ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนา…“โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?

เสวนา…“โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?

24 กันยายน 2017


เสวนา “โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?” (จากซ้ายไปขวา)โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางการเมืองและการจัดเลือกตั้งในประเทศไทย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ยังคาดการณ์ลำบากว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดหรือเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่ เนื่องจากผู้รับผิดชอบบ้านเมืองยังไม่ยืนยันว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกจะเสร็จทันตามกำหนดที่วางไว้หรือไม่ จึงอยากให้มีความชัดเจน เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่นักการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ

“ผู้รับผิดชอบพูดเพียงแต่บอกว่าหลังกฎหมายลูกเสร็จก็ต้องเป็นไปตามโรดแมปแน่นอนภายใน 150 วัน แต่ไม่มีใครบอกว่ากฎหมายลูกเสร็จเมื่อไหร่ เสร็จทันตามกำหนดหรือไม่ หรือจะอยู่ยาวอย่างไรก็เอาให้ชัด เพราะดิฉันคิดว่าไม่เกี่ยวกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่ผลกระทบจะเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ”

“ถ้านักลงทุน นักธุรกิจ ได้ทราบว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เขาก็จะวางแผนได้ แต่เมื่อเราอยู่ในระบอบการปกครองพิเศษแบบนี้ การติดต่อทำมาค้าขายกับหลายประเทศต้องยอมรับว่ามีปัญหา ดังนั้น ความยากลำบากถ้าจะไม่มีเลือกตั้งสำหรับพรรคการเมืองอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องถามประชาชนว่าระหว่างมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง อะไรยากลำบากกว่ากัน”

ชัดเจนแต่ก็ไม่ชัดเจน

นายองอาจมองว่า วันนี้ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะสับสนของของคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองซึ่งส่งผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสับสนตามไปด้วย ทั้งที่การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของใครเรียกร้องให้เลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติที่ได้เดินหน้ามาสู่จุดนี้แล้ว โดยการกำหนดของ คสช.

ดังนั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมา ย่อมหมายความว่าประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม จะดูว่าโรดแมปการเลือกตั้งจะไปทางไหน ต้องดูที่รัฐธรรมนูญ หากคาดการณ์ตามกำหนดเวลา การเลือกตั้งจะมีขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ถามว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ให้ดูท่าทีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้พลเอก ประยุทธ์ พูดเรื่องเลือกตั้งจับใจความได้ 3 ครั้งสำคัญ ครั้งแรกคือเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ออกมาบอกว่าหากบ้านเมืองยังมีความขัดแย้งไม่สงบเรียบร้อย ก็ไม่มีการเลือกตั้ง

หลังจากนั้นคือการออกมาตั้งคำถาม 4 ข้อกับประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งตนคิดว่าเป็นการส่งนัยสำคัญของการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พูดชัดเจนมากขึ้นโดยบอกว่า หากบ้านเมืองอยู่ในความเรียบร้อย กฎหมายเดินหน้า การปรองดองเกิดขึ้น ก็จะเลือกตั้งในปี 2561

“ความเคลื่อนไหวทั้ง 3 ครั้งของพลเอก ประยุทธ์ ที่แสดงออกในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะมีความชัดเจนแต่ก็ไม่ชัดเจน เพราะคำพูดหลังสุดก็ยังมีเงื่อนไขว่ากฎหมายต้องพร้อม แต่คำถามคือ ถ้ากฎหมายไม่พร้อม ก็แสดงว่ายังไม่มีเลือกตั้งใช่หรือไม่ หรือเรื่องความปรองดองซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ อาจจะต้องใช้เวลาคุยนานว่าความปรองดองของหัวหน้า คสช. กับความปรองดองของประชาชนตรงกันหรือไม่”

เพราะฉะนั้นตนมองว่า ขณะนี้ความชัดเจนในเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งคงไม่ใช่พลเอก ประยุทธ์ คนเดียวที่ยังสร้างความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ตนคิดว่าหลายภาคส่วนก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้”

กระนั้นก็ตาม การเลือกตั้งครั้งต่อไปควรจะเคารพเสียงประชาชน ประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงเลือกอย่างไร ให้เป็นเรื่องของประชาชน และคงคาดการณ์ยากว่าอีก 1 ปีข้างหน้าบ้านเมืองนี้จะเกิดอะไรขึ้น เพราะคงจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งประชาชนจะเก็บข้อมูลไว้ถึงวันเลือกตั้ง แล้วจะตัดสินใจ

นอกเหนือจากนั้น เมื่อถึงวันเลือกตั้ง จะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ทั้งพรรคที่มีอยู่แล้ว และพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้น การนำเสนอของแต่ละพรรค ประชาชนก็จะนำข้อมูลไปตัดสินใจเช่นเดียวกัน

“เพราะฉะนั้นผมคิดว่า อนาคตข้างหน้าหลังการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนจะเป็นคนกำหนดรูปแบบของรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนวันนี้คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หลังการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะบอกได้ และไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบไหน จะเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าสังคมหรือประชาชนทั่วไปคงอยากจะเห็นรัฐบาลเพื่อชาติมากกว่า”

ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ผ่านมาจนมาถึงวันนี้ มีการทำหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อชาติ มีการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่เคารพกระบวนการพรรคการเมือง ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ไม่เคารพกระบวนการประชาธิปไตย

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายนี้ก็ไม่ควรทำให้เกิดขึ้นอีก เพราะสิ่งเหล่านี้นอกเหนือจากนักการเมืองและพรรคการเมืองจะมีส่วนแล้ว ตนคิดว่าเกือบจะทุกภาคส่วนในสังคมก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็นร่วมกันก็คือ รูปแบบรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตาม ต้องเป็นรัฐบาลเพื่อชาติ ต้องพยายามทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตไม่เกิดขึ้นอีก แต่ถ้าเกิดขึ้นอีกก็วนเวียนกลับไปอย่างเดิม

“พวกผมนักการเมืองอาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องทำเป็นหลัก แต่ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องช่วยกันทำด้วย ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองก็เดินหน้าต่อไปได้ตามระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

”อนุทิน” เชื่อ “ประยุทธ์” จะรักษาโรดแมป

นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่สามารถฟันธงถึงแนวโน้มการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะช้าหรือเร็วไม่ได้อยู่ที่ คสช. รัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ประชาชนด้วย เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ หากความต้องการของประชาชนเกิดเป็นพลังขึ้นมาในทิศทางเดียวกัน ก็ฝืนไม่ได้

“การเลือกตั้งจะมีช้าหรือเร็ว ไม่ได้อยู่ที่ คสช. หรืออยู่ที่รัฐบาล หรืออยู่ที่ สนช. เพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่ประชาชนด้วย ถ้าประชาชนทั้งประเทศต่างพร้อมใจกันและมีฉันทานุมัติ ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือเป็นกระแส อะไรก็ฝืนไม่ได้ เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ ผมเชื่อแบบนั้น”

นอกจากนี้ยังเชื่อโดยส่วนตัวว่า พลเอก ประยุทธ์ จะรักษาโรดแมป เพราะเป็นผู้ให้สัญญา หากรักษาสัญญาไม่ได้ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างชัดเจนว่าจะเจอแรงกดดันขนาดไหน

“ผมเชื่อว่าท่านพลเอก ประยุทธ์ ท่านต้องรักษาโรดแมป เพราะท่านเป็นผู้ให้สัญญา คนอื่นไม่ได้ให้ ไม่นับ ไม่ต้องไปสน ผมยังมั่นใจชายชาติทหาร บุคคลระดับรับผิดชอบประเทศขนาดนี้แล้ว มีตัวอย่างแล้วว่าถ้ารักษาสัญญาไม่ได้จะโดนแรงกดดันขนาดไหน ก็ต้องให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี แต่ส่วนตัวผมไม่ห่วงอะไรเท่าไหร่ และจะทำให้ดีที่สุดในฐานะผู้บริหารพรรค คือต้องวางแนวทางตลอดเวลา”

“ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งถ้าไม่เกิดในปี 2561 เลวร้ายที่สุดคือปี 2562 ก็ต้องเกิด ถ้าปี 2562 ไม่เกิด ก็ตัวใครตัวมัน ผมก็คิดแค่นี้ และเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ดีที่สุดสำหรับผู้บริหารประเทศเพื่อไม่ให้มีข้อครหาต่างๆ”

นายอนุทินบอกว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต้องพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยกระทันหันเมื่อใดก็ได้

“แนวความคิดหรือกุศโลบายนี้ ให้เลือกพรุ่งนี้ก็พร้อม ให้เลือกอีก 30 วันก็พร้อม หรือปีหน้าก็พร้อม เพราะผมประสบการณ์น้อยในการบริหารพรรคการเมือง แต่ผมใช้หลักที่ผมดำเนินชีวิตมาตลอด คือ อะไรที่ผมควบคุมไม่ได้ ผมก็จะไม่คิด ผมจะคิดแต่ในสิ่งที่ผมควบคุมได้ แล้วก็ทำความพร้อมเสมอ”

“เรื่องความเป็นพรรคลำดับ 3 ลำดับ 2 ลำดับ 1 สำหรับผมยังไม่มีความสำคัญมาก เพราะการเมืองในปัจจุบัน ถ้าดูให้ดี มันอยู่ที่นโยบาย พรรคไหนผลักดันนโยบายออกมาได้ดี ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความไว้วางใจมาก นี่คือสิ่งที่เราควบคุมได้”

