ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในโรมาเนีย จากต่อต้าน “เผด็จการเชาเชสคู” สู่ “ยุคม็อบไฟฉาย”

คอร์รัปชันในโรมาเนีย จากต่อต้าน “เผด็จการเชาเชสคู” สู่ “ยุคม็อบไฟฉาย”

20 กุมภาพันธ์ 2017


Hesse004

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกตีข่าวเรื่องการลุกฮือของชาวโรมาเนียเกือบครึ่งล้านเพื่อต่อต้านกฎหมายลดโทษนักการเมืองในคดีการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกผลักดันออกมาในร่างพระราชกฤษฎีกา (Decree) โดยรัฐบาลของนายโซริน กรินเดียนู (Sorin Grindeanu) นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การให้ผู้ที่ฉ้อโกงหรือรับสินบนจำนวนเงินไม่เกิน 44,000 ยูโร (ราวๆ 1.67 ล้านบาท) ไม่ต้องถูกดำเนินคดี

หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะทำให้นายลิวิยู ดรักเนีย (Liviu Dragnea) ซึ่งเป็นแกนนำพรรค PSD และเป็นพันธมิตรของนายกรินเดียนูพ้นโทษไปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการชุมนุมประท้วงโดยชาวโรมาเนียร่วม 500,000 คน ที่นัดรวมตัวกัน ณ จัตุรัส Victory และปราศรัยต่อต้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว นี่นับเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่อีกครั้งหลังโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ของนายนิโคไล เชาเชสคู (Nicolae Ceausescu)

การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความน่าสนใจ คือ พวกเขาใช้สัญลักษณ์ต่อต้านร่างกฎหมายด้วยการเปิดไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ (Smartphone light up) เพื่อแสดงพลังคัดค้านรัฐบาลนายกรินเดียนู

“ม็อบไฟฉาย” นี้ปักหลักกดดันเพื่อให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายดังกล่าว และประสบความสำเร็จเมื่อนายกรินเดียนูยอมถอนร่างนี้ไป

แต่เหมือนจะเข้า “สูตรสำเร็จ” ของการเคลื่อนไหว ม็อบไฟฉายพยายามกดดันต่อให้นายกรินเดียนูลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

ก่อนหน้าการชุมนุมประท้วงใหญ่เพียงไม่กี่วัน โรมาเนียเพิ่งจะกระหยิ่มยิ้มย่องกับผลคะแนนความโปร่งใสที่ดีขึ้นในรอบ 5 ปี โดยโรมาเนียได้คะแนน Corruption Perceptions Index 48 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) ดูตารางประกอบ

โรมาเนีย

จากตาราง จะเห็นได้ว่า ค่า CPI ปี 2016 ของโรมาเนียดีขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน และเมื่อเทียบในรอบ 5 ปี คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 4 แต้ม โดยปีนี้โรมาเนียได้ 48 เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 57 ของโลก (จาก 176 ประเทศ) เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกด้วยกันแล้ว โรมาเนียจัดว่ามีพัฒนาการเรื่องความโปร่งใสดีขึ้นมากเลยทีเดียว

ม็อบไฟฉาย ชาวโรมเนียร่วมครึ่งล้านรวมตัวกันเปิดไฟโทรศัพท์มือถือประท้วงรัฐบาลนายกรินเดียนู ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2017/02/09/world/europe/romania-corruption-coruptie-guvern-justitie.html?_r=2

ม็อบไฟฉาย ชาวโรมาเนียร่วมครึ่งล้านรวมตัวกันเปิดไฟโทรศัพท์มือถือประท้วงรัฐบาลนายกรินเดียนู

เหตุผลสำคัญที่ทำให้โรมาเนียมีค่าความโปร่งใสที่ดีขึ้นก็ด้วยความเข้มแข็งของหน่วยงานปราบปรามการทุจริต หรือ National Anticorruption Directorate (DNA) ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและเอาผิดคดีคอร์รัปชันแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

DNA ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2003 (หลัง ป.ป.ช.) แต่มาสร้างชื่อเมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยสามารถสืบสวน สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่น อดีตรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังรวมถึงตัวผู้พิพากษา อัยการ ที่มีส่วนพัวพันกับเรื่องคอร์รัปชันด้วย

ภาพลักษณ์ของ DNA ได้รับความเชื่อมั่นในสายตาของประชาชน เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นต่อรัฐสภา…ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ไม่มีใบสั่งทางการเมือง หรือไม่ได้มีหลายมาตรฐานในการทำงานปราบปรามคอร์รัปชัน

น่าสนใจว่า การที่โรมาเนียมีค่าคะแนน CPI ดีขึ้น นอกจากจะมาจากความเข้มแข็งของ DNA แล้ว อีกปัจจัยสำคัญมาจากการเรียกร้องของภาคประชาชนชาวโรมาเนียเองด้วย

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าชาวโรมาเนียจะคุ้นเคยกับการต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่ความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลเชาเชสคู ตั้งแต่ปี ค.ศ.19891 แล้ว

ย้อนหลังกลับไปปลายปี 89 ในปีนั้นเป็นปีที่เผด็จการคอมมิวนิสต์โรมาเนีย “นิโคไล เชาเชสคู” ถูกโค่นล้มด้วยน้ำมือของประชาชนชาวโรมาเนีย2

ในยุคเชาเชสคู โรมาเนียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่ง เชาเชสคูปกครองประเทศด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน สูบใช้ทรัพยากรแผ่นดิน ฉ้อฉลตามประสาเผด็จการที่บ้าอำนาจ

การคอร์รัปชันในระบอบเชาเชสคู เป็นการคอร์รัปชันที่ยากจะมีผู้ใดตรวจสอบ ไม่มีใครกล้าโค่นล้ม เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียและข้ารัฐการล้วนเสวยสุขบนความเดือดร้อนของประชาชน

ระบบปันส่วนอาหารและสิ่งจำเป็นถูกนำมาใช้กับประชาชน ส่วนเหล่าชนชั้นนำกลับได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ

ความกดดันคั่งแค้นสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปลายปี 89 เกิดเหตุการณ์อุ้มบาทหลวงฝีปากกล้า Lazlo Tokes ที่วิจารณ์รัฐบาลเชาเชสคู เหตุการณ์นี้จุดชนวนให้เกิดการลุกฮือขึ้นที่เมือง Transylvanian City Timisoara ทางตะวันตกของโรมาเนีย

การลุกขึ้นสู้เริ่มจากการประท้วง จนนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ และถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมโดยกองกำลังรัฐบาล

เชาเชสคู ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Nicolae_Ceau%C8%99escu#/media/File:TimbruNicolaeCeausescu.png
เชาเชสคู ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Nicolae_Ceau%C8%99escu#/media/File:TimbruNicolaeCeausescu.png

ระหว่างการปราบปรามที่ Timisoara เชาเชสคูอยู่ระหว่างการเยือนอิหร่าน และเมื่อเขากลับมา สิ่งแรกที่ทำคือ การเรียกความเชื่อมั่นโดยนัด (บังคับ) ให้เหล่ากองเชียร์พ่อยกแม่ยกมารวมตัวกันที่กลางกรุงบูคาเรสต์ โดยเขาตั้งใจจะเรียกคะแนนนิยมด้วยการปาฐกถาอวยตัวเอง ว่ากำลังสร้างรัฐบาลสังคมนิยมอันยิ่งใหญ่

การปาฐกถาของผู้นำเผด็จการในวันนั้น (21 ธ.ค. 1989) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของเชาเชสคู เมื่อฝูงชนต่างเบื่อหน่ายกับคำสัญญาลมๆ แล้งๆ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

จำนวนผู้คนต่างทยอยมาช่วยกัน “เชียร์” เชาเชสคู ให้ลงจากตำแหน่งมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอน เมื่อคนยิ่งมากขึ้น การควบคุมสถานการณ์จึงกลายเป็นเรื่องยากลำบาก จนกระทั่งนำไปสู่การจลาจล และปราบปรามฝูงชนอย่างโหดเหี้ยมในที่สุด

