังคับใช้กฎหมายแบบไม่เลือกหน้า “เสมอภาค” เท่าเทียมกันย่อมทำให้สถานการณ์ความโปร่งใสของโปรตุเกสอยู่ในระดับดีพอสควร (ดูค่า Corruption Perception Index ของโปรตุเกสย้อนหลัง 5 ปี)

จากตารางแสดงดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตของโปรตุเกสในรอบห้าปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2012-2016) เราอาจกล่าวได้ว่า โปรตุเกสมีค่าคะแนน Corruption Perception Index ที่อยู่ในระดับดีพอสมควร (สูงเกินครึ่งและค่าเฉลี่ยทั่วโลก)…โดยเฉลี่ยแล้วค่าคะแนน CPI เกิน 60 คะแนน โดยปีล่าสุด 2016 ค่า CPI โปรตุเกสอยู่ที่ 62 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์คอร์รัปชันที่ยังอยู่ในระดับ “เอาอยู่” นั้น ทำให้โปรตุเกสไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Agencies) โดยมีเพียงหน่วยงานรับผิดชอบหลักสองหน่วยงาน คือ สำนักงานอัยการ หรือ Ministério Público และหน่วยงานตำรวจสายยุติธรรมที่ทำหน้าที่เฉพาะกิจโดยเรียกว่า Polícia Judiciária หรือ Judiciary Police

Polícia Judiciária แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดการเรื่องปราบปรามทุจริตทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงหรือฉ้อฉลทางการเงินที่รวมทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับอีกส่วนงานหนึ่งจะรับผิดชอบเรื่องการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการภาษี เช่น เลี่ยงภาษี โกงภาษี เป็นต้น

ทั้งสองหน่วยงานนี้มีบทบาทสำคัญในการเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรีโชเซ่ โสคราติส นับว่า เป็นเรื่องน่าชื่นชมอยู่ไม่น้อย