ThaiPublica > คนในข่าว > ชีวิตนักล้มเหลวที่โลกสวย…”อาทิตย์ อุไรรัตน์” นักการเมือง – นักธุรกิจ – นักการศึกษา นักคิด แกะดำจิตสาธารณะ

ชีวิตนักล้มเหลวที่โลกสวย…”อาทิตย์ อุไรรัตน์” นักการเมือง – นักธุรกิจ – นักการศึกษา นักคิด แกะดำจิตสาธารณะ

12 มิถุนายน 2016


บางทีประเทศเรามีอะไรเยอะแยะ เราไม่ค่อยเห็นคุณค่า ทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ต้องมีปริญญาเท่านั้น คนไทยยึดติดรูปแบบ เจ้าขุนมูลนาย ผมถึงบอกว่าการศึกษาไทยต้องไม่เจ้าขุนมูลนาย ไม่ยึดติดรูปแบบ แบ่งชั้นวรรณะ ดูถูกเหยียดหยาม แต่วันนี้มีความคิดแบบกระพี้ๆ ไม่ดูแก่นของเรื่อง

“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ผ่านประสบการณ์การทำงาน เป็นมาแล้วทั้งนักบริหาร นักธุรกิจ นักคิด นักการศึกษา และนักการเมือง

ในวัย 78 ปีของ “ดร.อาทิตย์” ดูเหมือนชีวิตนี้จะไม่มีวัยเกษียณ ยังคิดทำงานอยู่ตลอดเวลา ดร.อาทิตย์มุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยรังสิต โดยหวังจะให้ “ฮาวาร์ด” มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทย

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 “ดร.อาทิตย์” เปิดตัวหนังสือ “แกะดำโลกสวย” ชีวประวัติเล่มล่าสุดของอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อเตรียมฉลองครบ 80 ปี โดยเจ้าตัวให้นิยามตัวเองว่าเป็น”นักล้มเหลว”

อาทิตย์ อุไรรัตน์3

ล่าสุด ท่ามกลางสถานการณ์ในยุครัฐบาล คสช. ที่ยังดูตีบตัน “ดร.อาทิตย์” ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการระดมพลังตั้ง “สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ดร.อาทิตย์เล่าถึงเรื่องสมัชชาประชาชนฯว่า มีคนบอกว่านี่มันไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัย ผมบอกว่านี่แหละที่ผมบอกว่าใช่ คนก็ตอบรับอย่างดี มากันเยอะ เป็นคนที่มีค่าในประเทศ ที่รักชาติ จริงใจ มาร่วมกัน เหมือนวันมาฆบูชาที่ทุกคนมาพบกันโดยไม่ได้นัดหมาย มันมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นจังหวะ เป็นแรงบันดาลใจที่จะต้องมาทำร่วมกัน

เราไม่ได้ทำเพื่อหวังว่าเราจะเป็นใหญ่ เราจะไปแย่งรัฐบาล หรือต้องการจะเป็นรัฐบาล หรือจะไปตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่คิดว่าเวลานี้บ้านเมืองมันไม่มีทางออก มันเหมือนตกหล่ม ตกอย่างแรง เสียไปหมด กลไกต่างๆ ก็ตกหล่มลึกขึ้นไม่ได้ คนก็เดินต่อไม่ได้ ชีวิตก็ไม่มีความสุข

“แต่เราคิดว่า วิธีอย่างนี้ เรามองเห็นว่ามาช่วยกันทำอย่างนี้แล้ว มันจะขึ้นจากหล่มได้ แล้วมันจะไปต่อได้ แต่ถ้าหากยังทำอย่างที่รัฐบาลทำอยู่ มันไปไม่ได้ ทะเลาะกันไม่เลิก อยู่กันอย่างนี้ ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย ผมคิดว่าอย่างนั้น”

แต่ไม่ได้ต้องการอะไร และมันยังโยงกับมหาวิทยาลัยด้วยก็คือว่า มหาวิทยาลัยคือขุมพลังที่จะระดมขุมพลังจากทั่วโลกเท่าที่มี มาสร้างให้มันเกิดขึ้นได้ เป็นจุดเริ่มต้นได้ เป็นจุดริเริ่มได้

“ก็มีคนพูดว่า ก็ได้แต่คิด เดี๋ยวก็คงได้กระดาษมาอีกปึ๊งนึง มันจะสำเร็จได้อย่างไร แต่ผมก็มองว่า อย่าเพิ่งไปบอกว่ามันทำไม่ได้ ไม่มีอำนาจทำไม่ได้ ไม่มีเงินทำไม่ได้ แต่ต้องคิดว่า รู้หรือยังว่าจะต้องทำยังไง มันต้องรู้เสียก่อน อย่าไปคิดแค่ว่ามีแต่ปัญหา เมื่อเรารู้ว่าทำอย่างนี้ เดี๋ยวก็ทำได้เอง

มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของประเทศ มหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเผื่อคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นเรา คืออะไรล่ะเรา เงินเหรอ ไม่ใช่เลย ปีๆ หนึ่งผ่านไป ก็สรุปว่ามีรายได้เท่านี้ มีรายจ่ายเท่านี้ รวมทั้งหมดแล้วเหลือเท่านี้ ตามกฎหมายเขาก็บอกว่า แบ่งเป็นกองทุนนั้น กองทุนนี้ พัฒนาอย่างนั้นอย่างนี้ เหลือแล้วให้ผู้ขอใบอนุญาตไม่เกิน 30%

ทุกปีผมขอแค่ไม่ถึง 10% จนกระทั่งคณะกรรมการสภาทางด้านนี้เขาบอกว่า ทำไมล่ะ… ก็เพราะว่าเรายังต้องใช้เงิน ต้องลงทุน ที่ผ่านมาเรากู้มาเยอะแยะมาลงทุน เราก็ไม่ได้มี(เงิน)หรอกนะ ดังนั้นแต่ก็ต้องใส่ตรงนี้ก่อน มันยังต้องจ่ายดอกเบี้ยแบงก์ ยังต้องคืนเงินต้น

รายได้จากไหน ก็มาจากค่าเล่าเรียน ค่าเล่าเรียนของเรา และเราให้ทุนนักศึกษาปีหนึ่งๆ 400-500 ทุน แล้วยังมีคนที่เรียนได้เกรด 3 เราให้ทุนครึ่งหนึ่ง เกรด 3.5 ให้ทุนฟรีหมด ก็มากันทุกสาขา

ถามว่าทำไมทำอย่างนี้ ก็เพราะเราต้องการให้เด็กมาเรียน ฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามาเรียนที่นี่แล้วแพง เด็กยากจนเด็กเรียนดีเราก็ให้ทุนเขา แล้วเรายังถวายทุนปีหนึ่งเป็นร้อย ของทุกพระองค์เลย มีทุนหมด

“คือมันไม่ได้ทำเพื่อรายได้เยอะๆ เพื่อปันผล ไม่ได้ทำในแง่ธุรกิจ แล้วมันเป็นความสบายใจ เราคิดว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศก็คือการศึกษา แล้วการศึกษาไม่ใช่ขายปริญญา จ่ายครบจบแน่ ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็เท่ากับฆ่าตัวตาย ฆ่าเด็กตายด้วย ฆ่าประเทศไทยด้วย การศึกษาก็แย่ ถามว่ามันถูกไหม”

ฉะนั้น อย่าโลภมาก คือบางทีโลภมากมันจะไม่ได้เลย แต่ทำให้ถูกต้องในแนวทางที่มันควรจะเป็น คุณภาพมันจะมาเอง อย่าไปหลอกเขา อย่าไปย้อมแมวขาย ทุกอย่างเป็นบทเรียนได้หมด เราต้องดูว่าอะไรคือแก่นที่แท้จริงของทุกเรื่อง

