ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 พ.ค. 2559: “ชี้ ‘สร้างความไม่สงบ-เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล’ สั่งเลิก ‘Grab Bike-Uber Moto'” และ “สังคมโวย ‘สื่อถ่ายสด’ ดร.ยิงตัวตาย”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 พ.ค. 2559: “ชี้ ‘สร้างความไม่สงบ-เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล’ สั่งเลิก ‘Grab Bike-Uber Moto'” และ “สังคมโวย ‘สื่อถ่ายสด’ ดร.ยิงตัวตาย”

21 พฤษภาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 พ.ค. 2559

  • ชี้ “สร้างความไม่สงบ-เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล” สั่งเลิก “Grab Bike-Uber Moto”
  • คลังถอย ลดเบี้ยคนชรา “แค่คิด”
  • “อาเด็ม” สุดทน “ผมไม่ใช่สัตว์!!”
  • กังวลงานคนไทยในนิทรรศการศิลปะเกาหลีใต้สวนทางจิตวิญญาณประชาธิปไตย
  • สังคมโวย “สื่อถ่ายสด” ดร.ยิงตัวตาย
  • ชี้ “สร้างความไม่สงบ-เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล” สั่งเลิก “Grab Bike-Uber Moto

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ TCIJ (http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6200)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ TCIJ (http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6200)

    เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า วันที่ 17 พ.ค. 2559 ในรายงานของวิทยุ จส.100 กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน เชิญบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล Grab Bike และ Uber MOTO เข้าหารือเพื่อชี้แจงกฎระเบียบ และประเด็นปัญหาที่ขัดต่อกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง หลังจากเคยมีการพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ และได้เคยแจ้งให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการที่ผิดกฎหมายทันที โดยกรมการขนส่งอ้างว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการทั้งสองรายยังมีการทำผิดกฎหมาย ทั้งประชาสัมพันธ์บริการและเชิญชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมแก่งแย่งผู้โดยสารจากวินสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย

    จากการเปิดเผยของายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก การเข้ามาของ Grab Bike และ Uber Moto ทำให้เกิดปัญหาดังนี้

    1. ส้รางไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมต่อจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่การจัดระเบียบของคณะรัดษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)
    2. ก่อให้เกิดความแตกแยกและมีผู้ได้รับผลกระทบซึ่งสร้างความไม่สงบในสังคม
    3. อาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ

    จึงขอให้ผู้ให้บริการทั้งสองรายยุติการให้บริการทันที หากฝ่าฝืนไม่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะดำเนินการตามระเบียบของ คสช. ต่อไป

    นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังย้ำว่า รถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน

    อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 15 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้รายงานถึงสาเหตุที่ทำให้บริการเรียกจักรยานยนต์ผ่านแอปพลิเคชันมีค่าโดยสารต่ำกว่าจักรยานยนต์สาธารณะทั่วไปนั้นเป็นเพราะสัมปทานเสื้อวินของการบริการประเภทหลังมีมูลค่าสูง คืออยู่ระว่าง 2 หมื่น – 5 แสนบาท

    คลังถอย ลดเบี้ยคนชรา “แค่คิด”

    หลังจากมีข่าวว่า จะมีการยกเลิกการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ (เดือนละ 600 บาท) ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้เดือนละ 9,000 บาทขึ้นไป หรือมีทรัพย์สิน 3 ล้านบาทขึ้นไป จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้นในสังคม

    ล่าสุด วันที่ 17 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งศึกษาแพ็กเกจดูแลคุณภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจร เพื่อทำให้คุณภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยดีขึ้น เพราะในอนาคตไทยมีสัญญาณการเป็นสังคมผู้สูงอายุสูงขึ้น ดังนั้นหากไม่ดูแลตั้งแต่ขณะนี้ อาจทำให้รัฐบาลต้องมีภาระงบประมาณดูแลผู้สูงอายุสูงขึ้น

    “ตอนนี้แพ็กเกจดูแลคุณภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจรยังเป็นแค่แนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษา เบื้องต้นจะมีทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณ การชักจูงให้เข้าสู่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปจนถึงเรื่องการปรับเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น ยังไม่ตกผลึกออกมา”

    นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า การปรับเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาทนั้น เบื้องต้นหารือกับผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่จะดึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง ไปให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและมีความจำเป็นมากกว่า เพื่อให้มีรายได้ในการยังชีพและดูแลตัวเองได้มากขึ้น ไปจนถึงเรื่องการให้สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยกับผู้สูงอายุผ่านที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ด้วย โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะเสร็จเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อใด

    “อาเด็ม” สุดทน “ผมไม่ใช่สัตว์!!”

    นายอาเด็ม คาราดัก ผู้ต้องหาในคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1774092786145087)
    นายอาเด็ม คาราดัก ผู้ต้องหาในคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1774092786145087)

    เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า วันที่ 17 พ.ค. 2559 มีการนำตัวผู้ต้องหาคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ 2 ราย คือ นายอาเด็ม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซูฟู มาขึ้นศาลทหาร ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะที่ผู้ต้องหาลงจากรถของเรือนจำ นายอาเด็ม คาราดัก ได้ดิ้นรนและตะโกนขึ้นเป็นข้อความภาษาอังกฤษว่า “ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน” และเมื่ออยู่ต่อหน้าศาล นายอาเด็มซึ่งมีน้ำตาคลอเบ้า ได้เลิกเสื้อขึ้นให้ศาลดูรอยช้ำตามตัว และกล่าวผ่านล่ามว่า เฉพาะในเดือนนี้เขาถูกซ้อมทรมานถึงสองครั้งในเรือนจำ

    ด้านนายเมียไรลีได้กล่าวขอความช่วยเหลือก่อนขึ้นศาลว่า “พวกเราบริสุทธิ์ ช่วยเราด้วย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน?”

    ด้านนายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม คาราดัก กล่าวว่า ศาลรับที่จะสอบสวนกรณีที่นายอาเด็มถูกซ้อม และจะพิจารณาเรื่องการย้ายเรือนจำ และว่าจะมีการเรียกพยานกว่า 250 รายมาให้การต่อศาล โดยหวังว่าการพิจารณาคดีจะสิ้นสุดลงภายในปีนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจยืดเยื้อออกไปอีก

    ต่อมา วันที่ 20 พ.ค. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยได้รายงานเพิ่มเติมว่า นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนกรณีที่นายอาเด็ม คาราดัก ตะโกนร้องเรียนดังกล่าว รวมทั้งระบุว่า ความเลวร้ายของเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ไม่ใช่ข้ออ้างในการทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัย และการเปิดโปงเรื่องวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ต้องสงสัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การพิจารณาคดีมีความเป็นธรรม โดยในกรณีนี้ แม้รองนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์จะออกมาแถลงว่าการร้องเรียนของนายอาเด็มเป็นเพียงการสร้างเรื่องบิดเบือนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชน แต่ทางการไทยกลับไม่เริ่มดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

    กังวลงานคนไทยในนิทรรศการศิลปะเกาหลีใต้สวนทางจิตวิญญาณประชาธิปไตย

    รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์  ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/139310)
    รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/139310)

    The Truth_ to Turn It Over เป็นนิทรรศการศิลปะในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) อันเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนชาวเกาหลีใต้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลนายพลช็อน ดู-ฮวัน ยกเลิกกฎอัยการศึก รวมทั้งเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งลุกลามไปจนมีผู้ร่วมชุมนุมกว่าแสนคน และกองกำลังทหารของรัฐบาลเข้าปราบปรามจนมีผู้บาดเจ็บนับพันและเสียชีวิตอีกนับร้อย

    โดยในงานดังกล่าว รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ได้เข้าร่วมแสดงผลงานด้วย จนเป็นเหตุให้เกิดความกังวลขึ้นว่า การที่ รศ.สุธี เคยเข้าร่วมกับการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูในครั้งนั้นหรือไม่

    ความกังวลดังกล่าว ทำให้กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ และศิลปิน จำนวนรวม 118 ราย ในชื่อ “นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (กวป.) ส่งจดหมายปิดผนึกถึงพิพิธภัณฑ์กวางจู โดยมีเนื้อหาชี้แจงรายละเอียดเรื่องที่ รศ.สุธี เข้าร่วมกับ กปปส. ซึ่งจดหมายระบุว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มุ่งหมายโค่นล้มรัฐบาล มีการปิดถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ปิดสำนักงานของรัฐบาล รวมถึงปิดกั้นไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ทั้งยังกล่าวหาว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่ยากจนและไร้การศึกษาจึงถูกซื้อจากนักการเมืองได้ และยังเชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 เป็นเพียงการรักษาอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้น กปปส. ปฏิเสธการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล แต่กลับเรียกร้องรัฐบาลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และผลงานของ รศ.สุธี ที่นำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูเป็นผลงานที่ทำขึ้นระหว่างร่วมชุมนุมกับ กปปส. อันนำพาความถดถอยของประชาธิปไตยไทย

    โดยจดหมายปิดผนึกดังกล่าวมุ่งสอบถามความเห็นไปยังภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กรรมการคัดเลือกผลงาน เพื่อทราบกระบวนการในการคัดเลือก (อ่านรายละเอียดที่นี่)

    ทั้งนี้ ผศ. ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หนึ่งในผู้เรียกร้อง กล่าว่า “เราตั้งคำถามกับภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ว่า ทำไมเลือกผลงานของอาจารย์สุธี คุณคิดอย่างไรจึงเลือกไป ซึ่งตอนนี้ทางภัณฑารักษ์แจ้งมาว่ากำลังยุ่งเรื่องงาน แต่จะรีบดำเนินการและแจ้งให้ทราบต่อไป ส่วนอาจารย์สุธีจะเป็น กปปส. หรือไม่นั้น ไม่ได้สนใจ และเคารพในการแสดงออกของศิลปิน แต่ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่าเป็นผู้ระดมทุน ทำโปสเตอร์ ขายเสื้อยืดสนับสนุน กปปส. ซึ่งทำลายประชาธิปไตย”

    วันที่ 17 พ.ค. 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลนรายงานว่า ลิม จงยอง ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เปิดเผยว่าอาจมีการหารือเพื่อปลดผลงาน 1 ใน 4 ชุด ของ รศ.สุธี เนื่องจากได้รับการทักท้วงจากหลากหลายบุคคลและหน่วยงาน เช่น มูลนิธิ 518 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กวางจู รวมถึงปฏิกิริยาจากประเทศไทย

    ในขณะที่ทางด้านของ รศ.สุธี ได้มีการยืนยันว่า ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย และการคอร์รัปชันของนักการเมือง ซึ่งผลงานที่นำไปจัดแสดงเป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น โดยเป็นงานเก่าตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ที่นำมาทำใหม่ ซึ่งหากทางพิพิธภัณฑ์จะปลดผลงานส่วนหนึ่ง ตนจะขอคัดค้าน เพราะไม่มีเหตุผลจะถูกปลด

    “ผมและเพื่อนๆ กลุ่ม Art Lane ซึ่งมีทั้งศิลปิน นักร้อง นักแสดง เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประหาร ทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีใครหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพรรคการเมือง เราทำของเราเอง กรณีที่มีการทำเสื้อยืดและของที่ระลึกขาย ก็มอบรายได้ให้กลุ่มไปแล้วเขาไปจัดการกันเอง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีการใช้สนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหว และมอบให้ กปปส. จริง แต่ผมไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม กปปส. แค่มีแนวคิดบางอย่างร่วมกัน เช่น ต้านรัฐบาลที่ทุจริต ค้านนิรโทษกรรมสุดซอย

    งานในนิทรรศการก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในบริบทนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นงานที่ทำตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ไม่ถามหรือว่าหลังรัฐประหารทำไมผมเงียบ ก็เพราะไม่สนับสนุน ยอมรับว่าผิดหวัง ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ ยังยืนยันว่าอยากให้ปฏิรูป แต่พอเกิดรัฐประหาร ก็รอดูไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป บ้านเมืองขัดแย้งมาเยอะ เลยไม่อยากไปเพิ่มความขัดแย้ง อยากให้ประเทศสงบ มีทางออก แต่ถ้าคณะรัฐประหารทรยศประชาชนก็อีกเรื่องหนึ่ง ควรต้องเคลื่อนไหวต่อไป” รศ.สุธีกล่าวและว่า หลังทราบข่าวการส่งจดหมายเปิดผนึก ยอมรับว่าไม่สบายใจ เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวมืออาชีพ แต่มีศิลปินและเพื่อนอาจารย์คอยให้กำลังใจ

    สังคมโวย “สื่อถ่ายสด” ดร.ยิงตัวตาย

    จากกรณีที่ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อายุ 60 ปี อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พระนคร) บางเขน บุกยิง ผศ. ดร.พิชัย ไชยสงคราม ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.พระนคร และ ดร.ณัฐพล ชุมวรฐายี อายุ 54 ปี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มรภ.พระนคร ต่อหน้านักศึกษาระดับปริญญาโทที่กำลังสอบภาคนิพนธ์อยู่ใน มรภ.พระนคร ก่อนจะหลบหนีไป จนนำไปสู่การติดตามและปิดล้อมเพื่อเกลี้ยกล่อม ดร.วันชัยอย่างยาวนานถึง 6 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล โดย ดร.วันชัยได้ฆ่าตัวตายเป็นผลสำเร็จในที่สุด (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

    ทว่า ขณะที่กำลังมีการเกลี้ยกล่อมนั้น ได้มีสื่อทำการรายงานภาพการเจรจาสดๆ จากระยะไกลผ่านระบบ “ไลฟ์” (Live) ของเฟซบุ๊ก โดยแม้จะไม่เห็นภาพขณะที่ ดร.วันชัยกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่ผู้คิดตามก็ได้เห็นเหตุการณ์อย่างยาวนาน รวมทั้งได้ยินเสียงปืนในวินาทีนั้นอย่างชัดเจน

    การะทำของสื่อ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคม ว่าการถ่ายถอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่

    ต่อเรื่องดังกล่าว วันที่ 19 พ.ค. 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การรายงานข่าวล้อมจับผู้ต้องหาฆ่านักวิชาการ มรภ.พระนคร โดยระบุว่า

    เหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาฆ่า 2 นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร บริเวณโรงแรมสุภาพ ย่านสะพานควาย บ่ายวันนี้ มีผู้สื่อข่าวภาคสนามและสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ รายงานสดออกอากาศผ่านกล้องมือถือ (Facebook Live) โดยมีภาพผู้ต้องหาถือปืนจ่อศีรษะตนเอง ภาพที่เผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์และสื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียว และยังอาจเป็นตัวอย่างแก่เยาวชน รวมทั้งก่อนหน้านี้ มีการถ่ายภาพและรายงานทางยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุม ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหากผู้ต้องหาขณะอยู่ในรถมีการติดตามข่าวสารที่อาจไปเพิ่มความเครียดให้ผู้ต้องหาอีกด้วย

    สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอแจ้งมายังเพื่อนสื่อมวลชนร่วมวิชาชีพ โปรดใช้ความระมัดระวังในการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพโดยคำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน และโปรดหลีกเลี่ยงภาพที่ผู้ต้องหาใช้ปืนจ่อศีรษะ หรือแม้แต่ภาพที่เห็นผู้ต้องหาขณะถือปืน ก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน