วรากรณ์ สามโกเศศ
เดือนกรกฎาคม 2017 เป็นวาระครบรอบ 74 ปี ของการผลิตยาเพนนิซิลินอย่างเป็นกอบเป็นกำ ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลินนี้พลิกโลกเพราะเยียวยาโรคติดเชื้อได้ชะงัด เป็นยาที่พบโดยบังเอิญอย่างเป็นสิ่งประเสริฐที่เกิดขึ้นในโลกโดยแท้ “ความบังเอิญ” ได้เกิดขึ้นในอีกหลายเรื่องจนทำให้ชีวิตผู้คนและประวัติศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลง
ความบังเอิญในด้านดีดังกล่าวภาษาอังกฤษมีคำเรียกว่า serendipitous accident ใช้ได้กับยาเพนนิซิลิน ซึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อต Alexander Fleming ในปลายทศวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายคนพยายามค้นหายาปฏิชีวนะเพื่อนำมาฆ่าเชื้อโรคโดยได้นำเชื้อราหลายชนิดมาทดลอง วันหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1928 Fleming ได้สังเกตเห็นว่าในจานแก้วทดลองของเขาซึ่งใส่เชื้อ Staphylococcus ไว้ ลืมปิดฝา และมีเชื้อราสีน้ำเงิน-เขียวเติบโตขึ้นอยู่ เขาพบว่าบริเวณที่อยู่ใกล้เชื้อรานี้เชื้อโรคจะหยุดการเติบโต เขาจึงสงสัยว่าเชื้อรานี้คงปล่อยสารอะไรบางอย่างที่หยุดการเติบโตของเชื้อโรคได้
Fleming ทดลองจนได้เชื้อที่เขาเรียกว่าเพนนิซิลินบริสุทธิ์ และทดลองจนมั่นใจว่ามันหยุดการเติบโตของเชื้อโรคอย่างได้ผล แต่ก็ไม่มีใครสนใจการค้นพบของเขา จนกระทั่งในปี 1940 นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย Howard Florey กับทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดได้ทดลองใช้สารสกัดจากเชื้อราเพนนิซิลินรักษาการติดเชื้อในหนูอย่างได้ผล และในปีต่อมาก็ทดลองกับคนที่มีการติดเชื้อรุนแรงอย่างได้ผลเช่นกัน
ในปี 1941 ทีมวิจัยนี้ก็สามารถผลิตยาเพนนิซิลินออกมาได้และใช้ได้ผลมากขึ้นทุกวัน บริษัทในสหรัฐอเมริกาสนใจมากและเริ่มผลิต ในเดือนกรกฎาคม 1943 กองทัพสหรัฐอเมริกาก็ผลิตยานี้ออกมาอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อรักษาทหารพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1945 Fleming กับ Florey และ Chain ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากการค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก
ถ้า Fleming ไม่ได้ลืมปิดผาจากแก้วทดลองก็อาจไม่พบยาปฏิชีวนะอันทรงพลังของโลกก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง การค้นพบโดยบังเอิญได้ช่วยชีวิตมนุษย์นับร้อยล้านคนและนำไปสู่ยาปฏิชีวนะอีกหลายตัวในสกุลเพนนิซิลินนี้
เรื่องที่สองเกี่ยวกับ “ความบังเอิญ”อย่างไม่น่าเชื่อซึ่งได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก กองทัพอันเกรียงไกรของ Napoleon Bonaparte จักรพรรดิฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่จำนวนกว่า 500,000 คน เดินหน้าฝ่าความหนาวเข้าโจมตีรัสเซียในกลางปี 1812 แต่อีกเพียง 6 เดือนต่อมาไพร่พลลดเหลือเพียงไม่ถึง 10,000 คน ทั้งหมดหายไปเพราะการต่อสู้ การอดอาหาร และความหนาว แต่มีอีกสิ่งหนึ่ง อันเป็น “ความบังเอิญ” ซึ่งซ้ำเติมชะตากรรมอย่างเหลือเชื่อจนทำให้จอมทัพหลุดจากตำแหน่งในที่สุด
ท่านผู้อ่านลองจินตนาการว่าทหารที่มือหนึ่งต้องแบกปืนบนบ่าและมือที่เหลือต้องดึงขอบเสื้อโค้ทที่เผยอออกจากกันเพื่อป้องกันความหนาว อีกทั้งกางเกงหลุดลุ่ยต้องใช้มือที่ไม่ได้แบกปืนมาสลับดึงไว้ อย่างนี้จะไปรบชนะใครได้ แค่เดินฝ่าความหนาวก็ตายแล้ว ที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นก็เพราะ “บังเอิญ” ที่กระดุมเสื้อโค้ท กางเกง และกระเป๋า ล้วนทำจากดีบุกซึ่งจะแตกย่อยออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยในอากาศหนาวมาก ๆ
อีก 68 ปีต่อมานักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อดังก้องโลกชาวรัสเซีย Pyotr Ilyich Tchaikovsky แต่งเพลง 1812 Overture เพื่อรำลึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวรัสเซียในสงครามกับ Napoleon ในปี 1812 โดยมีเสียงปืนใหญ่ประกอบเพลงแต่ไม่มีเสียงกระดุมแตกเป็นผง
เรื่องที่สามของ “ความบังเอิญ” เกิดในยุคกลางของยุโรป (ศตวรรษที่ 5 ถึง 15) เมื่อพริกไทยมีราคาแพงมาก หนึ่งปอนด์ของมันสามารถไถ่ตัวทาสได้หนึ่งคน ที่จริงแล้วยุคนั้นมีความต้องการเครื่องเทศหลากหลายชนิด แต่ที่มีค่าสูงมากชนิดหนึ่งคือ nutmeg (จันทน์เทศ หรือ ลูกจันทน์) ซึ่งนำไปสู่สงครามและการที่เกาะ Manhattan ของ New York กลายเป็นของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
ในทศวรรษ 1660 ชาวเนเธอร์แลนด์หรือดัตช์ คือผู้ค้าเครื่องเทศรายใหญ่สุดของโลกต้องการผูกขาดการค้าจันทน์แดงแต่เพียงผู้เดียวด้วยการได้ Spice Island of Run ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะ Banda ของอินโดนีเซียภายใต้การยึดครองของอังกฤษมาเป็นของตน
ดัตช์ล้อมเกาะนี้ไว้เพื่อตอบโต้อังกฤษที่โจมตีเรือบรรทุกสินค้ามีค่าของ Dutch East India Company รบกันอยู่ 3 ปี ในที่สุดก็ตกลงกันได้โดยดัตช์ขอเกาะ Run ไว้โดยแลกกับเกาะเล็กๆ ชื่อ Manhattan ที่ชาวดัตช์ไปตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้และเกาะอยู่ในการยึดครองของดัตช์ เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเกาะนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ไป
ถ้าไม่ “บังเอิญ” มีจันทน์แดงเข้ามาเกี่ยวข้อง New York อาจมีชื่อว่า New Amsterdam (คล้ายกับที่คนดัตช์ตั้งชื่อ New Sealand และกลายมาเป็น New Zealand ในปัจจุบัน) ก็เป็นได้
จันทน์แดงใช้ปรุงรสอาหารและรักษาอาหารเช่นเดียวกับเครื่องเทศ เหตุที่จันทน์แดงเป็นที่นิยมมากก็เพราะคนเชื่อว่าหากใส่ถุงแล้วแขวนคอจะสามารถป้องกันโรคกาฬโรค (Black Death ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคระหว่างปี 1346-1353 มีคนตายถึง 75-200 ล้านคน หรือประมาณ 30-60% ของคนยุโรป) งานวิจัยปัจจุบันพบว่ากลิ่นพิเศษของจันทน์แดงมาจากสารเคมี isoeugenol ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงเมื่อคำนึงถึงว่ากาฬโรคติดต่อกันผ่านเห็บที่เกาะอยู่บนตัวหนู การแขวนจันทน์แดงไว้จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล
เรื่องที่สี่คือ “ความบังเอิญ” ของการรักษาโรคมาเลเรีย คำว่า “malaria” มาจากภาษาอิตาลีซึ่งแปลว่า “bad air” เนื่องจากคนสมัยโบราณเชื่อกันมาเป็นร้อยๆ ปีว่าหมอกจากแหล่งน้ำชื้นแฉะเป็นสาเหตุของมาเลเรียซึ่งเป็นโรคที่ตายได้ง่ายๆ (ปัจจุบันในปีหนึ่งๆ ประชากรโลก 300 ถึง 500 ล้านคน ถูกผลกระทบจากมาเลเรีย)
เรื่องเล่าของ “ความบังเอิญ” ก็คือเคาน์เตสของสเปนชื่อ Chinchón เดินทางไปดินแดนในเทือกเขา Andes (ประเทศเปรู โบลิเวีย ในปัจจุบัน) ในประมาณกลางศตวรรษที่ 16 และล้มป่วยเป็นไข้มาเลเรีย
หมอยุโรปที่ไปด้วยหมดปัญญารักษา จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าของถิ่น จึงได้ดื่มชาที่ต้มจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านกินแก้โรคนี้กันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว เธอจึงหายจากโรคนี้ สารที่สกัดจากเปลือกต้นไม้นี้รู้จักกันในชื่อยาควินิน (Quinine) และสกุลของต้นไม้นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinchona ซึ่งมาจากชื่อของเคาน์เตส
ถ้าเธอไม่บังเอิญเดินทางไปป่วยเป็นมาเลเรีย คนยุโรปอาจไม่รู้จักหนทางรักษากันอีกนานและผู้คนอาจล้มตายอีกมากมาย หลังจากการค้นพบความวิเศษของต้นไม้นี้ ผู้คนแตกตื่นกันมากจนอเมริกาใต้ค้าขายควินินจนร่ำรวย และห้ามการส่งออกเมล็ดต้นไม้นี้เด็ดขาด จนต้องมีการลักลอบออกมาปลูกและกระจายไปทั่วโลกในที่สุด
ในระดับบุคคล “ความบังเอิญ” ทั้งดีและร้ายเกิดขึ้นกับทุกคนโดยเฉพาะในเรื่องการพบและรู้จักผู้คนราวกับมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำกับอยู่จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีและเลว อย่างไรก็ดี ถ้าบุคคลมีสติและใช้ปัญญาในการคบหาผู้คนแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะสามารถควบคุมชะตาชีวิตของตนเองได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 ก.ค. 2560