ดร.อาทิตย์ถามว่า…คุณเห็นโฆษณาขายกระทะของคุณวู้ดดี้ไหม ให้แง่คิดอย่างหนึ่งคือ นี่คือเกาหลี แม้กระทั่งกระทะ ซึ่งเป็นของที่จำเป็นที่สุดของเรา เราก็ใช้กระทะ ทำไมถึงไม่มีใครคิดทำกระทะของไทยบ้างเลย ได้แต่ซื้อเขาอย่างเดียว

ทำไมเราไม่คิดริเริ่มบ้าง ครีมก็เกาหลี เครื่องสำอางก็เกาหลี หมอผ่าตัดหน้าก็เกาหลี ทั้งที่เกาหลีเมื่อ 50-60 ปีก่อน ยังมีสงครามเกาหลีอยู่เลย ยังบ้านแตกสาแหรกขาดอยู่เลย ไทยเราเป็นผู้ชนะสงคราม แต่ทำไมวันนี้เราแย่

เพราะเราสบายเกินไป ทอดหุ่ยเกินไป หลงระเริงเกินไป จนกระทั่งตอนนี้คนไทยอาจจะกำลังหมดจากประเทศไทยแล้ว คนอื่นเข้ามาครอบครองประเทศไทย ประเทศไทยอาจจะเจริญรุ่งเรือง แต่ไม่มีคนไทยอยู่ในนั้น กลายไปเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในไหนก็ไม่รู้ รูปการณ์มันเป็นอย่างนั้น

ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการศึกษานะ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริม ผมกำลังคิดอีกเรื่องว่า เรื่องประชารัฐของรัฐบาลที่กำลังทำอยู่มันคืออะไร แต่ที่ผมคิดไว้มันต้องมีกลไกอีกแบบหนึ่ง ผมเสนอให้มี “อสตก.” หรือ “องค์การสินเชื่อตลาดเพื่อการเกษตร” โดยรวมเอา ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร), อตก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร), อคส. (องค์การคลังสินค้า) มารวมเป็นองค์การนี้ ย้ายมาสังกัดกระทรวงเกษตร แล้วลงไปช่วยเกษตรกรให้ครบวงจร ให้เขาทำเอง ให้เขากู้ ช่วยเขา เป็นพี่เลี้ยงให้เขา ใครคิดจะทำอะไรเกี่ยวกับการเกษตร เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ส่งออก เป็นพี่เลี้ยงให้ นี่ก็รูปแบบหนึ่ง

แล้วพวก บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) นั่นก็อีกกลุ่มหนึ่ง อะไรที่นอกเหนือจากด้านการเกษตร ก็ตั้งอีกอันหนึ่ง ลงมาช่วยเกษตรกรรายย่อย มันน่าจะทำแบบนี้

ผมพูดมานานแล้ว แต่ก็กำลังเสนอเป็นแผนให้อยู่ในคณะสมัชชาปฏิรูป ให้ทำแบบนี้ เป็นรูปธรรม เกษตรต้องเป็นนวัตกรรมเกษตร ปลูกดีๆ ได้ รวยได้ เพราะประเทศไทยมีของดีเยอะ ทำการเกษตรแบบดีๆ คนไทยจะอยู่ดีกินดี ไม่ใช่ทำเกษตรแบบยากจน เมืองไทยยังไปได้อีกเยอะ

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

ไทยพับลิก้า : คุณอาทิตย์คิดทำนั่นทำนี่ตลอดเวลา หลอมความคิดในแต่ละเรื่องอย่างไร

ไม่ทราบเหมือนกัน (หัวเราะ) ไม่รู้ว่ามายังไง ก็แค่สนใจ คือผมคิดว่าศักยภาพ จุดแข็งของประเทศไทยที่มองเห็น ผมมองว่ามีอยู่ 4 ด้านที่เป็นจุดที่มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งไปคือ

1. ด้านเกษตร วันนี้ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นเรื่องที่ตกต่ำในประเทศไทย คนทำก็ยากจน แต่ผมคิดว่ามันเป็นเพชรที่ไม่ได้เจียระไน เป็นจุดแข็งที่เรามองไม่เห็น เราอย่าไปอยากเป็นแบบคนอื่นเขา

เราเป็นไม่ได้หรอกประเทศอุตสาหกรรม จะเป็นประเทศอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เราก็คงเป็นไม่ได้ เพราะเราสู้เขาไม่ได้ แต่เกษตรเราเป็นได้ แต่เราก็ไม่เห็น ผมจึงตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารขึ้นมา

2. การแพทย์ 3. ท่องเที่ยว และ 4. ครีเอทีฟอาร์ต ฝีมือด้านศิลปะ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม ดีไซน์ การออกแบบ นิเทศศาสตร์ ดนตรี ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมุ่งไปทาง 4 ด้านนี้อย่างเข้มแข็ง

การท่องเที่ยวก็ต้องตีความให้กว้าง ไม่ใช่แค่พาไปเที่ยวหรือการโรงแรมเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่การเดินทางมา นักบิน ซ่อมเครื่องบิน งานบริการบนเครื่องบิน หรือการรถไฟ เราก็เปิดหลักสูตรรถไฟในคณะวิศวกรรม

ขณะที่หลักสูตรการบิน เรามีนักบิน ซ่อมบำรุงอากาศยาน เรามีธุรกิจการบิน เรามี Chef School ไทย Chef School นานาชาติร่วมกับฝรั่งเศส คือมันมีทางทำได้เยอะแยะ อย่าไปงอมืองอเท้า

ไทยพับลิก้า : ทำไมต้องมุ่ง 4 ด้านที่ว่านี้

ผมว่าอาจจะความจำเป็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่สบายมาตลอด อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ชีวิตไม่ต้องแก่งแย่งกัน อยู่สบายมาเรื่อยๆ เรียงๆ เราไม่ได้เป็นอย่างญี่ปุ่น อย่างสิงคโปร์ อย่างฮ่องกง เกาหลี หรือเวียดนาม ประวัติชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ยากลำบากมานาน แต่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง

แต่เมื่อวิวัฒนาการผ่านระยะมา เราควรจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ต้องเร็วเหมือนประเทศที่ว่ามา แต่บังเอิญเราก็ถูกนำด้วยสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปในทิศทางซึ่งมันมาทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

“ผมคิดว่าวันนี้ คสช. มีโอกาสที่จะสร้างจะทำอะไรได้ แต่ก็มีแต่ข่าวไร้สาระ มีแต่เรื่องซึ่งไม่น่าจะเป็นประเด็นเลย”

ไทยพับลิก้า : แล้วเรา(ประเทศไทย)เดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

นั่นน่ะสิ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมถึงมาคิดว่า เราน่าจะมีเวทีประชาชนมาช่วยกันคิดตรงนี้ ไม่ต้องคิดว่าเรามีหรือไม่มีอำนาจ เราทำได้หรือไม่ได้ เราอาจจะยากลำบากหน่อยกว่าที่จะให้แนวทางของเราเป็นที่ถูกผลักดัน

แต่ผมกำลังบอกว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทำอย่างที่รัฐบาลทำอยู่ จุดนั้นก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ทำเรื่องสมัชชาขึ้นมา แล้วเราก็ไม่เห็นต้องมีอะไรเป็นวาระซ่อนเร้นเลย

เช่น สมมติว่าเรื่องนี้ร่างขึ้นมาเป็นพิมพ์เขียวแล้ว ก็เชิญประชาชนมา ใครใคร่มามา ใครเสนอแนะอย่างไรก็ยินดีรับฟัง แล้วก็มาหลอมรวมว่าจะทำอย่างไรในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วก็เอาอันนั้นออกมา

“เราไม่มีฝ่ายตรงข้ามกับเรา หรือมาเป็นปฏิปักษ์กับเรา หรือเราจะไปเป็นปฏิปักษ์กับเขา แต่รัฐบาลเหมือนกับเขาตั้งขึ้นมาแล้ว นี่เป็นปฏิปักษ์กับเขา นี่ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกับเขา แทนที่จะวางตัวขึ้นมาทำเพื่อประชาชน”

“แล้วผมคิดว่านี่คือวิธีการสร้างความปรองดองที่แท้จริง ไม่ต้องเอาคนสองคนมาปรองดองซึ่งไร้สาระ คนสองคนปรองดอง แต่อีก 60 กว่าล้านคนไม่รู้เรื่องด้วย แต่มันต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด สำหรับส่วนรวมที่สุด แล้วก็ไป”

ไทยพับลิก้า : จากหนังสือแกะดำโลกสวย สะท้อนวิธีคิดของคุณอาทิตย์ว่ามีจิตสาธารณะ มองส่วนรวมเป็นหลัก

ผมคิดว่าเป็นความสบายใจที่จะทำมากกว่า ถ้าคิดทำอะไรเพื่อส่วนตัวมันเครียดนะ ทำยังไงถึงจะได้ ทำยังไงถึงจะเอาเปรียบเขาได้ แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่ว่าทำอย่างไรถึงจะดี เป็นประโยชน์ส่วนรวม คิดอย่างนี้จิตใจก็เปิดกว้าง สบายๆ ไม่มีอะไรเป็นห่วงกังวล

หรือทำธุรกิจก็ตาม บางทีไปทำธุรกิจกับใคร มันเครียด เพราะคนนั้นก็จะเอาเปรียบ จะเอาชนะ จะเอากำไรจากเรา เราต้องยอมเสียเปรียบเขา เป็นการทำงานที่ไม่ดี ยิ่งทำอย่างนั้นมากๆ ยิ่งเครียดเร็ว เครียดเร็วก็ตายเร็ว

ฉะนั้น ที่คิดทำมาก็ไม่เคยได้คิดแบบนั้น มันก็เลยทำให้สบายใจ อยากคิดอยากทำแล้วก็ไม่ได้ฝืน เหมือนกับช่วงเวลาที่ไปทำงานการเมืองตลอดมา ไม่เห็นเคยได้อะไรสักอย่างสักบาทเดียว มีแต่เสีย

ในงานเดียวกันที่คนอื่นเขาไปทำ ทำไมคนอื่นเขามีเรื่องมีราวมากมาย ทั้งที่ตอนแรกๆ เป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง ต่อมาไปอยู่กระทรวงต่างประเทศ แม้กระทั่งทีวีในวอร์รูมที่จะติดต่อประสานกับสถานฑูตต่างๆ ตอนสงครามอ่าวเปอร์เซีย ไม่มีเลย เราต้องซื้อจานดาวเทียม เอาตังค์ส่วนตัวไปตั้งวอร์รูมในวังสราญรมย์ เครื่องไม้เครื่องมือต้องซื้อเอง

หรือตอนไปอยู่กระทรวงสาธารณสุขก็เรียบร้อย ไม่เคยได้อะไรสักบาทเดียว ฉะนั้น ทำอะไรก็ตาม อยากทำอย่างสบายใจ อะไรที่เราทำได้ ค่าใช้จ่ายออกได้ก็ออกไป ก็น่าจะเป็นที่มาที่คุณถาม มันไม่คิดที่จะโกง คิดไม่เป็น แม้กระทั่งทำโรงพยาบาล ไปร่วมกับใคร เขายังเอาเปรียบเลย โอ้ยเหนื่อย ก็อย่าร่วมกันดีกว่า

ไทยพับลิก้า : คนที่จะมีจิตสาธารณะได้ จริงๆ แล้วต้องพร้อม ต้องรวยก่อนหรือเปล่า

ไม่ใช่ ผมไม่รวย บางทีซื้อที่ดิน(ทำมหาวิทยาลัย)ไปขอกู้แบงก์ แบงก์ก็บอกเก็บดอกเบี้ยแล้วนะ เฮ้ย เงินไม่มี ก็ต้องหักจากบัญชีส่วนตัวไปบ้าง ถ้ารอให้พร้อมไม่มีวันพร้อม เพราะเราก็อย่างนี้ แค่นี้

ไทยพับลิก้า : คุณอาทิตย์เคยบอกว่า เชื่อว่าอาชีพนักการเมืองเป็นคนกำหนดอนาคตประเทศไทย วันนี้ยังเชื่ออยู่ไหม

ก็ยังเป็นนะ แต่ถ้าต่อไปประชาชนฉลาดขึ้น ดีขึ้น แต่นักการเมืองยังมีอำนาจรัฐ อำนาจเงิน ก็สามารถผลักดันให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งใด หรือหากมันเละเทะ เข้ามาเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียวก็แย่

แล้วผมก็ต้องบอกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นักการเมืองช่วงหลังๆ คิดถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ ไม่ได้คิดว่าจะพัฒนาแต่ละด้านให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศส่วนรวม ต้องเอาตัวเองก่อนทุกที หรือพวกพ้อง มันไม่ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้เลย ก็ลำบาก

ไทยพับลิก้า : วันนี้ถ้าให้กลับไปเป็นนักการเมือง จะกลับไปไหม

ผมอายุ 78 แล้ว เกษียณอายุมา 18 ปีแล้ว แต่ก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ อะไรที่ยังพอมีกำลังทำได้อยู่ก็ทำ แต่ไม่ใช่ผมทำคนเดียว มันต้องช่วยกันทั้งประเทศ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะทำได้ แต่วันนี้เราไม่ทำ เราพูดเยอะ เป็นศรีธนญชัย ตีความอยู่นั่นแหละ รู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอย่างไร แต่ก็ตีความกันอยู่นั่นแหละ

ไทยพับลิก้า : มาถึงวันนี้มันยากหรือเปล่าที่สังคมไทยจะขึ้นจากกับดักที่ว่าไว้

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

เราดูว่าไม่ยาก แต่คนอื่นเขาอาจจะดูว่ายาก เพราะว่าเขาทำ เราไม่ได้ทำ ดังนั้น ถามว่ายากไหม ไม่ยาก แต่ทำไมทำไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ อาจเป็นเพราะเขามองไม่เห็น ประเทศไทยจุดแข็งอยู่ที่การเกษตร

เราประกาศให้ประเทศเป็นเกษตรอินทรีย์ เป็นออร์แกนิกได้ไหม ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีได้ไหม ไม่ได้ เดี๋ยวพ่อค้าปุ๋ยเคมีต่อต้าน อย่างนั้นจะทำอะไรก็ทำไม่ได้สักอย่าง แต่จริงๆ ทำได้

ไทยพับลิก้า : ในหนังสือว่าคนเราต้องแพ้เป็น คำว่าแพ้เป็น ต้องทำอย่างไร

ก็คือยอมรับว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วก็หาทางแก้ บางทีก็แก้ได้ บางทีก็แก้ไม่ได้ แต่ว่าบางทีที่แก้ไม่ได้ ผมก็ยังคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นพรหมลิขิต ใครอยากเอาก็เอาไป เหมือนอย่างเรื่องโรงพยาบาล (พญาไท) ผมว่าดีแล้ว เอาไปเหอะ เดี๋ยวเราหาใหม่ดีกว่า

อย่างตอนนี้ผมก็คิดทำเรื่องโรงพยาบาลอีก ผมก็มองเป็นเรื่องเดียวกัน แม้เวลามันจะผ่านมาเกือบ 20 ปี เราก็กำลังคิดจะทำอีก ถ้าเผื่อสำเร็จ มันก็อาจจะดีกว่าเก่าก็ได้ บางทีอาจะเป็นเรื่องดีสำหรับเรา ไม่ใช่เรื่องเสีย

ไทยพับลิก้า : แต่มองย้อนกลับไปตอนนั้นที่เสียโรงพยาบาลไปไม่เครียดหรือ และสามารถคิดบวกได้อย่างไร

ตอนนั้นมันเริ่มต้นว่ากว่าเราจะลงทุนมาได้มันต้องขาย คือบังเอิญผมได้สวนยางจากคุณปู่มาก็ขายไป ได้เงินมานิดเดียว ก็ไม่พอนะ ต้องเอาบ้านจำนอง เงินที่เราลงไปทั้งหมด จริงๆแค่ 10% เท่านั้นเอง ของโครงการโรงพยาบาลพญาไท

“แล้วทำมามันก็คืนทุนหมด แล้วคืนทุนให้ผู้ลงทุนทั้งหมดต้องเรียกว่า 800-900% แล้ว ฉะนั้น เมื่อถึงจุดที่สูญเสีย ก็สูญเสียไป ไม่เป็นไร ของนอกกาย เขาอยากได้ ทำไมเขาไม่รู้จักทำเอาเอง แต่ก็มองว่า เราทำไว้ดี เขาถึงอยากได้ ถ้าเราทำไว้ไม่ดี เขาก็ไม่อยากได้”

หรือการทำมหาวิทยาลัย เราไม่ได้ทำด้วยเงิน คนอื่นก็มีเงินเยอะแยะ แต่ด้วยจิตวิญญาณ แนวคิด แนวทางที่เราทำอาจจะทำไม่เหมือนกัน เหมือนการปรุงอาหารอย่างเดียวกัน แต่ต่างคนทำ ก็อาจจะทำไม่เหมือนกัน รสชาติไม่เหมือนกัน ก็ต่างกันตรงนั้น ฉะนั้น ถ้าเขาอยากได้ของเรา ก็ต้องภูมิใจ อย่าไปเสียใจ ต้องภูมิใจว่าเขาชอบแนวทางของเรา ว่าเราทำสำเร็จ

ไทยพับลิก้า : ตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นฮาร์วาร์ดเมืองไทย วันนี้ได้อย่างที่คาดหวังไหม

แนวทางที่เรายึดถืออยู่ก็คือ ผลิตคนที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ แล้วเราก็ทำให้มีคุณภาพ ให้จบออกไปแล้วมีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่มีแค่ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว แต่ให้มีความรู้ทางวิชาการ มีความสามารถในการออกไปทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ มีความสัมพันธ์กับคน ผมเรียกว่าเป็นวิชาการ วิชางาน วิชาคน นักเรียนที่นี้เก่งจริง รู้จริง ตอบข้อสอบถูก แต่ทำอะไรไม่เป็นเลย คิดอะไรไม่ออก ทำงานกับคนไม่ได้ เข้ากับใครก็ไม่ได้ ก็ไม่ใช่

ฉะนั้น คุณภาพอย่างนี้ที่เราอยากให้เกิดขึ้น แล้วต้องกว้าง ต้องรวม ไม่ใช่ใครเป็นนักบัญชีแล้วทำแต่บัญชี แต่อาจจะต้องรู้ชีวิตทุกอย่าง ก็ยังพยายามทำและผลักดันอยู่

อย่างเช่นวันนี้ บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ก็พยายามให้เพียงพอ อย่างพยาบาลขาดแคลนมาก ทั่วโลกก็ขาดแคลนด้วย แต่บางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาบอกว่าเขาผลิตเพื่อการส่งออก ก็เป็นโอกาสเขา

แต่เราไม่ได้คิดเลย คิดแต่เพียงว่าไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอัตราเงินเดือน ฉะนั้น ไม่ผลิต ทั้งๆ ที่เรามีความสามารถที่จะผลิตได้ ก็ไม่ผลิต พอก็ไม่พอ ขาดก็ขาด ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อน

ล่าสุดเราก็ร่วมผลิตกับทางโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ ประเด็นคือมันต้องทำ มันมองเห็นอยู่แล้วว่าควรจะทำ แต่เรามัวทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้

ไทยพับลิก้า : ถ้า ม.รังสิตผลิตบุคลากรวิชาชีพเพื่อตอบสนองตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่โครงสร้างของประเทศไม่ได้รองรับในยุทธศาสตร์ที่เราจะดำเนินไป แล้วจะทำอย่างไร

คือเราต้องมองเห็น ผมก็อยากให้ทุกคนมองเห็นเหมือนกัน แต่เมื่อยังมองไม่เห็น แต่เราคิดว่าเรามองเห็นแล้วมันไม่ผิด มันก็ยังดี อย่างหลักสูตรนักบินซึ่งเป็นแห่งแรกที่เราผลิตนักบิน แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศอื่นก็ต้องการ

มันก็ต้องทำให้เห็น คุยกันเรื่องแนวทาง ถามว่าจะผลิตนักบิน ถ้าหากทางหน่วยควบคุมหรือกระทรวงศึกษาบอกว่ามีสนามบินหรือเปล่า มีเครื่องบินหรือเปล่า แล้วจะเปิดได้ยังไง ก็เราไม่มี แต่เราเปิดได้ ร่วมมือกันได้ ทำไมถึงร่วมมือไม่ได้ล่ะ

ถามว่าดีไหม ก็ดี แต่เขาไม่คิดไง เขาคิดว่าจะเปิดโรงเรียนแพทย์ต้องมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีใครเปิด อยู่ไปอย่างนี้ มันก็ต้องเปิดแนวคิดกว้างบ้าง เปิดขอบฟ้าบ้าง ไปถือเขาถือเราทำไม เราทำเพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อเรา

บางคนบอกว่าหมอคนนี้ไม่ใช่ปริญญาเอก ต้องปริญญาเอกถึงจะมาเป็นอาจารย์ เราก็บอกว่า หมอที่ได้บอร์ดเทียบเท่าปริญญาเอก เขาถึงยอมรับ อาจารย์การบินไม่ได้ปริญญาเอก ก็บอกว่า มันมีไหมล่ะในโลกนี้ Ph.D. ทางด้านการบิน แต่เรามีพลอากาศเอก ใช้ได้ไหมล่ะ

งานวิจัยอย่าไปคิดแต่งานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นเล่มๆ หมอเวลาเขาปฏิบัติเขาผ่าตัดมากขึ้นๆ เป็นงานวิจัยภาคปฏิบัติจริงๆ ผ่าตัดดีขึ้น รักษาคนให้หายมากขึ้น นั่นล่ะคืองานวิจัยที่มีคุณค่าที่แท้จริง เราต้องให้ความคิดแบบนี้กับเขา

บางทีประเทศเรามีอะไรเยอะแยะ เราไม่ค่อยเห็นคุณค่า ทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ต้องมีปริญญาเท่านั้น คนไทยยึดติดรูปแบบ เจ้าขุนมูลนาย ผมถึงบอกว่าการศึกษาไทยต้องไม่เจ้าขุนมูลนาย ไม่ยึดติดรูปแบบ แบ่งชั้นวรรณะ ดูถูกเหยียดหยาม แต่วันนี้มีความคิดแบบกระพี้ๆ ไม่ดูแก่นของเรื่อง

หมายเหตุ : หนังสือ อาทิตย์ อุไรรัตน์ “แกะดำโลกสวย” จัดจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป อาทิ ร้านหนังสือ B2S นายอินทร์ ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬา ฯลฯ รวมถึงสั่งได้ทางเว็บไซต์ของทุกร้านหนังสือ