ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวบ้านแม่ลาขึ้นป้ายต้านรง.ถ่านหินโวยน้ำกินน้ำใช้ “ใช้ไม่ได้” – นายก อบต. แจงมีอำนาจแค่ปรับ 50 – 2,000 บาท

ชาวบ้านแม่ลาขึ้นป้ายต้านรง.ถ่านหินโวยน้ำกินน้ำใช้ “ใช้ไม่ได้” – นายก อบต. แจงมีอำนาจแค่ปรับ 50 – 2,000 บาท

26 กรกฎาคม 2014


เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาชาวบ้านตำบลแม่ลา อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รวมเงินกันเพื่อทำป้ายมีข้อความว่า “ชาวแม่ลาไม่เอาถ่านหินเพิ่มอีกแล้ว” หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่าจะมีโรงงานถ่านหินมาเพิ่มอีก 2 โรงงาน เนื่องจากปัญหามลภาะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นดำจากถ่านหินซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนมากที่สุด

ชาวบ้านตำบลแม่ลากล่าวว่า ตำบลแม่ลามีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านที่มีปัญหาฝุ่นจากถ่านหิน คือ หมู่ 1, 2, 3 โดยหมู่ที่ 1 จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเนื่องจากอยู่ใกล้โรงงาน ทั้งยังมีวัดและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นถ่านหินเช่นกัน โดยโรงงานเทกองถ่านหินในลักษณะกลางแจ้งไม่มีการคลุมผ้าใบทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากเวลามีลมพัดแรง

ป้ายต้านโรงงานถ่านหินต.แม่ลา

น้ำปนเปื้อนฝุ่นถ่านหิน
น้ำปนเปื้อนฝุ่นถ่านหิน
เมื่อฝนตกบริเวณเทกองถ่านหินจะเห็นการปนเปื้อนของน้ำชัดเจน ซึ่งจะไหลซึมลงดินต่อไป
เมื่อฝนตกบริเวณเทกองถ่านหินจะเห็นการปนเปื้อนของน้ำชัดเจน ซึ่งจะไหลซึมลงดินต่อไป

“ป้ายต่อต้านของชาวแม่ลาไม่เอาถ่านหิน ติดมาได้ประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว เพราะพวกเราไม่อยากให้มีโรงงานเพิ่ม ขนาดโรงงานที่มีอยู่ 2 โรงงาน เวลามีปัญหายังไม่มีใครมาดูแลแก้ไขเลย ถ้ามีเพิ่มมาอีก พวกเราคงต้องย้ายหมู่บ้านหนีกันแน่ เพราะโรงงานที่มีอยู่แล้ว ยังมีปัญหามาเป็นเวลาหลายปี ไม่ได้แก้ไขให้ดีขึ้นเลย เมื่อก่อนตอนที่ไม่มีถ่านหิน สามารถรองน้ำฝนกินได้ แต่ตอนนี้ไม่สามารถรองกินได้เลย เพราะน้ำดำหมด พอฝนตกก็ชะเอาฝุ่นถ่านหินที่อยู่บนหลังคาลงมากับน้ำ จึงต้องซื้อน้ำถังละ 10-20 บาทมากินแทน ส่วนน้ำที่รองไว้ใช้งานจะต้องปิดฝาโอ่งไว้ตลอดเวลา และคลุมถุงพลาสติกอีกทีเพื่อกันฝุ่นเข้าไปเกาะ”

ชาวบ้านตำบลแม่ลากล่าวว่า ที่นี่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาทำไร่ ซึ่งฝุ่นจากถ่านหินสร้างความเดือดร้อนแก่การทำการเกษตรมาก เนื่องจากน้ำในไร่นาเป็นสีดำหมดซึ่งเป็นปัญหามานานหลายปี และยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน คือ ถ้าจะตากผ้าต้องตากตอนกลางคืนแล้วอาศัยเอาพัดลมเป่าให้แห้ง เพราะฝุ่นสีดำจะเกาะตามเสื้อผ้า นอกจากนี้เสื้อผ้าส่วนมากที่แห้งแล้ว เมื่อรีดเสร็จจะนำใส่ถุงพลาสติกแยกไว้เพื่อป้องกันฝุ่นมาเกาะ พร้อมทั้งต้องปิดหน้าต่างบ้านเรือนตลอดเวลาเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้ามา และต้องหมั่นทำความสะอาดบ้านมากขึ้นกว่าเดิม

