UPCYCLING THE OCEANS THAILAND ถือเป็นโครงการความร่วมมือครั้งใหม่ที่น่าสนใจ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ บริษัท ปตท.เคมิคัล จำกัด (มหาชน) และอีโคอัลฟ์ (ECOALF) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืนชื่อดังของโลก เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะในทะเลของไทย โดยโครงการนี้เป็นการนำขยะจากท้องทะเลมาผลิตเป็นเส้นใย และผลิตเป็นสินค้า เสื้อ กระเป๋า รองเท้า เป็นการเพิ่มมูลค่าช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี เพื่อจะแก้ปัญหาขยะ สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยทำงานในลักษณะพันธมิตรกับอีโคอัลฟ์ ซึ่งมีประสบการณ์การทำโครงการมาแล้วในระดับโลก
แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการระยะเวลาและจำนวนงบประมาณที่ทั้ง 2 องค์กรจะให้การสนับสนุนอย่างแน่ชัดในการเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา กระนั้นโครงการนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะการนำประสบการณ์ของอีโคอัลฟ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะในทะเลในประเทศไทย

“อีโคอัลฟ์” เป็นแบรนด์ไลฟสไตล์แฟชั่น ที่มีความเชื่อในเรื่อง “แบรนด์ที่ยั่งยืน” โดย จาเวีย โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งอีโคอัลฟ์ เริ่มต้นธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2012 หลังจากเขาเห็นการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล เขาอยู่ในธุรกิจแฟชั่นและหันหลังให้กับวงการแฟชั่นกระแสหลัก สู่เส้นทางแฟชั่นที่ยั่งยืน โดยพัฒนากระบวนการรีไซเคิลใหม่ซึ่งสามารถนำไปใช้กับวัสดุทุกประเภทที่เป็นของเหลือทิ้งตั้งแต่ขวดน้ำ พลาสติค ขยะในทะเล กากกาแฟ ฯลฯ ให้มาเป็นไนลอนและเส้นใยใหม่ๆคุณภาพดีที่สามารถผลิตเสื้อผ้า แจ็กเก็ต รองเท้า กระเป๋า สำหรับของทั้งผู้ชายและผู้หญิง

เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อครั้งมาเปิดตัวโครงการ UPCYCLING THE OCEANS THAILAND ว่า “ถ้ามองมันด้วยตาเปล่าคุณจะไม่สามารถมองแล้วรู้ว่านี่เป็นเสื้อผ้าที่มาจากของรีไซเคิล” นวัตกรรมและความเชื่อเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดขายของอีโคอัลฟ์เติบโตทุกปีเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่เปิดบริษัท
การคลุกคลีกับขยะและต้นทางวัตถุดิบที่จะนำมารีไซเคิล เขาเริ่มมองเห็นปัญหาขนาดใหญ่ และเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ UPCYCLING THE OCEANS เป็นครั้งแรกในปี 2016 ที่สเปน โดยมูลนิธิอีโคอัลฟ์ โครงการนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำขยะจากในมหาสมุทรมาเปลี่ยนเป็นเส้นใยคุณภาพในการจะนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเสื้อผ้า
อีโคอัลฟ์ เรียกสิ่งนี้ว่า ความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนวิธีในการจัดการกับขยะในมหาสมุทร ที่จะเริ่มต้นจากมหาสมุทรแอนตาคติคและมีเป้าหมายในการขยายไปยังมหาสมุทรทั่วโลก ในโครงการนี้นอกจากอีโคอัลฟ์จะใช้ประสบการณ์จากการธุรกิจรีไซเคิลในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากว่า 5 ปี โครงการยังทำงานกับพันธมิตรอีก 5 รายที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหา


“ทุกวันนี้เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาวประมง ทุกๆวันจะมีชาวประมงเอาขยะขึ้นมาให้เราประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อวันกลับขึ้นมาจากมหาสมุทรแอนแลนติคในโครงการนำร่องที่เราทำทางตอนใต้ของสเปน” จาเวีย กล่าว
ข้อมูลจากโครงการระบุว่าในแต่ละปีมีขยะที่อยู่ในทะเลมากกว่า 8 ล้านตันและนั่นเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำรวมถึงนก โดยขยะ 20% จะลอยอยู่เหนือน้ำและขยะ 80% จะอยู่ใต้น้ำ การกู้คืนขยะเหล่านี้จากทะเลจึงเป็นภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยไม่เพียงแต่ Recycle เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น แต่ในความหมายของโครงการ คือการยกระดับและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการมาใช้ซ้ำ หรือที่เรียกว่า Upcycling ด้วย ดังนั้นนอกจากจะทำให้มหาสมุทรสะอาดขึ้นแล้ว ของเสียส่วนหนึ่งที่กู้คืนขึ้นมายังจะถูกนำมาใช้มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติค รวมไปถึงการรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยที่มีคุณภาพที่จะนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า และของใช้ต่อไป
UPCYCLING THE OCEANs THAILAND จึงน่าจะเป็นโครงการนอกประเทศครั้งแรกของ UPCYCLING และเราหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มสำคัญที่ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างออกไปจากการเก็บขยะในทะเล ทว่าในอีกด้านหนึ่งนี่จะยังอาจช่วยจุดประกายเรื่องความยั่งยืนในแวดวงแฟชั่นที่ว่าด้วยความคิด “แฟชั่นที่ยั่งยืน” (Sustainable Fashion) ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน