ThaiPublica > เกาะกระแส > คำตีความ “นัยที่เปลี่ยนไป” ของ “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20”

คำตีความ “นัยที่เปลี่ยนไป” ของ “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20”

8 เมษายน 2017


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แก่นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถูกประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 โดยถือเป็น “กติกาสูงสุด” ที่ถูกเขียนขึ้นในห้วงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศ ไล่ตั้งแต่…

เป็น “ร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 2” ที่ถูกจัดทำขึ้นในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติ “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”

เป็น “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2” ที่ผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติด้วยคะแนนกว่า 16.8 ล้านเสียง นับจากฉบับแรกปี 2550

เป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ถูกแก้ไข “ร่างสุดท้าย” หลังผ่านประชามติถึง 3 ครั้ง ได้แก่ แก้ไขบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับ “คำถามพ่วง” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านประชามติเช่นกัน, แก้ไขคำปรารภให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปจากการ “เปลี่ยนแผ่นดิน” และแก้ไขเนื้อหาตามข้อสังเกตพระราชทาน ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ 2 แผ่นดิน”

เป็น “รัฐธรรมนูญ” ที่ถูกประกาศใช้โดยอาศัยฤกษ์ “มหามงคล” วันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อ 235 ปีก่อน

เป็น “รัฐธรรมนูญ” ที่มีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญในรอบ 49 ปี นับจากฉบับปี 2511

เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20” ในรอบ 85 ปีของประชาธิปไตยไทย

สำหรับเนื้อหารัฐธรรมนูญปี 2560 มีทั้งสิ้น 16 หมวด รวม 279 มาตรา (อ่านเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ที่นี่) ซึ่งภายหลังรัฐบาลขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่อนำมาปรับแก้ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน โดยตั้ง “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ” 11 คน มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ปรากฏว่ามีการปรับแก้เนื้อหาใหม่ใน 3 หมวด รวม 7 มาตรา ส่วนใหญ่อยู่ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ (อ่านรายละเอียดในล้อมการกรอบ)

แต่รายละเอียดที่น่าสนใจ อยู่ในหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 5 ระบุว่า “…เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

โดยตัดอำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุม 12 ประมุของค์กรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ เพื่อ “ผ่าทางตัน” กรณีเกิดวิกฤติการเมืองออกไป

ทั้งที่เรื่องนี้เป็น “สูตรการเมืองใหม่” ที่ “มือยกร่างรัฐธรรมนูญ” ยุค คสช. ทั้งชุด “บวรศักดิ์” และ “มีชัย” คิดค้นขึ้น โดยยกอำนาจตาม “มาตรา 7” ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อยุติการแอบอ้าง-ดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกรณีนักเคลื่อนไหวการเมืองใช้มาตรานี้ เสนอขอ “นายกฯ พระราชทาน”

แม้การ “ติดดาบศาลรัฐธรรมนูญ” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. จะเรียกเสียงวิจารณ์จากทั้งนักวิชาการ-นักการเมืองอย่างกว้างขวาง เพราะเกรงเกิด “วิกฤติซ้ำ” จากภาพลักษณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในช่วง 12 ปีของวิกฤติการเมือง จนนำไปสู่วาทกรรม “2 มาตรฐาน-ตุลาการภิวัฒน์-รัฐประหารบนบัลลังก์” แต่ กรธ. ก็ยืนยันเจตนารมณ์เดิม และเข็นประเด็นนี้ลงร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ตัดสินใจผ่านกระบวนการประชามติ

วันนี้เมื่อความตั้งใจของ กรธ. หล่นหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมีคำอธิบายความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้น

“ก็ความหมายว่ากลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงแต่ว่าช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดกว้างขึ้นมา… มันแปลว่าเมื่อมันไม่มีทางออก ถึงจะไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากมันมีประเพณีอย่างอื่นที่เรายังนึกไม่ออก ถึงตอนนั้นก็อาจจะนึกออกก็ได้ ก็ใช้ไปตามประเพณีการปกครอง” มีชัยระบุ

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้มายาวนานถึง 2 ปี 11 เดือนสิ้นสุดลง แต่สิ่งที่ยังอยู่คือ “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.

“รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลาย และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้แต่ คสช. ก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้ว ยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป และแก้ปัญหาของประเทศซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวระหว่างแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ค่ำวันที่ 6 เมษายน 2560

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐบาล คสช. จะพ้นจากวงโคจรอำนาจ ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่นั่นไม่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากคำสั่งตามมาตรา 44 คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง เว้นแต่รัฐบาลชุดใหม่จะออกพระราชบัญญัติมายกเลิก
แต่กว่าจะถึงวันนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะแปรสภาพเป็น “โรงงานปั๊มกฎหมาย” เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

18 เมษายน 2560: กรธ. ส่งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับแรกเข้าสู่การพิจารณาของสภา คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่ง สนช. ต้องพิจารณาให้จบภายใน 2 เดือน ก่อนที่ กรธ. จะทยอยส่งร่างกฎหมายลูกอื่นๆ เข้าสภาจนครบ 10 ฉบับภายใน 8 เดือน ทั้งนี้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ออกมาดักคอแล้วว่า “อย่ามโน” หลังมีข่าวลือ-ข่าวปล่อยว่า สนช. อาจคว่ำร่างกฎหมายกลางสภา

20 เมษายน 2560: ครม. ส่งร่างกฎหมายสำคัญอีก 2 ฉบับเข้าสภา คือร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และต้องคลอดภายใน 4 เดือนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ภายใน 1 ธันวาคม 2560: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งร่างกฎหมาย 3 ฉบับ และผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชนหรือชุมชน (มาตรา 58) ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง (มาตรา 62) และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต (มาตรา 63) หากกฎหมายเหล่านี้ไม่ถูกประกาศใช้ภายใน 8 เดือน จะมี “ปลัด 6 กระทรวง” ต้องสังเวยตำแหน่ง

ทั้งหมดคือ “เงื่อนเวลาทางกฎหมาย” ที่ไม่อาจเลื่อนไหล ต่างจาก “เงื่อนเวลาทางการเมือง” แม้นายกฯ ประกาศ “เริ่มต้นนับหนึ่ง” ตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่กลับบอกว่า “รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด”

อย่างไรก็ตาม ถ้ายึดตามปฏิทินการเมืองฉบับ กรธ. ซึ่งพลิกกฎหมายคำนวณมาเป็นอย่างดี พบว่า คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน-คืนประชาธิปไตยให้ประเทศภายใน 16-19 เดือน

นั่นเท่ากับว่า “รัฐบาลที่มาด้วยอำนาจพิเศษ” จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองไทย ด้วยการอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 4 ปี 7 เดือน!!!