ThaiPublica > คอลัมน์ > A Young Patriot เลือดรักชาติรุนแรง

A Young Patriot เลือดรักชาติรุนแรง

31 สิงหาคม 2017


1721955

ธงชาติจีนโบกไสว กล้องจับจากด้านหลังของรูปปั้นท่านประธานเหมา เบื้องหน้าเป็นแผ่นดินจีนอันไพศาล ก่อนที่เสียงอันดังจะกร้าวขึ้นว่า “เอาเกาะเตียวหยูคืนมา! ปล่อยตัวกัปตันของเรา!” เสียงหนักแน่นและอินสุดๆ ของ จ้าว ฉางตง เด็กหนุ่มวัย 19 ปี แต่งตัวคล้ายพวกยุวชนแดงเรดการ์ด ตะโกนปลุกใจสนั่นซอยในเมืองผิงเหยา มณฑลชานซี “จีนจงเจริญ! จีนจงเจริญ!” และนี่คือฉากเปิดในหนังสารคดีจีน A Young Patriot (2015) ของ ตู้ ไห่ปิน ที่ไม่สามารถฉายในบ้านเกิดตัวเอง แต่กลับได้ไปฉายตามเทศกาลต่างชาติทั่วโลก อาทิ เทศกาลหนังโตรอนโต, ยามากาตะ, มอสโก, เชฟฟิลด์, ซานฟรานซิสโก และคว้ารางวัลจูรีไพรซ์จากเทศกาลหนังฮ่องกง

ผู้กำกับ ตู้ ไห่ปิน ให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนี้เราไม่สามารถจะฉายหนังเรื่องนี้ในจีนได้ แล้วไม่รู้เมื่อไรถึงจะทำได้ ในระหว่างนี้มีผู้คนมากมายรวมถึงชาวจีนโพ้นทะเลได้ดูหนังเรื่องนี้จากในเทศกาลหนังต่างชาติและแผ่นดีวีดีที่ขายในฮ่องกง เลยมีการถกเถียงกันยกใหญ่บนโลกออนไลน์ แต่ข้อความเหล่านั้นกลับถูกทางการลบออกไปเหี้ยน ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะไม่อนุญาตให้พวกเรามีเสรีภาพแม้แต่ในโลกออนไลน์ด้วยซ้ำไป”

ตู้ ไห่ปิน คร่ำหวอดในแวดวงสารคดีมาเกือบ 20 ปี หนังเรื่องแรกของเขา Along the Railway (2000) ที่เล่าเกี่ยวกับเด็กจรจัดริมทางรถไฟ คว้ารางวัล Special Mention จากเทศกาลหนังยามากาตะ ก่อนที่เรื่องต่อมา Umbrella (2007) ที่เล่าเรื่องการแบ่งชนชั้นในสังคมจีน จะคว้ารางวัล Special Mention จากเทศกาล Cinéma du Réel ในปารีส และ แอมเนสตี อะวอร์ด จากเทศกาล CPH:DOX ในโคเปนเฮเกน ส่วน 1428 (2009) ที่เล่าเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่ถูกไล่รื้อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเสฉวนเมื่อปี 2008 ก็คว้ารางวัล Venice Horizons สำหรับสารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่างเวนิส

ตู้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ A Young Patriot ให้ฟังว่า “ปี 2008 มีข่าวใหญ่หลายอย่างเกิดขึ้นในจีน และทั่วโลกก็รู้กันดี ไม่ว่าจะการแข่งโอลิมปิก, แผ่นดินไหวที่เสฉวน จากนั้นในปี 2009 ก็มีงานเวิลด์เอ็กซ์โปในเซี่ยงไฮ้ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวจีนตื่นตัวกันมาก สร้างความเชื่อมั่นว่าจีนจะแข็งแกร่งผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ทำให้ผมอยากจะสำรวจดูว่าเยาวชนยุคนี้จะได้พบเจออะไรบ้างหลังจากนั้น ผมโชคดีที่ได้เจอจ้าวบนถนนที่ชานซี แล้วเขาก็กล้าหาญมากในการแสดงออกสิ่งที่เขาคิดด้วยใจจริง เขามีความกระตือรือร้นอย่างมากและถูกขับเคลื่อนโดยกิจกรรมรักชาติต่างๆ”

จ้าวเล่าในหนังว่า “มาตุภูมิของเรายิ่งใหญ่ ประเทศจีนเราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ผมเห็นมากับตา ผมเกิดในปี 1990 ผมเห็นว่าจีนเจริญก้าวหน้าขนาดไหน…ในช่วง 19 ปีมานี้ ผมเกิดในปีที่จีนเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ แล้วพออายุ 18 ก็ได้เห็นจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เป็นงานระดับโลกเชียวนะ”

ก่อนจะตัดไประหว่างทางกลับบ้าน เขาเล่าอีกว่า “วันนี้ผมโมโหมากเลย ผู้ชายคนหนึ่งเดินมาถามผมว่า เฮ้ย เอ็งรับเงินมาเท่าไร ผมอยากจะตื้บมันจริงๆ เลย” ประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า เขาเปี่ยมด้วยจิตสำนึกรักชาติอย่างจริงจัง และความจริงจังของเขาก็ปลุกปั่นให้พร้อมจะแสดงความรุนแรงต่อใครก็ได้ที่คิดต่าง นั่นก็เพราะว่า “ผมเลื่อมใสท่านประธานเหมา ผมเกิดวันเดียวกับท่าน คือวันที่ 26 ธันวาคม แต่ผมเกิดในปี 1990 เหมือนมีพลังเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างผมกับท่าน” แล้วจ้าวก็ร้องเพลงปฏิวัติ จากนั้นหนังก็สาธยายว่าเขาอยากจะเข้ามหาวิทยาลัย ใฝ่ฝันอยากจะเป็นทหาร รักการถ่ายรูป เลยอยากจะไปเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ในกองทัพ

มองเผินๆ น่าจะเป็นเรื่องดีที่เด็กหนุ่มอย่างจ้าวมีจิตสำนึกรักชาติ หาญกล้าประกาศจุดยืนอย่างไม่อายใคร ใส่ชุดลายพรางแบบทหาร รังเกียจสินค้าและชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะพวกญี่ปุ่นและอเมริกา) ทั้งหมดนี้ถอดแบบมาจาก พวกเรดการ์ดในสมัยท่านประทานเหมาแทบจะทุกกระเบียด

จ้าวย้ำหนักแน่นว่า “ผมเลือกทำตามแบบนักศึกษาในเหตุการณ์ 4 พฤษภา ปี 1919 ที่ต่อต้านจักรวรรดิและปลุกกระแสชาตินิยมในจีน โดยนักศึกษาเป็นตัวตั้งตัวตี ร่วมด้วยคนงานและพ่อค้า” ทั้งที่มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจ้าวจะเกิดนานถึงกว่า 70 ปี แต่จ้าวกลับมีอารมณ์ร่วมได้อย่างสุดซาบซึ้ง

ทว่า เมื่อจ้าวถูกถามถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในเทียนอันเหมิน ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนเขาจะเกิด เขากลับตอบว่า “ปี 1989 ก็มีนักศึกษาประท้วงนะ แต่ผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องนั้นเท่าไร ผมได้ฟังจากพวกผู้ใหญ่ เห็นว่าประท้วงการโกงกินนะ ที่รู้ๆ คือพวกนักศึกษาประท้วงกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วก็มีการ เอ่อ…สลายการชุมนุมมั้ง แต่พวกเขาถูกส่งตัวกลับ คิดว่างั้นนะ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นตรงนี้ว่า “เมื่อเหมาก้าวเข้ามาปฏิวัติ…เขาต้องการให้ทั้งสังคมจีนเป็นสังคมนิยมบริสุทธิ์ ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการคอร์รัปชัน ซึ่งแปลว่าจะต้องไม่มีนายทุน ไม่มีชนชั้นศักดินาในสังคม ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ใครที่เป็นคนสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมจะต้องถูกนำมาลงโทษ นี่คือหัวใจสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966-1976) ฟังดูเผินๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ทว่าในทางปฏิบัติ ‘เหยื่อ’ ของการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่ใช่แค่คนรวยเท่านั้น แต่มักจะเป็นปัญญาชนและเหล่านักเรียนนอกที่ไปศึกษาเล่าเรียนจากประเทศจักรวรรดิต่างๆ ซึ่งคนลงทัณฑ์ไม่ใช่คนของภาครัฐอย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นหนุ่มสาวที่เรียกแทนตัวเองว่า เรดการ์ด”

ซึ่งเรดการ์ดก็คือขนบแบบที่จ้าวยึดถือในปัจจุบัน โดยที่เขาไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า ในอดีต พวกเรดการ์ดก่อปัญหาร้ายแรงเอาไว้ขนาดไหน ซึ่งช่วงหนึ่งของการเสวนา ดร.วาสนาได้ยกตัวอย่างสารคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกแบนในจีนด้วยเช่นกัน นั่นคือ Though I Am Gone (2006) ที่ปรากฏในปีครบรอบ 40 ปีของการเริ่มต้นปฎิวัติวัฒนธรรม แต่พูดถึงเหตุการณ์นี้ในแง่มุมที่ต่างออกไปจากที่ทางการพยายามจะมอมเมาให้ชาวบ้านเชื่อ

ดร.วาสนาเล่าว่า “หนังเรื่องนี้พูดถึงเหตุการณ์ของครูคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมหญิงล้วนที่มีชื่อเสียงมากในปักกิ่ง และเธอเป็นเหยื่อคนแรกที่ตายจากการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเรดการ์ดหญิงล้วนในโรงเรียนนั้นทำร้ายเธอจนตาย ซึ่งในหนังมีการเล่าว่า สมัยนั้นเด็กๆ จะใส่รองเท้าคอมแบตบูทกันหมด เพราะกระทืบครูง่ายดี และในเมื่อเรดการ์ดส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา คนกลุ่มแรกที่จะโดนกระทืบตายก็คือครู เหยื่อคนแรกนี้มีการถูกทำร้าย เรียกออกมาประจาน เข้าไปทำลายบ้าน แปะโปสเตอร์ด่าประจานไว้เต็มบ้าน ซึ่งคนที่เล่าเหตุการณ์นี้คือสามีของครูคนนี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาทั้งคู่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำงานร่วมกับพรรคมายาวนานและรักพรรคมาก สามีเธอเป็นช่างภาพข่าว หลังการเสียชีวิตของภรรยา ฝ่ายสามีออกไปซื้อกล้อง แล้วบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะศพภรรยาเขา บ้านที่ถูกถล่มเละ ซึ่งมันโหดร้ายมาก” และนี่คือหนึ่งในความจริงที่ดูเหมือนว่าจ้าวจะไม่รู้เกี่ยวกับพวกเรดการ์ดที่เขาสุดแสนจะบูชา

