ThaiPublica > คนในข่าว > ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ “จำกัด พลางกูร” บุคคลหลังม่านขบวนการเสรีไทย

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ “จำกัด พลางกูร” บุคคลหลังม่านขบวนการเสรีไทย

11 ตุลาคม 2014


จำกัด พลางกูร  ที่มาภาพ: http://th.wikipedia.org/
จำกัด พลางกูร
ที่มาภาพ: http://th.wikipedia.org/

หนึ่งในตำราเศรษฐศาสตร์ ที่นักศึกษาไทยและนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ต้องใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้า วิจัย คือตำรับเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

งานวิจัยของ “ดร.ฉัตรทิพย์” ส่วนใหญ่เป็นการศึกษากระบวนการขูดรีดของรัฐไทยต่อชุมชน และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลทำให้ชุมชนอ่อนแอและยังยากจน และเป็นการค้นหาคำตอบว่าเหตุใดผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศที่อุดมสมบรูณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยังต้องเผชิญกับความขัดสน ยากจน ขัดแย้ง สิ้นหวัง มีช่องว่างระหว่างความรวยกับความจนมากขึ้น และเหตุใดทุกวันนี้ ระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องตามประเทศพัฒนาอื่นๆ

การบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะให้บทบาทผู้อยู่ “แนวหน้า” และผู้ได้รับชัยชนะ ในเกมอำนาจเท่านั้น จึงไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านของผู้อยู่ “แนวหลัง” และนี่จึงเป็นเหตุผลให้ “ดร.ฉัตรทิพย์” เลือกที่จะเขียนบันทึกถึงบุคคลที่อยู่ “เบื้องหลัง” ในสายธารการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเชิดชูความดีงามของผู้ก่อการดี ในขบวนการที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกว่า “ขบวนการเสรีไทย”

ตราขบวนการเสรีไทย
ตราขบวนการเสรีไทย
จากซ้าย- ขวา  ปรีดี พนมยงค์ (ที่มาภาพ:http://www.kpi.ac.th/wiki/images/) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ที่มาภาพ :http://en.wikipedia.org/wiki/Kukrit_Pramoj ) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ  (ที่มาภาพ : http://kingprajadhipokstudy.blogspot.com/2011/06/blog-post_19.html )
จากซ้าย- ขวา ปรีดี พนมยงค์ (ที่มาภาพ:http://www.kpi.ac.th/wiki/images/) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ที่มาภาพ :http://en.wikipedia.org/wiki/Kukrit_Pramoj ) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ (ที่มาภาพ : http://kingprajadhipokstudy.blogspot.com/2011/06/blog-post_19.html )

ในประวัติศาสตร์ เสรีไทย (Free Thai Movement) เป็นขบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484-2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ขบวนการเสรีไทยกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เดิมเรียกขบวนการนี้ว่า “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “เสรีไทย” มีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร

เบื้องหน้าของขบวนการมี 3 แนวรบ แนวหน้าแถวแรกมีนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง แถวถัดมาเป็นขบวนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเรี่ยวแรงหลักของกลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา

และในแนวรบที่สาม เป็นกลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดยนักเรียนไทย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชนิกุลอีกหลายพระองค์

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

ชื่อ จำกัด พลางกูร คือหนึ่งในแนวรบแถวหลัง ที่สนับสนุนขบวนการเสรีไทยตั้งแต่วันแรกรบ ร่วมกับ “ปรีดี พนมยงค์”

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สนทนาพิเศษกับ “ดร.ฉัตรทิพย์” เพื่อเปิดเบื้องหน้าของบุคคลในแนวรบด้านหลังของขบวนการเสรีไทย

ดร.ฉัตรทิพย์พูดถึงความสัมพันธ์ทางความคิด ความเชื่อ ระหว่าง “ปรีดีกับจำกัด” ก่อนก่อเป็นขบวนการว่า

“อาจารย์ปรีดีขอให้จำกัดเป็นเลขาธิการของเสรีไทยในประเทศตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ทั้ง 2 คนนี้ใกล้ชิดกันมาก เพราะในช่วงปลายปี 2484 จำกัดอึดอัดมาก จึงไปหาคนที่เหมือนๆ กันคุย เลยไปหาอาจารย์ปรีดีแทบทุกวัน จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2486 จำกัดอาสาเดินทางไปจีน”

“จำกัดใช้เวลากว่า 53 วัน ในการไปถึงจุงกิง แล้วก็โดนกักตัวด้วย เมื่อไปก็ไม่ได้บอกกันว่าจะไปไม่ว่าทางไทยหรือจีน ลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว เพราะไม่มีวิธีที่จะบอก จึงไม่รู้กัน ไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะต้อนรับหรือไม่ต้อนรับ แต่มีหลักฐานว่าจำกัดเป็นนักเรียนที่อังกฤษ แสดงให้เห็นว่าเป็นคนลักษณะอย่างไร จำกัดมีบ้านอยู่ซอยเดียวกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ 2 บ้านนี้รู้จักกันด้วย จึงสามารถอ้างตัวขึ้นมาได้ว่าเป็นใคร ว่าไม่ใช่สายลับ ถึงกระนั้นจีนก็ตรวจสอบอยู่นาน กักตัวจำกัดไว้ที่นั่นที่นี่”

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของ “จำกัด พลางกูร” คืออาสาปฏิบัติภารกิจโดยการเดินทางเข้าสู่ประเทศจีนเพื่อยืนยันสถานะของประเทศไทยว่าไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และขอให้จีนยอมรับในเอกราชของไทย ทว่าเหตุใดภารกิจระดับการเป็นผู้ร่วมเจรจากับมหาอำนาจแห่งเอเชียบูรพาถึงไม่ถูกบันทึกไว้ในบรรทัดแรก และไม่ได้อยู่ในแนวหน้าของประวัติศาสตร์

ดร.ฉัตรทิพย์อธิบายบริบทการเมืองในเวลานั้นเป็นคำตอบว่า “มีฝรั่งเขาเขียนถึงเหมือนกัน ลูกของผู้บัญชาการเหล่าทัพอังกฤษก็เขียน แต่ว่ามันเงียบๆ ไป เหตุเพราะมันเหมือนเรื่องของเสรีไทย และเสรีไทยเองไม่ค่อยจะถูกพูดถึงและเป็นที่รับรู้มากนัก โดยเฉพาะเสรีไทยในต่างประเทศ เป็นพวกที่ไม่ค่อยเขียนหนังสือ ในหลังจากสงคราม 2 ปี จากผลงานของฝ่ายอาจารย์ปรีดีและเหตุการณ์ทางการการเมืองในเวลานั้น ทำให้อาจารย์ปรีดีต้องออกนอกประเทศ จำกัดซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดอาจารย์ปรีดีจึงไม่ได้รับการสนับสนุนโดยปริยาย”

บันทึกของ นายจำกัด พลางกูร ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
บันทึกของนายจำกัด พลางกูร ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

“ดร.ฉัตรทิพย์” เล่าว่า ชื่อของ “จำกัด พลางกูร” ไม่เพียงไม่ถูกกล่าวถึงในแนวรบแถวหน้าของประวัติศาสตร์ ตรงกันข้าม ชื่อของเขากลับถูกกล่าวถึงไปอีกด้าน “จำกัด ยังถูกดิสเครดิตมากว่า ว่าเป็นฝ่ายแบ่งแยกบ้าง อะไรบ้าง แต่ออกจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยไปหน่อย เมื่อนายเตียง ศิริขันธ์ (อดีต ส.ส. สกลนคร หัวหน้าเสรีไทยภาคอีสาน) ถูกอุ้ม เรื่องราวของจำกัดจึงหายไป”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในชนชั้นนักต่อสู้ทางการเมือง ของบุคคลระดับสามัญชน ที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมกับชนชั้นนำ อาจเป็นสาเหตุให้ชื่อของ “จำกัด พลางกูร” ถูกชนชั้นนำทำให้หล่นจากหน้าแรกของบันทึกประวัติศาสตร์ และถูกทำให้ถูกลืม เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ

ดร.ฉัตรทิพย์ตอบข้อสมติฐานนี้ว่า “พวกที่มีอำนาจค่อนข้างจะไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้ความสำคัญ เรื่องเสรีไทยนี่หายไปนาน จนกระทั่งประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยก็กลับมาใหม่ อย่างที่พูดไปตอนต้น สมาชิกที่เป็นชาวบ้านเขาไม่เขียนหนังสือ ไม่เหมือนสมาชิกฝ่ายที่อยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อไปต่างจังหวัดจะพบว่าข้อมูลของเสรีไทยฝ่ายสามัญชนมีมาก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครพยายามทำเรื่องนี้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นอนุเสาวรีย์นายเตียง ถ้ำเสรีไทย สนามบิน”

กองกำลังเสรีไทยนับหมื่นชีวิตจึงเป็นกองกำลังที่ผสมผสานระหว่างปัญญาชนท้องถิ่น ครู ข้าราชการที่มีเครือข่ายในกระทรวงมหาดไทย และระดับชาวบ้าน ปฏิบัติการฝึกอาวุธและเคลื่อนไหวทางความคิดทั้งในชนบทและจรยุทธในเมือง ท่ามกลางการจับตาของฝ่ายกองกำลังทหารไทย ที่ขาข้างหนึ่งต้องก้าวอยู่ในกองทัพญี่ปุ่น

จำกัด พลางกูร
จำกัด พลางกูร

นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเวลานั้น บางรายก็รอดชีวิตมาบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนตัว บางรายก็เสียชีวิต และเรื่องราวส่วนตัวก็ถูกลบเลือนหาย เช่นเดียวกับชีวิตของ “จำกัด พลางกูร”

“ใช่ เขาตกระกำลำบาก ขายของหมดตัว แต่หลังจากได้พบกับ เจียง ไคเชก จีนก็ดูแลดี สุดท้ายแล้วจำกัดก็เสียชีวิต แต่ด้วยสาเหคุอะไรก็ยังไม่ชัด ตามหลักฐานที่มีจากแพทย์ผู้วินิจฉัย พบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร น้องของจำกัดเองก็ระบุว่าเขาป่วยก่อนไปพบเจียง ไคเชก แต่ก็มีข้อสงสัยจากพวกสืบราชการลับของสหรัฐฯ ว่าจำกัดถูกวางยาหรือเปล่า ตอนนั้นไม่ได้ผ่าศพ แต่ว่ากันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ก่อน เรื่องมัน Dramatic เหมือนละคร” ดร.ฉัตรทิพย์เล่าฉากชีวิตตอนจบของ “จำกัด”

“ผมเขียนเรื่องจำกัด พลางกูร เสร็จตั้งแต่ปี 2549 เคยเสนอให้ทำละครโทรทัศน์ แต่ยังไม่สำเร็จมาจนถึงปี 2556 คุยกับลูกศิษย์ว่าจะทำเป็นละครเวที ผมก็ช่วยทำ และมาจนถึงปีนี้ก็มีคนจะทำ แต่ผมไม่ได้ช่วยแล้วเพราะไม่ไหว เพียงให้บทไปแล้วสนับสนุน” ดร.ฉัตรทิพย์พูดถึงละครเวทีที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องของจำกัด พลางกูร ที่ถูกตั้งชื่อเรื่องใหม่ว่า “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”
(อ่านเรื่องราวของนายจำกัด พลางกูร ทั้ง 8 ตอน)

Jk

ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

ขอเชิญชมละครเวที ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องราวของ จำกัด พลางกูร รายได้จากการขายบัตรหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ สามารถซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ www.thaiticketmajor.com โทร. 02-262-3456

กำกับการแสดงโดย ปิยศิลป์ บุลสถาพร
เตช เตชะพัฒน์สิริ ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง
และ ณัตถยา สุขสงวน ผู้จัดการคณะละครเวทีเพื่อชาติ เพื่อ humanity

รายชื่อนักแสดง

ปิยศิลป์ บุลสถาพร รับบทเป็น จำกัด พลางกูร
สุรีย์ภรณ์ เรืองรังษี รับบทเป็น ฉลบชลัยย์ พลางกูร (ภรรยาของ จำกัด พลางกูร)
สุรเดช สุวรรณโมรา รับบทเป็น ปรีดี พนมยงค์
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รับบทเป็น เจียง ไคเชก
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ รับบทเป็น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์
ชลธิศ กรดี รับบทเป็น เตียง ศิริขันธ์
อัมรา ผางน้ำคำ รับบทเป็น นิวาศน์ ศิริขันธ์

บทละครโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ อ.อัจฉรา วติวุฒิพงศ์
ผู้ประพันธ์เพลง ดุษฎี พนมยงค์ ศศิพิสิฐ นิวัธน์มรรคา และเกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์

เปิดแสดง 15-19 ตุลาคม 2557 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) เวลา 19.00 น.
บัตรราคา 500 บาท นิสิต/นักศึกษา 400 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 080-892-6916.

ติดตามข้อมูลข่าวสารละครเวทีได้ที่ เฟซบุ๊ก “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”