บรรยง พงษ์พานิช
ในสองตอนแรก ผมเขียนถึงการพนันในคาสิโน การพนันแข่งหมาแข่งม้า การแทงหวย การซื้อลอตเตอรี่ และทิ้งท้ายว่าจะเขียนถึงการประกันภัย ประกันชีวิต โดยบอกว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่ง มีคนสงสัยทักท้วงมาว่า การประกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลส่งเสริม อยากให้ประชาชนทำประกัน มีถึงกับการให้หักภาษีได้จากการจ่ายเบี้ยประกันบางประเภทเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผลก็เท่ากับรัฐยอมช่วยจ่ายเบี้ยประกันบางส่วนให้ด้วย จะถือเป็นการพนันได้อย่างไร ซึ่งพวกเราถูกสั่งสอนฝังหัวว่าการพนันนั้นเป็นหนึ่งในอบายมุข 4 (นักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงพนัน และการคบคนชั่ว) ซึ่งเป็นหนทางแห่งความเสื่อม ความฉิบหาย วิญญูชนทั้งหลายควรหลีกเลี่ยง
สำหรับผมแล้ว การประกัน ทั้งประกันภัย ประกันชีวิต นั้นสามารถมองได้ว่าเป็นการพนัน แต่ไม่ใช่การพนันที่เป็นอบายมุข เป็นการพนันที่มีประโยชน์ แต่ถึงจะมีประโยชน์ ก็มีต้นทุนสูงไม่น้อย คนที่จะซื้อประกันควรที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจว่าการซื้อประกันนั้นเป็นอย่างไร ส่วนไหนเป็นเรื่องการพนัน ส่วนไหนเป็นเรื่องของการออม เจ้ามือ (บริษัทประกัน) นั้นเขาเอาเปรียบเรามากน้อยเท่าใดในการประกันแต่ละประเภท
ทำไมผมถึงบอกว่าการซื้อประกันเท่ากับการพนัน จะขออธิบายให้ฟังนะครับ โดยยกตัวอย่างที่ง่ายก่อนอย่างการซื้อประกันไฟซึ่งซื้อกันทีละปี ก็ชัดเจนนะครับว่า ถ้าเราซื้อประกันไฟบ้านก็เท่ากับว่าเราพนันว่าบ้านเราจะไฟไหม้ในหนึ่งปีข้างหน้า บริษัทประกันก็เป็นเจ้ามือรับแทงโดยถือหางอีกข้างว่าไฟจะไม่ไหม้บ้านเราหรอก ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าประกันไฟ รวมภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น พายุ น้ำท่วม จะอยู่ประมาณ ล้านละพัน ซึ่งก็คือ ถ้าจะเอาทุนประกันหนึ่งล้านบาท ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันหนึ่งพันบาท นั่นก็เท่ากับว่าเจ้ามือ (บริษัทประกัน) เขาต่อให้เราพันเอาหนึ่งว่าไฟไม่ไหม้บ้านเราหรอก ถ้าเกิดไฟไหม้เขาก็ต้องจ่ายให้เราตามความเสียหายแต่ไม่เกินทุนประกันที่เราซื้อ(ซึ่งเขาก็ระวังไม่ให้เกินมูลค่าทรัพย์สินเพราะกลัวเราจะเผาบ้านเอาประกัน) ถ้าไม่ไหม้เขาก็กินเงินแทงเราไป
บริษัทประกันนั้น เขามีลูกค้าจำนวนมาก กับยังสามารถออกตัว คือไปซื้อประกันภัยต่อได้อีก เพราะฉะนั้น เขากระจายความเสี่ยงได้ และการจ่ายสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดภัยก็มักจะเป็นไปตามอัตราเฉลี่ย ซึ่งสำหรับการจ่ายสินไหมทดแทนในการประกันไฟนั้น โดยปกติบริษัทประกันภัยไทยจะมี Loss Ratio สำหรับประกันภัยบ้านอยู่ที่แค่ 28-32% เท่านั้น หมายความว่าถ้าเขารับเบี้ยประกันไปร้อยล้านบาทในหนึ่งปี เขาจะจ่ายค่าสินไหมสำหรับความเสียหายให้กับผู้เอาประกันเพียงแค่ 28-32 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือจ่ายเป็นค่านายหน้าเสียเกือบพอๆ กันคือ 23-28% แล้วก็มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ เช่น ค่าตึกหรูๆ ค่าเงินเดือนแพงๆ ค่าโฆษณา (เช่น ซื้อหน้าอกเสื้อทีมฟุตบอล ฯลฯ) เหลือกำไรประมาณ 10% …แต่นานๆ ทีบริษัทประกันก็มีโดนแจ็กพอตได้เหมือนกัน ถ้ามีเหตุการณ์ Black Swan เช่น ภัยพิบัติในวงกว้าง อย่างเช่น จลาจลเผาเมือง หรือน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ทำเอาบริษัทประกันไทยส่วนใหญ่ขาดทุนกันทั่วหน้า
สรุปว่า ถ้าซื้อประกันไฟบ้านในเมืองไทย ถ้ามองในแง่สถิติ ก็เท่ากับว่าวางเงินไปร้อยบาท ก็เหลือมูลค่าคาดหวัง (Expected Value) แค่ 27-32 บาทเท่านั้น มันเป็นการพนันที่เจ้ามือเอาเปรียบ (House edge) สูงถึง 68-72% ทีเดียว นับว่าเป็นอัตราเสียเปรียบมากที่สุดในบรรดาการพนันทั้งหลายแหล่
ประกันวินาศภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็คือการประกันภัยรถยนต์ ซึ่งก็คือการที่เราไปพนันว่ารถเราจะมีอุบัติเหตุหรือถูกขโมยแต่เขารับแทงว่าไม่มีหรอก ไม่หายหรอก ถ้าชนถ้าหายจะรับใช้ให้ แต่ละปีมีผู้จ่ายเบี้ยประกันประมาณ 120,000 ล้านบาท (จากประกันวินาศภัยทั้งหมด 200,000 ล้านบาทต่อปี) แต่เนื่องจากมีการแข่งขันกันมาก Loss Ratio ของประกันรถยนต์จึงสูงกว่าการประกันไฟมาก คือ อยู่ที่ประมาณ 50-60% ซึ่งมีน้อยบริษัทที่มีกำไร นอกจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี พอจะกล่าวได้ว่าซื้อประกันรถยนต์เป็นการพนันที่แย่กว่าซื้อลอตเตอรี่ไม่มากนัก
ถามว่า ถ้าการซื้อประกันภัยเป็นการพนันที่เจ้ามือเอาเปรียบมากมายอย่างที่ว่า แล้วทำไมคนถึงยังซื้อประกัน แถมรัฐยังส่งเสริมให้คนซื้อประกันเพื่อลดความเสี่ยงอีกด้วย …ซึ่งการที่คนมีประกันภัยเยอะๆ จะช่วยกระจายความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทุกรัฐจึงส่งเสริม แต่การที่คนซื้อประกันนั้น นอกจากพวกที่โดนบังคับเพราะกู้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ซึ่งเจ้าหนี้เขากำหนดว่าต้องมีประกันแล้ว คนที่ซื้อโดยสมัครใจก็ยังสามารถอธิบายได้โดยใช้ทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utility Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ตามหลักของทฤษฎีอรรถประโยชน์บอกว่า เงินบาทแรกๆ ของเราย่อมมีคุณค่าหรืออรรถประโยชน์ต่อเรามากกว่าเงินบาทท้ายๆ เสมอ (Law of diminishing marginal utilities) เช่น เงินบาทที่หนึ่ง ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินบาทที่ล้าน ซึ่งบาทที่ล้านก็ย่อมมีคุณค่ามากกว่าบาทที่สิบล้านเป็นลำดับกันไป คนจึงยอมที่จะเอาเงินส่วนท้ายๆ ของเขาไปซื้อประกันเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินที่มีความสำคัญให้อรรถประโยชน์มากกว่าอย่างบ้าน อย่างรถยนต์ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตจะได้รับการคุ้มครอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยินดีที่จะกินหรูลดลงหน่อย หรือท่องเที่ยวให้น้อยลง เพื่อเจียดเงินไปซื้อประกันไฟบ้าน ประกันรถ ทั้งๆ ที่เสียเปรียบเจ้ามือมากมาย เพราะเงินที่เอาไปจ่ายนั้น แท้จริงแล้วมีอรรถประโยชน์ต่อหน่วยน้อยกว่าการที่บ้านที่รถจะได้รับการคุ้มครอง ถึงจะเสียเปรียบบ้างก็ยังมีเหตุผลสมควรทำ ไม่ได้เป็นการกระทำที่หน้ามืดตามัวเหมือนการพนันที่เป็นอบายมุขอื่นๆ (ความจริงการพนันที่เสียเปรียบมากๆ แต่มีโอกาสได้ทีละเยอะๆ เช่น Lotto แต่คนยังเล่นก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Utility นี้เหมือนกัน แต่คนที่ทำเช่นนั้นมักจะเป็นพวกที่มีเส้น Utility เป็น S curve)
ทีนี้ถามว่า คนอย่างไหนถึงควรซื้อประกัน และควรซื้อประกันอะไร ถ้าตอบตามทฤษฎีก็คือ คนชั้นกลางที่ทรัพย์สินที่ตัวเองเอาประกันนั้นเป็นส่วนต้นส่วนสำคัญของความมั่งคั่ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีความมั่งคั่งสิบล้านบาท โดยในทรัพย์สินนั้นเป็นบ้านซึ่งสมมติว่ามูลค่าแปดล้าน เป็นรถเสียหนึ่งล้าน แล้วเขามีรายได้ปีละหนึ่งล้านบาท การที่เขาจะยอมเจียดเงินปีละ 8,000 บาทไปประกันบ้าน อีก 15,000 บาทไปประกันรถ ย่อมเป็นเรื่องมีเหตุผล ถึงแม้ว่าเงินที่จ่ายไป 23,000 จะดูเหมือนว่ามีค่าคาดหวัง (expected value) เหลือแค่เพียง 10,000 บาท (ตามสถิติ loss ratio) ในทันที เพราะถ้าเขาศูนย์เสียบ้านและรถไปคงจะเป็นเรื่องใหญ่และยากที่จะสะสมเงินขึ้นมาใหม่ ในขณะที่สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนอาจเป็นแค่การต้องลดการเดินห้างไปสี่ห้าวันต่อปี
ตามหลักการแล้ว คนมีเงิน คนรวยมากๆ จะไม่ซื้อประกัน เพราะไม่มีทรัพย์สินชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่มีค่าเป็นส่วนสำคัญแรกๆ เลย เช่น ถ้าคุณมีเงินห้าพันล้าน ถึงจะมีบ้านมูลค่าสักร้อยล้าน ต่อให้บ้านจะถูกไฟไหม้หมดคุณก็สามารถสร้างใหม่ได้เอง ดีกว่าที่จะควักเงินปีละแสนไปซื้อประกัน เพราะโอกาสมีไฟไหม้แค่หนึ่งในสามพัน แต่เขาจ่ายค่าทดแทนให้คุณแค่พันเท่าเอง (แต่เอาเข้าจริงคนรวยก็ยังซื้อประกันทรัพย์สินชิ้นใหญ่ๆ อยู่ ก็เพราะ law of diminishing marginal utilities นี่แหละครับ)
…ยิ่งการซื้อประกันรถยนต์คนรวยที่มีรถหลายคันยิ่งไม่ควรซื้อใหญ่ เพราะการใช้ต่อคันก็น้อยกว่าเฉลี่ยมากมาย โอกาสชนโอกาสมีอุบัติเหตุย่อมน้อยกว่า และรถหรูมีโอกาสหายโอกาสถูกขโมยน้อยกว่าเยอะ แถมถ้าชนถ้าหายเขาก็ซื้อใหม่ได้สบายๆ ไม่ถึงกับเดือดร้อนมาก …อย่างผมที่มีรถ 4 คัน ถ้าซื้อประกันชั้นหนึ่งต้องจ่ายปีละกว่าสี่แสนบาท นี่ซื้อแค่ พ.ร.บ. ตามที่กฎหมายบังคับ ยังไม่มีปีไหนเลยที่จ่ายค่าซ่อมเกินปีละห้าหมื่นบาท เฉลี่ยแค่ปีละสองสามหมื่นเอง ซึ่งสมมติถ้าซวยสุดถูกยกเค้าหายไปทั้งสี่คัน (ซึ่งมีโอกาสเกิดไม่ถึงหนึ่งในพันล้าน) ผมก็ซื้อใหม่ได้ เรื่องอะไรจะไปเล่นพนันที่เสียเปรียบขนาดนั้น
ที่ว่ามานั้นเป็นการประกันภัย ซึ่งเป็นการพนันถูกกฎหมายที่มีประโยชน์ ซึ่งปีหนึ่งๆ มีขนาดเบี้ยประกันรวมประมาณสองแสนล้านบาท (สองเท่าของลอตเตอรี่) แต่มีการจ่ายค่าสินไหมแค่ แปดถึงเก้าหมื่นล้านบาท เจ้ามือรับกินไปถึงแสนกว่าล้าน เป็นค่านายหน้า ค่าตึกหรู ค่าเงินเดือนแพงๆ ค่าโฆษณา อุปถัมภ์ทีมบอล ฯลฯ ที่เหลือเป็นกำไรให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งก็ไม่ใช่อัตราที่สูงมาก
ลองมาดูกันหน่อยไหมว่าประกันภัยไทยมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน ที่ผมว่าประกันไฟ loss ratio ประมาณ 30% ประกันรถ loss ratio ประมาณ 55% นั้นมันสูงมันต่ำเพียงใด ค่าเบี้ยประกันภัยเราถูกแพงเพียงไหนเพราะอะไร …จะขอเปรียบเทียบกับของอเมริกาให้ดูนะครับ
อัตราสินไหมจ่าย (loss ratio) เฉลี่ยของประกันไฟของเขาอยู่ที่ 62% ถ้าเป็นประกันรถเขาจะมีเคลมอยู่ที่ 72-75% ของเบี้ยประกันเลยทีเดียว …ซึ่งถามว่าที่มันสูงกว่าเราตั้งเยอะนี่เป็นเพราะไอ้กันมันไฟไหม้วินาศสันตะโรกันทุกเมือง แถมรถชนกันทั่วยิ่งกว่าสงกรานต์เราหรือไง …เปล่าเลยครับ ที่เป็นเช่นนั้นมันเป็นเพราะอัตราเบี้ยประกันเขาต่ำกว่าเรามากๆๆๆๆ ต่างหาก ทั้งๆ ที่อัตราเกิดภัยเขาก็ต่ำกว่าเรามาก เขายังเอากำไร (House edge) น้อยกว่าของเราเยอะ เพราะเขามีการแข่งขันที่เข้มข้นเลยต้องมีการตลาด การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ และตลาดเขาใหญ่ อัตราค่าเบี้ยประกันไฟประกันรถต่อทุนประกันของเขาเฉลี่ยตกแค่หนึ่งในสี่ของเราเท่านั้นเอง นั่นก็คือจะประกันไฟล้านบาทค่าเบี้ยปีละแค่ 250 บาท (ของเราพันนึง) ประกันรถล้านบาทค่าเบี้ยปีละ 5,000 บาท (ของเราสองหมื่น) แล้วเขาก็ยังมีกำไรดี นี่ Progressive Insurance บริษัทประกันใหญ่เขาก็ประกาศว่ากำลังพิจารณาจะลดอัตราเบี้ยประกันลงอีก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด …นี่แหละครับต้นทุนการบริหารการเสี่ยงภัยของบ้านเราถึงได้จัดว่าสูงกว่าชาวบ้านเขา มีส่วนในการบั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันไป
ถามว่าทำไมต้นทุนการประกันภัยเราถึงแพงนัก แน่นอนครับมันมาจากหลายเหตุผล อัตราเสี่ยงภัยเราสูงกว่า ค่าใช้จ่ายมากกว่า ค่าการตลาดสูง ค่านายหน้าแพง และตลาดเราเล็กกว่า ไม่ได้ Economic of scale อย่างเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน คปภ. จะต้องดูแลต่อไปเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ
แต่เหตุผลหนึ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะมีการแข่งขันไม่น้อยมีบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับใบอนุญาตถึง 42 แห่ง แต่ด้วยความรักชาติเราก็ยังบังคับว่าทุกแห่งต้องมีผู้ถือสัญชาติไทยเกินสามในสี่ (75%) เลยทีเดียว (ถ้าจำเป็น ซึ่งมักแปลว่าจวนเจ๊งถึงจะยอมให้ต่างชาติถือ 49% ได้) ส่วนต่างชาติถ้าอยากเปิดสาขาก็จะมีเงื่อนไขสารพัด เรียกว่าให้แข่งได้ แต่ต้องแบกกระสอบทรายวิ่งแข่งนะ
ด้วยความรักชาติแบบนี้แหละครับ ถึงมีส่วนให้เบี้ยมันแพง สบายเจ้าสัวผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 42 บริษัทนั่นไป บนภาระของชาวไทยรักชาติผู้เอาประกันกว่าสิบล้านคน และเพิ่มต้นทุนของประเทศบั่นทอนศักยภาพ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้าย คือการประกันชีวิต ที่คล้ายกับการประกันภัยแต่มีส่วนผสมของการออมและการพนันปนกันอยู่ ซึ่งเพื่อไม่ให้บทความยาวจนเป็นที่น่าเบื่อ ผมคงต้องขออนุญาตยกยอดไปตอนหน้า ซึ่งจะเป็นตอนจบของซีรี่สว่าด้วยการพนันแน่นอนครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก : เฟซบุ๊กBanyong Pongpanichวันที่ 15 เมษายน 2560