ThaiPublica > เกาะกระแส > แลภาพเล่าเรื่องใต้ร่มพระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 9 เสี้ยวหนึ่งในความทรงจำ

แลภาพเล่าเรื่องใต้ร่มพระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 9 เสี้ยวหนึ่งในความทรงจำ

13 พฤศจิกายน 2016


“เรื่องที่เล่านี้ไม่ได้หมายความว่า พระมหากรุณาจำกัดอยู่เพียงแค่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น พระมหากรุณานั้นแผ่ไปไม่เลือกสถาบัน ไม่เลือกหน้าผู้คน ขอให้เป็นคนไทยตัวเล็กตัวน้อยที่ไหนก็อยู่ในข่ายพระมหากรุณาไม่ผิดเพี้ยนกัน เพียงแต่เรื่องที่เราจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนแถวนี้ เป็นรูปที่เราค้นได้ จากความทรงจำของเรา จากเรื่องราวของเราที่ได้ฟังจากรุ่นพี่ รุ่นพ่อของเรา ก็นำมาเล่าสู่กันฟังก่อนที่ความทรงจำเหล่านี้ อาจจะกระจัดกระจายหรือสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย” ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ

26 ตุลาคม 2559 สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยาย  “แลภาพเล่าเรื่อง ใต้ร่มพระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 9” ถ่ายทอดเรื่องราวโดย ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ อุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เสี้ยวหนึ่งความทรงจำในรั้ว จุฬาฯ

อาจารย์ธงทอง ได้เปิดเรื่องราวจากพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีรับสั่งเป็นการภายในในวันพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาฯ วันที่ 20-21 ตุลาคม 2559 ว่า “จุฬาฯ กำลังจะฉลอง 100 ปี อีกไม่กี่วันข้างหน้า ในเวลา 100 ปีของจุฬาฯ นั้น มีระยะเวลาถึง 70 ปี ในรัชกาลที่ 9” และได้เริ่มต้นรำลึกเรื่องราวจากภาพแรกที่ปรากฏว่า แผ่นดินรัชกาลที่ 9 ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติวันที่ 9 มิถุนายน 2489 (ขออนุญาตขานพระปรมาภิไธยย่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชมพรรษา 18 พรรษา ซึ่งเท่ากันกับนิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

5 วันหลังจากเริ่มรัชกาลที่ 9 นิสิตจุฬาฯ หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไป เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระมหาปราสาท
5 วันหลังจากเริ่มรัชกาลที่ 9 นิสิตจุฬาฯ หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไป เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระมหาปราสาท

รูปนี้ถ่ายเพื่อบันทึกไว้เมื่อต้นรัชกาล เป็นเวลา 5 วันหลังจากเริ่มรัชกาลที่ 9 ความสูญเสีย ความตระหนกตกใจ ของการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล นั้นยิ่งใหญ่ ในเวลาแห่งความทุกข์โทมนัสร่วมกันกับรัชกาลที่ 9 นิสิตจุฬาฯ หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระมหาปราสาท เนื่องจากเวลานั้นประทับอยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมาน ทรงพระราชดำเนินไปกลับไม่ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง ผ่านแถวนิสิตที่มาเฝ้าถวายกำลังใจ

เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ระยะหนึ่งแล้ว งานพระบรมศพตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2489 และกลางเดือนสิงหาคมเสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อไปทรงพระอักษร หรือไปเรียนหนังสือต่อ ซึ่งแรกทีเดียวทรงเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยโลซาน คณะวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัว กลับไปคราวนั้นต้องทรงเปลี่ยนวิชาที่ศึกษาเป็นวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต่อพระราชภาระ ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ

ทั้งนี้ มีพระราชนิพนธ์สำคัญองค์หนึ่ง เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานมาสำหรับหนังสือชื่อ วงวรรณคดี เป็นพระราชนิพนธ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ 9 ชื่อว่า “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่สำคัญหลายๆ เรื่องที่ต่อเนื่องกันในวันที่ 18-19 สิงหาคม 2489 รวมไปถึงเหตุการณ์ที่รถยนต์พระที่นั่งวิ่งผ่านแล้วมีคนตะโกนขึ้นว่า “ในหลวงอย่างทิ้งประชาชน” ก็อยู่ในองค์นี้

ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นวันที่เสด็จจากพระนครไปนั้นทรงบันทึกว่า เมื่อไปถึงที่สนามบิน ซึ่งเวลานั้นคือดอนเมือง มีนิสิตจากจุฬาฯ ผู้จงใจมาส่งเรา ได้นำเครื่องหมายของหัวใจ (ตราพระเกี้ยว) มามอบให้แก่เรา และได้รับทราบจากนิสิตที่ไปส่งเสด็จคราวนั้นว่า นิสิตทั้งมหาวิทยาลัยวันนั้นงดการเรียนการสอนไปส่งเสด็จที่ดอนเมือง เมื่อเสด็จไปแล้วก็ยังมีความผูกพัน (ขออนุญาตใช้ภาษาปัจจุบัน) แก่ผู้ที่มีวัยใกล้เคียงกัน ได้พระราชทานพระราชนิพนธ์สั้นๆ มาลงในหนังสือของมหาวิทยาลัย

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

ในปีต่อมา คือปี 2492 ได้พระราชทานพระราชนิพนธ์สั้นๆ มาลงหนังสือมหาวิทยาลัยองค์หนึ่ง พอจะอนุมานได้ว่าระหว่างปี 2490-2492 แม้จะไม่ได้ประทับอยู่ในเมืองไทย แต่ว่านิสิตจุฬาฯ คงจะได้กราบทูลขอพระราชมหากรุณา ในแต่ละเรื่องอย่างน้อยที่เราเห็นร่องรอยหลักฐานในวันนี้คือ พระราชนิพนธ์ 2 องค์ที่ว่า

ปี 2493 เสด็จกลับมาเมืองไทย เพื่อมาประกอบพระราชพิธีสำคัญ 2 งานด้วยกัน คือ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ในปลายเดือนมีนาคม 2493 ถัดจากนั้นอีกประมาณเดือนเศษๆ ต้นเดือนพฤษภาคม 2493 เป็นงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 คือวันที่ฉลองวันฉัตรมงคลเป็นประจำ

ในพระราชพิธีทั้งสองพระราชพิธีนั้นมีความจำเป็นต้องจัดริ้วกระบวน มีการจัดมหาดเล็กจัดเจ้าหน้าที่ประกอบพระบรมราชอิสริยยศหลายวาระด้วยกัน ลำพังเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ อาศัยปูมหลังที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนมหาดเล็กมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจากจุฬาฯ ปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาดเล็กในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รุ่นลุง รุ่นป้า น้า อา ของเราได้เห็นเหตุการณ์นี้

ภาพต่อไป เป็นภาพที่นิสิตจุฬาฯ เข้าริ้วกระบวนแต่เชิญพระสุพรรณบัฏ ในเวลาที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นจะมีการจารึกพระสุพรรณบัฏ คือการจารึกพระปรมาภิไธยลงในแผ่นทองคำ แล้วเชิญจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เข้าไปในพระบรมหาราชวัง

อาจารย์ธงทองกล่าวต่อไปว่า ท่านเป็นพระเจ้าอยู่หัวในปี 2489 ผ่านไป 3-4 ปี บัณฑิตที่อยู่ปี 1 เมื่อตอนที่ท่านเป็นพระเจ้าอยู่หัวใหม่ๆ ก็ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2493 ได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ วันที่ 21 ตุลาคม 2493 หลังพิธีบรมราชาภิเษกไม่นาน

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

ทรงสวมครุยบนเวทีก่อนพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดบเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วะ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
ทรงสวมครุยบนเวทีก่อนพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

“น่าสนใจถึงประเพณีการพระราชทานปริญญาบัตรในเวลานั้น แม้กระทั่งการฉลองพระองค์ก็ทรงในหอประชุมนั้นเอง ในปัจจุบันมีการจัดห้อง มีสถานที่ที่จัดถวายไว้เป็นพิเศษสำหรับทรงฉลองพระองค์ และในภาพนี้ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระดำเนินด้วย งานพระราชพิธีในครั้งนั้นออกจะเป็นการยิ่งใหญ่ เพราะว่ามีเจ้านายสำคัญเสด็จมากพระองค์ด้วยกัน”

