
ในขณะที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน อ้างว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ฉบับที่จะลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะทำให้ “ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย”
แต่นักวิชาการรวมถึงผู้ติดตามการเมืองจำนวนหนึ่งกลับมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ อาจทำให้ “การเลือกตั้งด้อยความหมายลงไป”
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ
ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้นำระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่มาใช้ ซึ่งถือเป็นการทดลองระบบเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 4 ในรอบ 20 ปี หลังจาก
- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน+บัญชีรายชื่อ 100 คน (รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540)
- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน+แบ่งสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัด 125 คน (รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550)
- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน+บัญชีรายชื่อ 125 คน (รัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2554)
- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 250 คน+บัญชีรายชื่อ 200-220 คน โดยนำคะแนนบัญชีรายชื่อมาคิดเป็น % เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้ แล้วมาหักลบกับจำนวน ส.ส. เขตที่พรรคนั้นได้ไปแล้ว โดยส่วนต่างจะได้รับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่าระบบเลือกตั้ง “สัดส่วนผสม” (ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ)
โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ กับอีก 4 ระบบข้างต้นก็คือการใช้บัตรเลือกตั้งเพียง “ใบเดียว” แทนที่จะเป็น “2 ใบ” อย่างที่หลายๆ คนคุ้นเคย
สำหรับหลักการของระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ซึ่งกำหนดให้มี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน (เขตเดียวเบอร์เดียว 350 คน+บัญชีรายชื่อ 150 คน) ก็คือ การนำคะแนน ส.ส. เขตทั้งที่ชนะและแพ้การเลือกตั้งทั่วประเทศ มาคำนวณเป็น % เพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรค “ควรจะได้” โดยส่วนต่างจากจำนวน ส.ส.เขตที่ชนะการเลือกตั้ง จะถูกเพิ่มเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
อาทิ พรรค ก. ได้รับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ทั่วประเทศ รวม 40% ทำให้พรรคนั้นมีจำนวน ส.ส. ที่ “ควรจะได้” เป็น 200 คน จากทั้งหมด 500 คน แต่ปรากฏว่าพรรคนี้ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 180 คน ทำให้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม เพียง 20 คนเท่านั้น
โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งจะปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 83, 85-87, 90-103 และ 105

“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. เคยกล่าวชี้แจงถึงข้อดีของระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อโต้แย้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไว้ถึง 7 ข้อ โดยสรุปก็คือ นอกจากจะไม่ทำให้คะแนนของประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. นี้ยังเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และจะทำให้ทุกพรรคคัดเลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.
- การเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเริ่มต้นที่เราจะเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหนที่จะไม่ให้คะแนน ประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่ผ่านมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่อีกใบหนึ่งนับเพียงส่วนเดียว ส่วนที่แพ้จะถูกทิ้งน้ำไปหมด
- กรธ.คิดเรื่องนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคใด หรือจะเกิดประโยชน์โทษอะไรกับพรรคการเมือง คิดให้คะแนนประชาชนมีน้ำหนักในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าที่จะมากได้
- วิธีคิดเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือให้คะแนนเฉลี่ยกันไป ทุกพรรคจะได้รับคะแนนตามสมควร
- วิชาการหรือสื่อ ที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศไหนทำนั้น ต้องเข้าใจว่า คนไทยมีสติปัญญาที่คิดออกเอง ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เรียนเมืองนอกไม่ใช่จำตำรามาใช้ ต้องปรับให้เข้ากับประเทศของเรา ในอดีตเคยบมีใครกินส้มตำ และต้มยำกุ้งหรือไม่ แต่คนไทยกินจนคนทั้งโลกก็ชอบ
- ถ้า จะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับพรรคตัวเอง แต่ประเทศไทยมีเรากำลังแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอย่างนั้นขึ้น ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมือง จนสามารถพูดได้ว่า คนทั้งประเทศสนับสนุนพรรคการเมืองมากน้อยต่างกัน
- การเลือกเช่นนี้พรรคจะคัดเลือกคนดีที่สุดไปลง แม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่มีความหวังจะได้คะแนนเพื่อคำนวณในบัญชีรายชื่อ
- ใน การเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มี 120 เขต ที่คนได้รับเลือกน้อยกว่าคนอื่นโดยยังไม่นับ โหวตโน เท่ากับเราไม่รับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนใช่หรือไม่ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ในเมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน ก็ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรค คิดถึงประชาชนให้มากขึ้น