“รถบรรทุกที่ขนถ่ายถ่านหิน มีคลุมผ้าใบบ้าง ไม่คลุมบ้าง บางคันก็บรรทุกถ่านหินในปริมาณมากเกินขอบรถบรรทุก ทำให้เวลารถมอเตอร์ไซค์วิ่งตามข้างหลังรถบรรทุกต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะฝุ่นจะฟุ้งเป็นหมอกเลย ถ้าตอนเช้าเด็กนักเรียนไปโรงเรียนแล้วขับตามรถบรรทุก ต้องกลับไปเปลี่ยนชุดใหม่ ชาวบ้านที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาทางนี้ส่วนมากจะใส่หมวกกันน็อกและเสื้อคลุมป้องกัน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ เพราะเป็นเส้นทางหลัก ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีป้องกัน นอกจากปัญหาฝุ่นก็ยังมีปัญหาเรือเสียงดังในช่วงเวลากลางคืน และบางครั้งทำงานเกินเวลา”

ชาวบ้านตำบลแม่ลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านในตำบลแม่ลาจำนวนมากได้ไปร้องเรียนแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา แต่ก็ยังเหมือนเดิม คือ ช่วงแรกที่ไปร้องเรียนก็จะดีอยู่ช่วงนึง แล้วสักพักก็มีฝุ่นเหมือนเดิม ซึ่งนายก อบต. แม่ลาก็รับรู้ถึงปัญหาแต่คงไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง เพราะร้องเรียนไปกี่ครั้งก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้น

นายดิเรก สำรวญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา กล่าวว่า ปัจจุบันตำบลแม่ลามีโรงงาน 2 โรงงาน คือ บริษัท ภัทร-นครหลวง จำกัด และบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด ซึ่งทั้งสองโรงงานขนถ่ายสินค้าประเภทถ่านหิน โดยบริษัท เอเชีย กรีนฯ เป็นบริษัทที่ย้ายมาจากจังหวัดสมุทรสาครหลังจากที่มีการต่อต้านเรื่องถ่านหินมาอยู่ที่ จ.อยุธยาได้ 2 ปีแล้ว ทั้งนี้บริษัท เอเชีย กรีนฯ ซื้อใบอนุญาตต่อจากท่าเก่า และได้ทำการขยายพื้นที่และมาขออนุญาตทาง อบต.

“ผมก็อนุญาตเพราะทางบริษัทเขาบอกว่าจะทำสายพานลำเลียงขนส่งระบบปิด แต่กรมทางหลวงไม่อนุญาต เพราะท่าเรือกับบริเวณเก็บสินค้าอยู่คนละที่ ต้องทำท่อลำเลียงผ่านถนนทางหลวงไปอีกฝั่งนึง ต้องทำลงใต้ดินก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยท่าเรือของบริษัท เอเชีย กรีนฯ จะมีพื้นที่ติดแม่น้ำนิดเดียว ผมก็เห็นใจเขาเพราะทางบริษัท เอเชีย กรีนฯ ขออนุญาตมาเป็นปีแล้ว ส่วนของบริษัท ภัทร-นครหลวง ยังไม่มีการขยับขยายเพิ่มเติม “

ฝุ่นจากรถบรรทุกขนถ่านหิน
ฝุ่นจากรถบรรทุกขนถ่านหินตำบลแม่ลา

ฝุ่นจากรถบรรทุกขนถ่านหิน

ทั้งนี้ จากมลภาวะที่เกิดขึ้นได้มีการออกคำสั่ง เช่น เวลากองสินค้าต้องคลุมผ้าใบ แต่จากที่เห็นบางครั้งก็คลุม บางครั้งก็ไม่ได้คลุม พอมีการร้องเรียนก็จะเรียกโรงงานมาคุย เพราะกฎหมายที่ผมใช้คือกฎหมายสาธารณสุข มีอำนาจแค่นิดเดียว คือแค่เรียกทางโรงงานมาปรับ 50-2,000 บาท ปรับไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แนวทางแก้ไขคือต้องเรียกโรงงานเขามาตักเตือน

นายดิเรกกล่าวถึงการร้องเรียนของชาวบ้านว่า “ทราบว่าชาวบ้านเดือดร้อน แต่ลำบากใจถ้าจะต้องสั่งปิดโรงงานหรือไม่ต่อใบอนุญาตให้กับโรงงาน ตอนนี้ชาวบ้านทุกคนก็ยอมรับ เพราะว่าบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ๆ โรงงานเขาให้ไปทำงานที่โรงงานหมด ตอนนี้ชาวบ้านจึงไม่มีปากมีเสียง แต่สถานการณ์ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่า กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่นายก อบต. มีอำนาจเพียงนิดเดียว ถ้าผมไปสั่งปิดโรงงานแล้วเขาเสียหาย มาฟ้องผม ผมตายไหมล่ะ และในส่วนของการออกกฎเทศบัญญัติ ผมก็ได้มีการออกประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว”

ทั้งนี้ นายดิเรกกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในปีนี้จะมีเชิญโรงงานเข้ามารับทราบเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการต่อใบอนุญาตในปีหน้า อาทิ การทำระบบปิด ถ้าทางโรงงานทำแบบนี้ไม่ได้ผมจะขอพักใบอนุญาตไว้ก่อน และมีการเตรียมตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยจะมีสมาชิกหมู่บ้านละ 5 คน มีผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, สารวัตรและผู้ช่วย ก็จะให้คณะกรรมการไปตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ คาดว่าในปีหน้า (พ.ศ. 2558) จะมีมาตรฐานมากขึ้น

ทางด้าน น.ส.เสาวลักษณ์ สุวรรณภาค นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าโดยเฉพาะฝุ่นถ่านหินนั้น สาเหตุเกิดมาจากการขนส่งระบบเปิดและการคัดแยก ซึ่งกระบวนการคัดแยกและการเทกองบนพื้นดินทำให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งจำนวนมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา คือการปิดคลุมหรือทำความสะอาดพื้นนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ดีพอ

สำหรับบทบาทของสำนักงานสาธารณสุขไม่ได้สังกัดกับท้องถิ่น แต่สังกัดกับกระทรวงสาธารณสุข จึงมีหน้าที่ให้คำแนะนำเชิงวิชาการกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ในเรื่องการยกร่างข้อบังคับเพื่อที่จะนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อใช้เป็นหลักฐาน ซึ่งกฎหมายสาธารณสุขถือเป็นกฎหมายหลักในการกระจายอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง กรณีที่ฝุ่นละอองเป็นฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน จะส่งผลต่อสุขภาพในเรื่องระบบหายใจของปอด แต่ถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กประมาณ 2.5 ไมครอน จะเข้าไปอยู่ชั้นล่างของปอดอาจทำให้เกิดโรคปอดดำหรือเยื่อปอดอักเสบ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขไม่ได้ทำการตรวจสอบในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรฯ ทั้งนี้หากสูดดมเป็นเวลานานอาจจะสะสมในร่างกายได้

“กลุ่มคนที่เสี่ยงคือ พนักงานงานในท่าเทียบเรือหรือโรงงาน เด็ก คนชรา หรือผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพไวกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง”

น.ส.เสาวลักษณ์กล่าวย้ำว่า ทางโรงงานจึงต้องมีมาตรการป้องกันสุขภาพสำหรับคนงาน ซึ่งการใส่ผ้าปิดปากธรรมดาต้องเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันได้จริงๆ เพราะผ้าปิดปากที่ใช้อยู่อาจป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่งไม่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ โรงงานจึงควรออกข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้าไม่ใส่เครื่องมือป้องกันจะมีการปรับ แต่จากการไปตรวจสอบโรงงานส่วนมากจะมีอุปกรณ์ป้องกันให้แต่คนงานไม่ใส่ ส่วนปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำนั้น อาจมีการปนเปื้อนต่อสัตว์น้ำหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ ถ้าถ่านหินมีองค์ประกอบของสารพิษอยู่ และการร่วงหล่นของวัตถุดิบทำให้เกิดการตื้นเขินของแม่น้ำ

ลานเทกองถ่านหิน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปัญหาถ่านหินจังหวัดอยุธยา
ลานเทกองถ่านหิน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปัญหาถ่านหินจังหวัดอยุธยา
ฝุ่นจากถ่านหิน
ฝุ่นจากถ่านหิน

น.ส.เสาวลักษณ์กล่าวถึงการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่เป็นผลจากโรงงานในอำเภอนครหลวงว่า ยังไม่มีการเก็บข้อมูลเนื่องจาก การตรวจสุขภาพไม่ได้ตรวจลงลึกว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเรื่องฝุ่นละอองจริงๆ เพราะต้องทำการตรวจปอดอย่างละเอียด และข้อมูลสุขภาพของสถานีอนามัยท้องถิ่นไม่ได้ทำการคัดแยกว่าผู้ที่มีอาการคันหรือเป็นภูมิแพ้มาจากตำบลไหน ซึ่งถ้าจะทำการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนจะต้องทำเป็นโครงการโดยคำสั่งจากทางจังหวัด

“ปัจจุบันการลงโทษทำได้ยาก อย่างกฎหมายจราจรสามารถปรับและจับได้ซึ่งหน้า ต่างกับกฎหมายสาธารณสุขที่กว่าจะทำการปรับได้ต้องหาหลักฐานทำการฟ้องและขึ้นศาลก่อน แล้วปรับได้ไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตคน ซึ่งปัญหาที่เกิดอาจจะไม่ได้ตายทันทีแต่มันสะสมในร่างกาย”

น.ส.เสาวลักษณ์กล่าวต่อว่า จากการลงตรวจพื้นที่พบว่า ยังมีการละเลยในการปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนการตรวจวัดมลภาวะในด้านต่างๆ ของโรงงาน จำเป็นต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ชาวบ้านทราบข้อมูลด้วย เพื่อให้ชาวบ้านตรวจสอบได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17-27 มิถุนายน 2557 ได้มีการตรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นในอำเภอนครหลวง เป็นโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเครื่องมือทางสาธารณสุข ในกิจการถ่านหิน เพื่อนำผลการศึกษามากำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