ThaiPublica > คนในข่าว > ประธานศาลฏีกา คนที่ 44 “ชีพ จุลมนต์” ผู้ฝ่ากระแสวิกฤติตุลาการ กุมชะตา 3 อดีตนายกฯ

ประธานศาลฏีกา คนที่ 44 “ชีพ จุลมนต์” ผู้ฝ่ากระแสวิกฤติตุลาการ กุมชะตา 3 อดีตนายกฯ

15 กรกฎาคม 2017


สิ้นสุดการรอคอย เมื่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติ 14-0 ให้ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา อาวุโสอันดับ 2 ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 44 แทนนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2560

“นายชีพ” อายุ 63 ปี มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา 2 ปี ก่อนจะเกษียณในวาระ 65 ปี

เขาจบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไต่เต้าจนกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแพ่ง, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย, รองประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และรองประธานศาลฎีกา และเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายล้มละลาย ภาคปกติ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

กุมชะตาคดี 3 อดีตนายกรัฐมนตรี

นายชีพ จุลมนต์ กุม “คดีใหญ่” ชี้ชะตาบ้านเมือง อยู่ในกำมือร้อนๆ ถึง 3 คดี ครอบคลุม “จำเลย” ที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ

คดีที่ 1 เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคดีนี้ “ยิ่งลักษณ์” ตกเป็นจำเลยในคดีที่ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เหลือการไต่สวนพยานอีก 1 นัด ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 คาดว่าศาลจะนัดฟังคำพิพากษา ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2560

คดีที่ 2 คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีจำเลยคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (น้องชาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว ซึ่งศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคม 2560

คดีที่ 3 คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวก ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน บริษัทเอกชน 28 ราย ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560

กว่าจะได้เป็นประธานศาลฎีกา

เส้นทางของ “นายชีพ จุลมนต์” กว่าจะขึ้นเป็นประมุขฝ่ายตุลาการนั้นนับว่าวิบาก-หวุดหวิด จะเกิดวิกฤติตุลาการแบบอ่อนๆ อยู่หลายจังหวะ

นายชีพ จุลมนต์ ที่มาภาพ :http://www.supremecourt.or.th

เริ่มจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ได้มีการเผยเเพร่บัญชีรายชื่อโยกย้ายเเต่งตั้งข้าราชการตุลาการบัญชี 1 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อที่สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ “นายชีพ จุลมนต์” รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรเสนอรายชื่อเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 44

หลังจาก “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” ประธานศาลอุทธรณ์ ผู้อาวุโสอันดับ 1 ถูกมติเอกฉันท์ว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 44

วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 มีการประชุมพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติผู้ที่ถูกเสนอชื่ออย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมให้คณะกรรมการตุลาการลงมติ ซึ่งชื่อ “นายชีพ จุลมนต์” เข้ามาในบัญชี

ในระดับพิจารณาขั้นอนุกรรมการตุลาการ (อนุ ก.ต.) ได้ลงมติเอกฉันท์ รับบัญชี 1 ครั้งที่ 2 ให้ “นายชีพ จุลมนต์” รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานศาลฎีกา โดยจะนำชื่อนายชีพพิจารณาแต่งตั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560

วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมชั้น 7 ศาลอุทธรณ์ ถ.รัชดาภิเษก “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงเปิดใจต่อสื่อมวลชนกรณีที่ไม่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ เปิดใจไม่คิดฟ้องร้องสู้ ไม่คิดลาออก หวังเป็นประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป

“ผมรับราชการที่ศาลยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2522 รับรู้กติกาดังกล่าวเป็นอย่างดี เมื่อที่ประชุม ก.ต. มีมติไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ก็ยอมรับ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ได้ติดใจและไม่มีความคิดที่จะฟ้องร้อง เรื่องที่ว่าผมจะไปดำรงตำแหน่งไหนต่อไปนั้น ตามนิติประเพณีหรือแนวปฏิบัติต่อๆ กันมา ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นประธานศาลฎีกาแล้วไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ในอดีตก็จะยังอยู่ที่เดิมคือศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ผมเองก็จะอยู่ในตำแหน่งเดิมคือประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป ไม่ได้ย้ายไปตำแหน่งอื่น ซึ่งผมมีความประสงค์ที่จะทำงานในฐานะผู้พิพากษาต่อไป ไม่มีความคิดที่จะลาออกอย่างแน่นอน”

วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ “นายชีพ จุลมนต์” รองประธานศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ในทางวิชาการคดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการตุลาการ และเป็นไปตามลำดับอาวุโส ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

โผพลิก “ศิริชัย” อาจถูกสอบสวนข้อเท็จจริง

มีรายงานว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนั้น นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประธานการประชุม ได้มีคำสั่งเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สืบเนื่องจากกรณีที่ “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” ประธานศาลอุทธรณ์ ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา เนื่องจากคุณสมบัติไม่เหมาะสมจากเหตุของการปฏิบัติราชการ ซึ่งมีต้นเรื่องมาจากรายงานความเห็นการกลั่นกรองคุณสมบัติโดยคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะมีเวลา 30 วัน ในการเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ ขณะที่นายศิริชัยก็มีโอกาสที่จะนำพยานในส่วนของตนเข้าให้ถ้อยคำชี้แจง หากในช่วงระยะเวลา 30 วันดังกล่าวยังดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่แล้วเสร็จตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถจะขยายระยะเวลาได้อีก ซึ่งชั้นนี้เป็นเพียงการสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลหรือไม่เท่านั้น “ยังไม่ใช่การสอบสวนโทษทางวินัย”

นอกจากการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ที่ประชุม ก.ต. ยังได้มีมติโยกย้ายนายศิริชัยจากตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งอาวุโสเป็นรองอันดับหนึ่งรองจากประธานศาลฎีกา ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา โดยตำแหน่งนี้ไม่เคยมีมาก่อน ต้องนำเข้าคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ “กบศ.” เพื่อพิจารณาเปิดตำแหน่งนี้

กลับกลาย “ศิริชัย” อาจพ้นประธานศาลอุธรณ์

หลังจากที่มีการเปิดตำแหน่งดังกล่าวแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ทำการเสนอบัญชีรายชื่อผู้พิพากษาที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งดังกล่าวเข้าที่ประชุมอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่ง อนุ ก.ต. มีวาระการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 คาดว่าจะมีการเสนอชื่อนายศิริชัยเพื่อดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา จากนั้นจึงจะพิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์คนต่อไป คาดว่าจะเป็น “นายธนฤกษ์ นิติเศรณี” รองประธานศาลฎีกา

ผ่านไป 24 ชั่วโมง หลัง ก.ต. มีมติเอกฉันท์ในทุกวาระ วันที่ 12 กรกฎาคม “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” ประธานศาลอุทธรณ์ เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง พร้อมนำถ้วยรางวัลคริสตัล “รางวัลศาลยุติธรรมกลุ่มศาลสูงดีเด่น ปี 2559” มาวางไว้ในเวทีแถลงข่าวด้วย

โดยมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เป็นการ “แถลงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือทั้งน้ำตา” กรณีทั้งอาจพ้นจากตำแหน่งประธานศาลอุธรณ์ ไปเป็นที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา และอาจต้องถูก “สอบสวนข้อเท็จจริง”

นายศิริชัยกล่าวว่า “พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 8 ให้มีประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกา 1 คน, ประธานศาลอุทธรณ์ประจำศาลอุทธรณ์ 1 คน, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค และให้มีรองประธานศาลฎีกาได้มากกว่า 1 คนแต่ไม่เกิน 6 คน โดยถ้าประธานศาลฎีกาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ก็ให้รองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติราชการแทน แต่หากจะให้ผมไปอยู่ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา แม้จะบอกว่ามีอาวุโสรองจากประธานศาลฎีกา แล้วถ้าประธานศาลฎีกาไม่อยู่ แล้วใครจะรักษาการแทน ใครจะเป็นผู้บังคับบัญชา นี่จะเป็นปัญหาข้อขัดข้องหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ปกติก็เป็นรองจากประธานศาลฎีกาเพียงเท่านั้นอยู่แล้ว”

นักข่าวถามว่าเมื่อ ก.ต. มีมติได้ประธานศาลฎีกาคนใหม่แล้ว นายศิริชัยจะไปอยู่ตรงไหน?

นายศิริชัยตอบว่า “แนวปฏิบัติตามนิติประเพณีต้องอยู่ที่เดิม ซึ่งตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์เป็นรองจากประธานศาลฎีกา ไม่มีทางที่จะไปตำแหน่งที่ต่ำกว่าได้ และตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ยังเป็นประธานสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ซึ่งดูแลข้าราชการด้วย แต่ตำแหน่งของที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาจะไม่มีส่วนตรงนี้เลย จึงทำให้คิดว่าถ้าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานนั้นสูงกว่าแต่ไม่มีตรงนี้เลยก็ต้องเป็นเรื่องที่น่าคิด”

นายศิริชัยยกกรณีตัวอย่างตำแหน่งผู้ที่ไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกาในอดีตว่าจะ “ยังคงตำแหน่งเดิม”

“เช่นสมัยนายประภาศน์ อวยชัย, นายสรรเสริญ ไกรจิตติ, นายอุดม มั่งมีดี แต่ผมอาจจะเป็นคนแรกที่ไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดิมประธานศาลอุทธรณ์”

ส่วนตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” นั้น ในอดีตเคยมีการแต่งตั้งนายโสภณ รัตนากร เป็น “ที่ปรึกษาศาลฎีกา” ซึ่งปัจจุบันนายโสภณก็ยังเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” และนายโสภณก็เกษียณราชการไปแล้ว

“ยังไม่คิดถึงแนวทางที่จะลาออก ทำงานเป็นผู้พิพากษามา 40 ปี ก็ยังรักองค์กร…เรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบผมไม่เคยกลัว เพราะชีวิตผมไม่เคยทำสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นจะสอบยังไงผมก็ไม่กลัว เพียงแต่ว่าเหตุที่ ก.ต. ไม่เห็นชอบผมเพราะอะไร…ผมยังไม่อยากพูดอะไรที่มันอยู่ในอกให้มันเสื่อมเสียถึงสถาบัน แม้จะเจ็บปวดรวดร้าว ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสุดท้ายไม่ไหวจริงๆ ผมก็ถือว่าโดนกระทำอยู่ตลอด ก็ไม่รู้จะทำยังไง”

เปิดตำแหน่งใหม่วงการตุลาการ “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา”

สิ้นคำแถลงของของ “ศิริชัย” ราว 5 ชั่วโมง เว็บไซต์ราชกิจนานุเบกษา ก็เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและเทียบตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยเทียบกับตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น เทียบกับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2560

มีผลให้ “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” อาจพ้นประธานศาลอุทธรณ์ ไปนั่งเป็นปรึกษาประธานศาลฎีกา ถือเป็นตำแหน่งใหม่ของวงการตุลาการ พร้อมอาจจะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการเพิกถอนการโอนสำนวนในคดี

ย้อนตำนาน วิกฤติตุลาการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อ 107 ปีก่อน

อาจกล่าวได้ว่าเป็น 1 ในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโทมนัส ทรงมีพระอาการประชวรทรุดหนัก และสวรรคตในปลายปีเดียวกัน

เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระนามเดิมพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ที่พระชันษาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยพระชันษา 22 ปี

ทรงเป็นคนมั่นในพระทัยตัวเองสูง ตอบโต้กับพระบรมราชชนก อย่าง “พุ่งแรง” ครั้งหนึ่งเมื่อถูกตรัสถามว่า “รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น”

กรมหลวงราชบุรีทรงตอบว่า “ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้าฯ ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนชั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าจะถือหลักในใจอยู่เพียง 2 ข้อ คือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่ง และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง พูดสั้นๆ ต้องฉลาดและไม่โกง ถ้าโง่ก็ไม่ทันคนอื่น โจทก์ จำเลย จะต้มเอาได้ ทำให้เสียความยุติธรรม แต่ถ้าฉลาดแล้วโกงก็จะทำให้เสียความยุติธรรมอีกเหมือนกัน จะซ้ำร้ายยิ่งไปกันใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่กิจธุระส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละคน ใครจะกินเหล้าเที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจเสนาบดีจะบังคับบัญชา…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในนามปากกา “ราม วชิราวุธ” ทรงจารึกถึงกรมหลวงราชบุรีฯ ไว้ว่า “ท่านได้รับความยกย่องสรรเสริญนักว่าเปนคนฉลาดเฉียบแหลม อีกทั้งพอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ทูลหม่อมก็โปรดปรานมาก ทรงมอบให้ทำราชการในตำแหน่งสำคัญ เปนเจ้าต่างกรมก่อนพี่ และเกิดมีศิษยานุศิษย์ บริษัทบริวารมากขึ้นโดยรวดเร็ว”

ทรงเกี่ยวข้องกับ “คดีพญาระกา” อันลื่อลั่นสั่นสะเทือนท้องพระโรง ปลายรัชสมัยที่ 5 เมื่อเหตุแห่งคดีมี “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” ผู้มีศักดิ์เป็น “อา” ของกรมหวงราชบุรีฯ นิพนธ์บทละครชื่อว่า “ปักษีปกรณัม” เรื่อง “พญาระกา”

กรมพระนราธิปฯ ทรงมีหม่อมหลายคน หนึ่งในนั้นคือนางละครในคณะ “ลครนฤมิตร์” ชื่อ “หม่อมภักตร” นางหนีออกจากวังไปอยู่ย่านฝั่งธนบุรี แต่พระสวามีของนางคือกรมพระนราธิปฯ ไปตามตัวกลับ เกิดเรื่องอื้อฉาวถึงขนาดเจ้าของบ้านถวายฎีกา เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปฯ ไม่ให้ทำอีก

จากนั้น “หม่อมภักตร” ก็หนีออกไปอยู่บ้านฝั่งธนฯ อีกครั้ง แต่คราวนี้มีการอารักขาจากตำรวจพระนครบาล ซึ่งขึ้นกับเสนาบดี เจ้าพระยายมราช แม้เจ้าพระยายมราชจะเกลี้ยกล่อม “หม่อมภักตร” ให้กลับวัง แต่นางไม่ยอมกลับ จึงไปทูลปรึกษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคิดว่า กรมหลวงราชบุรีฯ มีบารมีพอจะคุ้มครอง “หม่อมภักตร” ได้ เพราะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม จึงให้ไปอยู่กับกรมหลวงราชบุรีฯ ทำให้กรมพระนราธิปฯ ไม่พอพระทัย เกิดเรื่องราวใหญ่โต

ระหว่างนั้น ในปี 2453 กรมพระนราธิปฯ นิพนธ์บทละครของคณะ “ลครนฤมิตร์” แสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า “ปักษีปกรณัม เรื่องคดีพญาระกา” เนื้อเรื่องของ “พญาระกา” มีอยู่ว่า “พญาระกามีเมียมาก มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางไก่ญี่ปุ่นซึ่งไม่พอใจตัวพญาระกา พอได้โอกาสก็แยกฝูงไปพบไก่ชนที่ปลายนาเกิดรักใคร่เป็นชู้กัน พอพญาระการู้เข้าก็ตามไปตีไก่ชน จนนายไก่ชนแพ้และหนีไป นางไก่ญี่ปุ่นก็หนีเตลิดไปพบตาเฒ่ากระทุงริมบึง ตาเฒ่าเอาไปเลี้ยงไว้ แต่ยายเฒ่านกกระทุงหึงหวง ประกอบกับได้ข่าวว่าพญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังติดตามค้นหา นกระทุงจึงไล่นางไก่ญี่ปุ่นไปหาพญาเหยี่ยว พญาเหยี่ยวเห็นว่ารับไว้จะเกิดปัญหา จึงส่งนางไปถวายเจ้านกเค้าแมว เจ้านกเค้าแมวเกิดความปฏิพัทธ์นางไก่ญี่ปุ่น ไม่รังเกียจว่าเสียเนื้อเสียตัวแล้ว เพราะนกเค้าแมวก็กินของโสโครกอยู่แล้ว จึงได้นางไก่เป็นเมีย”

ในบทละครตอนนี้กล่าวด้วยว่า “พญาเค้าแมว เป็นผู้หลงระเริงในราคะจนลืมความละอายต่อบาป เอาเมียของอาเป็นเมียได้ ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสีได้ได้ข่าวมาก็หึง แต่พญาระกากลับเข้าข้างนางไก่ ไล่ตีนางนกเค้าแมวหนีกลับเข้ารังไป ต่อมาพญาเค้าแม้วยกทัพจะไปรบกับพญาระกา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันยังไม่ทันรบพุ่ง ก็พอดีจวนรุ่งเช้า พญาระกาขันขึ้นมา ส่วนนกเค้าแมวตาฟางเพราะแสงอรุณ เลยแพ้ เลิกทัพหนีไป”

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเห็นว่าบทละครเป็นการแต่งเรื่องกระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ ในกรกรณี “หม่อมภักตร” ก็กริ้วมาก ถึงขั้นไม่บรรทมทั้งคืน รุ่งเช้าก็เรียกประชุมข้าราชการกระทรวงยุติธรรม แจ้งเรื่องให้ทราบ พร้อมีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยายมราช เพื่อเล่าเรื่องนี้พร้อมส่งบทละครดังกล่าวให้ดูด้วย ทรงคิดว่าหากมีการแสดงละครต่อหน้าราชสำนัก พระองค์จะได้รับความอัปยศ

ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าคน จึงเสด็จลงเรือ ออกจากพระนคร ไปอยู่ย่านองครักษ์ปลายคลองรังสิต

เหตุการณ์ซ้อนทับ เมื่อก่อนหน้า กรมหลวงราชบุรีฯ ได้เคยทำหนังสือถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี ด้วยเหตุผลว่า “ในสมองนั้นร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกแดงระหว่างมันสมองกับกระดูก” หมอไรเตอร์ถวายคำแนะนำให้หยุดงานรักษาพระองค์ จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเก็บหนังสือลาออกไว้ ยังไม่ได้พระราชทานพระบรมวินิจฉัย ไม่มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ลงมา จนกระทั่งเกิดเรื่องคดี “พญาระกา”

เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จออกจากพระนครโดยมิได้กราบบังคมทูลลาพระเจ้าอยู่หัว ประกอบกับข้าราชการกระทรวงยุติธรรม 28 คน ได้ลงชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกตาม เกิดความโกลาหลวุ่นวายทั้งกระทรวงและพระบรมมหาราชวัง แม้พระยายมราชจะไกล่เกลี่ยห้ามปราม แต่ก็ไม่เกิดผล

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “28 มงกุฎ” และให้จารึกชื่อไว้ปลายพระแท่นบรรทม เพื่อทรงสาปแช่ง
1 ใน 28 มงกุฎ คือ ขุนหลวงพระไกรสี ถูกถอดจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์

อีก 1 คือ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และพระโอรส-ธิดา ถูกออกจากพระราชสำนัก ถูกห้ามมิให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐาน ให้เฝ้าได้แต่ในท้องพระโรง จนตลอดรัชกาลก็มิได้พ้นพระราชอาญา

1 ใน 28 มงกุฏ อีกคน ชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นากรัฐมนตรีคนแรก หลังสิ้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมอยู่ด้วย

อาจกล่าวได้ว่าครานั้นเกิด “วิกฤติตุลาการ” ครั้งแรก และเป็นการ “สไตรก์” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ราชการไทย

ปฐมเหตุแห่ง “คดีพญาระกา” ต่อมากรมหลวงราชบุรีฯ ได้รับการอภัยโทษ แต่โปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรมพระนราธิปฯ ถูกลงโทษให้เข้าประทับในพระบรมมหาราชวังออกไปไหนไม่ได้ 1 ปี