ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กระบวนการใช้ช่องโหว่กฎหมายไม่ต้องทำอีเอชไอเอ/อีไอเอ ของ “อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล” โครงการท่าเรือบ้านโพธิ์

กระบวนการใช้ช่องโหว่กฎหมายไม่ต้องทำอีเอชไอเอ/อีไอเอ ของ “อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล” โครงการท่าเรือบ้านโพธิ์

7 เมษายน 2017


วิธีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้ท่าเรือบ้านโพธิ์เปิดดำเนินกิจการได้ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2556 ที่แบ่งโครงการท่าเรือย่อยเป็น 6 ท่า เพื่อให้ไม่เข้าข่ายต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ปัจุบันท่าเรือในลักษณะดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ โดยขออนุญาตสร้างเขื่อนแต่นำมาใช้จริงเป็นท่าเทียบเรือ

หลังจากที่บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด เจ้าของโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์เริ่มดำเนินการขอใบอนุญาตก่อสร้างท่าเรือในปี 2555 แต่ประชาชนที่อยู่รอบข้างคัดค้านและเห็นว่าบริษัทฯ กระทำมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ชาวบ้านมอบอำนาจให้กับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง

ท่าเรือบ้านโพธิ์บริเวณท่า 1

ท่าเรือบ้านโพธิ์ที่ถูกฟ้องครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2556 ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.11/2556 นั้น บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ได้ขออนุญาตก่อสร้างท่าเรือและอาคารเก็บสินค้า เพื่อไม่ต้องเข้าข่ายการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังนี้

1. ท่าเรือบ้านโพธิ์ขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือเพื่อใช้ในการขนถ่ายสินค้าทางการเกษตร โดยแบ่งขออนุญาตแยกย่อยท่าเทียบเรือเป็น 6 ท่า ทำให้ท่าเทียบเรือแต่ละท่ามีขนาดต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องทำอีเอชไอเอหรืออีไอเอเสนอในขั้นตอนการขออนุมัติอนุญาตโครงการ เพราะขนาดโครงการเข้าข่ายต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อรวมพื้นที่ท่าเทียบเรือทั้ง 6 แห่งเป็นโครงการเดียวกัน

2. การขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงงาน 35 อาคาร แบ่งเป็นอาคารท่าจอดเรือ อาคารโกดังสินค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ มีลักษณะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่า บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง นั้นถือเป็นอาคารที่ตั้งริมแม่น้ำที่อยู่ในบังคับต้องทำอีไอเอ แต่บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการจัดทำใดๆ

3. ใบอนุญาตระบุประเภทอาคารว่า “สถานที่เก็บสินค้า โกดัง และโรงงาน” ซึ่งหากบริษัทฯ ใช้อาคารดังกล่าวเพื่อเก็บรักษาสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง ข้าวสาร และน้ำตาล เพื่อรอส่งออกต่างประเทศโดยการขนส่งทางเรือ จะถือได้ว่า อาคารโกดังสินค้าทั้งหมดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 สำหรับประกอบกิจการเกี่ยวกับการเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืชหรือผลิตผลจากพืช ในไซโล โกดังหรือคลังสินค้าตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และบัญชีท้ายกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ลำดับที่ 2 (5) ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ แต่ ณ ขณะฟ้องบริษัทฯ ยังคงดำเนินการก่อสร้างทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีเพียงใบอนุญาตอาคารเท่านั้น

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างและเปิดกิจการเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2560 ชาวบ้านได้มอบอำนาจให้เอนลอว์ฟ้องศาลปกครองระยองเรื่องท่าเรือบ้านโพธิ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ท่าเรือบ้านโพธิ์สร้างท่าเรือที่ต่างไปจากเดิม คือ ขออนุญาตสร้างเขื่อนแต่นำมาใช้เป็นท่าเทียบเรือ ดังนี้

ท่าเรือบ้านโพธิ์ในปัจจุบัน

1. บริษัทฯ ยื่นคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ รวม 8 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา เพื่อขออนุญาตทำเขื่อนป้องกันตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรามีหนังสือตอบไม่ขัดข้อง

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ขออนุญาตองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ก่อสร้างอาคารเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันตลิ่งพังลงริมแม่น้ำบางปะกง จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเดียวกันกับเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ขออนุญาตสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา

2. บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด เริ่มดำเนินการประกอบกิจการท่าเทียบเรือแล้ว ซึ่งเป็นเรือลากจูงพ่วงด้วยเรือบรรทุกอีก 3-5 ลำ ขนถ่ายสินค้าเข้าเทียบท่าบริเวณที่บริษัทฯ ขออนุญาตสร้างเขื่อน แต่ยังไม่ได้ขอใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456

3. เขื่อนป้องกันตลิ่งที่สร้างขึ้นนั้น ถือเป็นสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าของบริษัทฯ และขนาดของเขื่อนนั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นโครงการท่าเทียบเรือที่อยู่ในบังคับต้องจัดทำอีไอเอเพื่อเสนอในขั้นขออนุมัติอนุญาตโครงการ แต่บริษัทฯ ไม่ได้ทำอีไอเอ

4. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 7 ฉบับ สำหรับการประกอบกิจการเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดัง ของ บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สีเขียวหมายเลข 5.81 ที่กำหนดให้เป็นเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ที่มีระยะห่างจากริมแม่น้ำบางปะกงน้อยกว่า 500 เมตร ฉะนั้นใบอนุญาตทั้ง 7 ฉบับจึงใช้ประโยชน์ที่ดินขัดต่อกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2558 เรื่องระยะห่างจากริมแม่น้ำ แม้ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวจะอนุญาตให้สามารถประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 2 (5) โรงงานเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตจากพืชในโกดัง หรือคลังสินค้า ในเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

ทั้งนี้ บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ไม่อาจอ้างได้ว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนผังเมืองรวมบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 27 วรรคแรกได้ รวมถึงที่ตั้งโรงงานมีทำเลและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืช ในโกดัง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535