ThaiPublica > คอลัมน์ > Hackers+Designers (TCDC) การทดลอง “อิสรภาพจากความคิด” (Freedom from Thinking)

Hackers+Designers (TCDC) การทดลอง “อิสรภาพจากความคิด” (Freedom from Thinking)

12 พฤษภาคม 2016


ยรรยง บุญ-หลง

TCDC1

เวลามีการพูดถึงการสร้างเศรษฐกิจแบบ digital หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างใน Silicon Valley รัฐบาลเมืองปักกิ่ง สิงคโปร์ หรือกรุงโซล มักจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศการ “ระดมสมอง” ที่เอื้อให้เกิด “เสรีภาพทางความคิด” (Freedom of Thinking) ที่หลากหลายเป็นลำดับแรก

คงไม่มีประเทศไหนที่จัดกระบวนการระดมสมอง ด้วยการสร้าง “อิสรภาพจากความคิด” (Freedom from Thinking) ซึ่งฟังดูเหมือนสโลแกนของกลุ่ม “ฮิปปี้” ในยุคสมัย 60s บุปผาชน…ที่เลือกที่จะปลดปล่อยตัวเองจากกรอบของความคิด

แต่นั่นคือสิ่งที่ผมและ ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล พยายามจะทดลองทำที่ TCDC ในงาน Hacker+Designers เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ยังต้องเริ่มต้นด้วยการระดมความคิด (Brainstorm) กันก่อน โดยการให้ผู้คนออกความเห็นด้วยการเขียนข้อความลงในมือถือ (นิรนาม) และโพสต์มันลงไปในจอคอมพิวเตอร์กลางห้องประชุม โดยมีหัวข้อกว้างๆ ที่ทุกคนตั้งขึ้นผ่านข้อความทางมือถือ

TCDC2

การระดมความคิดดังกล่าว สามารถทำได้โดยไม่มีใครรู้ว่าคนที่โพสต์ข้อความนั้นมีตำแหน่งอะไร มีอายุเท่าไร หรือเป็นเพศอะไร พวกเขารู้เห็นแต่เพียงข้อความที่โผล่ขึ้นมาบนจอโปรเจกเตอร์กลางห้องเท่านั้น

ปัญหาใหญ่ในการระดมความคิดคือวัฒนธรรมของการสื่อสาร

บางประเทศจะให้ความสำคัญกับ “ความอาวุโส” ของผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่าเนื้อหาของความคิดเห็น ในขณะที่วัฒนธรรมในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็เอื้อให้คนที่พูดเก่งแย่งซีนคนที่พูดไม่เก่งจนหมดเวลา (แม้ว่าสิ่งที่พูดอาจจะไม่ได้มีเนื้อหาที่แปลกใหม่อะไรนัก)

ถึงแม้ว่าอเมริกาจะมีแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางความคิดก็จริง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วคนขี้อายก็ยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะลักษณะของกิจกรรมระดมสมองมักจะเปิดโอกาสให้คนบางประเภทช่วงชิงเวทีและแสดงออกมากเกินควร

เมื่อการทดลองเริ่มด้วยการให้ผู้แสดงความคิดเห็นโพสต์ข้อความ (นิรนาม) ได้จากมือถือ เราพบว่าผลตอบรับที่ได้ในแง่ของความแปลกใหม่ของไอเดียนั้นสูงขึ้นมาก ผู้คนเริ่มกล้าที่จะโพสต์แนวคิดที่นอกรีตหรือหมิ่นเหม่จำนวนมากขึ้น ส่วนคนที่โดยปกติขี้อายและอาจจะถูกคนที่พูดเก่งแย่งพูด ก็จะมีโอกาสแสดงออกได้มากขึ้นเช่นกัน

TCDC3

“อิสรภาพจากความคิด” (Freedom from Thinking)

หลังจากที่ทุกคนโพสต์แสดงความคิดเห็นบนจอใหญ่แล้ว เราก็ตั้งค่าให้ระบบคอมพิวเตอร์ “ระเบิด” กระจายข้อความเหล่านี้ออกไปในลักษณะ random โดยสลายระเบียบและหมวดหมู่ที่มีอยู่เดิมโดยสิ้นเชิง

ทุกข้อความคิดเห็นจะถูกระบบคอมพิวเตอร์นำมาต่อกันในบรรทัดใหม่ ในหมวดหมู่ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวพันกันเลย

TCDC4

หากเปรียบแต่ละแนวคิดเป็นเสมือน “อะตอม” หนึ่งอะตอม การที่คอมพิวเตอร์กระจายแต่ละอะตอมออกแล้วนำมารวมกันใหม่ ก็เหมือนกับการสร้าง “โมเลกุล” ใหม่ๆ ขึ้นมานั่นเอง (โดยที่เราไม่ต้องคิดเอง แต่ให้มันเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ)

คราวนี้แต่ละกลุ่มจะได้ข้อความที่ต่อกันใหม่จำนวน 1 บรรทัด ไปนั่งคิดอีกครึ่งชั่วโมงว่า จะทำอะไรกับ “แนวคิด” เหล่านี้ได้บ้าง เสร็จแล้วก็ทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ให้เวลาคิดนานขึ้นเรื่อยๆ

TCDC5

“อย่าเพิ่ง say no!” ดร.จิตร์ทัศน์ หัวเราะ เมื่อกลุ่มแต่ละกลุ่มได้ “โมเลกุล” ของไอเดียที่ดูแปลกหูแปลกตาไปบ้าง “ลองทำความเข้าใจกับมันก่อน บางทีมันอาจจะบอกอะไรเราได้นะครับ”

Sebastian Seung อาจารย์และนักวิจัยเรื่องสมองจากมหาวิทยาลัย MIT เคยเขียนไว้ในหนังสือ Connectome โดยสังเกตว่า จุดตัดของเครือข่ายเซลล์สมอง หรือที่เรียกกันทางเทคนิคว่า “synapses” นั้นจริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นแบบสุ่มๆ เอา (โดยบังเอิญ) แบบ random แล้วลองดูว่าจุดเชื่อมต่อไหนมีการใช้งานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการใช้งานเพิ่มขึ้น สมองก็จะส่งเสริมจุดตัดนั้นมากขึ้น แต่ถ้าไม่เกิดการใช้งาน จุดตัดนั้นก็จะเสื่อมหายไปเอง

ภาพการเชื่อมต่อของสมอง ที่มาภาพ : https://www.sciencenews.org/article/cataloging-connections
ภาพการเชื่อมต่อของสมอง ที่มาภาพ : https://www.sciencenews.org/article/cataloging-connections

ระบบสุ่มๆ เอาแบบ random นี้จะเกิดขึ้นทุกเวลา แม้แต่ในเวลาที่เรากำลังตื่นอยู่ รวมทั้งในช่วงเวลาที่เรากำลังนอนอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว นักวิจัยชาวเยอรมัน Ullrich Wagner ยังพบว่าว่าสมองที่กำลังอยู่ในห้วงของความฝัน (REM) ก็มีการสร้างการเชื่อมต่อแบบ random โดยบังเอิญเช่นเดียวกัน

เขาทดลองเอาคนมานั่งคิดโจทย์คณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างยาว แต่ถ้าพวกเขาสามารถค้นพบรูปแบบที่ซ่อนอยู่ เขาจะทำมันได้ง่ายขึ้นมาก เขาแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกนั้น เขาให้ดูโจทย์ แล้วให้ไปนอน แล้วกลับมาคิดต่อ ส่วนอีกกลุ่มนั้น ให้คิดต่อจนเสร็จในทีเดียว

เขาพบว่ากลุ่มที่ได้กลับไปนอนนั้น มีโอกาสมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 2 เท่าที่จะคิดและค้นพบแบบแผนที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในโจทย์ได้
เขาพบว่าการที่สมองเกิดการเชื่อมต่อโดยบังเอิญ (ในช่วงการฝัน) กลับมีผลทางด้านบวกในการแก้ปัญหาจริงในช่วงเวลาตื่น (อ่านเพิ่มเติมได้จากวารสาร Nature และหนังสือ Where Good Ideas Come From โดย Steven Johnson)

TCDC7

TCDC8

เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและทดลองต่อไป ว่ากระบวนการ “ระดมสมอง” นั้นจะสามารถนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริม (Augmented) กระบวนการคิดทางธรรมชาติของเราได้อย่างไรบ้าง

ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งรีบตอบว่า “ทำไม่ได้” เมื่อพบเห็นแนวคิดแปลกๆ ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ว่าจะถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายเซลล์สมอง (เวลากำลังฝัน) ก็ตาม

คอมพิวเตอร์ หากไม่ถูก พ.ร.บ. ทางกฎหมายควบคุมจนเกินไป จะเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการช่วยให้มนุษย์สร้างแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้ โดยที่พวกเขาอาจคิดไม่ถึง หรือไม่เคยกล้าที่จะคิดไอเดียเหล่านี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ

“อิสรภาพจากความคิด” ไม่ได้เกิดขึ้นจากการห้ามคิด

แต่มันเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยตัวเอง ให้แนวคิดต่างๆ เชื่อมต่อกันเองโดยอิสระ

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ Peson Sirikolkarn ที่ช่วยเป็นที่ปรักษาเรื่อง Design Thinking ในการทดลองครั้งนี้