ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงเหตุระเบิดไม่อยากโทษฝีมือใคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ – ชง ม.44 ลดขั้นตอน EIA/PPP เร่งสร้าง EEC

นายกฯ แจงเหตุระเบิดไม่อยากโทษฝีมือใคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ – ชง ม.44 ลดขั้นตอน EIA/PPP เร่งสร้าง EEC

23 พฤษภาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลาการประชุมครั้งนี้ และภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

แจงระเบิดไม่อยากโทษใคร ไม่โยง 3 ปี คสช.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฏว่าถ้าถามว่าคนร้ายมีวัตถุประสงค์อะไรก็คงต้องไปถามคนร้ายแทน ตนตอบแทนไม่ได้ ส่วนที่จะเกี่ยวกับการครบรอบ 3 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ อย่าถือว่าเป็นการท้าทาย และก็ไม่อยากให้ความสำคัญมากนัก ถ้าเราให้ความสำคัญมากไปมันอาจมีผลกระทบต่อการทำงานอย่างอื่นด้วย คสช. และรัฐบาลก็ขอขอบคุณที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้เวลาและให้โอกาสแก่รัฐบาลในการทำงาน หลายอย่างที่แก้ไขได้หลายอย่างที่ยังแก้ไขไม่ได้ มีความสลับซับซ้อน มันก็ต้องแก้ไขด้วยตามระเวลาที่มีอยู่ในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จให้ได้ บางอย่างถ้ามันต้องใช้เวลานานให้เกิดความยั่งยืนก็ต้องทำกันต่อไป

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงระดับการรักษาความปลอดภัยว่า ตนกังวลว่าอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะของโรงพยาบาล อาจจะเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยน้อยไป เพราะในโลกไม่มีใครทำเหตุการณ์แบบนี้กับพื้นที่เหล่านี้ ฉะนั้น คนที่ทำตนถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และก็เป็นการกระทำสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ ในส่วนเรื่องของคนร้ายจะได้ตัวหรือไม่ได้ตัวอย่างไร ต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน

“วันนี้หรือพรุ่งนี้อาจจะยังไม่ได้ มันคงได้สักวัน บางอย่างมันเร่งรัดไม่ได้มากนักหรอก ฉะนั้น การเกิดเหตุทำนองนี้มันเคยเกิดขึ้นมาเมื่อตอนปี 2553 ก็ลองดูสิว่ามันเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันหรือเปล่า ก็อยากให้สื่อช่วยคิดวิเคราะห์เหล่านี้ด้วย สิ่งสำคัญคือ ทำไมคนที่ทำถึงคิดแบบนี้ ใจร้าย และไม่คำนึงถึงผู้คนที่บริสุทธิ์ ผมไม่อยากให้บิดเบือนว่ารัฐบาลเป็นคนทำเอง คงไม่มีรัฐบาลบ้าที่ไหน ทำแบบนั้น เว้นแต่คนที่อยากจะเป็นรัฐบาลและคิดจะทำนั่นแหละ ผมไม่เคยคิดแบบนั้น อยากให้ย้อนกลับไปดูว่าวันที่ไม่เรียบร้อย ยังไม่สมบูรณ์หรือครบถ้วน เหล่านี้ที่ผ่านมาเคยมีใครทำแบบนี้ไหม”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องข่าวกรองว่า “ปัจจุบันได้ประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บางอย่างก็เป็นการประเมินของฝ่ายความมั่นคง ก็ไม่อยากให้ไปโทษใคร เมื่อวานผมก็เห็นข่าวหลายประเทศที่เกิดคดีหรือเรื่องคล้ายๆ เรา ที่เกิดการระเบิด แต่แค่วัตถุประสงค์คนละอย่างกัน”

พร้อมกล่าวต่อว่า”เรื่องข่าวกรองก็มีคาดการณ์ว่าจะเกิดที่นั่นที่นี่มาตามลำดับ แต่ตรงไหนที่มันจะเกิดชัดเจนแน่นอน อันนี้ก็อยู่ที่การเข้าถึงกระบวนการ ซึ่งเราก็พยายามทำตรงนี้อยู่ เราก็คาดการณ์มาตลอดเวลา ทุกคนคาดการณ์ไหมล่ะว่าจะเกิดในโรงพยายาล มีใครคิดไหม ไม่มีหรอก แต่ว่ามีคนเลวมันคิดไง อะไรก็ได้ที่จะเกิดผลกระทบกับรัฐบาลหรือเปล่า ผมยังไม่มุ่งประเด็นนี้  แต่ทำไมต้องมาเกิดวันที่ 22 พฤษภาคม นั่นล่ะคือสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคิดวิเคราะห์ และทำไมต้องเกิดในโรงพยาบาล และเป็นโรงพยาบาลทหาร และก็ทำร้ายประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นข้าราชการที่ท่านไม่ชอบทหาร แต่อย่าลืมว่าเป็นคนไทยทั้งหมด เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ถ้าหวังผลทางการเมืองและคิดเข้ามาสู่การเมืองและทำแบบนี้ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ก็คงมีบทลงโทษโดยสิ่งศักสิทธิ์ต่างๆ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า เรื่องกล้องวงจรปิดได้สั่งการเพิ่มเติมไปเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้แล้ว คงต้องไปตรวจสอบดูว่ามาตรฐานหรือการติดตั้งกล้องตอนนี้มันเหมาะสมเพียงใด ปัญหาของเราก็คือกล้องบางกล้องหรือบางพื้นที่นั้นก็ได้ติดตั้งมาเป็นเวลานาน รัฐบาลก็พยายามปรับปรุงแก้ไขในเรื่องสมรรถภาพของกล้องให้ดีขึ้น ส่วนกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ได้สั่งให้มีการตรวจสอบโดยเร็ว รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในอนาคตก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น เน้นความเข้มงวดทุกพื้นที่ ทุกสถานที่มีความเสี่ยง สถานที่ราชการ  เขตพระราชฐาน ทำเนียบรัฐบาล ตนได้เน้นย้ำไปแล้ว

แจงยอดผู้มีรายได้น้อยพุ่งเพราะไม่มาลงทะเบียน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงผลงานของรัฐบาล 3 ปีว่าวันนี้ได้ย้ำกระทรวงต่างๆ ให้เอาผลงานที่ทำอยู่แล้วมาชี้แจงและคงชี้แจงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อมโยงว่าที่ทำมาใครได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์อย่างไร ถ้าเราพูดถึงมาตรการหรือหลักการณ์อย่างเดียวคนอาจจะไม่เข้าใจกัน แต้องทยอยให้ตามความเดือดร้อน หน่วยงานรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนให้เท่ากันทั้งหมด พร้อมกันทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้

รัฐบาลกำลังทำคือการจดทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 30,000 บาทต่อปีก็คือต่ำกว่าเส้นของความยากจน คนที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อปีอยู่ไหวหรือไม่ รัฐบาลต้องไปดูแลตรงนี้มากยิ่งขึ้น ถัดมาคือ 30,000-100,000 บาทต่อปี และ 100,000-300,000 บาทต่อปี อย่าง 300,000 บาทต่อปีคือระดับผู้เสียภาษี เพราะฉะนั้น เป้าหมายรัฐบาลคือทำอย่างไรจะยกระดับขึ้นมา 300,000 บาทต่อปี ดังนั้นจึงเริ่มที่ผู้มีรายได้ 30,000 บาทต่อปีก่อน

“หลายคนบอกว่าทำไมจำนวนโตขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วมันบิดเบือนกันไง ไม่มาลงทะเบียนบ้าง กลัวว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบ้าง หรือกลายเป็นถูกตราหน้าว่ายากจน มาลง 4 ล้านกว่าคน และปีที่แล้วเราก็ช่วยเหลือไป ทีนี้คนที่เหลือก็เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ก็มาลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้น ทีนี้เราก็ต้องไปคัดกรองว่ามันจริงหรือเปล่า ต้องหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ไม่ประหยัด”

วันเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอน-ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า “ทำไมต้องกำหนดชัดเจนขนาดนั้นเชียวหรือ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนไม่ใช่หรือ ถูกกำหนดไว้ แต่พอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาก็ขยับ กรณีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็เดินหน้าไปตามนี้ ตนยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนคำนึงถึง ถ้าบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่ มีเรื่องการวางระเบิด การใช้สงคราม การทำให้เกิดความขัดแย้งในภาคประชาชน แบบนี้มันจะเลือกตั้งกันได้ไหมล่ะ ผมกำหนดไป มันก็เท่านั้นล่ะ ฉะนั้นมันขึ้นอยู่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการที่จะเดินไปสู่จุดนั้น อย่าต้องให้รัฐบาลเป็นคนกำหนดทั้งหมดเลย”

แจงปฏิรูปตำรวจกำลังดำเนินการ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจว่าได้สั่งการให้ไปพิจารณาจากเดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยและตอนหลังมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เหมาะสมหรือไม่เพียงใด และถ้าไปอยู่ที่อื่นเป็นอย่างไร จะให้ไปอยู่ฝ่ายสังคมได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา 2 คณะ และตามกฎหมายจะต้องมีกรรมการอิสระพิจารณารับฟังความคิดเห็นทั้งหมด

“การขึ้นอยู่กับใครแล้วคาดว่ามันจะทำงานได้ดีหรือไม่ การดูแลข้าราชการตำรวจจะดีพอหรือเปล่า ผมก็ได้มีความคิดเพิ่มเติมอีกว่ามันมีอีกทางไหม ที่จะให้ตำรวจดูแลพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่ของจังหวัด มันต้องมีหลักการ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เอาไปนู่นไปนี่ การจะทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ต้องกระจายอำนาจในเรื่องของการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี ถ้าสามารถจบภายในจังหวัดได้ก็ดี”

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th (จากซ้ายมาขวา)

มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

เพิ่มอัตรา “พยาบาล” 3 ปี 10,992 อัตรา – “แพทย์-ทันตแพทย์” 848 อัตรา

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 อนุมัติอัตราข้าราชการแต่งตั้งใหม่ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ รวม 8,792 อัตรา โดยให้แบ่งบรรจุเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 ในจำนวนอัตรา 2,992, 2,900 และ 2,900 อัตรา ตามลำดับ ขณะที่ที่เหลืออีก 2,200 อัตราจะนำตำแหน่งว่างในสายงานพยาบาลวิชาชีพมาใช้ รวมทั้งหมดมีอัตราบรรจุ 10,992 อัตราตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของแพทย์และทันตแพทย์ จำนวน 779 อัตรา และ 70 อัตรา ตามลำดับ ซึ่งเป็นนักศึกษาคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขและจะสำเร็จการศึกษาในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ครม. ไม่อนุมัติข้อเสนอให้บรรจุเภสัชกร 316 อัตรา เนื่องจากไม่มีความขาดแคลน และให้กระทรวงพิจารณาทบทวนกำหนดสายงานที่จะเป็นคู่สัญญากับกระทรวงให้มีเฉพาะสายงานที่มีความขาดแคลนจำนวนมากและมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ประเทศ

อนึ่ง จำนวนนายแพทย์ที่กระทรวงฯ กำหนดอยู่ที่ 8.3 คนต่อประชากร 10,000 คน ปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 คน ส่วนจำนวนทันตแพทย์ที่กระทรวงฯ กำหนดอยู่ที่ 3.3 คนต่อประชากร 10,000 คน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.1 คน เภสัชกรใกล้เคียงกับอัตราที่กระทรวงฯ กำหนด

แก้ พ.ร.บ.การเดินเรือ/เรือไทย รับต่างชาติตรวจแก้ IUU

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสมอพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. … และร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ. … โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เก่าและจำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ครม. เคยอนุมัติพระราชกำหนดการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เท่านั้น

โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ หน่วยงาน International Maritime Organization หรือ IMO ซึ่งไทยเป็นสมาชิกร่วม จะเข้ามาตรวจผลการดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นปัญหา IUU ทางกระทรวงจึงเสนอพระราชกำหนดที่แก้ไขประเด็นปัญหาทั้งหมด โดยรวมการแก้ไขกฎหมายเดิมเข้ากับพระราชกำหนดที่ ครม. อนุมติไปก่อนหน้านี้ ทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างครบวงจรทั้งหมด ตั้งแต่การเดินเรือ การประมง ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับน่านน้ำไทย

ยกเว้นภาษีน้ำมันหล่อลื่น-ส่วนประกอบสินค้าขั้นกลาง/รีไซเคิล

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ยกเว้นเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันที่คล้ายกันที่ผลิตจากน้ำมันที่ใช้แล้ว รวมไปถึงส่วนที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของอื่น ขณะที่น้ำมันอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวและอยู่ในประกาศที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เก็บภาษีตามเดิม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 กระทรวงการคลังได้เริ่มเก็บภาษีดังกล่าว แต่พบว่ามีอุตสาหกรรมบางประเภทได้ใช้น้ำมันหล่อลื่นสำหรับผลิตสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งมีการรีไซเคิลและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเก็บภาษีดังกล่าวจึงเกิดปัญหาการพิจารณาคุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่นและทำให้เกิดต้นทุนและความไม่คุ้มค่าต่อการบริหารจัดการน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว จึงเห็นควรให้ต้องกำหนดอัตราภาษีให้มีความชัดเจนและเหมาะสมตามการใช้งาน

อนึ่ง การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวคาดว่าจะทำให้รัฐบาลเสียรายได้ประมาณ 1,876 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของรายได้ภาษีจากการจัดเก็บจากน้ำมันดังกล่าวเดิม

อนุมัติ “สละสิทธิ” เบี้ยสูงอายุ เข้ากองทุนชราภาพ – ช่วยผู้สูงอายุรายได้น้อย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงสามารถสละสิทธิได้รับเบี้ยคนชราตั้งแต่เดือนละ 600-1,000 บาท เข้าไปยังกองทุนชราภาพ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้เบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่สละสิทธิในอนาคตยังสามารถกลับเข้ามารับสิทธิดังกล่าวได้

“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 16% ของประชากร โดยเป็นผู้มีรายได้น้อย 3.5 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 20%  ซึ่งจากการคาดการณ์หากมีผู้สมัครใจเสียสละ 10% ของผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ หรือประมาณ 680,000 ราย จะทำให้มีงบสำหรับเบี้ยคนชราเพิ่ม 4,000 ล้านบาทต่อปี” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ครม. ได้ให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนรายละเอียดให้มีความชัดเจนในรายละเอียดก่อนจะนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง

แก้ ม.44 ผลักดัน EEC – ลดขั้นตอน/กรอบเวลา “EIA-ร่วมทุน”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในการประชุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เนื่องจากกระบวนการตามกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.​ … ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและอาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เรื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) เพิ่มการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบเร่งรัด หรือ EIA Fast Track เฉพาะโครงการสำคัญและเร่งด่วนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณารายงาน EIA ได้เป็นการเฉพาะ จากเดิมที่ระบบเดิมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องเป็นผู้พิจารณา, ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากผู้ขออนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ และในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการ หรือมีน้อยกว่า 3 ราย ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ทำนองเดียวกันกับกิจการนั้นเป็นผู้ชำนาญการศึกษาได้ ทั้งนี้ ให้ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

2) เพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรือ PPP จากเดิมที่รัฐบาลมีโครงการ PPP Fast Track ซึ่งลดระยะเวลาการพิจารณาจากเดิม 15 เดือนเหลือเพียง 9 เดือน แต่อาจจะนานไปสำหรับโครงการสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เป็นประโยชน์สูงกับประเทศอยู่แล้ว เช่น โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุต

จึงเห็นควรให้มีกระบวนการทำงานการร่วมทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนลุงทนในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยใช้เฉพาะกับโครงการเร่งด่วนใน EEC ที่คณะกรรมการนโยบายอนุมัติ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น

3) เพิ่มเติมให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยจากเดิมที่มีกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหน่วยซ่อมต้องมีสัญชาติไทย คือต้องมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% อย่างไรก็ตาม กิจการหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องปรัปปรุงลักษณะของผู้รับใบรับรองหน่วยซ่อมในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยให้ยกเว้นการถือหุ้นมากกว่า 50% ดังกล่าว

แจงตัวเลขคนมีรายได้น้อยพุ่ง เหตุประชาชนมั่นใจรัฐบาล

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงข้อสั่งการของพล.อ. ประยุทธ์ ถึงประเด็นการลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐหรือลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่ในรอบนี้เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านบาทจาก 8 ล้านคนในรอบที่ผ่านมาว่าอาจจะมีกลุ่มการเมืองบางส่วนเชื่อมโยงไปยังการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริงหลังจากตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าจำนวนผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นเป้าหมายเดิมที่เคยประมาณการไว้ และการลงทะเบียนในรอบที่ผ่านมามีการลงทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ เหตุที่ทำให้การลงทะเบียนในรอบที่ผ่านมามีจำนวนน้อยกว่าประมาณการ เนื่องจากอาจจะมีคนไม่เชื่อใจหรือถูกบิดเบือนข้อมูลว่าหากไปลงทะเบียนจะเป็นการแบ่งชนชั้น, ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว หรือถูกเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม หลังจากประชาชนเห็นการดำเนินนโยบายสวัสดิการภาครัฐในรอบแรกและการประชาสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ทำให้จำนวนผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นและสะท้อนความเป็นจริง

“หลังจากได้จำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมดแล้ว รัฐบาลจะนำไปวางแผนนโยบายและแนวทางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ต่อไป โดยการลงทะเบียนครั้งนี้ 14 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรกรรมเพียง 4.6 ล้านคนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือนอกจากเกษตรกรอีกมาก โดยผู้เข้าเกณฑ์มีรายได้น้อยจะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 2,400 บาทต่อเดือน หรือ 30,000 บาทต่อปี” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

พร้อมใช้ ม.44 ปลอดล็อกข้อกฎหมาย ล้างท่อนโยบายเร่งด่วน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยังฝากไปยังหน่วยราชการต่างๆ ถึงการดำเนินนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่อาจจะยังติดข้อกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกันและอาจจะมีข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกันจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ว่าให้หน่วยราชการต่างๆ หารือร่วมกันถึงทางออกก่อนจะส่งเรื่องมาพิจารณาใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ แทน

สั่งราชการเตรียมรับมือน้ำท่วมหลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วม หลังจากในช่วงที่ผ่านมาฝนได้ตกต่อเนื่องหลายวัน โดยให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมกระสอบทรายให้พร้อมใช้, ให้เตรียมปรับปรุงหรือซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมต่างๆ ให้มีความพร้อม และหากไม่ทันให้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แทน, ขอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานอาสาสมัครของนักเรียนอาชีวะ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกซ่อมแซมรถยนต์แก่ประชาชนตามที่ต่างๆ และให้ กทม. ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ต่างๆ ไม่ให้หักโค่นหรือล้มสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มความปลอดภัย หลังจากเกิดเหตุระเบิดติดต่อกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองคนเข้าออกตามสถานที่สำคัญต่างๆ, การปรับปรุงซ่อมแซมไฟส่องสว่าง รวมไปถึงกล้องวงจรปิดให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม พร้อมกันนี้จะได้ขอให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันสอดส่องความผิดปกติต่างๆ ด้วย