ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบบ BRT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก … อยู่กรุงเทพฯ

ระบบ BRT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก … อยู่กรุงเทพฯ

6 กรกฎาคม 2016


ยรรยง บุญ-หลง
[email protected]

BRT-1

ระบบ BRT ขนาดใหญ่ระดับโลก … อยู่ข้างขวาของภาพ (ไม่ใช่รถเมล์ทางด้านซ้ายนะครับ)

หากดูเผินๆ ระบบวินมอเตอร์ไซค์ อาจจะกลมกลืนไปกับระบบรถยนต์ทั่วไป แต่หากสังเกตดูดีๆ เราจะพบว่ามันมีแบบแผนที่ซ้อนเร้นอยู่ภายใต้ความไร้ระเบียบ และการวิ่งซิกแซกระหว่างแนวรถติด

การวิ่งซิกแซกระหว่างแนวรถติด = เลน BRT (ที่ไม่เป็นทางการ)

จริงๆ แล้วระบบวินมอเตอร์ไซค์ เป็นระบบ BRT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคนใช้กว่า 4 ล้านคนต่อวัน …มากกว่าผู้ใช้รถเมล์ BRT ในเมือง Bogota ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีระบบ BRT ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ใช้ 2 ล้านกว่าคนต่อวัน (ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมจำนวนมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว เพราะไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ)

ใครบอกว่าคนกรุงเทพฯ ไม่คุ้นเคยกับการใช้ระบบ BRT…

แต่ระบบมอเตอร์ไซค์สาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นระบบ BRT ที่คนแก่และเด็กอาจจะขึ้นลำบาก คนขาไม่ดีก็ขึ้นไม่ได้

ระบบ BRT ที่ซ้อนอยู่ในระบบวินมอเตอร์ไซค์ ที่มาภาพ : Yanyong Boon-Long, 2015
ระบบ BRT ที่ซ้อนอยู่ในระบบวินมอเตอร์ไซค์ ที่มาภาพ : Yanyong Boon-Long, 2015

เมื่อช่วงระยะรถยิ่งติดยาว มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะยิ่งได้เปรียบรถยนต์ (จากภาพข้างบน)

ตัวอย่าง 1: สมมุติว่าช่วงระยะรถติดเท่ากับรถยนต์เพียงหนึ่งคัน และมอเตอร์ไซค์กับรถเริ่มต้นที่เส้นเดียวกัน โดยจะมีไฟแดงทุก 5 นาที เมื่อวิ่งมาเจออีกระยะรถติดอีกอันหนึ่ง และเป็นไปในลักษณะนี้เรื่อยๆ เราจะพบว่าทั้งมอเตอร์ไซค์และรถจะวิ่งมาถึงเส้นชัยด้านล่างพร้อมกัน

ตัวอย่างที่ 2: สมมุติว่าระยะรถติดมีความยาวมากขึ้น มอเตอร์ไซค์จะเริ่มวิ่งซิกแซกระหว่างรถยนต์ได้ ทำให้สามารถวิ่งมาถึงเส้นไฟแดงด้านล่างได้เร็วกว่ารถยนต์

ตัวอย่างที่ 3: สมมุติว่าระยะรถติดยิ่งยาวมากขึ้นอีก มอเตอร์ไซค์จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และถ้าระยะรถติดนั้นยาวอย่างไม่สิ้นสุด มอเตอร์ไซค์จะยิ่งนำรถยนต์อย่างไร้ที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

เลนส่วนตัว (ระบบเดียวกับ BRT) ระหว่างรถยนต์ ที่มาภาพ : Nattapong Saengthongluan
เลนส่วนตัว (ระบบเดียวกับ BRT) ระหว่างรถยนต์ ที่มาภาพ : Nattapong Saengthongluan

เวลาภาครัฐนำเสนอนโยบายเรื่องระบบ BRT (ที่เป็นรูปแบบของ “รถเมล์”) เราควรมองเรื่อง “สิทธิ” พ่วงเข้าไปด้วย ถ้าเลนรถเมล์หนึ่งคันที่มีคนนั่ง 50 คน …แต่ละคนมี สิทธิ 1 เสียง เลนรถเมล์นั้นก็จะมีสิทธิเท่ากับขบวนรถยนต์ส่วนตัว 50 คัน (ที่นั่งคนเดียว)

ถ้ามีรถเมล์พ่วง 2 คันในเลน ก็จะเท่ากับรถยนต์จำนวน 100 คัน ต่อๆ กัน

ดังนั้นเวลาเราพบเห็นเลนรถเมล์ที่โล่งไม่ติด เราต้องคิดถึงเรื่องสิทธิของจำนวนคนในเลนนั้นด้วย

พื้นที่ถนนที่ต้องใช้ขนส่งสำหรับคนจำนวน 72 คน (โดยใช้ 1. จักรยาน 2. รถยนต์ 3. รถเมล์) ที่มาภาพ: City of Münster’s planning department, 1991
พื้นที่ถนนที่ต้องใช้ขนส่งสำหรับคนจำนวน 72 คน (โดยใช้ 1. จักรยาน 2. รถยนต์ 3. รถเมล์)
ที่มาภาพ: City of Münster’s planning department, 1991

แต่ปัญหาของระบบรถเมล์ BRT ในกรุงเทพฯ คือมันมีเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันน้อยเกินไปด้วย ….เหมือนมีโทรศัพท์อยู่แค่ 2 เครื่อง แล้วบ่นว่า

“ระบบโทรศัพท์ติดต่อใครไม่เห็นได้เลย …เป็นระบบที่ล้มเหลว!”

แต่ถ้าเราเพิ่มจำนวนโทรศัพท์เป็น 20 เครื่อง เราไม่ได้เพิ่มการเชื่อมต่อ 20 เท่านะครับ แต่เราจะสามารถเพิ่มการเชื่อมต่อถึง 190 เท่าตัว (ถ้า ‘n’ คือจำนวนจุดเชื่อมต่อโทรศัพท์ เราจะมีการเชื่อมต่อ = (n)(n-1)/2 เป็นลักษณะ combination function)

มูลค่าเศรษฐกิจที่ซ้อนอยู่ในการรอรถเมล์ ที่มาภาพ : http://pbs.twimg.com/media/BoPi1ehIcAA3XGn.jpg
มูลค่าเศรษฐกิจที่ซ้อนอยู่ในการรอรถเมล์ ที่มาภาพ : http://pbs.twimg.com/media/BoPi1ehIcAA3XGn.jpg

นอกจากนี้แล้วการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศ (อย่างระบบ GPS) เข้ามาช่วยระบบรถสาธารณะ แบบเดียวกับ Uber หรือ Grab Taxi ก็เป็นเรื่องน่าศึกษา

สิ่งที่น่าคิดคือเรื่องเศรษฐกิจ…. สมมุติว่าคนทั่วไปรู้ล่วงหน้าว่ารถเมล์ หรือรถสองแถว จะมาถึงเมือไร ด้วยระบบ GPS แบบเดียวกับ Grab Taxi เขาก็จะสามารถรู้ว่าจะซื้อก๋วยเตี๋ยวกินข้างทาง หรือจะจ่ายบิลก่อนกลับบ้าน (โดยไม่ตกรถ) ได้หรือไม่

นั่นหมายความว่า มันมี “มูลค่า” ทางเศรษฐกิจที่ซ้อนอยู่มหาศาล (สำหรับการจับจ่ายในเมือง) หากผู้คน “รู้” ว่ารถเมล์จะมาเมื่อไร ถ้าพวกเขาไม่รู้ว่ารถสาธารณะจะมาเมื่อไร เขาก็จะรออยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่จับจ่ายในบริเวณรอบๆ

ทางภาครัฐควรมองโครงสร้างพืนฐานโดยเริ่มจากเรื่องสิทธิ ทุกคนควรมีสิทธิเท่ากัน ไม่ว่าฐานะจะต่างกัน ไม่ว่าจะนั่งรถเมล์หรือใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะการให้สิทธิคือการให้โอกาสไปด้วยในตัว

ระบบโครงข่ายรถเมล์ที่มีเลนส่วนตัว และไม่ติดในการจราจร จะสร้างมูลค่า “เวลา” ให้แก่คนทำงานและเด็กนักเรียนกี่ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไร น่าจะเป็นเรื่องที่ควรศึกษาโดยด่วน