ThaiPublica > คอลัมน์ > มโนธรรมและภาระสังคม

มโนธรรมและภาระสังคม

15 กันยายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

Ashish Awasthi เซลล์แมนขายยาชาวอินเดีย อายุ 27 ปี กระโดดให้ขบวนรถไฟชนเพื่อฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่มาภาพ : http://www.nytimes.com/2016/08/11/business/international/abbott-india-suicide-inhuman-drug-sales-tactics.html
Ashish Awasthi เซลล์แมนขายยาชาวอินเดีย อายุ 27 ปี กระโดดให้ขบวนรถไฟชนเพื่อฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่มาภาพ : http://www.nytimes.com/2016/08/11/business/international/abbott-india-suicide-inhuman-drug-sales-tactics.html

Ashish Awasthi เซลล์แมนขายยาชาวอินเดีย อายุ 27 ปี กระโดดให้ขบวนรถไฟชนเพื่อฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากแรงกดดันที่ได้รับจากการต้องขายสินค้าให้ถึงเป้าของบริษัทข้ามชาติ ข่าวนี้จุดประกายเรื่องจริยธรรมการขายในอินเดีย และมีแง่คิดให้บ้านเราด้วย

สินค้าที่ Ashish ถูกบังคับให้ทำเป้าการขายนั้นน่าตกใจเพราะมันคือยา ซึ่งไม่ใช่ขนมที่จะมาเร่ร่อนขายเพื่อให้ถึงเป้า หนังสือพิมพ์ New York Times ได้เข้าไปทำข่าวเรื่องนี้ และนำมาเล่าต่อจนทำให้นึกถึงสถานการณ์ในประเทศไทยในเรื่องการขายโดยเฉพาะการขายตรง

เมื่อก่อนหน้านี้ในอินเดียไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยา จนกระทั่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาอินเดียจึงมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตร แต่ผลพวงจากการไม่มีกฎหมายมานานทำให้มีบริษัทผลิตยาจำนวนมากมายเป็นพัน ๆ บริษัท มีตัวยาเดียวกันในหลากหลายยี่ห้อจนผู้บริโภคมึนงง และหนักที่สุดก็คือแข่งขันกันขายอย่างรุนแรงด้วยการตัดราคา

เมื่อยาต้อง “ถูกกฎหมาย” การสั่งการใช้ยาของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทไหนได้รับการสั่งยาจากแพทย์มาก ๆ ก็กำไรไม่รู้เรื่อง และแพทย์ก็รวยไม่รู้เรื่องไปด้วย เพราะได้ส่วนแบ่งกลับคืนมา (ใครไม่รู้ก็รู้ซะ ในบ้านเราก็มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกัน) จรรยาบรรณของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญว่ายาใดเหมาะสมแก่คนไข้ตามโรค มิใช่ตามความใจกว้างของบริษัทยาที่ให้ส่วนแบ่ง

ในอินเดีย ยอดขายยาต่อปีของทั้งประเทศตกประมาณ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (544,000 ล้านบาท) สำหรับคน 1,300 ล้านกว่าคน ดังนั้นจึงทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทยาโดยเฉพาะบริษัทยาต่างประเทศกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

การว่างงานที่มีอยู่สูงในอินเดีย ดึงดูดให้มีคนเข้ามาเป็นเซลล์แมนขายยากันอย่างคึกคัก (แต่ละเดือนมีคนเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน) รายได้ดีแต่งานหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าการขายที่สูงจนทำให้แต่ละคนหนักใจ และนำไปสู่การฆ่าตัวตายดังกรณีของ Ashish

กลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ก็คือจัด Health Camp หรือจัดงานตรวจสุขภาพให้ประชาชนฟรี คนตรวจก็คือเจ้าหน้าที่ที่มิใช่แพทย์ โรคที่ชอบระบุว่าเป็นก็คือกลุ่มที่เรียกว่า NCD (non-communicable disease) ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ อันได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ ฯลฯ เพราะโรคเหล่านี้เรื้อรัง “ดูดเงิน” ได้มากอีกหลายปี

แพทย์ที่ร่วมสังฆกรรมด้วยก็จะสั่งยาที่ผลิตโดยบริษัทซึ่งเป็นผู้จัดงาน งานลักษณะนี้จัดกันไปทั่วท้องถิ่นและบ่อย ซึ่งไปด้วยดีในสังคมที่บริการการแพทย์ยังไปไม่ทั่วถึงอย่างยิ่ง อันตรายที่เห็นชัดก็คือคนตรวจไม่ใช่หมอ (หมอหลีกเลี่ยงงานนี้จะได้ดูเนียน) ซึ่งผิดกฎหมาย และจุดประสงค์คือขายยา มิใช่รักษาโรคลองจินตนาการดูว่าผลสุดท้ายประชาชนจะเป็นอย่างไร

วิธีการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นนัก ในบ้านเราก็มีการจัดโปรโมตยาตัวใหม่ให้สาธารณะชนมาฟังและ/หรือตรวจและก็ขายยา หรือการขายหนังสือเรียนโดยเชิญครูไปเข้าสัมมนาในสถานที่เลี้ยงอันโอ่โถง แต่ที่น่ากังวลก็คือมันเป็นยาไม่ใช่ขนม คนตายได้ง่าย ๆ หรือไตวายจากยาที่ไม่เหมาะสมจนอาจต้องฟอกไตไปตลอดชีวิตก็เป็นได้

บ่อยครั้งที่เซลล์แมนเหล่านี้ต้องหาเงินมาซื้อยาไว้เองเพราะต้องทำเป้าให้ได้ มิฉะนั้นจะตกงานที่หาแสนยากเย็น ตำแหน่งเซลล์แมนยาในบริษัทยาของต่างประเทศก็ทำให้มีฐานะในสังคม เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่เกิดตามมาก็คือการโน้มน้าวขายยาหรือวิตามินเสริมให้คนอื่นต่อเพื่อ “ลดโหลด” ยาในสต๊อกที่ตนต้องฃื้อไว้โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเหมาะสมกับคนซื้อหรือไม่

เรื่องที่เกิดในอินเดียเป็นอุทาหรณ์สำหรับบ้านเรา การขายตรงที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วหัวระแหงสร้างภาระให้แก่ผู้ขายเพราะต้องซื้อไว้เอง ซึ่งในที่สุดเมื่อขายกันมากเข้า ลูกค้าก็คือคนขายนั่นเอง (ในอังกฤษมีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ขายต้องซื้อไว้เองเพื่อทำเป้า)

บริษัทขายตรงจัดคนมาพูดเพื่อโน้มน้าวให้เป็นคนขาย ให้ชื่นชมในคุณภาพของสินค้าก็ได้กันไปต่อหนึ่งแล้วเพราะค่าเข้าอบรมแสนแพง ต่อมาได้ส่วนแบ่งการขายจากการผลิตและจากผู้ขาย ส่วนผู้ขายก็ได้กำไรจากผู้บริโภค สุดท้ายแล้วผู้แบกภาระก็คือประชาชนผู้บริโภค และหากบริโภคไปแล้วมีปัญหาสุขภาพ ผู้แบกภาระขั้นสุดท้ายก็คือประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหลาย ซึ่งก็คือเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ

ถ้าสินค้าที่ขายเป็นประโยชน์ มีโทษน้อย (เสียเงินและอาจได้สารเคมีที่ไม่พึงปรารถนาเป็นของแถม) ก็ยังพอถือได้ว่าประชาชนผู้บริโภคได้ประโยชน์ ประเด็นอยู่ตรงจริยธรรมของบริษัทขายยาดังตัวอย่างข้างต้นและบริษัทขายตรง

ในกระบวนธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมานับตั้งแต่บริษัท ผู้บริหารบริษัท คนขาย ตลอดถึงแพทย์ สิ่งสำคัญก็คือมโนธรรมของแต่ละคน การขาดคุณธรรมไม่ว่าของขั้นตอนใดล้วนนำไปสู่ปัญหาในเวลาต่อมาทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป

การรู้ทันของผู้บริโภคและของประชาชนในเรื่องการขายเหล่านี้เท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการไม่ถูกหลอกให้เป็น “เบี้ย” ในกระดานหมากรุกมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 ก.ย. 2559