จากการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าแบบดั้งเดิมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่นี้ เป็นแรงกดดันที่ทำให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่หารายได้ให้กับรัฐบาลต้องเร่งปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

แรงกดดันดังกล่าวนี้ประกอบด้วย 1. กรณีกรมสรรพากรประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี หรือที่เรียกว่า “FATCA” (Foreign Account Tax Compliance Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 โดยกำหนดให้สถาบันการเงินไทยต้องจัดส่งรายงานธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าชาวอเมริกันให้กรมสรรพากรไทยส่งต่อไปให้กรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา หากไม่ดำเนินการภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 (เลื่อนบังคับใช้มา 1 ปี) สถาบันการเงินไทยที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับลูกค้าชาวอเมริกันจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30% ของเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ
2. จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering หรือ “APG” เป็นองค์กรของสหภาพยุโรปที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านการป้องกันการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย บังคับให้ไทยต้องปรับปรุงกฎหมายฟอกเงินให้เป็นไปตามมาตรฐาน Financial Action Task Force หรือ “FATF” เพื่อแลกกับการถอดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย วันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อให้กรมสรรพากรปฏิบัติตามมาตรฐาน FATF ตามที่ ครม. เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559
และ 3. จากการที่กรมสรรพากรไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของ FATCA และ FATF ทำให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องนำระบบ e-Payment มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าทั้งหมดมาที่กรมสรรพากร เพื่อส่งต่อไปยังกรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา และ “APG” ตามที่กล่าวมาในข้างต้น

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้กรมสรรพากรต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน (ค่าภาษี) จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลเพื่อจัดส่งข้อมูลตามข้อบังคับของ FATCA และ FATF ในรูปแบบของดิจิทัล ดังนั้น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ก่อนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากข้อมูลที่กรมสรรพากรต้องนำส่งหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง กรมสรรพากรจึงนำมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียวมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการ 430,000 ราย จากนั้น ภายในเดือนกันยายน 2559 กรมสรรพากรต้องยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ต้องชำระค่าภาษีทุกประเภทผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ (ไม่รับชำระค่าภาษีเป็นเงินสด) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป และทยอยให้นำผู้ประกอบการทั้งหมดเข้าสู่ระบบ e-Payment เต็มรูปแบบภายในปี 2561
“ผลการศึกษาของของกรมสรรพากร ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่านระบบเงินสดปีละ 75,000 ล้านบาท ประกอบต้นทุนการนำเงินสดไปฝากธนาคาร ถอนเงินสดอออกมาชำระค่าสินค้า ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าจ้างรถขนส่งเงินสด ค่าจ้างยามรักษาความปลอดภัย บางครั้งก็มีการปล้นรถขนเงิน หากเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-Payment เต็มรูปแบบ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้ในการพัฒนาประเทศได้” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวต่อว่า จากมาตรการป้องการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (FATCA) และมาตราป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายของยุโรป (FATF) บีบบังคับให้ไทยต้องแก้ไข พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และประมวลรัษฎากร ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ลงบัญชีไม่ถูกต้องภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากรายการที่ไม่ได้ลงบันทึกบัญชีมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน กรมสรรพากรต้องยึดอายัดทรัพย์เอาไว้ก่อน จากนั้นกรมสรรพากรจะเรียกผู้ประกอบการมาอธิบายที่มาของเงินได้ เงินจำนวนนี้เสียภาษีครบถ้วนหรือยัง ถ้ายังไม่ได้เสียภาษี ก็ให้เสียภาษีให้ถูกต้อง รวมทั้งกรณีของการขอคืนภาษีเป็นเท็จ หากวงเงินที่ขอคืนภาษีเกิน 1 ล้านบาท หรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมมูลค่าเกิน 15 ล้านบาท ก็เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงินเช่นกัน กรมสรรพากรมีอำนาจยึดอายัดทรัพย์ และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญา
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า หลังจากกรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง โดยไม่ตรวจสอบภาษีย้อยหลัง ตามมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว เฟสที่ 2 ออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท ชำระภาษีทุกประเภทผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายชำระภาษีผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ภายในปี 2561 ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะออนไลน์มาที่กรมสรรพากร การหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากขึ้น
“ยกตัวอย่าง นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แจ้งกรมสรรพากรมีรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี ปรากฏว่าในปีนั้นมีเงินโอนเข้าบัญชีนาย ก. ทั้งหมด 50 ล้านบาท กรมสรรพากรก็จะสั่งพิมพ์รายการธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดส่งไปที่บ้านของนาย ก. หรือออกจดหมายเรียกนาย ก. มาอธิบายว่าเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเป็นรายได้จากอะไร หากนาย ก. อธิบายไม่ได้ อาจจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และถูกประเมินภาษีย้อนหลัง สมัยก่อนเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจช่วยเหลือนาย ก. ได้ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือหรี่ตาข้างเดียว เพราะไม่มีฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกและโชว์อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ วันนี้คงไม่มีเจ้าหน้าที่สรรพากรคนไหนกล้าช่วยเหลือนาย ก. ยอมเอาอนาคตราชการมาเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการและจำคุกด้วย” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยถูกแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายฟอกเงินและประมวลรัษฎากร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการแก้ปัญหาก่อการร้าย ฟอกเงิน และหลบเลี่ยงภาษี รวมทั้งรายงานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินให้กรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา และ APG ตามข้อตกลง ข้อมูลที่จัดส่งให้กับองค์กรเหล่านี้ต้องถูกต้องแม่นยำ จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูล โดยนำระบบ e -Payment มาบังคับใช้ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ทำให้กรมสรรพากรต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนได้ปรับตัว เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ภายหลังกรมสรรพากรปรับเปลี่ยนระบบการชำระภาษี จากเงินสดเป็น e-Payment โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซื้อ-ขายทองคำ เพชรพลอย และร้านขายยา เป็นลำดับแรก