อาจารย์ธงทองกล่าวต่อไปว่า ในช่วงหลังก่อนจะเสด็จกลับมาประทับที่เมืองไทยปี 2494 ได้เสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ 1 หน เมื่อดูปีประสูติของทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ท่านประสูติที่นั่นในปี 2494 แต่นับแต่ปี 2495 ได้ประทับอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร เพราะวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในเดือนกรกฎาคมปี 2495 ประทับอยู่ที่เมืองไทยแล้ว

ในการพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2500 หลังจากเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ก่อนเสด็จกลับ มีรับสั่งว่าต้องรีบกลับบ้าน เพราะว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกำลังจะมีพระประสูติกาล ทูลกระหม่อมพระองค์เล็ก หรือเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2500

เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ประมาณ 2 เดือน จากกรกฎาคม-กันยายน บรรดาชาวจุฬาฯ กว่า 3,000 คน ได้ขอพระราชทานเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติใหม่ ซึ่งพระองค์ได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เนื่องจากวันที่ประสูติเป็นวันแจกปริญญาของจุฬาฯ คือความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เป็นพระราชกรณียกิจในวันนั้น

ประเพณีทรงดนตรีพระราชทาน

ประเพณีทรงดนตรีแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ครั้งแรกจัดขึ้นที่หอประชุมสวนอัมพร
ประเพณีทรงดนตรีแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ครั้งแรกจัดขึ้นที่หอประชุมสวนอัมพร

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

อาจารย์ธงทองบอกเล่าเรื่องราวประกอบภาพถ่ายหนึ่งว่า ภายหลังการถวายพระพรสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์น้อยซึ่งเข้าใจว่าเสด็จลงที่สวนอัมพร ได้ทรงพระมหากรุณาทรงดนตรีพระราชทานด้วย โดยภายหลังพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ก็ได้เสด็จมาร่วมงานดังกล่าว พร้อมเปิดให้มีการขอเพลงได้ มีการแต่งตั้งโฆษกเฉพาะกิจสำหรับงานในแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะกราบบังคมทูลและพูดกับผู้อยู่ในที่เฝ้าให้กิจกรรมทั้งหลายดำเนินไปได้

“ผมอาจจะไม่แม่นยำแต่ว่าเป็นเรื่องที่หลายท่านจะช่วยกันทำการบ้านต่อไปในวันข้างหน้า ผมคิดว่าประเพณีการทรงดนตรีพระราชทานตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นเริ่มต้นประมาณบวกลบ 2500 ไม่เฉพาะแต่จุฬาฯ แต่เสด็จพระราชดำเนินไปในหลายๆ ที่ สำหรับภาพนี้เป็นการทรงดนตรีพระราชทานสำหรับนิสิตและครูบาอาจารย์จุฬาฯ ไม่ได้เสด็จมาที่หอประชุมจุฬาฯ ไปเฝ้า ณ เวทีหอประชุมสวนอัมพร”

ภายหลังเปลี่ยนสถานที่ โดยประเพณีทรงดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะถูกจัดขึ้นที่หอประชุมจุฬาฯ
ภายหลังเปลี่ยนสถานที่ โดยประเพณีทรงดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะถูกจัดขึ้นที่หอประชุมจุฬาฯ ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

จนปี 2508 ก็ได้มาทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ แล้ว ซึ่งการทรงดนตรีพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ มีต่อเนื่องกันหลายปี ร่วมๆ 10 ปี สำหรับวันทรงดนตรีที่จุฬาฯ ทรงเลือกเป็นกิจกรรมประจำปีในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เพราะวันนี้เป็นวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8 ซึ่งมีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับชาวจุฬาฯ และสำหรับพระองค์เองด้วย

“ถ้าผมจำไม่ผิด ในครั้งสุดท้ายเสด็จพระราชดำเนินน่าจะเวลาประมาณ 14.00 หรือ 14.30 น. แล้วประทับอยู่จนน่าจะเกือบๆ 20.00 น. เห็นจะได้ ร่วมๆ 5-6 ชั่วโมง แต่ว่าหลังจากการทรงดนตรีครั้งนั้นแล้วไม่นาน ก็เป็นเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย คือ 14 ตุลาคม 2516 ปีเดียวกัน แต่ห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 9 ก็เป็นเรื่องการพัฒนาประเทศ เรื่องของการที่จะเติมเพิ่ม พระราชกรณียกิจต่างๆ ในต่างจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้นในขณะนั้น ฉะนั้น วันที่ 20 กันยายน 2517 จึงเป็นการทรงดนตรีและเว้นว่างหลังจากนั้นเป็นต้นมา”

thaipublica-%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b57 thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

ใส่พระทัยไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่

อาจารย์ธงทองกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษา และได้เสด็จมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กน้อยเพียงใด เช่น ปี 2495 เสด็จทอดพระเนตรงานแสดงวิทยาศาสตร์, 14 กุมภาพันธ์ 2504 ทรงฟังการอภิปรายเรื่อง “พระพุทธศาสนากับนิสิตในมหาวิทยาลัย” จัดโดยกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี ส.จ.ม., 29 กรกฎาคม 2505 เสด็จมาร่วมอภิปราย “ปัญหาการใช้คำไทย” ซึ่งเป็นงานวิชาการเล็กๆ ของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์, 24 ธันวาคม 2509 เสด็จเป็นองค์ประธานในการแข่งขันฟุตบอลประเพณี (ปัจจุบันคือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์) ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ ในงานวิชาการที่จัดโดยนิสิตจุฬาฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ ในงานวิชาการที่จัดโดยนิสิตจุฬาฯ
ทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้น
ทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้น

“อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญต่อชาวจุฬาฯ คือ วันที่ 15 มกราคม 2505 เสด็จมาทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้น ครั้งนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสว่า ได้ทรงเพาะต้นจามจุรีที่วังไกลกังวล และตอนนี้ต้นไม้โตมากพอที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว ทรงพามาฝากเข้ามหาวิทยาลัย บริเวณหน้าหอประชุม พระบรมรูปสองรัชกาลฯ”

ในช่วงทศวรรษ 2530 แสดงพระอัจฉริยภาพด้านการคอมพิวเตอร์โดยการออกแบบโปรแกรมประดิษฐ์อักษรเทวนาครี
ในช่วงทศวรรษ 2530 แสดงพระอัจฉริยภาพด้านการคอมพิวเตอร์โดยการออกแบบโปรแกรมประดิษฐ์อักษรเทวนาครี
อักษรเทวนาครีจากโปรแกรมทรงประดิษฐ์
อักษรเทวนาครีจากโปรแกรมทรงประดิษฐ์

ในหลวงกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

อาจารย์ธงทองเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไว้อย่างน่าสนใจว่า หลายปีที่ผ่านมาจำนวนบัณฑิตแต่ละมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทุกๆ ปี สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ประสานราชการกับสำนักราชเลขาธิการ ได้พยายามปรึกษากันว่าจะทำการผ่อนพระราชภาระอย่างไร เช่น ขอให้เปลี่ยนการพระราชทานปริญญาบัตร โดยมหาวิทยาลัยเชิญพระบรมรูปหรือพระบรมฉายาลักษณ์ไปประดิษฐาน พอจบเรียบร้อยแล้วค่อยเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งเป็นเพียงพิธีการสั้นๆ  แต่ทรงยืนยันว่าจะพระราชทานปริญญาบัตรด้วยประเพณีดั้งเดิม คือ พระราชทานด้วยพระหัตถ์

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสื่อสารและติดต่อกับบัณฑิตแต่ละคนด้วยพระองค์เอง มีพระบรมราชาธิบายว่า ในนาทีที่ส่งมอบปริญญาบัตรขณะนั้นหมายความว่า กระดาษแผ่นเดียวกันนั้น คนทั้ง 2 คนถือพร้อมกัน ถ้ามือใดมือหนึ่งไม่หยิบพร้อมกันกระดาษแผ่นนั้นก็จะร่วงหล่น หมายถึงขณะจิตหนึ่งของเรานั้นเราได้เคยถือของชิ้นเดียวแผ่นเดียวกันร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ยิ่งไปกว่านั้น ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสอนบัณฑิต ไม่ได้หมายความถึงพระบรมราโชวาท แต่ทรงอธิบายว่า บัณฑิตเมื่อรับปริญญาแล้วอาจจะไม่ได้ย้อนกลับมาเรียนอะไรกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกเลย ไปทำมาหากินใช้ชีวิตของตนเอง ทรงอยากจะให้บัณฑิตเห็นบทเรียนสุดท้าย คือ ทรงทำเป็นตัวอย่าง ว่าบางครั้งคนเราต้องทำอะไรที่ไม่ใช่ความสุขส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การที่ทรงอดทนพระราชทานปริญญาบัตรหลายชั่วโมงหลายวันต่อเนื่องกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นเพื่อความสุขคนอื่น ประโยชน์คนอื่น ถ้าบัณฑิตได้สังเกต ได้รับบทเรียนนี้ไป สิ่งเหล่านั้นก็มีค่า และมีความหมายมาก

ทั้งนี้ การพระราชทานปริญญาบัตรมีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 7 ปี 2473 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 8 ซึ่งแผ่นดินในเวลานั้นไม่นานปีนัก ได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเพียงแค่ครั้งเดียว เพราะประทับต่างประเทศเสียเป็นเวลานาน ในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย และต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ เป็นครั้งแรกในปี 2493-2541 ซึ่งในปีสุดท้ายนั้นได้พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงหลักการทำงานง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง

เมื่อได้ตรวจสอบกับสำนักทะเบียนจุฬาฯ เฉพาะบัณฑิตที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีจำนวน 190,000 คน เฉพาะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ยังไม่รวมมหาวิทยาลัยอื่น

ปี 2528 เกิดเหตุการณ์ไฟดับระหว่างพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาฯ มีบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์รับพระราชทานปริญญาบัตร โดยที่จะไม่มีรูปกลับไปอวดครอบครัวจำนวนหนึ่ง บัณฑิตเหล่านั้นรับปริญญาบัตรเสร็จแล้วก็กลับไปนั่งที่ในแถวของตนเองก็นึกเศร้าโศก ว่าทำไม่ตัวเราเคราะห์กรรมขนาดนี้ เขารับกันกว่า 2,000 คน มีเราไม่ได้อยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น

แต่ก็ได้มีพระราชกระแสต่ออาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเดินกลับเข้าไป บอกให้ไปตามบัณฑิตเมื่อสักครู่มารับปริญญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“เราก็เตรียมการปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรดี ก็ไปติดต่อปลายแถว เอาปริญญาบัตรคืนมา แล้วจัดใส่พานถวายใหม่ ให้ไปต่อท้ายคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์แถบครุยสีเหลือง เศรษฐศาสตร์สีทอง คนก็ไม่สังเกต ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ก็งงว่าฉันมีเพื่อนงอกมาจากไหนไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ขานใหม่ว่าเป็นบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ แต่มีการขานชื่อต่อไปอย่างนั้น ส่วนคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งรู้ความก็ปรบมือดังเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะได้เกียรตินิยม แต่เป็นความตื่นเต้นว่าเพื่อนได้ปริญญาหนที่สอง คนที่อยู่ในเหตุการณ์เวลานั้น ใครจะรู้สึกได้เท่าความรู้สึกคน 6-8 คนเวลานั้นคงไม่มีอีกแล้ว ซึ่งภายหลังบัณฑิตกลุ่มนี้ก็ได้รวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นเรื่องที่นายตราชู กาญจนสถิตย์ ได้เล่าผ่านเฟซบุ๊กของตน”

เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ครั้งสุดท้าย
เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ครั้งสุดท้าย

อาจารย์ธงทองกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนงดพระราชกรณียกิจพระราชทานปริญญาบัตรในปีหนึ่งว่า ตนจำไม่ได้แล้วว่าปีไหน แต่เป็นช่วงเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ มีงานพระราชทานปริญญาบัตรในวันพฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ เป็นเวลา 3 วัน ผมมีหน้าที่เกี่ยวกับการร่างคำกราบทูล เตรียมเอกสารในวันที่เสด็จ

ในวันพุธ ราชเลขาธิการโทรศัพท์มาแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการประชวร พระทัยเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ แพทย์ถวายความแนะนำว่าควรงดพระราชกิจ แต่ทรงต่อรองกับแพทย์ว่าในเช้าวันพฤหัสบดีให้ถวายตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแจ้งล่วงหน้า เผื่อมีเหตุจำเป็นต้องมีสมเด็จบรมวงศ์ เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแทน ก็ได้มีการเตรียมคำกราบทูลไว้ทุกกรณี

“เช้าวันพฤหัสบดี ได้มีโทรศัพท์หาผมว่าแพทย์ถวายตรวจพระอาการแล้วก็ยังไม่เป็นปกติ แต่ทรงยืนยันว่าจะมาแจกปริญญาที่จุฬาฯ ทรงต่อรองครั้งที่ 2 ว่าขอให้แพทย์ทรงไปตรวจตอนบ่ายโมงอีกครั้งหนึ่ง เพราะหมายกำหนดการเสด็จนั้นเวลาบ่าย 2 แพทย์เฝ้าอีกครั้งบ่าย 2 สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังไม่ดี แต่ยังทรงยืนยันว่าจะมา และสุดท้ายก็มีข้อตกลงกันว่าจะทรงพักครึ่งเพื่อผ่อนพระอิริยาบถ แล้วแพทย์ก็จะได้ถวายปฏิบัติได้บ้างในเวลานั้น หน้าที่ผมคือการร่างคำกราบทูลเป็นครั้งแรกที่ระหว่างพระราชทานปริญญาบัตรแล้วต้องมีการหยุดครึ่ง ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน”

พระบรมราโชวาทที่เคยได้พระราชทานให้แก่นิสิตจุฬาฯ เมื่อครั้งเสด็จมางานพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก
พระบรมราโชวาทที่เคยได้พระราชทานให้แก่นิสิตจุฬาฯ เมื่อครั้งเสด็จมางานพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

นอกจากนั้นแล้ว ได้รับคำแนะนำจากสำนักราชเลขาธิการหลายอย่าง ต้องจัดพื้นที่ ในหอประชุมด้านหลังมีคณะแพทย์และเครื่องมือฉุกเฉินทั้งหลายมารออยู่ตรงนั้น ด้านข้างหอประชุมมีรถพยาบาลรวมทั้งตำรวจ ทางมหาวิทยาลัยได้รับการแจ้งประสานให้เคลียร์เส้นทางจากหอประชุมออกทางคณะอักษรศาสตร์ถนนอังรีดูนังต์ไปทางโรงพยาบาลจุฬาฯ แพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมการปฏิบัติหากมีเหตุจำเป็นต้องเสด็จโรงพยาบาล

“ในเวลานั้นผมร่างคำกราบบังคมทูลสั้นๆ ว่าขอให้ทรงพักเหนื่อย ผมคิดว่าคนทั้งหมดไม่ได้อยากรบกวนเบื้องพระยุคลบาทถึงเพียงนั้น อยากให้ท่านพัก แต่พระมหากรุณายิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะไปพูดอะไรได้ นี่คือสิ่งหนึ่ง ผมลุ้นเหตุการณ์นี้มา 3 วันว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย และด้วยพระบารมี 3 วันนั้นก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เหมือนกับ 70 ปีในรัชกาลของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยความสุขของเราทุกคน

ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่มีทางจะครบถ้วน ไม่มีทางจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างได้ มีอีกมากมายมหาศาลที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้และอีกหลายๆ มหาวิทยาลัย ในตำบล ในหมู่บ้าน ในตรอกซอกซอย มีอีกมากมายในเมืองไทยของเรา ผมขอให้เราช่วยกันจด ช่วยกันจำอย่างเดียวไม่พอ ความจำของเรานั้นเลือนหายได้ บางเรื่องอาจกลายเป็นเพียงตำนาน ถูกใส่สีตีไข่ ช่วยกันจดเถิดครับสิ่งที่เราได้พบมานี้ ลูกหลานในวันข้างหน้าอีก 50 ปี 100 ปี เขาจะรู้ว่าปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา เขาโชคดีเพียงใด”

thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง thaipublica-แลภาพเล่าเรื่อง

โปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจากจุฬาฯ ปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาดเล็กในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจากจุฬาฯ ปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาดเล็กในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ดูเพิ่มเติมภาพทั้งหมด