ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > KBTG จับมือ IBM นำร่อง Blockchain รับรอง “เอกสารธุรกรรมการเงิน”

KBTG จับมือ IBM นำร่อง Blockchain รับรอง “เอกสารธุรกรรมการเงิน”

3 พฤศจิกายน 2016


นายสมคิด จิรานันตรัตน์ (กลางซ้าย) รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป และนางพรรณสิรี อมาตยกุล(กลางขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ (กลางซ้าย) รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป และนางพรรณสิรี อมาตยกุล(กลางขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดตัวบริการ “OriginCert API” สำหรับรับรอง “เอกสารต้นฉบับ” โดยนำเทคโนโลยี Blockchian เข้ามาใช้หลังบ้าน ซึ่งทำให้เอกสารทุกอย่างที่ถูกนำเข้าในระบบแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้และถูกยืนยันความถูกต้องอัตโนมัติ

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี Blockchian ของไอบีเอ็มที่นำมาใช้ เป็นการพัฒนา Blockchian ผ่านบริการคลาวด์แพลตฟอร์มบลูมิกซ์ (Cloud Platform Bluemix) เรียกว่าไฮเปอร์เลดเจอร์ (Hyperledger) ซึ่งมีความโดดเด่นในการเอื้อความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วแก่นักพัฒนาในการสร้างแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น 1) ความเป็นส่วนตัว (Privacy) สามารถเลือกได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลอะไรและใครที่จะสามารถเข้าถึงได้, 2) มีระบบแจ้งเตือนและตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า (Smart Contract) ว่าหากเอกสารหมดอายุแล้วให้ต่ออายุทันที หรือหากจะโอนหุ้นจะต้องจ่ายเงินก่อน เป็นต้น 3) มีระบบ Consensus ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องยืนยันการนำเข้าข้อมูลอย่างเป็นเอกฉันท์พร้อมกัน และ 4) ระบบแบ่งปันเอกสารซึ่งมีชิ้นเดียวและถูกยืนยันเพียงครั้งเดียว (Shared Ledger) ป้องกันการปลอมแปลง

นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังมี IBM Bluemix Garage ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม นักออกแบบนักพัฒนาแอปพลิเคชัน และผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ มาทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด Design Thinking หรือหลักการออกแบบประสบการณ์ดิจิทัลของไอบีเอ็ม ที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีเครือข่าย IBM Bluemix Garage ครอบคลุมใน 4 ประเทศ ซึ่งในปีนี้ไอบีเอ็มได้ประกาศความร่วมมือด้าน Blockchian กับองค์กรชั้นนำอีกมากมายทั่วโลก

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น KBTG จะเริ่มต้นจากการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) โดยสร้างแอปพลิเคชันของระบบการใช้บริการและชั้นของการบริการ (Service Layer) ขึ้นมาใหม่ และเชื่อมต่อเข้ากับบริการฐานข้อมูล Blockchain ของไอบีเอ็มในขั้นตอนของการยืนยันความถูกต้อง อีกด้านหนึ่ง ลูกค้าจะมีหน้าจอใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน หรือ API อย่างง่ายๆ โดยสามารถกดสั่งเป็นขั้นตอนได้ว่าจะ

1) ขอเอกสารอะไร (Request Birth)

2) จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้ใครและอย่างไร (Pay to)

3) หลังจากที่ธนาคารได้รับเงินค่าธรรมเนียมก็จะออกเอกสารเข้าไปในระบบ Blockchian (Give Birth)

4) ต่อจากนั้นลูกค้าจะสามารถเลือกได้ว่าจะส่งให้ใคร (Share to)

5) บริษัทที่ลูกค้าส่งไปให้จะได้เข้าไปดูได้ (View at) และนำไปใช้ได้ในฐานะต้นฉบับและรับประกันความถูกต้อง

6) หากหนังสือ LG หมดอายุจะมีระบบแจ้งเตือนให้ทุกฝ่ายรับทราบและสามารถสั่งให้ออกใหม่ได้ทันที (Renew Birth)

ทั้งนี้ OriginCert ใน LG เบื้องต้นจะเริ่มออกตัวทดลองในไตรมาส 1 ของปี 2560 และคาดว่าจะให้บริการเต็มรูปแบบในครึ่งปีแรกของปี 2560

“เทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ความถูกต้อง และลดต้นทุนได้จำนวนมาก แต่ก่อนการขอ LG ต้องส่งเอกสารเป็นทอดๆ ลูกค้าต้องเข้ามาหาธนาคารว่าอยากได้ LG ธนาคารก็จะออกให้ลูกค้า ลูกค้าส่งไปให้บริษัทที่ทำธุรกรรมด้วย แล้วปรากฏว่าบริษัทต้องโทรกลับมาอีกว่าที่ได้ไปของจริงหรือไม่ ธนาคารก็ต้องยืนยันไปอีกว่าของจริง แต่ด้วย OriginCert ไม่ต้องออกทีละแผ่น ไม่ต้องแสตมป์ตราธนาคาร ไม่ต้องมาตรวจสอบว่าเอกสารปลอมหรือไม่ หากหมดอายุสามารถตรวจสอบได้ทันที รวมถึงกำหนดให้ต่ออายุและนำไปใช้ได้ทันทีได้ด้วย ดังนั้น จะช่วยลดต้นทุนและป้องกันความผิดพลาดหรือความเสียหายได้มาก” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่อถึงการการประยุกต์ใช้ด้านอื่นนอกจากยืนยันเอกสารทางการเงินว่า ยังสามารถใช้เพื่อยืนยันรับรองความถูกต้องแก่ข้อมูลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน, โฉนดที่ดิน, การโอนสินทรัพย์, การชำระเงิน, การทำสัญญา, การซื้อเพลงและภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาร่วมสร้างฐานข้อมูล รวมไปถึงการผลักดันกฎระเบียบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ประเด็นคือเทคโนโลยีทำได้แล้ว เหลือเพียงต้องดูกฎระเบียบว่ามีบังคับมีกำหนดอะไรไว้หรือไม่

ส่วนการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ นายสมคิดกล่าวว่า กำลังพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 2-3 ธนาคารใหญ่ แต่ในเบื้องต้นให้ความสนใจจะร่วมมือกันแทนที่จะแยกไปตั้งของตนเอง ซึ่งหากจะตั้งแยกอาจจะเป็นธุรกรรมคนละรูปแบบมากกว่า