กฎหมายลูก 10 ฉบับจะเสร็จเมื่อไหร่

ดร.ปริญญาวิเคราะห์ว่า หากใช้เวลาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ เต็มโควตา 8 เดือน น่าจะเลือกตั้งอย่างเร็วได้ภายในเดือนกันยายน 2561 แต่คำถามเช่นเดียวกันคือ กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 จาก 10 ฉบับจะเสร็จเมื่อไหร่ และหากไม่ผ่านขึ้นมาสักฉบับหนึ่งจะต้องทำอย่างไร เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ถ้ากฎหมายลูก 4 ฉบับนี้ไม่ผ่านขึ้นมาสักฉบับจะต้องทำอย่างไร อาจารย์มีชัย (ฤชุพันธุ์) ไม่ได้เขียนไว้ ลองคิดดูว่าถ้าท่านเป็น คสช. จะด้วยเจตนาดีต่อบ้านเมืองเพราะเห็นว่าการเมืองยังไม่ปรองดองก็แล้วแต่ แต่หากเจตนาท่านต้องการอยู่ต่อ แล้วกติกาคือกฎหมายลูก 4 ฉบับนี้เสร็จ ถึงจะเลือกตั้งภายใน 5 เดือน ท่านจะทำยังไง ก็ทำให้ไม่ผ่านสักแค่ 1 ฉบับ”

“และเนื่องจากไม่ได้เขียนไว้ ก็ต้องอนุโลมตามกรอบเวลาของการร่างกฎหมายลูกที่มีอยู่แล้วในบทเฉพาะกาล ก็ไปเริ่มต้นใหม่จาก 8 เดือน สนช. อีก 2 เดือน ส่งกันไปมากับองค์กรอิสระพิจารณาอีก 1 ปี นี่แค่ไม่ผ่าน 1 ฉบับก็ขยับอีก 1 ปี”

“ถ้าอยากให้อยู่นานกว่านี้ ก็จะมีคนบอกว่าในเมื่อบทเฉพาะกาลไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าถ้าไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน ก็จะนานเข้าไปอีก ฉะนั้น หาก คสช. อยากอยู่ต่อ ก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องไว้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ตนไม่คิดว่าการจะเดินตามโรดแมปเป็นความสับสนของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของการมีทางเลือกบนฝ่ามือ ไม่มีใครเล่นไพ่หน้าเดียว ซึ่งไพ่บนมือ คสช. มีอย่างน้อย 5 หน้า จะเล่นทางไหนก็ได้

แต่การจะกำหนดว่าจะเลือกเล่นไพ่หน้าไหน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชน หากประชาชนรู้สึกว่าไม่ต้องการเลือกตั้ง ก็เล่นไพ่หน้าอยู่ยาวได้ แต่ถ้าประชาชนบอกว่าเลือกตั้งได้แล้ว ก็ต้องมีการพิจารณา

“ปีหน้าครบ 4 ปีของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ จะเกิดการเปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจ กับการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ครบ 4 ปีแล้วเป็นยังไง ซึ่งประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญ”

แต่ที่ผ่านมาที่ประชาชนเห็นด้วยกับการยึดอำนาจช่วงต้นๆ เป็นเพราะเห็นว่ามีเลือกตั้งไปก็เกิดปัญหาเดิมๆ อีก เกิดปัญหาในสภาแบบเดิม เสียงข้างมากลากไป ส่วนเสียงข้างน้อยพอยกมือแพ้ก็ออกมาประท้วงอีก มีการก่อม็อบ ฯลฯ ประชาชนจึงเห็นว่าอยู่อย่างนี้สงบดี อยู่ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีทางอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ไปได้ตลอด อีกปัจจัยหนึ่งอยู่ที่ฝ่ายการเมือง 10 ปีที่ผ่านมาทะเลาะกันหนักเกินไป

ตนจึงอยากเสนอว่าให้พรรคการเมืองทำความเชื่อมั่นในการเมืองแบบที่ประชาชนกำหนดได้ทั้งตัวบุคคลและนโยบาย ยกตัวอย่างซึ่งอาจจะเป็นเรื่องตลก เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงใน 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งโต๊ะเซ็นเอ็มโอยูเลยว่าจากนี้ไปจะไม่ให้เหตุการณ์แบบก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นอีก

“โดยตกลงกันว่าจะใช้สภาในการแก้ปัญหาของประเทศ จบให้ได้ในสภา เสียงข้างมากจะฟังเสียงข้างน้อย ส่วนเสียงข้างน้อยก็ยอมรับว่าไม่ได้มีไว้ยกมือแล้วแพ้ แต่ยังมีไว้เจรจาต่อรอง แต่เสียงข้างมากก็ต้องต่อรองด้วย”

“ถ้าเป็นแบบนี้สภาจะกลายเป็นที่มาในการตกลงกันได้แบบเห็นพ้องต้องกัน ผมคิดว่านี่เป็นทางเดียวที่การเมืองแบบเลือกตั้งจะเรียกศรัทธากลับคืนมาจากประชาชนได้”