เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยวันนี้เป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ ให้นักข่าวซักถามได้ และช่วงท้ายๆ ยังกล่าวด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มว่า “วันนี้อยากชมนักข่าวน่ารัก”
นายกฯ อยากเป็นทหาร เพราะประทับใจในหลวง
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความประทับใจของตนต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่า ตั้งแต่เด็กจนโต มีพระองค์เป็นต้นแบบ และทรงเป็นจอมทัพไทย ตนจึงอยากเป็นทหารของกองทัพบก ถือว่าประทับใจทุกเหตุการณ์ ทุกช่วงวัย และทุกหน้าที่ที่รับผิดชอบ และที่ผ่านมาตนได้ถวายงานตามที่มีโอกาส ซึ่งประทับใจทุกเรื่องที่พระองค์ทำมาตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ทรงทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ตนพยายามทำให้ได้มากที่สุดตามแนวทางที่พระองค์เคยทำไว้แล้ว
และรัฐบาลนำพระบรมราโชบายมาเป็นนโยบายของรัฐ เป็นหลักการปรับตามสถานการณ์ รวมถึงเรื่องข้าว ที่พระองค์ทรงรับสั่งหลายวาระ ทั้งทรงรับสั่งให้คนไทยปลูกข้าว และทำอย่างไรให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น ต้องมีการประยุกต์ เป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามปลูกข้าว แต่เป็นการปรับโครงสร้างให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่
แจงกรณียังไม่ถวาย “มหาราช” – หารือเปลี่ยนชื่อวันหยุดราชการ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการเสนอถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่า ต้องให้เสร็จสิ้นพระราชพิธีก่อน อย่าคิดอะไรในตอนนี้ ซึ่งสิ่งที่ทุกคนคิดดีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
“การสร้างอะไรที่ไหน รัฐบาลต้องเป็นคนอนุมัติ ต้องทำเรื่องขอไปทางสำนักพระราชวัง ทั้งการสร้างพระราชานุสาวรีย์ การจะถวาย การจัดตั้งมหาราช ทุกอย่างต้องผ่าน ครม. หมด แต่ทุกวันนี้ ครม. ทำหน้าที่ทำให้ประเทศชาติสงบปลอดภัย และกำลังทำเรื่องพระราชพิธีให้เป็นไปตามประเพณีจนถึงเวลาที่เหมาะสม วันหน้าทำก็ทัน เพราะยังไงทุกคนก็ตั้งใจทำถวายอยู่แล้ว และรัฐบาลก็คิดมาตลอด แต่เวลานี้ก็ยังไม่เหมาะที่จะมาคุยเรื่องนี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะกำหนดวันหยุดราชการใหม่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จะกำหนดได้ต่อเมื่อมีรัชกาล ทุกอย่างเป็นเรื่องของภายในวังเป็นผู้กำหนด แต่คิดว่าวันเวลาสำคัญต่างๆ ในช่วงรัชกาลที่ 9 ยังคงมีอยู่ แต่อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ
เซลฟีในวังไม่เหมาะสม แต่เห็นใจ ขรก. – ไม่ออกความเห็นเซ็ตซีโร่
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ข้าราชการรายหนึ่งเซลฟีในพื้นที่พระบรมมหาราชวังว่า บางทีก็ต้องเห็นใจ ข้าราชการก็คือประชาชนเหมือนกัน ข้าราชการระดับเล็กๆ ได้เข้าวังก็ต้องการจะถ่ายรูปบ้าง แต่มันไม่เหมาะสม ก็อย่าไปว่ากล่าวกันมากมายนักเลย ซึ่งตนเองได้สั่งการไปแล้วว่า ถ้ากรณีที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ ไม่ควรใช้โทรศัพท์ ก็ให้พิจารณาดูเหตุผลอันสมควร อย่าใช้กันพร่ำเพรื่อ เพราะเป็นเขตพระราชฐานในสำนักพระราชวัง
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังดำเนินการว่า หากประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรก็รับไว้ ส่วนเซ็ตซีโร่ ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง จะมาจากใครบ้างก็ต้องไปตามดูอีกครั้ง แต่ส่วนตัวยังไม่มีความคิดเห็นอะไรทั้งสิ้น
ยัน กรณีจำนำข้าว ทำตาม กม. ไม่กลัวฟ้องกลับ ขอเกษตรกรอดทน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีจำนำข้าวเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำเป็นไปตามกติกาและกฎหมายทุกประการ ต่อกรณีทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมฟ้องกลับกรณีกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงภารกิจของตนที่จะเดินทางไปสำรวจการจัดการบริหารน้ำในระดับพื้นที่ ณ คลองระพีพัฒน์แยกตก บริเวณประตูน้ำที่ 8 จังหวัดปทุมธานี วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ว่า จะใช้เวลาสั้นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเยี่ยมชาวนา ชาวไร่ รวมทั้งดูการบริหารการจัดการน้ำในพื้นที่ว่าภาครัฐได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ ปัญหาของประเทศไทยคือน้ำไปไม่ถึงทุกพื้นที่ แต่ต้องทำให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างทั่วถึง อีกปัญหาคือเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ขณะนี้มีพื้นที่ชลประทานไม่เกินร้อยละ 30 เท่านั้น
รัฐบาลไม่ต้องการทำลายวงจรเพราะไม่อยากให้ประชาชนเป็นหนี้สิน รวมถึงเรื่องข้าวที่วันนี้หลายฝ่ายช่วยกันซื้อขายข้าว แต่วันหน้าก็ต้องช่วยอย่างอื่นด้วย เช่น ได้สั่งการให้จัดพื้นที่ทำการตลาดเพื่อขายปลา โดยคัดเลือกตามขนาดให้ชาวประมง และให้ทุกคนช่วยกันซื้อเหมือนช่วยซื้อข้าว ซึ่งถือเป็นการเสริมการท่องเที่ยวไปด้วย
พร้อมกันนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลทั้งระบบเพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศได้มากขึ้น ขอเกษตรกรอดทนเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นก็ลำบากกว่าเดิม รัฐบาลจะไม่ทำผิดกฎหมายและผิดระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ
เคารพสิทธิสหรัฐฯ ไม่ออกวีซ่า – แจง ไม่ใช่นักการเมือง เลยจริงใจเกินไป
เมื่อถามถึงกรณีที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติการออกวีซ่าให้กับ น.ส.อรพิมพ์ รักษาผล นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะไปพูดเกี่ยวกับเรื่องพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่นครลอสแอนเจลิส พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ต้องเคารพของเขา ตนคงไม่ไปก้าวก่ายเกี่ยวกับสถานทูตและประเทศสหรัฐฯ เพราะวันนี้ตนดูแลเฉพาะประเทศไทย การไปขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศแล้วเขาจะให้หรือไม่เป็นเรื่องของสหรัฐฯ เช่นเดียวกันเรา เวลาใครมาขออนุญาตทำวีซ่า ถ้าไม่เหมาะสมก็ไม่ออกวีซ่าให้
เมื่อถามถึงกระแสสังคมที่มีการวิจารณ์พฤติกรรมของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าเหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา พล.อ. ประยุทธ์ จึงชี้แจงถึงพฤติกรรมของตนว่า “ผมไม่ใช่นักการเมือง เวลาพูดอะไรก็จะพูดไปตามความเชื่อในหลักการและข้อเท็จจริงตามกฎหมาย บางครั้งสิ่งที่พูดคือความจริงใจมากเกินไป อาจจะไม่สุภาพบ้างแต่ก็เป็นเรื่องของผม แต่เจตนาของผมไม่ได้มีอะไรกับใครทั้งสิ้น และเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่เคยโกรธใคร จบแค่นั้น แล้วก็ไปทำเรื่องอื่น วันหน้าก็อาจจะมีโมโหอีก เพราะมันเป็นบุคลิกส่วนตัวของผม อาจเป็นสิ่งไม่ดีของผม อย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง แต่ดีๆ ก็มีอยู่เยอะพอสมควร”
สำหรับมติ ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้
เคาะ 3 ยุทธศาสตร์ ดันประชาชนออมเอง ใช้เอง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาองค์กรการเงินระดับฐานราก ตอบสนองความต้องการทางการเงินของภาคประชาชนอย่างยั่งยืน ให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยแผนดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพการเงินของประชาชนระดับฐานรากด้วยมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนฐานราก เช่น สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างรายได้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสินเชื่อวิสาหกิจเพื่อชุมชน เช่น สินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร รวมไปถึงมาตรการในส่วนที่จะช่วยลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สร้างทักษะให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารจัดการการเงิน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ด้วยการเข้าไปสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้สามารถให้บริการได้อย่างยั่งยืน และการสนับสนุนให้สถาบันการเงินในระบบขยายบทบาทไปยังชนบท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องรองรับการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว และพัฒนาระบบบริหารจัดการ เช่น จัดทำแผนและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเงินภาคประชาชน มีการกำหนดแนวทางจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลระบบการเงินของชุมชนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ที่ 3 นี้ e-Payment ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินได้มากขึ้น คาดหมายว่าใน 1 ตำบล จะมีสถาบันการเงินชุมชนเป็นชองตัวเองอย่างน้อย 1 แห่ง รวมแล้วจะมีสถาบันการเงินทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง
“ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงการคลังได้เตรียมไว้คือ ยกระดับองค์กรทางการเงินฐานรากเหล่านี้ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นการควบคุมการดำเนินงานเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ที่แท้จริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกันว่าจะให้กลุ่มสหกรณ์รวมอยู่กลุ่มเดียวกันหรือแยกการดำเนินการต่างหากออกไป ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเงินชุมชนขึ้นถือเป็นการระเบิดจากภายใน เพราะเป็นการนำเงินที่ประชาชนเก็บออมกันเองมาพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่การพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล” นายกอบศักดิ์กล่าว
อนุมัติ 383.49 ล้านปลูกพืชหมุนเวียน – สินเชื่อ 8,000 ล้านปลูกข้าวโพด
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการการปรับเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียนภายใต้นโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด โดยกรมพัฒนาที่ดิน ใช้งบประมาณรวม 383.49 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร
สำหรับโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 200,000 ไร่ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปอเทือง ผลิตเมล็ดพันธุ์ขายคืนให้กรมพัฒนาที่ดิน 50,000 ไร่ รับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจำนวน 6,000 ตัน ในราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม อีก 150,000 ไร่ กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรปลูก 5 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย แล้วไถกลบทำเป็นปุ๋ยพืชสด และจะสนับสนุนค่าไถเตรียมดินอีก 500 บาทต่อไร่ รวมทั้งค่าไถกลบอีก 500 บาทต่อไร่ ระยะเวลาดำเนินการเดือน ต.ค. 2559 – พ.ค. 2560
สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวโพด คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 3 ล้านตัน โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรไร่ละ 4,000 บาท แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรก ไร่ละ 1,800 บาท สำหรับเป็นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยรองพื้น และสารเคมีคุมวัชพืช งวดที่ 2 จำนวน 1,200 บาทต่อไร่ เป็นค่าปุ๋ยเคมี และค่าดูแลรักษา และงวดที่ 3 จำนวน 1,000 บาทต่อไร่ เป็นค่าเก็บเกี่ยว วงเงินสินเชื่อทั้งหมด 8,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน จะใช้เงินจำนวน 103.76 ล้านบาท เพื่อชดเชยอุดหนุนดอกเบี้ย 3% ต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 7% รัฐอุดหนุน 3% และเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเอง 4% ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 – มิ.ย. 2560
“อาจจะสงสัยว่าทำไมข้าวโพดราคาตกแล้วรัฐบาลยังจะไปสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดอีก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทุกปีประเทศไทยจะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าที่ผลิตได้อยู่แล้ว แต่ปีนี้สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ข้าวโพดราคาตก คือ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่เริ่มมีนโยบายจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่บุกรุก เนื่องจากคาดการณ์ว่าต่างประเทศจะมีมาตรการตอบโต้เช่นเดียวกับกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ประกอบกับปีนี้ฝนล่า ทำให้ข้าวโพดมีความชื้นสูง ราคาจึงตก แต่ครั้งนี้ได้ประสานกับภาคเอกชนไว้แล้ว จะรับซื้อหน้าโรงงานในราคา 8 บาทต่อกิโลกรัม” นายณัฐพรกล่าว
ตีกลับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย โครงการส่งเสริมให้บริการเครื่องจักรฯ
มีรายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาลว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการโครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนสมาชิกระยะขยายผลปี พ.ศ. 2559-2562 โดยเพิ่มเติมให้ครอบคลุมไปถึงวิสาหกิจชุมชนด้วย นอกจากนี้ ให้เพิ่มเติมอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตและการแปรรูป เช่น ฉาง ไซโล ลานตาก เครื่องอบลดความชื้น เป็นต้นและโรงสีข้าวชุมชนขนาดไม่เกิน 5 ตัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีความเห็นให้ทบทวนเงื่อนไขดังกล่าว ในส่วนที่จะให้ ธ.ก.ส. กำหนดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบันดอกเบี้ย MLR เท่ากับ 5) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 3.99 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชน รับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี โดยมีกรอบวงเงินที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ระยะเวลา 5 ปี เดิม 277,545,000 บาท เป็น 556,485,000 บาท
เห็นชอบจัดกิจกรรมทำความดีกาย-วาจา-ใจ รำลึกในหลวง ไทยและเทศ
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบจัดกิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดี เพื่อประกาศความจงรักภักดีและร่วมกันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพปีที่ 89 โดยจะมีกิจกรรม 3 แบบ ได้แก่
1. การทำดีด้วยกาย เช่น การทำความสะอาดศาสนสถาน การให้บริการทางสาธารณะ การเยี่ยมคนป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ การอ่านหนังสือพิมพ์ให้ผู้พิการฟัง
2. การทำความดีด้วยวาจา โดยเป็นกิจกรรมทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
3. การทำความดีด้วยใจ คือ การจัดกิจกรรมอธิษฐาน สำรวมจิตภาวนา การแผ่เมตตา ส่วนการปฏิญาณตนจะจัดที่เขตสถาบันการศึกษา สำหรับกรุงเทพฯ จัดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559เวลา 08.00 น. ต่างจังหวัดให้จัดตามหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ หลีกเสี่ยงการเคลื่อนย้ายประชาชนออกนอกจังหวัดเพื่อไม่ให้เกิดความไม่สะดวก สำหรับต่างประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะจัดกิจกรรมในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ ส่วนของรัฐบาลจะจัดที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการปฏิญาณ