ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics เจาะห่วงโซ่การผลิต”ไทย-ญี่ปุ่น” เติบโต+สดใส แนะเกาะติดทิศทางเทคโนโลยี

TMB Analytics เจาะห่วงโซ่การผลิต”ไทย-ญี่ปุ่น” เติบโต+สดใส แนะเกาะติดทิศทางเทคโนโลยี

18 มีนาคม 2017


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดห่วงโซ่การผลิตจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจะเติบโตได้ร้อยละ 10 ท่ามกลางผลกระทบความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก แนะธุรกิจในห่วงโซ่เร่งปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับ global supply chain ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยที่เติบโตและสร้างรายได้กว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกรวม เป็นอานิสงส์จากการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนต่างชาติทั้งหมดด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเฉลี่ยต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ทำการศึกษาการค้าต่างประเทศของไทยในช่วงปี 2555 -2559 พบว่าบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นยังคงมีบทบาทต่อการเติบโตของการค้าไทยอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่าการค้าให้กับไทยกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกรวมในปี 2559 หรือคิดเป็น 137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน (47%) รองลงมาคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (31%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (12%) ตามลำดับ

จะเห็นว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นมักกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่เน้นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการใช้แรงงานในการผลิต ทำให้ขนาดห่วงโซ่การผลิตไทยขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการผลิตในขั้นต้นไปจนถึงขั้นกลางของสายพานการผลิต จึงมีการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าสำเร็จรูป ทำให้มูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงปี 2558-59 เติบโตถึงร้อยละ 9 และ 11 ตามลำดับ และคาดว่าในปี 2560 จะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ10 ซึ่งสวนทางกับภาพรวมการส่งออกไทยที่เติบโตได้ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวมาจากการเติบโตของ supply chain ความได้เปรียบของไทยในด้านวัตถุดิบ ผนวกกับแนวโน้มตลาดส่งออกเป้าหมายที่เติบโตสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นกลุ่มที่มีการลงทุนโดยบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นมากที่สุด โดยมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเป็นหลัก เพื่อประกอบและขายในประเทศและส่งออกกลับไปยังญี่ปุ่น รวมทั้งกระจายการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเอเซียโดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่แนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าผู้ประกอบการไทยที่อยู่ใน supply chain การผลิตของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบด้านนโยบายการค้ากับตลาดใหญ่ที่มีการกีดกันในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการย้ายฐานการผลิตของบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตต้องพิจารณาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี เรามองว่าในระยะยาว มูลค่าเพิ่มของสินค้าดังกล่าวที่มักกระจุกตัวอยู่ในขั้นต้นและกลางจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากสินค้ามีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงใน global supply chain ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สมาร์ทโฟน หน่วยความจำ ซึ่งในปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตได้ ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้าไปสู่ประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม เป็นผลทำให้การส่งออกของเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้ทันกับทิศทางของเทคโนโลยี แนวโน้มทิศทางความต้องการในตลาดโลก เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ global supply chain อันจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป