ThaiPublica > คอลัมน์ > Sustainability แบบเข้าพรรษา

Sustainability แบบเข้าพรรษา

9 กรกฎาคม 2014


ดร.วิรไท สันติประภพ

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าพรรษาแล้วนะครับ คนรุ่นใหม่อาจเข้าใจว่าเข้าพรรษาเป็นเพียงเทศกาลหนึ่งในพุทธศาสนาที่คนนิยมบวชพระกันมาก คนเมืองบางคนอาจจะโยงพรรษากับฤดูฝนไม่ถูกด้วยซ้ำไป ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงนิยมบวชพระช่วงฤดูฝน สภาวะอากาศที่ผิดเพี้ยนในปัจจุบันยิ่งทำให้คนละเลยความสำคัญของฤดูกาล และความเชื่อมโยงระหว่างฤดูกาลกับวิถีชีวิตดั้งเดิม

ในยุคที่กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ sustainability กำลังมาแรงในทุกวงการ โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ เราเห็นตัวอย่างแนวคิดเรื่อง sustainability จากทุนนิยมต่างประเทศมากมายจนไม่ค่อยนึกถึงเรื่องใกล้ตัว เมื่อผมได้ฟังเทศน์ของท่านอาจารย์พุทธทาสเรื่อง “การเตรียมตนเพื่อเข้าพรรษา” ที่ท่านอาจารย์แสดงไว้ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2513 แล้ว ทำให้ฉุกคิดได้ว่าพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เกี่ยวกับการเข้าพรรษาเป็นตัวอย่างแนวคิดชั้นยอดของ sustainability ที่เราควรนำมาประยุกต์ใช้ พระวินัยเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากว่า 2,600 ปี

มีอย่างน้อยหกมิติที่เราสามารถเรียนรู้เรื่อง sustainability ได้จากการเข้าพรรษา

มิติแรก พระวินัยเรื่องการเข้าพรรษาเกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทรงกังวลถึงผลกระทบจากการจาริกปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนาต่อคนกลุ่มอื่นในสังคม (stakeholders) แม้ว่าการจาริกปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่พุทธศาสนาเป็น core business ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล และพุทธศาสนาเป็นศาสนาใหม่ ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับบางศาสนาหรือลัทธิที่มีอยู่เดิม แต่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระสงฆ์พำนักอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาพรรษาหรือช่วงฤดูฝน เพราะทรงตระหนักว่าฤดูฝนเป็นช่วงทำนาของชาวบ้าน การจาริกของพระสงฆ์ไปตามที่ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อต้นกล้า ไร่นา ไม่เป็นการอยู่อย่างเกื้อกูลกันกับชาวบ้าน

มิติที่สอง พระพุทธเจ้าทรงยอมรับกฎของธรรมชาติ และปรับวิถีชีวิตภายใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติ ไม่ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของพระสงฆ์ การจาริกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลคือการเดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ด้วยเท้าและพำนักตามถ้ำ ร่มไม้ ชายป่า ดังนั้นการจาริกแบบย่ำดินย่ำโคลนในช่วงฤดูฝนเป็นเรื่องยากลำบาก และไม่เอื้อให้พระสงฆ์ปฏิบัติภาวนาได้เต็มที่ ในทางตรงกันข้ามถ้าพระสงฆ์ปรับวิถีชีวิตของตนเองตามข้อจำกัดของธรรมชาติ จำพรรษาอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง อาจจะเกิดประโยชน์ส่วนตนและพุทธศาสนามากกว่าการตระเวนจาริกไปเรื่อยๆ ก็ได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่าในช่วงพรรษาชาวบ้านทำนาปลูกข้าว พระสงฆ์ต้องทำนาทางจิตวิญญาณ

มิติที่สาม พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าพระสงฆ์ต้องอธิษฐานพรรษา คือต้องตั้งใจเลือกสถานที่จำพรรษาที่มีหลังคา ฝารอบขอบชิด ไม่อนุญาตให้จำพรรษาในที่กลางแจ้งหรือร่มไม้ เมื่อพระสงฆ์ตั้งใจกำหนดสถานที่แล้วจะไม่ไปพักค้างแรมที่อื่นตลอดช่วงพรรษา นอกจากการอธิษฐานพรรษาแล้ว พระสงฆ์แต่ละรูปมักจะอธิษฐานตั้งเป้าหมายที่ท่านต้องการทำให้สำเร็จตลอดทั้งพรรษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดขึ้น การปฏิบัติภาวนาที่เข้มข้นขึ้น หรือการศึกษาปริยัติให้แตกฉานขึ้นกว่าในช่วงเวลาอื่น

การตั้งใจว่าจะทำหรือไม่ทำกิจใดกิจหนึ่งที่เข้มข้นกว่าปกติโดยต่อเนื่องตลอดช่วงพรรษานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการฝึกจิตฝึกใจที่จะเป็นรากฐานให้เกิดความก้าวหน้าในอนาคตได้อย่างมั่นคง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพระสงฆ์เท่านั้น อุบาสกอุบาสิกาจำนวนไม่น้อยอธิษฐานตั้งเป้าหมายปรับวิถีชีวิตตนเองในช่วงพรรษา ตั้งแต่งดอบายมุขไปจนถึงการถือศีลแปด ทำวัตร สวดมนต์ หรือปฏิบัติภาวนามากกว่าปกติ การตั้งใจปรับวิถีชีวิต ฝึกความอดทน ลดความสุขจากการบริโภคและลดกิจกรรมที่เกินพอดีในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีเช่นนี้ ไม่ได้มีเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น เวลาที่ชาวมุสลิมถือศีลอด หรือชาวคริสต์เข้าสู่เทศการมหาพรต เขาเคร่งกว่าชาวพุทธโดยทั่วไปมาก นอกจากนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสยังได้ยกเรื่องสัตว์จำศีลหลายชนิดที่ปรับวิถีชีวิตช่วงฤดูฝนเข้มข้นกว่ามนุษย์มาก ไม่ว่าจะเป็นแย้จำศีลใช้ชีวิตอยู่ในรู หลับตา สงบนิ่ง ไม่กินไม่ถ่าย อาศัยแต่เพียงดึงไขมันที่สะสมไว้ตามตัวมาใช้เป็นพลังงาน หรือไก่ป่าที่หยุดกิจกรรมสืบพันธุ์ และหยุดต่อสู้กัน

มิติที่สี่ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่าหากพระสงฆ์มีกิจจำเป็นต้องไปค้างแรมที่อื่น อนุญาตให้ไปด้วย “สัตตาหกรณียะ” คือต้องไปทำกิจแล้วกลับมาภายในเจ็ดวัน จึงจะถือว่าพรรษาไม่ขาด แต่ที่สำคัญมากคือ กิจที่ทรงอนุญาตนั้น ต้องไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องเป็นกิจเพื่องานพระศาสนา หรือกิจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น ไปดูแลพระอุปัชฌาย์ที่อาพาธ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย การสัตตาหกรณียะเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ไม่สามารถพำนักอยู่ในที่ที่ได้อธิษฐานพรรษาไว้ ในสมัยปัจจุบันพระสงฆ์ที่ถือปฏิบัติเคร่งครัด ท่านจะไม่ไปพักค้างแรมที่อื่นแม้ว่าจะอาพาธ เพราะเห็นว่าเป็นการทำไปเพื่อผลประโยชน์ตนเอง จะส่งผลให้ขาดพรรษาได้

มิติที่ห้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าการเข้าพรรษาเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมความสามัคคีระหว่างหมู่คณะสงฆ์ พุทธศาสนาเน้นการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นในระดับปัจเจก หรือการพ้นทุกข์ของแต่ละคน พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลจำนวนไม่น้อยต่างรูปต่างอยู่ต่างปฏิบัติกระจายตามที่ต่างๆ พุทธศาสนาจะเผยแผ่ในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อพระสงฆ์สามัคคีและมีระเบียบแบบแผน พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมให้พระสงฆ์จำพรรษาร่วมกัน เพื่อที่จะดูแลเกื้อกูลกันและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ ดังจะเห็นได้จากพุทธบัญญัติเกี่ยวกับพิธีกรานกฐิน เมื่อออกพรรษาแล้ว วัดที่รับผ้ากฐินได้จะต้องมีพระสงฆ์จำพรรษาร่วมกันอย่างน้อยห้ารูปตลอดทั้งพรรษา ถ้าวัดใดมีพระสงฆ์จำพรรษาร่วมกันไม่ถึงห้ารูป จะรับถวายได้เพียงแค่ผ้าจำพรรษาเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน

มิติที่หก ในเทศน์ของท่านอาจารย์พุทธทาสเรื่อง “การเตรียมตนเพื่อเข้าพรรษา” ท่านอาจารย์เทศน์ไว้ว่าการเข้าพรรษาและออกพรรษาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสำคัญที่เราต้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน หลายคนอาจจะมองว่าขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นนี้เป็นเรื่องงมงายหรือล้าสมัย ไม่ต้องให้ความสำคัญหรือคิดง่ายๆ ดัดแปลงประเพณีแบบเอาสะดวกเข้าว่าตามสภาวะปัจจุบัน ท่านอาจารย์ให้ข้อคิดว่าการกระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม นอกจากจะรักษาวัฒนธรรมให้เป็นอัตตลักษณ์ของชุมชน สังคม และประเทศแล้ว ยังเป็นการฝึกใจให้ยอมรับระเบียบกฎเกณฑ์ที่สืบทอดกันมา น้อมใจให้ลดอัตตาของตน ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีคือช่วยให้จิตใจดีขึ้น เกิดความมั่นคงและสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นจากการทำตามประเพณีแบบมักง่าย หรือเอาความสะดวกของตนเป็นที่ตั้ง การดัดแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีตามความสะดวกจะทำให้ของดั้งเดิมเสื่อมหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลานได้ คนรุ่นต่อไปจะขาดเครื่องมือฝึกจิตฝึกใจ และสังคมรุ่นต่อไปจะขาดอัตลักษณ์ที่จะสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีของชุมชน

ผมคิดว่าทั้งหกมิติข้างต้นเป็นตัวอย่างแนวคิดเรื่อง sustainability ที่ดีมาก ถ้าจะให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน เป็นสุข และมีความสามัคคีแล้ว เราทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนวิถีชีวิตและพฤติกรรมการทำธุรกิจของตนโดยเฉพาะส่วนที่เป็น core business ต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับ stakeholders อย่างเกื้อกูลกัน ต้องยอมรับกฎของธรรมชาติและปรับวิถีชีวิตให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ต้องสร้างความสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ตั้งใจที่จะปรับลดวิถีชีวิตที่เกินพอดีและปฏิบัติตามสิ่งที่ตั้งใจโดยเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของคนอื่นไม่น้อยกว่าประโยชน์ของตน และฝึกจิตฝึกใจตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่แต่เดิม ลดอัตตาของตนเอง ไม่คิดเพียงใช้ชีวิต หรือทำธุรกิจโดยเอาความสะดวกช่วงสั้นๆ เป็นที่ตั้ง

อย่าปล่อยให้พระสงฆ์ท่านเข้าพรรษาอยู่เพียงกลุ่มเดียวนะครับ ถ้าคนไทยและธุรกิจไทยร่วมกันปรับวิถีชีวิตและพฤติกรรมคนละเล็กละน้อยตลอดช่วงพรรษา ออกพรรษารอบนี้ เราอาจจะได้เมืองไทยยุคใหม่ที่จะเป็นฐานไปสู่ความยั่งยืน ไม่เปราะบางเหมือนกับเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา เราทำตามแนวคิดเรื่อง sustainability จากทุนนิยมตะวันตกกันมามากแล้ว เข้าพรรษานี้ลองทำตาม sustainability จากแนวคิดแบบธรรมนิยมกันบ้างนะครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2557