ThaiPublica > เกาะกระแส > “อานันท์” วิพากษ์การเมืองฉุดธรรมาภิบาลภาครัฐอ่อนแอ-เอกชนไทยได้คะแนน CG สูงสุดในอาเซียน

“อานันท์” วิพากษ์การเมืองฉุดธรรมาภิบาลภาครัฐอ่อนแอ-เอกชนไทยได้คะแนน CG สูงสุดในอาเซียน

13 มิถุนายน 2013


นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Corporate Governance Developments in Thailand”  ในงาน The 2nd National Director Conference 2013 จัดโดยสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2556 ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Corporate Governance Developments in Thailand” ในงาน The 2nd National Director Conference 2013 จัดโดยสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2556 ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี

อดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน” ห่วงธรรมาภิบาลภาครัฐอ่อนแอเพราะการเมืองแทรกแซง เสี่ยงนำไปสู่วิกฤติอีกครั้ง แนะ 3 เสาหลักยกระดับธรรมาภิบาลประเทศ ป้องกันหนทางสู่หายนะ ขณะที่ภาคเอกชนไทยได้คะแนน CG สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

12 มิ.ย. 2556 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดงาน The 2nd National Director Conference 2013 ในหัวข้อ Board Leadership Evolution เพื่อให้คณะกรรมการของบริษัทต่างๆ ได้รับฟังทิศทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อพัฒนาการทำหน้าที่กรรมการ และมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกรรมการด้วยกัน พร้อมกับรายงานผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ของบริษัทจดทะเบียนไทยตามโครงการ ASEAN CG Scorecard (ASEAN Corporate Governance Scorecard)

ความท้าทายของกรรมการบริษัทเรื่อง CG

โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานเรื่อง “ความท้าทายการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย” (Thailand’s Governance Challenge) ซึ่งเริ่มจากการพููดถึงธรรมาภิบาลในภาคเอกชน โดยโฟกัสที่ “หน้าที่” หรือบทบาทหน้าที่ของกรรมการบริษัท ที่จะมีมากขึ้นเนื่องจาก

1. ปัจจัยจากต่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องการความใส่ใจมากขึ้น และต้องมีกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ 2. ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน จะตระหนักเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากฝ่ายบริหารเป็นสิ่งสำคัญ และ 3. มีความหลากหลายในการให้บริการมากขึ้น จำเป็นต้องดูแลให้มีธรรมาภิบาลด้วย

“องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้กรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบมากขึ้น”

ในประเด็นธรรมาภิบาลระดับประเทศ ต้องดูในภาพกว้างทั้งมิติของสาธารณะ ภาคเอกชน และภาครัฐ โดยยกกรณีวิกฤติในปี 1998 ว่าเป็น “ความล้มเหลว” ของการสร้างสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ขาดขีดความสามารถจัดการโลกาภิวัตน์ และความเสี่ยงที่สลับซับซ้อน สิ่งที่ตามมาคือ “ความมืดมน” ของประเทศไทย และเมื่อบวกกับบริษัทมีธรรมาภิบาลอ่อนแอ และการพัฒนาที่ไม่เป็นรูปธรรม ทำให้วิกฤติการณ์ยิ่งลงลึกไปเรื่อย

หลังเกิดวิกฤติมีความพยายามอย่างแรงกล้าเพื่อยกระดับธรรมาภิบาล มีการฝึกอบรมกรรมการบริษัท และสร้างความตระหนักมากมายในเรื่องธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร และบริษัทต่างๆ มีการดำเนินการอย่างแรงกล้าเพื่อให้เป็นมืออาชีพ บางรายเป็นผู้นำระดับชาติ ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีช่องว่างระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะการพัฒนาในแง่บรรษัทภิบาลมีข้อจำกัด

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน บางส่วนมีธรรมาภิบาลที่ดี แต่บางส่วนยังมีธรรมาภิบาลอ่อนแอ คือ บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว บริษัทจดทะเบียนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธรรมาภิบาลยังต้องขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของภาครัฐ และบริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

“บริษัทจดทะเบียนจะช่วยยกระดับคุณภาพของบรรษัทภิบาลในตลาดทุนไทยได้ และจะเป็นแรงส่งหรือยื่นไปสู่มุมกว้างในภาคเอกชนมากขึ้น รวมถึงเอสเอ็มอีที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย”

ห่วงธรรมาภิบาลภาครัฐอ่อนแอ

แต่อีกมิติหนึ่ง นายอานันท์มีความกังวลว่า ในแง่ “ธรรมาภิบาลภาครัฐ” ในช่วงหลายปีค่อนข้าง “อ่อนแอ” ลงมาก จากการแข่งขันเพื่อการพัฒนาภาครัฐ และการดำเนินการต่างๆ น้อยลง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการ “แทรกแซง” ทางการเมืองมากขึ้น โดยมีการเล่นพรรคเล่นพวก การชอบไม่ชอบใคร การสร้างอาณาจักรตนเอง พฤติกรรมที่ไม่ยอมรับการกระทำที่เห็นต่าง และประโยชน์ของสาธารณชนไม่ใช่หลักอีกต่อไป

“คนในรัฐบาลไม่รู้ และไม่คิดที่จะยอมรับเรื่องการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ คนเหล่านี้ไม่สนใจและไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ความหมายของการไม่ขัดกันของผลประโยชน์ ทำให้การยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างความสมดุลของสังคมจึงไม่สำเร็จ เพราะมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย”

นายอานันท์กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจของไทยดำเนินไปด้วยดี และมีความยืดหยุ่น แม้จะมีผลกระทบจากภายนอก แต่บริษัทขนาดใหญ่ๆ ก็สามารถปรับตัวรองรับได้ แต่ในภาพรวมของประเทศยังทำไม่ได้ขนาดนั้น เนื่องจากนโยบาย หรือ การเมืองเป็นแบบ “ขั้วเดียว” กล่าวคือ การเมืองไม่ได้เป็นการจัดการที่ดีสำหรับคนไทยเลย

มีการแสวงหาอำนาจ หรือความมั่งคั่งและผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ประเทศเท่าไร สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่ ทำให้มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของสังคม หรือเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนร่ำรวยกับคนยากจนที่สุด แต่คนร่ำรวยกับคนชั้นกลางก็มีความเหลื่อมล้ำด้วย ปัญหานี้เป็นเรื่องวิธีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

โดยล่าสุด ดัชนีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2002 เป็น 54% ปัญหาการกระจายรายได้ และความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ทำให้คนรากหญ้าของสังคมไม่แข็งแรง ทำให้เกิดผลกระทบเกิดความไม่สงบของสังคมมากขึ้น

ประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ควรแก้อย่างจริงจัง คือ เรื่องการแบ่งปันอำนาจ เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน อาทิ การใช้อำนาจให้พลังกับประชาชน การเมืองต้องสร้างขีดความสามารถของประชาชน หรือรัฐบาลควรมีขนาดเล็กลง การดำเนินการของราชการต้องมีขั้นตอนน้อยลง และให้ประชาชนมีส่วนรวมมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล แต่ไม่ค่อยพูดกันมากในสังคมไทย

นายอานันท์ ปันยารชุน
นายอานันท์ ปันยารชุน

“สถานการณ์ในปัจจุบัน มีความกังวลว่า ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตไปด้วยดี แต่การเติบโตกลัวจะไม่ยั่งยืน เพราะมีการใช้เงินทุนจากภายนอกเข้ามามาก และมีการใช้เงินของรัฐที่ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งมีความน่าเป็นห่วง และอาจก่อให้เกิดวิกฤติในเศรษฐกิจอีกครั้งในเอเชีย”

นายอานันท์กล่าวว่า เราควรเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะกรณีที่มีการใช้เครดิตมากมาย ยอมรับใช้การขาดดุลงบประมาณที่สูง มีการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก และไม่มีความพยายามที่จะเข้าไปจัดการหรือปฏิบัติให้มีวินัยทางการคลัง

หลังวิกฤติปี 1998 มีการเน้นใช้กลไกตลาด และยกระดับการเมือง แต่เวลามีความขัดแย้งต่างๆ การปรับตัวมีลักษณะเป็นช่วยเหลือพวกพ้อง เข้ากลุ่ม เข้าพรรคเข้าพวก ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม มีการจัดสรรเงินงบที่ไม่ยุติธรรม มีการคอร์รัปชัน “นี่คือสูตรสำหรับความหายนะ” การจะปิดประตูความหายนะ จะต้องผลักดันอย่างแรงกล้าเรื่องธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนของสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคม ต้องมาพูดคุยกัน ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้มีมากขึ้น

โดยการสร้างธรรมาภิบาลอาจทำได้ด้วยการออกฎหมาย มีกฎระเบียบ มีเป้าหมายต่างๆ มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ คือ “แนวคิด” ซึ่งเป็นเรื่องทัศนคติ เป็นเรื่องวัฒนธรรมในการทำงาน ที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้โดยมาร่างกฎหมาย ร่างกฎระเบียบ

ดังนั้น การทำเรื่องธรรมาภิบาล “ภาวะผู้นำ” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากทั้งในระดับสถาบันและระดับประเทศ โดยผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และแสดงให้เห็นถึงการมีธรรมาภิบาลที่ดี

“การดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาลต้องคำนึงถึงสาระหลักเรื่องแนวความคิด ไม่ใช่รูปแบบเท่านั้น การมีธรรมาภิบาลจะทำให้ทั้งบุคคลและเงินทุนมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตยั่งยืน”

3 เสาหลักยกระดับธรรมาภิบาลประเทศ

นายอานันท์เสนอว่า การยกระดับธรรมาภิบาลของประเทศต้องมี 3 เสาหลัก

1. รัฐบาลต้องตอบโจทย์และให้บริการต่อความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เน้น “ประชาชนที่แท้จริง” เพราะเห็นในอดีตที่ผ่านมามีความต้องการที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ใครบางกลุ่ม หรือใครบางคนเท่านั้น

2. มีกระบวนการตัดสินใจที่เปิดเผยและโปร่งใส ซึ่ง “น่าตลก” ที่รัฐบาลไม่สามารถให้ข้อมูลและตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวกับประชาชนทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้ทำเอง

“ยอมรับไม่ได้ ที่คนรู้ข้อมูลเป็นผู้มีอวิชชาอย่างถาวร อาจไม่พอที่จะให้ความรู้กับพวกอวิชชาเหล่านี้ แต่ต้องให้ความรู้พวก อวิชชาที่แท้จริงด้วย ไม่อย่างนั้นสังคมไทยจะก้าวหน้าได้อย่างไร”

3. ระบบการตรวจสอบ ต้องการการมีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคลและประชาสังคม การมีธรรมาภิบาลของไทยต้องเกิดขึ้นทุกระดับทุกสังคม สามารถตรวจสอบได้ และมีความไว้วางใจกัน ต้องมีความไว้วางใจภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด มีจรรยาบรรณ

ในอดีต ภาคเอกชนของไทยพอใจที่จะยืนดูห่างๆ สังเกตห่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ห่างๆ แต่ไม่ค่อยลงมือปฏิบัติ ส่วนปัจเจกบุคคลต้องกล้าวิจารณ์ได้ นั่นคือยอมรับว่า อะไรผิด อะไรถูก และกล้าวิจารณ์ออกมา

“เมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมา หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “แกะโง่” ที่ไม่กล้าพูดความจริงมาแล้ว เราคงไม่ยอมรับที่จะยืนยันหรือให้หลักฐานว่าคนไทยเป็นแกะโง่ๆ เป็นจริง”

นายอานันท์กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยมาถึง “ทางแยก” ทุกคนต้องเอาพลังมารวมกัน สร้าง ธรรมาภิบาลให้ยั่งยืน หากล้มเหลวจะมีภัยร้ายแรงต่ออนาคตประเทศไทย ภาพตรงนี้เป็นการล่มสลายที่เกิดขึ้นในระดับโลก ดังนั้นทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีทางที่ไม่นำไปสู่ความล่มสลาย

“เราไม่มีทางเลือก เราต้องร่วมกันแล้วเราจะประสบผลสำเร็จ” นายอานันท์กล่าว

บริษัทไทยได้คะแนน CG สูงสุดในภูมิภาค

นางรงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และ CG Expert ประเทศไทย รายงานผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ของบริษัทจดทะเบียนไทยตามโครงการ ASEAN CG Scorecard ว่า บริษัทจดทะเบียนไทย 50 บริษัท ได้คะแนนการกำกับดูแลกิจการที่ดี “สูงสุด” ตามหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ประจำปี 2555

นางรงค์รุจา สายเชื้อ
นางรงค์รุจา สายเชื้อ

โดยคะแนนเฉลี่ยภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนไทยได้คะแนน 67.66% ซึ่งดูไม่สูงมากนัก แต่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประเมินอีก 5 ประเทศ โดยมาเลเซียอยู่ที่ 62.29% สิงคโปร์ 56.08% ฟิลิปปินส์ 48.9% อินโดนีเซีย 43.4% และเวียดนาม (ไม่ได้ระบุคะแนนเพราะเป็นประเทศค่อนข้างใหม่เรื่องการประเมิน CG จึงไม่แสดงผลเฉลี่ยภาพรวม)

ในการประเมิน ASEAN CG Scorecard มีการพิจารณา 5 ด้านหลัก คือ 1. สิทธิของผู้ถือหุ้น (Rights of Shareholders) 2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม (Equitable Treatment) 3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of Stakeholders) 4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency) 5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท (Board Responsibilities)

นางรงค์รุจากล่าวว่า ด้านที่ไทยได้คะแนน “โดดเด่น” มากที่สุดคือ การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม ซึ่งบริษัทไทยทำได้ดีในเรื่องนี้ โดยได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวมถึง 97% แสดงว่ามีบางบริษัททำได้คะแนนเต็ม 100 แต่ด้านที่คะแนนน้อย และเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงคือ บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ได้คะแนน 51% กับ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ได้คะแนน 56%

“เมื่อเห็นคะแนนเราจะรู้ว่าเราจะปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด โดยเรื่องที่เราควรจะปรับปรุงคือ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งเกณฑ์ของ ASEAN CG Scorecard ให้น้ำหนักเรื่องนี้มากที่สุด เมื่อเราได้ด้านนี้น้อยจึงทำให้ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวมของไทยต่ำกว่าที่คาดไว้”

สาเหตุหลักที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการได้คะแนนน้อย เพราะเกณฑ์ของ ASEAN CG Scorecard เน้นการนำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งกรณีของไทยปัญหาที่เจอคือ มีนโยบายเขียนไว้ แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยด้านนี้จะเน้นดูเรื่องอนุกรรมการ เช่น กรรมการตรวจสอบ ซึ่งทุกบริษัทมีเพราะกำหนดเป็นเกณฑ์ไว้ แต่กรรมการพิจารณาค่าตอบแทน ยังไม่ค่อยมี อีกคณะหนึ่งที่ควรจะมีแต่ไม่มีบริษัทใดมีเลยคือ กรรมการสรรหาและกำกับดูแลกิจการ

ดังนั้น เรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรม จะต้องปรับปรุงให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติ และติดตามผลจากนโยบายที่วางไว้ และเมื่อความรับผิดชอบของคณะกรรมการดี ทุกอย่างก็จะดีหมด หรือถือเป็น “หัวใจ” ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ส่วนเรื่องบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นอีกด้านที่ได้คะแนนไม่ค่อยดี แนวทางการปรับปรุงคือ ต้องมี whistleblowing (มีระบบการรายงานเบาะแส หรือแจ้งเตือนการกระทำที่ไม่ถูกต้อง) ต้องดูแลพนักงาน สิ่งแวดล้อม คู่ค้า เจ้าหนี้ และเรื่องคอร์รัปชัน เป็นต้น

50 บริษัทจดทะเบียนที่ประเมินด้วยเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard

บริษัทจดทะเบียน 50 บริษัท ได้รับการคัดเลือกจาก 100 บริษัทจดทะเบียนที่มี Market Capitalization สูงสุด และจะต้องเป็นบริษัทที่มีการเผยแพร่รายงานประจำปีเป็นภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์เท่านั้น

1. Advanced Info Service
2. Airports of Thailand
3. Amata Corporation
4. Asian Property Development
5. Bangkok Bank
6. Bangkok Expressway
7. Bank of Ayudhya
8. Banpu
9. Central Pattana
10. Big C Supercenter
11. CIMB Thai Bank
12. Eastern Water Resources Development and Management
13. Electricity Generating
14. GFPT
15. GMM Grammy
16. HANA Microelectronics
17. Hemaraj Land and Development
18. Home Product Center
19. I.C.C. International
20. Indorama Ventures
21. IRPC
22. Jasmine International
23. Kasikornbank
24. Kiatnakin Bank
25. Krung Thai Bank
26. Land and Houses
27. MCOT
28. Minor International
29. Oishi Group
30. Precious Shipping
31.Pruksa Real Estate
32.PTT
33.PTT Exploration and Production
34.PTT Global Chemical
35.Ratchaburi Electricity Generating Holding
36.Robinson Department Store
37.S&P Syndicate
38.SC Ssset Corporation
39.Shin Corporation
40.Somboon Advance Technology
41.Thai Oil
42.Thai President Foods
43.Thanachart Capital
44.The Bangchak Petroleum
45.The Siam Cement
46.The Siam Commercial Bank
47.TISCO Financial Group
48.TMB Bank
49.Total Access Communication
50.True Corporation
หมายเหตุ : การประกาศขื่อเรียงตามตัวอักษรของชื่อเต็มของบริษัทที่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น