วรากรณ์ สามโกเศศ
ถึงแม้ตอนเกิดแสนจะเป็นเด็กธรรมดา ไม่มีข้อได้เปรียบทางสังคม แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปกลับเป็นคนพิเศษของสังคมไทย เป็นที่รักของผู้คนเพราะวัตรปฏิบัติส่วนตัวและคุณประโยชน์ที่ทำให้แก่แผ่นดินจนเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย และได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปี ชาตกาลในปี 2559 ใช่แล้วครับผมกำลังจะพูดถึงท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
เดือนมีนาคมเป็นเดือนเกิดของท่าน ในวาระชาตกาล 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่มเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่าน ตลอดจนมีชุดวีดีทัศน์เกี่ยวกับผลงาน หนึ่งในจำนวนหนังสือนั้นคือ “เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” เขียนโดยป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ปิยมิตรของท่าน ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2498 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว
“เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” มีคำนิยมโดยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทยผู้มีผลงานโดดเด่นมากมาย เป็นที่รักใคร่ของมิตรและศิษย์ กษิดิศ อนันทนาธร ผู้ทำงานหนักอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “งาน 100 ปี ชาตกาลอาจารย์ป๋วย” ได้เลือกบุคคลที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ผู้เขียนขอนำเอาข้อเขียนบางส่วนของ ดร.ฉัตรทิพย์ ซึ่งสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างกะทัดรัดมาสื่อต่อดังต่อไปนี้
“…..หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเศรษฐกิจแห่งชาติ คือเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย หรือการทำมาหากินของประชาชนไทยเรา ท่านอาจารย์ป๋วยนึกถึงเศรษฐกิจเมืองไทยโดยประยุกต์หลักเศรษฐศาสตร์อธิบาย
….ในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจแห่งชาติ ท่านอาจารย์ป๋วยอธิบายว่ามีเรื่องอยู่ 3 เรื่อง คือ
1) การเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ 2) การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ และ 3) การแก้สภาพลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ป๋วยเรียกเรื่องทั้ง 3 นี้ว่า “จุดหมายทางเศรษฐกิจ”
…..เรื่องสำคัญที่สุดคือการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ นี่คือการผลิตให้ได้มากนั่นเอง คือการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เราเรียกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยเป็นประเทศยากจน ผลิตได้น้อยเป็นประเทศด้อยพัฒนา เพราะฉะนั้นเรื่องผลิตให้ได้มากจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจของประเทศเรา…..
ท่านอาจารย์ป๋วยอธิบายว่า “ความหมายของเศรษฐกิจ….. คือเพ่งเล็งในทางที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความหิว ปราศจากโรค ได้รับการป้องกันความร้อน ความหนาว หรือกล่าวอย่างสั้นๆ เพื่อให้มีความสุขสบายในทางร่างกาย”
…..เรื่องสำคัญทัดเทียมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่ง คือที่ท่านอาจารย์ป๋วยเรียกว่า “การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ” นี้คือเรื่องการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ท่านอาจารย์มีความคิดว่าควรพยายามให้เหลื่อมล้ำกันให้น้อยลง ถ้าชุมชนมีการเหลื่อมล้ำทางรายได้กันมาก จะยังทำให้เกิดความไม่ปรองดองในหมู่ชนและโดยการรับมรดก “การเหลื่อมล้ำจะยิ่งสืบต่อกันไปเรื่อยจนเกิดความอยุติธรรมขึ้น เช่น ลูกเศรษฐีซึ่งไม่เคยประกอบกิจการงานเลยกลับมีมาตรฐานการครองชีพสูงกว่าคนอื่นที่ขยันกว่าแต่บังเอิญจนกว่า” แต่ละคนในชุมชนควรจะมีรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Income) พอสำหรับซื้อของที่จำเป็น “ใช้วิธีภาษีอากรและวิธีการจำกัดมรดกตกทอด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้น”….