การลุกฮือของประชาชนของโรมาเนียในปี 1989 ได้แรงสนับสนุนจากกองทัพที่ “กลับใจ” หันเข้าข้างประชาชน เชาเชสคูประกาศกฎอัยการศึกเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์

การต่อสู้ได้ลุกลามเป็น “สงครามกลางเมือง” นิโคไล เชาเชสคู และภรรยาของเขา เอลินา เชาเชสคู ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนี หลังจากประชาชนเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กองกำลังที่ยังสนับสนุนเชาเชสคู (USLA) ได้ต่อสู้กับประชาชนและกองทัพที่หันกระบอกปืนกลับไปที่เชาเชสคู

การปฏิวัติครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โรมาเนียได้เกิดขึ้นแล้ว “บูคาเรสต์” เมืองหลวงกลายเป็นสมรภูมิสงคราม ส่วนเชาเชสคูพยายามหลบหนี แต่ท้ายที่สุดเขาถูกจับได้

เหตุการณ์สงบในวันที่ 25 ธ.ค. 1989 วันคริสต์มาสที่กลายเป็นคริสต์มาสเลือดและเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของประเทศโรมาเนีย การปฏิวัติครั้งนั้นจึงถูกขนานนามว่า Christmas Revolution3

เชาเชสคูและภรรยาของเขาถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยข้อหาร้ายแรงตั้งแต่ทำลายชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไปจนกระทั่งการยักยอกฉ้อฉลทรัพย์สมบัติของชาติ

วาระสุดท้ายของเชาเชสคู ที่ไม่เหลือมาดผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในโลกคอมมิวนิสต์ ที่มาภาพ : http://www.communistvampires.com/ceausescu1.jpg
วาระสุดท้ายของเชาเชสคู ที่ไม่เหลือมาดผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในโลกคอมมิวนิสต์
ที่มาภาพ: http://www.communistvampires.com/ceausescu1.jpg

ผ่านมาแล้ว 27 ปี หลังโค่นล้มอำนาจเชาเชสคู โรมาเนียก็ยังหนีไม่พ้นกับดักปัญหาการคอร์รัปชันเหมือนหลายประเทศในยุโรปตะวันออกต้องเผชิญ เพียงแต่ว่า กลไกต่อต้านคอร์รัปชันในโรมาเนียเริ่มทำงานดีขึ้นจากตัวหน่วยงานอย่าง DNA ก็ดี หรือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเรียกร้อง ประท้วงก็ดี

การประท้วงเรียกร้องหลังยุคเชาเชสคูทำให้รัฐบาลชุดหลังๆ กลัวพลังประชาชนมากขึ้น ที่สำคัญ คือ กลัวมือที่สามเข้าแทรกแซง เพราะคงไม่มีผู้นำคนไหนอยากมี “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” และมีจุดจบเช่นเดียวกับนิโคไล เชาเชสคู

หมายเหตุ :

1. ผู้สนใจโปรดดูบทความของ Raluca Besliu ในเรื่อง The Arab Spring, The Turkish Summer, The Romania Autumn “Romanian Protests as a model of Peaceful”

2. กรณีการโค่นล้มนายเชาเชสคู ยังมีข้อมูลที่น่าสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของ KGB ของรัฐบาลมอสโคว์ว่าเข้ามามีส่วนก่อความวุ่นวาย จัดฉากให้มีลักษณะเป็น Conspiracy theory หรือไม่ เนื่องจากนายเชาเชสคูปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลนายกอร์บาชอฟ โดยยังเลือกแนวทางสังคมนิยมตามพรรคคอมมิวนิสต์ต่อไป ผู้สนใจโปรดดู 1989 Revolution in Romania: A Violent Popular Oust – Certainties and Uncertainties ของ Professor Mihai Manea

3. ยังมีอีกหนึ่งบทความในบล็อกของ Rupert Murray แห่ง Huffington Post ที่เขียนถึงความน่าสงสัยว่า Christmas Revolution ในโรมาเนียนั้นเป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจของคนในพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียที่ต้องการขึ้นมาแทนเชาเชสคูและมี KGB หนุนหลังช่วย โปรดดูที่นี่