ส่วนกรณีเทียนอันเหมิน ดร.วาสนาได้กล่าวในอีกคลิปหนึ่งว่า “มันมีความเปลี่ยนแปลงหลังจากเหมาเสียชีวิต เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมาปฏิรูปด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่ไม่ปฏิรูปการเมือง ทำให้จีนกลายเป็นทุนนิยมภายใต้เผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ ไม่มีความเป็นสังคมนิยมเหลืออยู่เลย คนที่ออกมาประท้วงในปี 1989 เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ไม่รู้ว่ามันเลวร้ายยังไง ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือจบมาแล้วไม่มีงานทำ และเคยได้ยินว่ารัฐบาลสมัยเหมามีการการันตีงาน มีการจัดหางานให้ทำ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้กลับมีแต่การคอร์รัปชัน มีการใช้เส้นสาย คนเลยออกมาประท้วงกัน ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในเทียนอันเหมิน ความชอบธรรมของรัฐบาลหลังเทียนอันเหมินคือทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น ถึงแม้จะเป็นเผด็จการ ไม่มีการเลือกตั้ง แต่เศรษฐกิจก็ยังคงเติบโตอย่างบ้าคลั่งมากในช่วงตั้งแต่ปี 1990 (อันเป็นปีที่จ้าวเกิด) ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ คนก็ยังจะยอม…ดังนั้นจะเห็นว่า ตอนนี้จีนพยายามขยายอิทธิพล ขยายตลาด ขยายแหล่งวัตถุดิบอย่างมาก แต่ปัญหาใหญ่คือจีนไม่ใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน…สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าแรงจะต่ำลง สวัสดิภาพจะต่ำลงไปด้วย”

A Young Patriot ใช้เวลาถ่ายทำกว่า 5 ปี ระหว่างนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับจ้าวหลายอย่าง ไม่ว่าจะการที่จ้าวไปเป็นดอร์แมนในโรงแรม แล้วก็พบว่าชาวญี่ปุ่นที่เขาแสนจะชิงชังกลับไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่เขาเคยขยาด ตรงกันข้าม ชาวจีนในชาติเดียวกับเขานี่แหละที่มีพฤติกรรมเหยียดหยามเขา หรือในสังคมเพื่อนรักชาติ แต่กลับร้องเพลงฮิปฮอปแบบฝรั่ง อาจารย์ที่พล่ามสอนกรอกหูแต่ประเด็นชาตินิยม การไปเป็นครูอาสาในชนบทห่างไกลที่รัฐไม่เคยหันมาดูดำดูดีคนเหล่านี้เลย ไปจนถึงการไล่รื้อของรัฐที่ครอบครัวของจ้าวโดนเข้าเต็มๆ

ตู้ ไห่ปิน เล่าเพิ่มเติมว่า “คนดูจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เกิดขึ้นกับจ้าว จากที่เคยทำตัวเป็นเรดการ์ดโบกธงบนถนนคนเดียว ก่อนจะกลายเป็นชายหนุ่มผู้ขี้หงุดหงิดที่เริ่มเอะใจตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาพบเจอ นี่คือสิ่งที่ผมชัดเจนมาตั้งแต่แรก คือ ผมต้องการจะเฝ้าสังเกตคนหนุ่มในยุคนี้ที่เติบโตมาจากการสร้างภาพของรัฐ ว่าพวกเขาจะเติบโตไปทางไหน จะได้รับโอกาสอะไรบ้างจากรัฐ สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมจีนกันแน่ และผมพบว่ารากปัญหาต่างๆ เกิดจากความเหลื่อมล้ำขนาดมหึมาระหว่างคนเมืองกับชนบท ซึ่งเกิดขึ้นมาช้านานและรัฐบาลไม่เคยแก้ไขได้ แต่กลับขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวผมเกิดและเติบโตในเมืองใหญ่ ทำให้ผมสนใจพื้นที่ชนบทมากกว่า และอยากจะทำความรู้จักให้มากขึ้น”

หว่อง ปิ้กหวัน นักวิจารณ์ชาวฮ่องกงได้สรุปในสูจิบัตรเมื่อครั้งหนังไปฉายในเทศกาลที่ฮ่องกงได้อย่างน่าสนใจว่า “เวลาเป็นสิ่งที่น่าโหดเหี้ยมยิ่งกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม เวลาเหมือนกับปังตอหั่นหมู มันจะค่อยๆ เชือดเฉือนเราเป็นเศษเล็กเศษน้อย เวลาล้างสมองเราได้ ฆ่าเราก็ได้ และเปลี่ยนเราให้หันไปฆ่าคนอื่นก็ได้ด้วย”