ในเรื่อง “การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ” ข้าพเจ้าประทับใจความคิดของท่านอาจารย์ในหนังสือเล่มนี้ในอีก 3 ประเด็น คือ
-
1) พยายามขจัดการคอร์รัปชัน การทุจริตและใช้อำนาจมิชอบของข้าราชการซึ่งทำให้เกิดการผูกขาด ได้สิทธิพิเศษ ราคาสินค้าแพงขึ้น เกิดการร่ำรวยที่ไม่เป็นธรรม กำไรที่ไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า
2) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การควบคุมการใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยรัฐสภา จะช่วยควบคุมให้รัฐบาลใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่รั่วไหล และเจ้าหน้าที่ไม่อาจทุจริตได้
3) ควรให้เอกชนประกอบการทางเศรษฐกิจได้โดยเสรีเพราะรัฐวิสาหกิจมักมีการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมระบบสหกรณ์เพื่อให้ชาวบ้านสามัญสามารถรวมตัวกันในการผลิตและการค้าขายได้ สามารถต่อรองกับระบบทุนนิยมได้
เรื่องที่ 3 ซึ่งเป็นจุดหมายของเศรษฐกิจแห่งชาติ คือการแก้สภาพลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจ นี่คือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจ ปัญหาระยะสั้นเงินเฟ้อเงินฝืด
พิจารณาโดยรวม สำหรับประเทศไทย ท่านอาจารย์ป๋วยเสนอระบบเศรษฐกิจเสรีที่ประกอบด้วยองค์กรการผลิตทุนนิยม และองค์กรการผลิตสหกรณ์ ภายใต้การกำกับของรัฐและรัฐบาลประชาธิปไตย ใช้ระบบภาษีและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจัดการไม่ให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำกันมาก รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ป๋วยมองไปในอนาคตและเป็นห่วงว่า
“เมื่อเศรษฐกิจเจริญขึ้น การแบ่งสรรรายได้ของประเทศจะแตกต่างออกไป บุคคลบางคนอาจร่ำรวยมากขึ้น แต่บุคคลบางคนอาจจนลงก็ได้ ในเรื่องเหล่านี้รัฐบาลจะต้องพิจารณาและหาทางแก้ไขอยู่เสมอ …..เพื่อให้ความสุขแก่คนโดยทั่วถึง…”
นี่คือข้อความจากหนังสือที่เขียนเมื่อ 62 ปีที่แล้ว ภายใต้ข้อมูลและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง วิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่ายังทันสมัยและเป็นความจริงอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในยุคก่อนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ข้อมูลและสถิติของสมัยนั้นสนับสนุนการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยอย่างชัดแจ้ง
คำนำของหนังสือเล่มนี้สะท้อนความตั้งใจของผู้เขียนในการผลิตข้อเขียนที่หาไม่ได้ในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจในสมัยนั้น ตอนหนึ่งของคำนำ
“…..ผู้เรียบเรียงหวังอยู่ว่าหนังสือนี้จะมีประโยชน์ยืนนาน
ถ้าผู้อ่านใช้ความพินิจพิจารณาและความเข้าใจสุขุมมองลึกทะลุผิวของตัวเลขและปัญหาซึ้งลงไปถึงแก่นสารทฤษฎี การพิจารณาปัญหาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อนำเอาความเข้าใจดีนั้นเป็นประโยชน์ต่อไป… และเมื่อพิมพ์ครั้ง พ.ศ. 2504 ท่านอาจารย์เขียนในคำนำว่า ‘…ข้อเท็จจริงและสถิติ ระเบียบวิธีการย่อมเปลี่ยนไปตามกาลสมัย แต่ธรรมะและหลักวิชาย่อมคงอยู่และไม่ตาย’…..”
Winston Churchill กล่าวไว้ว่า “ถ้ายิ่งสามารถมองย้อนไปข้างหลังได้ไกลเพียงใดก็จะยิ่งมีโอกาสมองเห็นไปข้างหน้าไกลเพียงนั้น” (The farther backward you can look, the farther forward you are likely to see) “เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” เป็นหนังสือที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้าง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของบ้านเรา
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้แรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารวันที่ 14 มี.ค. 2560