ThaiPublica > คอลัมน์ > See You in Montevideo มนต์เสน่ห์ลูกหนังสลาฟ

See You in Montevideo มนต์เสน่ห์ลูกหนังสลาฟ

24 พฤศจิกายน 2016


Hesse004

เห็นจั่วหัวชื่อเรื่องแบบนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจว่า ผู้เขียนตกวิชาภูมิศาสตร์แต่อย่างใด

…แล้วชื่อของกรุงมอนเตวิเดโอ (Montevideo) เมืองหลวงของอุรุกวัย มันเกี่ยวอะไรกับลูกหนังของสลาฟ (Slavs) กันอย่างไร

คอลูกหนังที่ติดตามฟุตบอลโลกมาตลอด คงทราบดีว่า ฟุตบอลโลกครั้งแรกถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ. 1930 ในนามของ FIFA World Cup ที่มีสังเวียนลูกหนังฟาดแข้งกันที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ฟุตบอลโลกครั้งนั้นมีทีมเข้าร่วมชิงชัยทั้งสิ้น 13 ทีม ได้แก่ อาร์เจนติน่า ชิลี ฝรั่งเศส เม็กซิโก ยูโกสลาเวีย บราซิล โบลิเวีย โรมาเนีย เปรู สหรัฐอเมริกา ปารากวัย เบลเยี่ยม และอุรุกวัย เจ้าภาพ

จุดเริ่มต้นฟุตบอลโลกบนแผ่นดินลาตินอเมริกาก็ด้วยความที่คนอเมริกาใต้นั้นหลงใหล คลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนัง คำว่า “คลั่ง” นั้น เข้าขั้นว่า “บูชา” ฟุตบอลดังศาสนาประจำทวีปกันเลยที่เดียว อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลโลกครั้งนั้นกลับมีตัวแทนจากทวีปยุโรปเข้าร่วมเพียง 4 ชาติ คือ ฝรั่งเศส โรมาเนีย เบลเยี่ยม และยูโกสลาเวีย

เมื่อ 86 ปีที่แล้ว อาชีพนักฟุตบอลไม่ใช่อาชีพที่สร้างความร่ำรวยจนกลายเป็นพ่อค้าแข้งระดับพันล้านได้เหมือนทุกวันนั้ นักฟุตบอลเป็นเพียงแรงงานที่มีทักษะประเภทหนึ่ง พวกเขาทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมในสนาม …ยุคที่โทรทัศน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่มีการถ่ายทอดสด ไม่มีผู้จัดการเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุนนักฟุตบอลหรือสโมสรฟุตบอล ด้วยเหตุนี้ สโมสรฟุตบอลจึงมีรายได้ทางเดียวจากการขายค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน

แม้ว่าฟุตบอลยุโรปหรือฟุตบอลลาติน จะมีสโมสรฟุตบอลอาชีพเก่าแก่ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (1878) ลิเวอร์พูล (1892) ในอังกฤษ ฟลาเมงโก (1895) ของบราซิล ริเวอร์ เพลท (1901) ในอาร์เจนติน่า เรอัล มาดริด (1902) ในสเปน แต่อาชีพนักฟุตบอลก็ยังไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงและมั่งคั่งเหมือนทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ฟุตบอลโลกปี 1930 อังกฤษที่สถาปนาตัวเองเป็น Home of Football กลับไม่เข้าร่วมชิงชัยรายการนี้ พวกเขาไม่อยากเสียเวลานั่งเรือข้ามทวีปไปเตะฟุตบอลที่อเมริกาใต้ จึงปล่อยให้ ทีมชาติฝรั่งเศส “ทีมตราไก่” ที่มีนายจูลล์ ริเม่ต์ (Jules Rimet) ประธาน FIFA ชักชวนชาติยุโรปมาอีก 3 ชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ชาติเกิดใหม่ที่ชื่อ ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)

ยูโกสลาเวีย เป็นพวกสลาฟ (Slavs) ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณยุโรปตอนกลาง ยุโรปตะวันออกไล่เรื่อยไปถึงรัสเซีย ยูเครน

สลาฟเป็นชนชาติที่มีพรสวรรค์ด้านกีฬาลูกหนังไม่แพ้ชาติใดในโลก นักเตะสลาฟเป็นนักเตะที่เล่นฟุตบอลด้วย “มันสมอง” จัดเป็นนักบอลประเภทเจ้าแทคติก มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่านักเตะอเมริกาใต้

กลุ่มชนสลาฟกระจายอยู่ทั้งด้านตะวันออก ตะวันตกและด้านใต้ ของยุโรป พวกสลาฟใต้ยังประกอบด้วยหลายกลุ่ม ได้แก่ เซิร์บ (Serbs) โครแอต (Croats) มอนเตรเนกริน (Montenegrins) สโลวีน (Slovenes) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเบลเกรด (Belgrade) อดีตเมืองหลวงยูโกสลาเวีย และเป็นเมืองหลวงของเซอร์เบียในปัจจุบัน

การเปิดตัวของทีมชาติยูโกสลาเวียในฟุตบอลโลกปี 1930 นับว่าน่าสนใจมาก พวกเขามาที่มอนเตวิเดโอแบบ “โนเนม” เพราะไม่มีใครรู้จักประเทศนี้มาก่อน พวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับจากแฟนบอลหรือแม้แต่ผู้จัดทัวร์นาเมนต์ นักฟุตบอลและสตาฟฟ์ถูกจัดให้เข้าพักในโรงแรมซอมซ่อ…แต่ท้ายที่สุด ยูโกสลาเวียกลับเป็นตัวแทนยุโรปทีมเดียวที่หลุดเข้ารอบรองชนะเลิศได้ ก่อนจะโดน “อุรุกวัย” เจ้าภาพยำเละด้วยสกอร์ 6 ประตูต่อ 1

แต่สิ่งที่ยูโกสลาเวียชุดนั้นสร้างความประทับใจและ “เซอร์ไพร์ส” วงการลูกหนังโลก คือ การยัดเยียดความปราชัยให้กับ “บราซิล” ที่เป็นหนึ่งในตัวเต็งฟุตบอลโลกครั้งแรก โดยนัดแรกของทัวร์นาเมนต์ นักเตะ “แซมบ้า” พ่ายยูโกสลาเวียไปด้วยสกอร์ 1 ประตูต่อ 2 นับเป็นการประเดิมฟุตบอลโลกของ “เจ้าลูกหนัง” ที่ไม่ค่อยสวยนัก

ชัยชนะของยูโกสลาเวียต่อบราซิลสร้างความฮึกเหิมให้กับขุนพลนักเตะสลาฟหนุ่มและยังเป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนบอลอุรุกวัย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับบราซิลมาตั้งแต่เริ่มหัดเตะฟุตบอลมาด้วยกัน

หลังจากที่ยูโกลสลาเวียโค่นบราซิลได้แล้ว ขุนพลสลาฟยิงโบลิเวียไม่เลี้ยง 4 ประตูต่อ 0 เข้ารอบเป็นที่หนึ่งของกลุ่ม ชนิดพลิกปากกาเซียน แต่รอบรองชนะเลิศ พวกเขาเจอเจ้าภาพอุรุกวัยในสนาม Estadio Centenario ท่ามกลางแฟนบอลเจ้าภาพร่วม 80,000 คน ที่เขย่าขวัญอาคันตุกะจากยุโรปตะวันออก และท้ายที่สุดอุรุกวัยผ่านเข้าชิงชนะเลิศ แม้ว่ายูโกสลาเวียจะยิงประตูขึ้นนำไปก่อนตั้งแต่นาทีที่ 4

เกมรอบรองในวันนั้น จัดเป็นแมตช์อื้อฉาวแมตช์หนึ่งของฟุตบอลโลก เพราะกรรมการชาวบราซิลกลัวบรรยากาศแฟนบอลในสนามจนเป่านกหวีดเข้าข้างเจ้าภาพตลอด ถึงแม้จะแพ้ แต่ขุนพลสลาฟชุดนั้นก็กลับบ้านเยี่ยง “วีรบุรุษ” โดยคว้าอันดับ 3 ด้วยการเอาชนะสหรัฐอเมริกา

…วีรกรรมของนักตะสลาฟที่ถือธงยูโกสลาเวียไปปักในเวทีบอลโลกครั้งแรก กลายเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เซอร์เบีย เรื่อง See You in Montevideo ผลงานการกำกับของ Dragan Bjelogrlic ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2014 และได้รับคัดเลือกส่งเข้าประกวดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต่างประเทศในเวที อคาเดมีอวอร์ดครั้งที่ 87 ด้วย

See You in Montevideo ภาพยนตร์เซอร์เบีย ที่กล่าวถึงฟุตบอลทีมชาติยูโกสลาเวียในฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัย ที่มาภาพ : https://i.jeded.com/i/montevideo-see-you.29177.jpg
See You in Montevideo ภาพยนตร์เซอร์เบีย ที่กล่าวถึงฟุตบอลทีมชาติยูโกสลาเวียในฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัย ที่มาภาพ : https://i.jeded.com/i/montevideo-see-you.29177.jpg

Bjelogrlic ผู้กำกับเล่าเรื่องฟุตบอลในทศวรรษที่ 30 ได้สนุก ตื่นเต้น รุ่มรวยอารมณ์ขัน ทำให้เราเห็นเสน่ห์ของกีฬาลูกหนังในอดีต ที่เป็น “ภาษาสากล” เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ทุกคนสามารถสื่อสารกันด้วยลูกฟุตบอลได้อย่างบันเทิงเริงใจ

See You in Montevideo นำเราไปสัมผัสบรรยากาศฟุตบอลโลกครั้งแรกบนแผ่นดินอุรุกวัย แต่ตัวละครเดินเรื่องเป็นชนชาติเกิดใหม่ที่อุตส่าห์ข้ามมหาสมุทรมาเตะฟุตบอล

ถ้าจะว่าไปแล้ว หนังเรื่องนี้ทำให้คอฟุตบอลรุ่นเก่าคิดถึงทีมชาติยูโกสลาเวีย ที่เต็มไปด้วยนักตะมากพรสวรรค์ จนเคยมีคนกล่าวไว้ว่า ยูโกสลาเวีย คือ บราซิลแห่งยุโรป

ด้วยสไตล์การเล่นที่สวยงาม ผู้เล่นใช้มันสมองเล่นฟุตบอล ไม่ได้เน้นพละกำลังหรือสักแต่โยนยาวเพียงอย่างเดียว ทำให้ฟุตบอลยูโกสลาเวียประสบความสำเร็จไม่น้อย ในเวทีฟุตบอลโลก ยูโกสลาเวียจัดเป็น ขาประจำทีมหนึ่ง พวกเขาผ่านสังเวียนบอลโลกทั้งหมด 7 ครั้ง ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด คือ ทศวรรษ 50-60 ที่สามารถทะลุเข้าถึงรอบชนะเลิศ และผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย (Quarter final) มาตลอด


Trailer ภาพยนตร์เรื่อง See You in Montevideo

ฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี เป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายในนามประเทศยูโกสลาเวีย ทีมชุดนั้นมีนักฟุตบอลระดับพระกาฬในเวลาต่อมา เช่น ดราแกน สตอยโควิช (Dragan Stojkovic) มิดฟิลด์ตัวรุที่มากพรสวรรค์ อัลแลน บอคซิค (Alen Boksic) ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์หน้าทีมชาติโครเอเชีย โรเบิร์ต โปรซิเนคสกี้ (Robert Prosinecki) ยอดกองกลางระดับโลกยุคปลาย 90 และ ดาวอร์ ซูเคอร์ (Davor Suker) สุดยอดกองหน้าเวิร์ดคลาส อดีตดาวยิงในฟุตบอลโลกฟรองซ์ 98

อย่างไรก็ดี ผลพวงของสงครามกลางเมืองช่วงทศวรรษที่ 90 ทำให้ยูโกสลาเวียถูกแบนจากฟุตบอลระดับนานาชาติทุกรายการ

หลังจากที่ยูโกสลาเวียล่มสลายไป แผ่นดินสลาฟบริเวณนั้นแตกออกมาเป็น บอสเนียและเฮอร์เซโกวิน่า (Bosnia & Herzegovina) โครเอเชีย (Croatia) สโลวีเนีย (Slovenia) มอนเตรเนโกร (Montenegro) และเซอร์เบีย (Serbia) ขณะที่นักฟุตบอลเผ่าพันธุ์สลาฟยังเป็นนักฟุตบอลที่ตลาดนักเตะในลีกลูกหนังยุโรปต้องการเสมอ

นักเตะเด่น ๆ ส่วนใหญ่มาจากโครเอเชียและเซอร์เบีย เช่น ซินิซ่า มิไฮโลวิช (Sinisa Mihajlovic) ตำนานกองหลังชาวเซอร์เบีย สิงห์อีซ้ายตีนระเบิดที่เคยถูกจัดให้เป็นนักเตะที่ปั่นฟรีคิกดีที่สุดในโลก หรือเนมานยา วีดิช (Nemanja Vidic) อดีตปราการหลังคนเหล็กของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ทีมชาติเซอร์เบีย บรานิสลาฟ อิวาโนวิค (Branislav Ivanovic) เซ็นเตอร์แบ๊คของเชลซี กัปตันทีมชาติเซอร์เบียคนปัจจุบัน รวมทั้ง เดยัน ลอฟเรน (Dejan Lovren) กองหลังลิเวอร์พูล จากโครเอเชีย เป็นต้น

ฟุตบอลโลกครั้งแรก เมื่อ 80 กว่าปีก่อน กับฟุตบอลโลกสมัยนี้เปลี่ยนไปชนิดเทียบกันไม่ได้ อาชีพนักฟุตบอลกลายเป็นอาชีพมั่งคั่งและต่อยอดไปสู่อาชีพต่าง ๆ ในวงการลูกหนัง ไม่ว่าจะเป็นสตาฟฟ์โค้ช ผู้จัดการทีม หรือแม้แต่นักวิจารณ์ฟุตบอล

เช่นเดียวกับ FIFA ที่กลายเป็นองค์กรโลกบาลทางกีฬาลูกหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก… FIFA สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกทุก 4 ปี ไม่นับรวมฟุตบอลโลกหญิง ฟุตบอลโลกระดับเยาวชน รวมถึงฟุตซอลโลก ทุกอย่างล้วนเป็นผลประโยชน์และเงินทองที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจฟุตบอลนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด

…ถึงแม้องค์ประกอบหลายอย่างของฟุตบอลจะเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยจางหายไป คือ มนต์เสน่ห์ของลูกหนัง