ThaiPublica > คอลัมน์ > พัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยหลังปี 2540 (ตอนที่ 3)

พัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยหลังปี 2540 (ตอนที่ 3)

1 พฤศจิกายน 2016


Hesse004

ต่อจากตอนที่2

การรัฐประหารรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อย่างไรก็ดี กลไกต่างๆ ในการต่อต้านทุจริตไม่ได้ถูกยกเลิกตามไปแต่อย่างใด

น่าสนใจว่า ภายหลังปี 2549 กระแสต่อต้านคอร์รัปชันดังขึ้น ทั้งจากหน่วยงานต่อต้านทุจริตภาครัฐเอง และจากสื่อมวลชนซึ่งเป็น “ผู้เล่นสำคัญ” ที่ออกมาขุดคุ้ยปัญหาทุจริต เช่นเดียวกันกับภาคประชาชนที่รวมกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

สถานการณ์ต่อต้านคอร์รัปชันหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนกระทั่งปี 2554 มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการต่อต้านที่มุ่งไปสู่กระบวนการปราบปรามเป็นหลัก

หลังยึดอำนาจ คณะรัฐประหารที่รู้จักกันในนาม คมช. ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจากการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ โดยบุคคลในรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น)

แรกเริ่มเดิมที คตส. ประกอบด้วยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเฉพาะ เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้โอนเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช.

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ป.ป.ช. พบว่า มีเรื่องที่รับโอนไปจาก คตส. จำนวน 24 เรื่อง หลายเรื่องที่ศาลอาญาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาแล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดา บางเรื่องศาลยกฟ้อง เช่น คดีกล้ายาง ขณะที่หลายเรื่องไม่มีการรายงานความคืบหน้ามานานแล้ว

ในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ผู้เกี่ยวข้องกับกลไกการปราบปรามคอร์รัปชันหลายคนถูก “กล่าวหา” ฟ้องร้องกันไปมา แต่ที่เป็น “ตลกร้าย” คือ มือปราบคอร์รัปชันหลายคนต่างโดนคดีเชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาวต่างๆ เสียเอง

ยกตัวอย่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ถูกศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีออกระเบียบ ป.ป.ช. เพื่อขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเอง หรือแม้แต่อดีตกรรมการ คตส. ที่โด่งดังท่านหนึ่ง ในฐานะ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ที่อาสามากำราบ “ระบอบทักษิณ” ก็มิพักโดนชี้มูลจาก ป.ป.ช. และศาลพิพากษาแล้วว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเรื่องการเบิกค่าสัมมนาเท็จ

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนภาพการปราบปรามคอร์รัปชันในช่วงก่อนและหลังรัฐประหารปี 2549 ที่การกล่าวหาศัตรูฝ่ายตรงข้ามว่า “คอร์รัปชัน” กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายล้างที่มีอานุภาพสูง เปรียบเสมือน “อาวุธซัด” ที่ “ดิสเครดิต” ความน่าเชื่อถือในเกมการเมือง

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ขึ้นมา ภายใต้การนำของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียง “พะยี่ห้อ” ต่อต้านคอร์รัปชันหลายคน เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และนายวิชา มหาคุณ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ เริ่มผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดทำยุทธศาสตร์ต่อต้านคอร์รัปชันระดับชาติขึ้น

โตไปไม่โกง

ยุทธศาสตร์ต่อต้านคอร์รัปชัน ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ปลูกฝังจิตสำนึก (2) รวมพลังแผ่นดินป้องกันปราบปรามทุจริต (3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยงานต่อต้านทุจริต และ (4) สร้างบุคลากรมืออาชีพป้องกันและปราบปรามทุจริต

การผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐหน่วยงานใหม่ในชื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. การตั้งองค์กรใหม่นี้สะท้อนภาพว่า รัฐบาลพยายามทุ่มเทสรรพกำลังให้ปัญหาการทุจริตลดลง

ป.ป.ท. ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วย ป.ป.ช. ปราบปรามปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการคอร์รัปชันระดับเล็ก เช่น ฐานความผิดประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

…อย่างไรก็ดี ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แม้จะรณรงค์ต่อต้านมาตั้งแต่ปี 2540 และเป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนป้องกันเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันเน้นที่การขยายโครงสร้างหน่วยงาน เช่น การตั้งหน่วยงานใหม่อย่าง ป.ป.ท. ก็ดี หรือ ขยายโครงสร้าง ป.ป.ช. จังหวัด ก็ดี

ในปี 2554 มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยหนึ่งในเรื่องใหม่ที่ปรากฏในกฎหมายฉบับนี้ คือ กำหนดให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (หมวด 9/2 มาตรา 103/10-103/21)

ป.ป.ช. จังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยประสานความร่วมมือกับประชาชนภายในจังหวัด สร้างเครือข่าย รับเรื่องร้องเรียนและรับแบบแสดงรายการทรัพย์สินของผู้มีหน้าที่ยื่นแบบให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2554 ได้เพิ่มบทบัญญัติให้หน่วยงานรัฐต้องประกาศราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้ (มาตรา 103/7) เนื่องจากงานวิจัยด้านคอร์รัปชันพบว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด

การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ในปี 2554 ยังเพิ่มแรงจูงใจกับผู้แจ้งเบาะแสกรณีทุจริต โดยเรียกว่า การจ่ายเงินสินบนสำหรับผู้ชี้ช่องแจ้งเบาะแสเรื่องคอร์รัปชัน หรือคดีร่ำรวยผิดปกติ (มาตรา 103/3)

อาจกล่าวได้ว่า ในช่วง 5 ปี หลังเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2549 การต่อต้านคอร์รัปชันบ้านเราเน้นกลไกปราบปรามเป็นหลัก แต่การปราบปรามจะถูกมองเป็นการ “เช็คบิล” กลุ่มก้อนทางการเมืองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนตัดสิน โดยใช้แว่นสีอะไร

สำหรับตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย การต่อต้านคอร์รัปชันหลังปี 2554 จนถึงปัจจุบันนี้ มีจุดน่าสนใจหลายประการ ทั้งในแง่ความเข้มข้นของการสร้างบทลงโทษคอร์รัปชัน การรวมศูนย์ต่อต้านคอร์รัปชัน หรือที่เรียกว่า ศอตช. การใช้ ม.44 สั่งพักงานผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องความโปร่งใส การตั้งศาลพิเศษเพื่อมาตัดสินคดีทุจริตเพียงอย่างเดียว บทบาทของสื่อมวลชนอย่างสำนักข่าวอิศรา หรือ Thaipublica ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (ACT)