แต่ “สิริพรรณ นกสวน” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้เกิดการเลือกตั้ง “กำมะลอ”
“(เพราะจะ)ทำให้ประชาชนรู้สึกขาดกำลังอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะคะแนนเสียงของประชาชนจะไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแท้จริง จะถูกบิดเบือน เจตนารมณ์จะถูกยำใหญ่ เพราะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล”
สิริพรรณ กล่าวอีกว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะทำให้เกิดปัญหาการซื้อเสียงสูงขึ้นด้วย และตัวบุคคลจะสำคัญกว่านโยบาย บั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง
“จึงทำนายได้ว่า การซื้อเสียงจะสูงขึ้น การกว้านซื้อตัวผู้สมัครจะเข้มข้น นโยบายพรรคจะลดความสำคัญลง กลุ่มอิทธิพลในท้องที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่จะกลับมา พรรคขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะไม่มี ส.ส. เขตมากพอ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ดีกว่า
“สรุปอย่างซื่อๆ ว่า การให้กาบัตรใบเดียว และให้พรรคส่งสามชื่อเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคขนาดกลางผงาด สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เรียกกันติดปากว่า คนนอก” สิริพรรณระบุ

ขณะที่ “เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระบุว่า ปัจจัยต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ทั้งการกำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม, การกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้แก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างยากลำบาก, การประกันความต่อเนื่องของระเบียบอำนาจต่างๆ ของ คสช. ไว้ด้วยมาตรการต่างๆ ฯลฯ มีจุดยุทธศาสตร์อยู่ที่การทำให้อำนาจของ “ฝ่ายแต่งตั้ง” มากกว่า “ฝ่ายเลือกตั้ง” เสมอ
เกษียรยังระบุว่า หากเชื่อมโยงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย กับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะผลักดันการเมืองไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ “ระบบไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยในระบอบใหม่แม้จะยังมีการเลือกตั้งอยู่
“เพียงแต่ในระบอบนี้ เหล่า “สถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย” (elected majoritarian institutions เช่น สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาจากการเลือกตั้ง, พรรคการเมืองใหญ่ ฯลฯ) ล้วนตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมชักเชิดของเหล่า “สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” (unelected non-majoritarian institutions เช่น ตุลาการ, องค์กรอิสระ, กองทัพ, ข้าราชการประจำ, วุฒิสภาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา ฯลฯ)
“พร้อมทั้งยักย้ายถ่ายโอนอำนาจสำคัญๆ บางประการของสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไปให้แก่สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง เช่น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ, อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี, อำนาจกำหนดแนวนโยบาย, อำนาจจัดสรรงบประมาณ, อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ เป็นต้น” เกษียรระบุ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะเคยมีการจัดทำโพลว่าเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัยหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการตั้งคำถามว่า เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้ง “ใบเดียว” หรือไม่ มากกว่าถามไปที่ตัวหลักการเลือกตั้งแบบ “จัดสัดปันส่วนผสม” โดยตรง ซึ่งทุกโพลล์ออกมาตรงกันว่าประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ “เห็นด้วย”
- สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็น 1,156 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 60.98% เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะสะดวก เข้าใจง่าย นับคะแนนง่าย ฯลฯ
- กรุงเทพโพล สำรวจความคิดเห็น 1,229 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 86.9% เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดย 61.9% ระบุว่าชอบแนวคิดของระบบเลือกตั้งแบบ “จัดส่วนปันส่วนผสม” มากกว่าระบบเลือกตั้งแบบเดิม
- นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็น 1,250 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 80.56% เห็นด้วยกับกับการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะทำให้ง่ายและสะดวก
ขณะที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดของสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็น 1,326 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2559 ประชาชนได้แสดงทั้งความเห็นด้วยและเป็นห่วงต่อการเลือกตั้งระบบใหม่ โดยผลดี มีอาทิ ประหยัดงบประมาณและกำลังคน (70.86%) สะดวก เข้าใจง่าย กาบัตรใบเดียว (62.4%) และ นับคะแนนเร็ว ตรวจสอบง่าย (59.2%) ส่วนผลเสีย มีอาทิ จำกัดสิทธิประชาชน บังคับให้เลือกได้อย่างเดียว คนอาจชอบพรรคกับผู้สมัครไม่เหมือนกัน (70.1%) เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการซื้อเสียง (68.9%) ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีโอกาสได้รับเลือกตั้งน้อย (54.0%)
เชื่อได้ว่า ข้อดี-ข้อเสีย ทั้งหลายของระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จะต้องถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงมติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย